2 เม.ย. เวลา 07:00 • ความคิดเห็น

ประเพณีคร่ำครึของจุฬา?

หลายปีนี้ผมใช้คำว่า preconceived idea (ความคิดปรุงแต่งล่วงหน้า) บ่อยๆ บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร
pre แปลว่าก่อน conceive แปลว่าเกิดขึ้นหรือปฏิสนธิ preconceived จึงแปลว่าคิดล่วงหน้าหรือปรุงแต่งล่วงหน้า
ผมเจอคำนี้ครั้งแรกในวงการออกแบบ อาจารย์พยายามสอนให้นักศึกษาอย่าคิดหาผลลัพธ์ก่อนออกแบบจริงๆ ยกตัวอย่าง เช่น ลูกค้าให้ออกแบบบ้านพัก อ่านโจทย์ยังไม่ทันจบ ก็นึกภาพบ้านห้าห้องนอน มีห้องสนุกเกอร์ หลังคาจั่ว กำแพงบุหินกาบ อ้อ! เติมปล่องไฟบนหลังคาด้วยเพื่อความเท่ อย่างนี้เรียกว่าคิดเร็วไป ไร้ราก ไม่มีที่มา
ตามหลักออกแบบก็ต้องคิดไปทีละขั้นว่า บ้านแบบไหนเหมาะกับครอบครัวนั้นมากที่สุด แล้วออกแบบไปตามนั้น
1
แต่ preconceived idea ที่หนักหนากว่าการออกแบบไม่ดีคือความคิดปรุงแต่งล่วงหน้าที่เกี่ยวกับโลกทัศน์ เป็นความเชื่อแบบมีกรอบคิดเดิมฝังอยู่ มาจากความรู้สึกล้วนๆ ไม่ใช่มาจากความรู้ “ก็ฉันจะเชื่ออย่างนี้แหละ”
preconceived idea กับ bias (อคติ) จึงมักเดินคู่กัน
ความคิดปรุงแต่งล่วงหน้าทำให้เราติดกับดักความคิด มองโลกมุมเดียว และอาจทำให้การตัดสินพลาดเพี้ยน สังคมที่มีคนคิดปรุงแต่งล่วงหน้ามากๆ เป็นสังคมเบาปัญญาที่มีแต่คนพูด ไม่มีคนคิด เชื่อง่าย ถูกจูงจมูกง่าย ไม่ถกกันด้วยเหตุผล แต่ด้วยความคิดที่ปรุงมาก่อนแล้ว
ตัวอย่างก็คือเหตุการณ์ล่าสุด วิวาทะเรื่องพระเกี้ยวบนรถกอล์ฟ
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอะไรที่ไม่เหมือนเดิมคือไม่ดี อีกฝ่ายเห็นว่าอะไรที่เหมือนเดิมคือไม่ดี ทั้งนี้อาจเพราะแต่ละคนอาจมีความคิดปรุงแต่งล่วงหน้าเรื่องมุมมองทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว "ฉันต้องไม่เห็นตรงกับอีกฝ่าย" ความคิดอ่านก็มักสะท้อนมุมมองนั้นไปด้วยจิตใต้สำนึก
ทางที่เหมาะกว่าคือพิเคราะห์พิจารณาด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องความงามทางศิลปะ ก็อาจตอบได้ง่ายขึ้นว่าเราควรหรือไม่ควรใช้รถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยว
4
ในกรณีนี้เราต้องศึกษาก่อนว่า ทำไมจึงมีประเพณีอัญเชิญพระเกี้ยวโดยเสลี่ยง
พระเกี้ยวเครื่องประดับของพระจุลจอมเกล้าฯ ผู้ก่อกำเนิดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ศิษย์รุ่นใหม่อย่าเพิ่งแย้งว่าสะกดผิด ชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้แต่แรกไม่ใช่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เนื่องจากพระเกี้ยวเป็นของสูง จึงใช้เสลี่ยงที่ใช้สำหรับของสูง
1
แล้วทำไมศิษย์จุฬาฯโดยเฉพาะยุคก่อนจึงเทิดทูนพระเกี้ยว? คำตอบมีสองข้อ
ข้อแรกคือมันเป็นสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 5-6 ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย นี่คือการรำลึกถึงผู้มีบุญคุณต่อเรา
3
