1 เม.ย. เวลา 04:06 • ข่าวรอบโลก

การเยือนไทยในรอบ 22 ปี ของประธานาธิบดีเยอรมนี สู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

ทราบหรือไม่ว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือประเทศเยอรมนี เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2405 โดยทั้งสองประเทศได้จัดทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือระหว่างกัน จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 162 ปี ไทยและเยอรมนีได้มีความร่วมมือในหลากหลายมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วิชาการและการพัฒนา และล่าสุดไม่นานมานี้ ได้มีการเยือนครั้งสำคัญในรอบ 22 ปี ของประธานาธิบดีเยอรมนีเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 24-26 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและภริยา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ประธานธิบดีคนที่ 12 ของเยอรมนีจะได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 22 ปี ในฐานะแขกของรัฐบาล
รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้อนรับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีและภริยา ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (ที่มา X: @MFAThai)
ในโอกาสพิเศษนี้ ผมได้เข้ารับฟังการสัมภาษณ์ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ถึงการเยือนครั้งสำคัญดังกล่าว โดยหากจะย้อนกลับไป การเยือนของประธานาธิบดีหรือประมุขของเยอรมนีครั้งล่าสุด คือเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยนายโยฮันเนส เรา (Johannes Rau) และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย - เยอรมนีในรอบ 162 ปี ผมขอนำผู้อ่านทุกท่านไปร่วมค้นหากันว่าการเยือนครั้งสำคัญนี้ มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาบ้าง
หลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเยอรมนีได้พบกับนายกรัฐมนตรีไทย และได้หารือในประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งเยอรมนีสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนแก่ไทย รวมไปถึงการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนีในไทย ทั้งนี้ เยอรมนียังส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยด้วย
นายกรัฐมนตรี หารือประธานาธิบดี ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ พร้อมภาคเอกชนเยอรมนีที่ร่วมคณะ โดยได้เชิญขยายการค้าและการลงทุนในไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังอุปสงค์ของภาคเอกชนเยอรมนี (ที่มา X: @MFAThai)
นอกจากประธานาธิบดีและภริยาแล้ว คณะการเยือนครั้งนี้ยังรวมถึงรัฐมนตรีและตัวแทนภาคเอกชนจากเยอรมนีอีกหลายท่าน นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของนายกรัฐมนตรีไทยในการนำเสนอนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการแลนด์บริดจ์ การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) รวมไปถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาด้านที่โดดเด่นของเยอรมนี
ภาคเอกชนเยอรมนียังได้แสดงความสนใจการประกอบการในไทยในงานสินค้านานาชาติ การรีไซเคิล และได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไทย ในด้านความต้องการการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อรัฐบาลไทยในการพิจารณานโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากเยอรมนีเป็นการต่อไป
ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานวโรกาสให้ประธานาธิบดีฯ พร้อมด้วยภริยา เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ด้วยเช่นกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระกรัณฑ์ถมตะทองลายดอกพุดตานใบเทศ และตลับถมตะทองลายดอกพุดตานใบเทศประดับเพชรแก่ประธานาธิบดีฯ และภริยา ขณะที่ประธานาธิบดีฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภาพพิมพ์นูนต่ำของรัฐสภาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และแจกันพอร์ซเลนลวดลายต้นหญ้าและนกไอบิสสีน้ำเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ เยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ที่มา: ThaiPR.net)
ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ เดินทางเยือนจังหวัดอุบลราชธานี (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
ประธานาธิบดีและคณะได้เดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานเมอร์เซเดซ-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) รถยนต์ชื่อดังสัญชาติเยอรมนี และเป็นฐานการผลิตรถยนต์และยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อนำเสนอศักยภาพ และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย
จากนั้น ได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากนั้นได้เยี่ยมชมโครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร ณ อำเภอตระการพืชผล ที่เป็นความร่วมมือของไทยและเยอรมนี และปิดท้ายด้วยอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อำเภอโขงเจียม
การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้จะเปรียบเสมือนการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือไทยและเยอรมนี จากการลงนามความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนี 2 ฉบับ ในด้านการขนส่งระบบรางและวิทยาศาสตร์ โดยมีประธานาธิบดีเยอรมนีและนายกรัฐมนตรีไทยเป็นสักขีพยาน ซึ่งจะนำไปสู่ความใกล้ชิดและประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรีไทย และนายโอลาฟ ชอล์ซ (H.E. Mr. Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (ที่มา: เว็บไซต์ รัฐบาลไทย)
ความเคลื่อนไหวด้านการต่างประเทศระหว่างไทยและเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เพียงแต่การเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเยอรมนีเท่านั้น เพราะล่าสุด เมื่อ 12-13 มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทยก็ได้เดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน ซึ่งผมเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนการเยือนนี้ จะเป็นโอกาสอันดีระหว่างสองประเทศที่จะต่อยอดความร่วมมือในมิติสำคัญต่างๆ บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเพื่อรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นบนโลก
โฆษณา