30 มี.ค. เวลา 01:45 • ท่องเที่ยว

เมืองผี เฟิงตู (Ghost Fengdu City)

ท่าเรือเมืองเฉิงตู .. เที่ยวชมเมืองผี เฟิงตู (Ghost Fengdu City)
Century Oasis เข้าเทียบท่าเมืองเฉิงตูในเช้าวันต่อมา เมืองนี้จะมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่ทางเรือจัดให้ ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม โดยผู้โดยสารที่ต้องการขึ้นฝั่งไปชมต้องจ่ายเพิ่ม
การออกจาก-หรือกลับขึ้นเรือทุกครั้ง ผู้โดยสารจะต้องผ่านการสแกน Smart Key Card ทุกครั้ง
ทั้งนี้เพื่อให้ระบบควบคุมรู้ว่าใครบ้างที่ลง-ขึ้นมาที่เรือ
จากเรือ เราเดินตามทางเดินสะพานลอยน้ำมาจนถึงส่วนของแผ่นดิน ..
แหงนหน้าดูความสูงชันนับร้อยขั้นของบันไดที่เราต้องปีนขึ้นไปแล้วต้องหายใจลึกๆหลายๆครั้ง ด้วยความที่อายุมากแล้ว แต่ยังมีใจรักที่จะท่องเที่ยว
.. และสถานที่เที่ยวในจีนอาจจะทั้งไกล เข้าถึงยาก รวมถึงต้องมีสุขภาพที่ดี กำลังขาที่แข็งแรงด้วย
เราผ่านด่านการเดินขึ้นเขาระดับแรกมาแล้ว เหนื่อยพอสมควร แต่การเดินช้าๆ หายใจลึกๆ และแวะพักบ้าง ช่วยได้มากเลยค่ะ
.. พอมาถึงระดับพื้นปกติ เราก็ยังต้องใช้บริการรถไฟฟ้ารับ-ส่งเพื่อขึ้นภูเขาไปสู่อีกระดับที่สูงกว่านี้ อันเป็นลานกว้างเพื่อเดิน หรือใช้บริการกระเช้าขึ้นไปยังยอดเขาอันเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่เราจะมาชม คือ เมืองผีเฟิงตู
รถไฟฟ้านำนักท่องเที่ยวมาถึงทางเข้า เราพบกับประตู เสาหลายต้นที่มีภาพที่เหมือนหน้ากากสีสันสดใส และรูปปั้น
.. เราไม่รู้ความหมายสิ่งเหล่านี้นัก แต่ดูน่าสนใจค่ะ
.. เดินขึ้นบันไดต่อไป หน้าทางเข้ามีทวารบาลขนาบทั้งสองข้าง
ด้านใน เป็นลานกว้างที่ประดับด้วยภาพขนาดใหญ่สีสวยสด
.. เมื่อถึงตรงนี้ขอเล่าเรื่องของศาสนสถานที่เราจะไปเดินชมก่อน ให้พอมีไอเดียว่า เรากำลังจะไปเที่ยวชมอะไร
ในประเทศจีนมีการนับถือลัทธิศาสนาอย่างหลากหลาย แต่ความเชื่อทางลัทธิศาสนาทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับโลกหลังความตายมีอยู่ 3 ลัทธิศาสนาที่เห็นได้ชัด คือ ลัทธิขงจื่อ ศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธ
.. โลกหลังความตายในลัทธิขงจื่อ คือ “โลกนี้ หรือโลกของวิญญาณ” ทางด้านโลกหลังความตายในศาสนาเต๋า คือ “เต๋า หรือธรรมชาติ” ส่วนโลกหลังความตายในศาสนาพุทธ คือ “สวรรค์หรือนรก”
.. ความเชื่อที่แตกต่างกันนี้ทำให้ชาวจีนมีความเชื่อในโลกหลังความตายที่แตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวจีน
เมืองผีเฟิงตู (จีนตัวย่อ: 丰都鬼城; จีนตัวเต็ม: 豐都鬼城; พินอิน: Fēngdū Guǐ Chéng หรือชื่อเดิม 酆都鬼城 "Fengdu Ghost City") หรือเมืองยมบาลจำลอง
.. เป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยศาลเจ้า วัด อาราม ที่อุทิศ สู่ชีวิตหลังความตาย .. ตั้งอยู่บนภูเขาหมิง ในเทศมณฑลเฟิงตู เทศบาลนครฉงชิ่ง ประเทศจีน อยู่ห่างจากฉงชิ่งประมาณ 170 กิโลเมตร ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำแยงซี
