1 เม.ย. เวลา 02:43 • ข่าวรอบโลก
กรุงเทพมหานคร

พญานาค สิ่งมีชีวิตที่มีบุญมากพอที่จะเกิดเป็นสัตว์มีฤทธิ์แต่ยังมีอคติ ๔ เหมือนปุถุชน!

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยพูดถึงตัณหาที่มารบกวนการดำรงชีพของเหล่าพญานาคไปแล้ว หลายคนตีความไปว่าภพภูมิของพญานาคนั้นไม่ดี แต่ที่จริงแล้วภพภูมิของพญานาคนั้นเป็นภพภูมิที่ดี เป็นมิติเดียวกับพวกเทพในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
พญานาคจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเข้าถึงสถานอันงดงามตระการตา มีดอกไม้ทิพย์ อัญมณีดารดาษ มีถ้ำทองแพรวพรรณารายประกายระยับ เท่ากับว่ามีความเป็นอยู่ดุจเทวดาองค์หนึ่งนั้นเอง จะแย่ก็แค่การมีกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน(พญางูใหญ่มีหงอนเกล็ดสวยงาม) แต่ในเมื่อมีฤทธิ์เหมือนเทวดาก็เลยแปลงร่างได้หลากหลายดั่งใจนึก
อันที่จริงภูมิของพญานาคถือเป็นสุขภูมิ คือยังเป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความสุข บางครั้งก็สุขกว่ามนุษย์ อาจจะทุกข์กว่าในเรื่องบางเรื่องเท่านั้น เช่นพิษของพญานาคที่ต้องคายทิ้งทุก15วัน(วันในบาดาล)เพื่อไม่ให้พิษนั้นย้อนกลับเข้าตัวเอง หรือมีปัญหาด้านอารมณ์คือควบคุมโทสะและราคะได้ยาก
หนึ่งในมิติทางอารมณ์ที่อยู่ในพญานาคทั้งหลายแหล่ก็คืออคติ ความมีอคตินี่เองที่ทำให้พญานาคหลายตนยังเกิดความยึดมั่นถือมั่นอยู่มาก ยิ่งถ้าไม่ได้เป็นพญานาคที่ถืออุโบสถศีลแล้วก็ยิ่งโดนอคติดึงไปได้ง่ายเฉกเช่นมนุษย์เราเลย อคติเป็นภาษาบาลี แปลว่าความลำเอียง ซึ่งมีด้วยกัน ๔ ประเภท ดังนี้
๑)ฉันทะอคติ ออกเสียงรวบว่าฉันทาคติ เป็นความลำเอียงที่เกิดจากความรักความชอบหรือความพึงพอใจ ถูกใจ สมฤทัยใดๆก็ตาม ความลำเอียงนี้อาจทำให้เราหน้ามืดตามัว เห็นว่าคนที่เรารักนั้นดี ของที่เรารักนั้นเลิศ สมบัติที่เรามีนั้นประเสริฐล้ำเลอ เช่น พญามณิกัณฐนาคราชผู้สำคัญเอาว่าโยคีฤษีผู้น้องนั้นงดงามน่าดูชม จึงอยากสัมผัสเนื้อตัวของเขา แต่สุดท้ายก็ทำให้เขาหวาดผวาเป็นอันมาก
๒)โทสะอคติ หรือ โทสาคติ คือความลำเอียงที่เกิดจากความไม่รัก ความไม่ชอบใจ ความโกรธเกลียดชิงชังแค้นเคืองขุ่นข้องหมองใจและความหงุดหงิดโมโห ความลำเอียงนี้อาจทำให้เราไปสำคัญว่าคนนั้นคนนี้เป็นผู้ชั่วผู้เลว ของนั้นนี้ไม่ดีต้องกำจัด สัตว์นั้นนี้ไม่ดีต้องฆ่า เป็นต้น โทสาคติทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้ง่าย มันจะทำให้เราเป็นบัวใต้ตมและตายไปสู่ทุกขภูมิ ตัวอย่างเช่น นันโทปนันทนาคราชในอดีตที่เคยจะทำร้ายพระอัครสาวกเพราะลำเอียงว่าตนเป็นเลิศกว่าใคร แต่ก็รอดพ้นนรกไปได้ด้วยการปวารณาตนเป็นพุทธมามากะเมื่อสำนึกผิด
๓)โมหะอคติ หรือ โมหาคติ คือความลำเอียงเพราะความเข้าใจผิด หรือลำเอียงเพราะไม่รู้,ไม่รู้จริง เช่น เรารักและให้เกียรติแฟนมากกว่าพ่อแม่เพราะเข้าใจว่าแฟนปรนเปรอเราดีกว่าพ่อแม่และให้ความสราญรมย์แก่เราได้กว่าพ่อและแม่ หรือรักลูกศิษย์คนที่ตนถูกใจมากกว่าศิษย์คนอื่นจนเผลอสำคัญเอาว่าศิษย์นั้นต้องมาเยี่ยมเราทุกเดือน ถ้าไม่มาก็โมโหต่อว่าประชดประชันศิษย์รักเสีย ไม่ก็คิดว่าเชื่อไลฟ์โค้ชคนดังดีกว่าเชื่อพุทธวจนะเพราะพุทธวัจนะเป็นเรื่องแต่งแสนงมงาย เป็นต้น
๔)ภัยอคติ หรือ ภยาคติ คือความลำเอียงเพราะความกลัว หวาดหวั่น เกรงในภัยพาลต่างๆ เป็นต้นว่ากลัวว่าจะทำงานนี้ได้ไม่ดีหรือทำแล้วเหน็ดเหนื่อย เลยโน้มเอียงว่าควรให้คนนั้นทำแทนตน ไม่ใช่ตน เพราะสำคัญไปว่าไม่ใช่หน้าที่ตนที่ต้องมาแบกภาระความเหน็ดเหนื่อย(ซึ่งบางทีอาจเป็นหน้าที่ของตนก็ได้แต่กลัวว่าจะทำแล้วเหนื่อย) เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น พญานาคสุโภคะที่กลัวว่าพญาภูรัตต์ผู้พี่จะถูกนายพรานฆ่าตาย จึงไปดักทำร้ายนายพรานนั้น เคราะห์ดีที่พญานาคภูริทัตต์ไม่อยากก่อบาป จึงขอให้สุโภคะปล่อยตัวนายพรานไปจนรอดชีวิต
จะเห็นได้ว่าแม้ในพญานาคก็ประหวิดที่จะก่อบาปก่อกรรมจากอคติ ๔ ประการได้ตลอดเวลา พวกเราที่เป็นมนุษย์มีใจประเสริฐกว่าเดรัจฉานหลายๆชนิดก็จงใช้หลักอหิงสาและพรหมวิหาร๔ในการดำเนินชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดอคติ๔กันเถิด
(บทความนี้เขียนโดยแอดมยุรคนธรรพ์ แห่งเพจเฟซบุ๊ค {ธรรมะแฟนตาซี} ขอจงโปรดให้เครดิตแก่เพจนี้ก่อนคัดลอกบทความของทางเราเพื่อจะได้ไม่ผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์นะครับ
โฆษณา