3 เม.ย. 2024 เวลา 03:19

หลายคนคงจะคุ้นเคยกับพฤติกรรมที่ชื่อว่า ghosting เป็นอย่างดี

มันคือพฤติกรรมที่คนๆหนึ่งหายไปจากชีวิตของอีกคน โดยที่ไม่มีการบอกกล่าวใดๆทั้งสิ้น
ส่งผลให้คนที่ถูกเทรู้สึกสับสนและเจ็บปวดอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคนถูกเทมีความสัมพันธ์ในเชิง “คู่รัก” กับคนที่ทำพฤติกรรม ghosting (ไม่ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะมีสถานะเป็น “แฟน” หรือ “คนคุย” หรือสถานะใดก็ตาม)
หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า
“ทำไมคนที่ทำพฤติกรรม ghosting ถึงไม่บอกอีกฝ่ายให้ชัดเจนก่อนที่จะหายตัวไป?”
จากการสังเกตส่วนตัวของผมในฐานะนักจิตวิทยา และจากการศึกษาที่มีอยู่ ต่อไปนี้คือสาเหตุที่ทำให้คนๆหนึ่งเลือกที่จะทำพฤติกรรม ghosting ครับ
.
.
.
.
.
.
# 1 คนที่ทำพฤติกรรม ghosting มองว่าตัวเอง “ดีไม่พอ” สำหรับอีกฝ่าย
เขาก็เลยตัดสินใจที่จะหายไปอย่างเงียบๆ
อันที่จริง คนที่ทำพฤติกรรม ghosting ด้วยเหตุผลนี้ อาจจะมองว่า
การที่เขาหายไปเงียบๆแบบนี้ มันดีกับคนที่ถูกเทเสียด้วยซ้ำ
(เช่น “เธออย่ามาเสียเวลากับคนห่วยๆอย่างฉันเลย”)
# 2 คนที่ทำพฤติกรรม ghosting ไม่ค่อยมีความเข้าอกเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น
เขาจึงอาจจะมองไม่เห็นถึงความสับสนและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคนที่ถูกเทได้
# 3 คนที่ทำพฤติกรรม ghosting ไม่อยากที่จะมี difficult conversation (หรือบทสนทนาที่ “คุยยาก”) กับคนที่ถูกเท
ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำพฤติกรรม ghosting พบว่าตัวเองไม่ได้รักอีกฝ่ายแล้ว เขาก็เลยตัดสินใจที่จะทำพฤติกรรม ghosting เพราะ “ไม่อยากคุยและเกิดดราม่า” กับอีกฝ่าย เป็นต้น
# 4 คนที่ทำพฤติกรรม ghosting ต้องการควบคุมคนที่ถูกเท
ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำพฤติกรรม ghosting เลือกที่จะทำพฤติกรรมดังกล่าว เพราะต้องการ “เล่นเกมความสัมพันธ์” กับอีกฝ่าย และอยากให้อีกฝ่าย “วิ่งไล่ตาม” ตัวเอง เป็นต้น
# 5 คนที่ทำพฤติกรรม ghosting มองว่า ความสัมพันธ์ที่มีอยู่มันยังไม่ได้ “จริงจัง” มากพอที่จะ “บอกลา” อย่างเป็นกิจจะลักษณะ
กรณีนี้มักจะพบเห็นได้บ่อยๆในกลุ่มคนที่เพิ่งรู้จักกันผ่าน “แอพหาคู่” และได้เริ่มต้นสานความสัมพันธ์กันไม่นาน (เช่น 1 สัปดาห์) และพบว่าเขา “ไม่คลิ๊ก” กับอีกฝ่าย
# 6 คนที่ถูกเทไม่ยอมที่จะยุติความสัมพันธ์
หลายครั้ง คนที่ทำพฤติกรรม ghosting ได้มีความพยายามที่จะสื่อสารความต้องการที่ยุติความสัมพันธ์กับคนที่ถูกเทมาแล้ว
แต่คนที่ถูกเทก็ไม่ยอมยุติความสัมพันธ์ และยังคงพยายามติดต่ออยู่เรื่อยๆ (จนบางครั้ง ก็เริ่มเข้าข่าย “คุกคาม”)
ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการยุติความสัมพันธ์จำเป็นต้องใช้วิธี ghosting นั่นเองครับ
.
.
.
.
.
.
ทั้งหมดนี้คือสาเหตุ (บางส่วน) ที่ทำให้คนๆหนึ่งเลือกที่จะทำพฤติกรรม ghosting
ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรบ้างครับกับสาเหตุทั้ง 6 ข้อนี้? นอกจาก 6 ข้อนี้แล้ว ท่านผู้อ่านมองว่ามีสาเหตุข้ออื่นอีกไหมครับ?
ท่านผู้อ่านสามารถร่วมแบ่งปันความคิดเห็น ข้อมูล และประสบการณ์ส่วนตัวของท่านได้ที่ช่อง comment ด้านล่างเลยนะครับ
แหล่งอ้างอิง
Forrai, M., et al. (2023). Short-sighted ghosts. Psychological antecedents and consequences of ghosting others within emerging adults’ romantic relationships and friendships. Telematics and Informaticas, 80, 1-12.
Jonason, P.K., at al. (2021). Leaving without a word: Ghosting and the dark triad traits. Acta Psychologica, 220, 1-5.
Narvarro, R., et al. (2020). Psychological correlates of ghosting and breadcrumbing experiences: A preliminary study among adults. International Journal of Environmental Research on Public Health, 17(3), 1-13.
โฆษณา