เมืองผีนี้สร้างขึ้นโดยจำลองจาก “เมืองยัวตู” ราชธานีของ “ตี้ยู่” หรือ เมืองนรกในคติพุทธแบบจีน
หลังเขื่อนสามผาเปิดใช้งานและระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น เมืองผีเฟิงตูถูกแยกขาดจากนครเฟิงตู และถูกสร้างขึ้นใหม่ริมเขาทางใต้ของแม่น้ำแทน และกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
.. มีเรือสำราญที่บรรทุกนักท่องเที่ยวขึ้นหรือลงแม่น้ำจอดที่ท่าเทียบเรือและนักท่องเที่ยวจะสามารถเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้ได้
ประวัติศาสตร์ของสถานที่นี้ย้อนกลับไปเกือบสองพันปี (อย่างน้อยก็ในตำนาน) .. มุ่งเน้นไปที่ชีวิตหลังความตายและผสมผสานความเชื่อของลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และพุทธศาสนา
.. มีการกล่าวถึงในวรรณกรรมจีนคลาสสิกหลายเรื่อง เช่น Journey to the West, Investiture of the Gods และ Strange Stories from a Chinese Studio .. ไซอิ๋ว, สถาปนาเทวดา และ โปเยโปโลเย
ตามตำนานเล่าว่า เฟิงตูได้รับชื่อเป็นเมืองผีในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เมื่อเจ้าหน้าที่ของจักรพรรดิ 2 คนคือ “หยิน ฉางเซิง” และ “หวัง ฟางผิง” มาที่ภูเขาหมิงเพื่อปฏิบัติลัทธิเต๋า
.. และในกระบวนการนี้ก็กลายเป็นอมตะ การรวมกันของชื่อ Yinwang แปลว่า "ราชาแห่งนรก" .. และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการมุ่งเน้นไปที่ยมโลก
... เราจะเดินทางต่อไปยังศาสนสถานด้านบนกันนะคะ
การขึ้นไปสู่ยอดเขา นักท่องเที่ยวเลือกได้ว่าจะเดินตามบันไดขึ้นไป ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้บริการกระเช้าลอยฟ้า
ชาวจีนโบราณเชื่อว่า เมื่อเสียชีวิตแล้ววิญญาณจะถูกนำมาพิจารณาความดี ความชั่วที่นี่ ก่อนจะถูกส่งไปที่สวรรค์
.. และตามความเชื่อของจีน คนตายจะต้องผ่านการทดสอบ 3 ครั้งก่อนจะไปสู่ชาติหน้า
.. ก่อนอื่นพวกเขาจะต้องผ่าน "สะพานแห่งความสิ้นหวัง" สะพานหินแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงและเป็นการทดสอบความดีและความชั่ว
มีซุ้มสามโค้งและมีเพียงส่วนตรงกลางเท่านั้นที่ใช้ทดสอบผู้คน การข้ามสะพานมีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ สถานภาพการสมรส
.. ที่สะพานปีศาจจะอนุญาตหรือห้ามไม่ให้ผ่าน ความดีจะผ่านไปได้ ส่วนความชั่วจะถูกผลักลงน้ำเบื้องล่าง
ข้ามสะพานมาแล้ว จะมีศาลาแบบจีนโบราณที่สวยงาม .. เข้าไปสักการะ ขอพรพระสังกัจายน์กันค่ะ
“พระสังกัจจายน์” หรือ “หมีเล่อฝอ(弥勒佛)” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พระสังกัจจายน์โพธิสัตว์” เป็นคำเรียกกันทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ซึ่งเป็นองค์เดียวกันกับคำเรียกทางพุทธศาสนาฝ่านหินยานคือ “พระอาริย์” (พระศรีอารยเมตไตรย)อันเป็นคติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่หมายถึงพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ ที่จะบังเกิดมาในอนาคตกาล