ข้อสองคือ พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียม เพราะเป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 5-6 ให้สามัญชนชาวบ้านมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัยเหมือนลูกหลานขุนนาง
6
อย่างนี้ไม่เรียกว่าเท่าเทียม ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้ว แสดงว่าไม่รู้จักที่มาของจุฬาฯ มันไม่ใช่แค่สถาบันศึกษา มันคือโอกาสของคนธรรมดา รัชกาลที่ 5-6 ทรงให้โอกาสเราทุกคนเรียน ใช้วิชาการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว นิสิตจุฬาฯยุคก่อนจำนวนมากมาจากครอบครัวที่ไม่มีอะไรเลย โอกาสได้เรียนที่จุฬาฯจึงเป็นบุญคุณอย่างหนึ่ง
2
ดังนั้นการทำพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวก็คือการแสดงความรู้คุณอย่างหนึ่ง คล้ายประเพณีไหว้ครู คล้ายพิธีเช็งเม้ง
1
ช่วงนี้เป็นเทศกาลเช็งเม้ง ลูกหลานชาวจีนกลับภูมิลำเนาไปไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ครอบครัวผมก็เช่นกัน เช่นทุกๆ ปี พี่น้องผมบางคนบินกลับบ้านเกิด บางคนก็โดยสารรถไฟไป เตรียมข้าวของ เก็บกวาดฮวงซุ้ย ถอนหญ้า และทำพิธีไหว้ ฯลฯ กลางแดดร้อนเปรี้ยง (คิดๆ ดู บางทีมันอาจมีเหตุผลที่พิธีเช็งเม้งอยู่ในช่วงอากาศร้อนจัด อาจเพื่อพิสูจน์ว่าจะมีลูกหลานกี่คนที่จะฝ่าแดดไปทำพิธี)
6
เราไม่เคารพบรรพบุรุษ พ่อแม่ผู้ล่วงลับแบบขอไปที เราทำด้วยความประณีต กลางแดดร้อน เพราะอะไร? ก็เพราะการแสดงออกต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ ทำน้อยกว่านี้ได้อย่างไร มันเป็นประเพณีคร่ำครึหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคนพูดใช้หัวใจหรือใช้ลัทธิความเชื่อที่ถูกกรอกมาจนกลายเป็นกรอบคิดพูด
2
การทำพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวก็เช่นกัน บุญคุณของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสูงล้น มอบชีวิตใหม่แก่นิสิตและอาจารย์ทุกคน เราจึงไม่เลือกวิธีลวกๆ ขอไปที อ้างลวกๆ ว่าอากาศมันร้อน หรือเพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียม เพียงเพราะไปยึดมั่นถือมั่นกับความคิดปรุงแต่งล่วงหน้าว่า "ฉันต้องไม่เห็นตรงกับประเพณีเดิม"
4
วิธีคิดแบบนี้จะกลายเป็นอคติที่สะสมนานวันเข้า ก็จะสร้างคนเบาปัญญาที่ไม่รู้ว่าตนเองเบาปัญญา และที่สำคัญคือ กลายเป็นคนอกตัญญูที่เห็นพิธีหน้า 'ฮวงซุ้ย' เป็นเรื่องคร่ำครึ แต่แปลกที่คนเหล่านี้ประพฤติตนเข้าข่ายกินบนเรือนขี้บนหลังคา ไม่ชอบสถาบันผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เลี้ยงดูตน แต่ยังขอเรียนขอเกาะสถาบันนี้รับเงินเดือนต่อไป
5
นี่มิได้แปลว่าเราจะใช้รถกอล์ฟในพิธีไม่ได้ ถ้าจิตวิญญาณเดิมยังอยู่ครบถ้วน ก็ย่อมทำได้ แต่มันก็จะมาถึงประเด็นความงามทางศิลปะ ในมุมมองของสุนทรียศาสตร์ จุฬาฯสอนเรื่องความงามมาร้อยปี ผลิตนิสิตด้านออกแบบไปนับไม่ถ้วน ผลงานนิสิตเคยชนะรางวัลออกแบบนานาชาติมาแล้วไม่น้อย จะมีใครเชื่อไหมว่าเราออกแบบได้ดีกว่านี้ไม่ได้จริงๆ ? Seriously?
1
วินทร์ เลียววาริณ
นิสิตจุฬาฯ รุ่นปี 2518
โฆษณา