.. เป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขสมหวังและมีความหมายที่ดีสำหรับใช้อวยพรให้แก่กันและกัน เพื่อให้การดำเนินชีวิตใด ๆ สำเร็จสมประสงค์และเพียบพร้อมด้วยปิติสุข และมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ตลอดไป
เราเดินต่อมายังศาลาสวยงามแห่งที่สอง .. ทีรูปปั้นพระพุทธองค์ในรูปลักษณ์แบบจีนประดิษฐานอยู่
.. เจ้าแม่กวนอิม ประดิษฐานอยู่ในซุ้มด้านข้างทั้ง 2 ด้าน
.. ด้านที่ติดกับผนัง 2 ด้านมีรูปปั้นของเซียน 9 องค์ .. ในบรรดาความเชื่อของชาวจีน นอกจากศาสนาพุทธมหายาน และคำสอนของขงจื่อ
อย่างที่เรารู้จักกันแล้ว อีกหนึ่งความเชื่อซึ่งฝังรากลึกผ่านศิลปกรรมแขนงต่างๆ และอยู่ในวิถีชีวิตของชาวจีนคือคำสอนของเหลาจื่อ ที่รู้จักกันในนามลัทธิเต๋า
.. ซึ่งมีความเชื่อว่า “ชีวิตจะดีได้ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ลักษณะคนดีและชีวิตที่มีสุขสูงสุด จะต้องบำเพ็ญตนให้ดำเนินไปตามทางของธรรมชาติ สงบ ไม่ควรทะเยอทะยาน ไม่โอ้อวด ไม่แข่งดีแย่งความเป็นใหญ่ ให้มีความสันโดษ
คุณธรรม 3 ประการ คือ ความเมตตากรุณา ความกระเหม็ดกระแหม่ และความอ่อนน้อมถ่อมตน” .. และสิ่งสูงสุดของเต๋าที่มักจะได้ยินบ่อยๆ นั่นคือการเป็น “เซียน”
ศาลาถัดมา คือ พระราชวังที่ประทับของ “เง็กเซียนฮ่องเต้” เป็นเทพเจ้าในลัทธิเต๋า มีฐานะสูงสุด เพราะเป็นเทพเหนือเทพทั้งปวง
ได้รับการเทิดทูนให้เป็นราชันย์แห่งสรวงสวรรค์ ปกครองอาณาจักรสวรรค์ชั้นฟ้าทีเรียกกันว่า “พระราชวังสวรรค์” หรือ “เทียนกง” (天宫)ปกครองดูแลทั้ง 3 โลก
คำว่า “เง็กเซียนฮ่องเต้” เกิดจากการผสมภาษาจีนระหว่าง 2 สำเนียง คือ ฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว … เง็ก (แต้จิ๋ว) เซียน (ฮกเกี้ยน) ฮ่องเต้ (ฮกเกี้ยน) ซึ่งชื่อนี้ชาวไทยเชื้อสายจีนเรียกกันจนคุ้นเคยและเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
หากออกเสียงในสำเนียงจีนกลางจะเรียกกันว่า อวี้ซ่างหวงตี้ หรือ อวี้หวงต้าตี้ ชาวฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว จะเรียกว่า ทีกง หรือเทียนกง แปลว่า “ปู่สวรรค์”
ชาวจีนมีความเชื่อว่า “ทีกง” คือผู้ดลบันดาลทุกอย่างที่มีบนโลก ทั้งธรรมชาติ ดวงชะตา และความเป็นไปของมนุษย์
ดั้งนั้นทีกงจึงมีผลต่อวิถีชีวิตของชาวจีน ตามศาลเจ้าหรือวัดจีนทั่วโลก ก่อนที่จะทำการบูชาเทพเจ้าองค์อื่นต้องบูชาทีกงเป็นอย่างแรกเพื่อเป็นการให้เกียรติ
ในทุกปีหลังวันตรุษจีนไปแล้ว 8 วัน (ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 20 กุมภาพันธ์) ชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วโลกจะมีพิธีทีกง เรียกกันว่า “ป่ายเทียนกง” (拜天公) เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของเง็กเซียนฮ่องเต้และเป็นวันประสูติของพระองค์อีกด้วย
สาวสวยชาวจีนในชุดเครืรองแต่งกายแบบโบราณ สวยมากๆ ..
จากนั้นเราเดินขึ้นมายังส่วนของ “ยมโลก”
เชื่อกันว่า .. วิญญานของผู้ตายจะต้องเดินทางต่อไปยัง Ghost-Torturing Pass ซึ่งพวกเขาจะปรากฏตัวเพื่อรับการพิจารณาต่อหน้า ท่านยมบาล (Yanluo Wang) นี่คือการทดสอบครั้งที่สอง ในบริเวณนี้มีรูปปั้นปีศาจขนาดใหญ่อยู่ตามทางเดิน
การทดสอบครั้งที่สามทำที่ทางเข้าพระราชวัง Tianzi โดยที่ผู้ตายจะต้องยืนบนก้อนหินก้อนหนึ่งด้วยเท้าข้างเดียวเป็นเวลาสามนาที ตามตำนานคนมีคุณธรรมจะสามารถทำได้ ในขณะที่คนชั่วจะล้มเหลวและถูกประณามลงนรก
ตามตำนานโบราณกล่าวว่า สมัยก่อนชาวจีนมีความเชื่อในเรื่อง “ไท่ซานจื้อกุ่ย” (泰山治鬼) คือคิดว่า เขาไท่ซาน เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างนรกและสวรรค์
มี “ไท่ซานฝู่จวิน” เป็นเทพเจ้าผู้ควบคุมโลกวิญญาณ คอยตัดสินกรรมทั้งหมดในนรกภูมิ โดยมี เฮาหนี่ เป็นบริวารช่วนเหลือไท่ซานอีกทีหนึ่ง (เขาเฮาหลี่ซาน (蒿里山) เป็นเขาที่อยู่ติดกับเขาไท่ซาน ชาวจีนจึงความคิดเช่นนั้น)
ซึ่งต่อมาในสมัยราชวงศ์สุยและถัง คนที่ยึดถือความเชื่อนี้ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ กระทั่งเปลี่ยนมาเชื่อว่าผู้ที่ตัดสินความถูกผิดในนรกคือ “เหยียนหลัวหวาง (阎罗王) ” หรือพญายมราชแทน
และลดบทบาท “ไท่ซานฝู่จวิน” ให้เป็นเพียง 1 ใน 10 หัวหน้าตำหนักควบคุมนรกเท่านั้น
รูปปั้นของ ยมบาล ตั้งอยู่ตรงกลางศาลา
รูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิ .. อยู่ด้านหลัง ท่านยมบาล ซึ่งเดาเอาว่า เป็นอีกด้านหนึ่งตรงข้ามกับนรก คือ สวรรค์
ด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ขนาบด้วยรูปปั้นของเทพ ผู้ดูแลโลกหลังความตายทั้งหมดสิบองค์ ทำหน้าที่รับผิดชอบนรก 10 ขุม .. แต่ละขุมจะเป็นที่ทรมานในระดับต่างๆกัน
วัดและศาลเจ้าหลายแห่งจัดแสดงภาพวาดและประติมากรรมของผู้ที่ถูกทรมานเพราะบาปของตน
อาคารส่วนเพิ่มเติมล่าสุดคือ Last Glance to Home Tower (หรือที่เรียกว่า Home Viewing Pavilion) ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1985
และวางไว้ในตำแหน่งตามตำนานที่คนตายสามารถมองดูบ้านและครอบครัวของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย
ช่วงเดินกลับลงมา ได้ถ่ายภาพบรรยากาศมาฝากค่ะ
โฆษณา