3 เม.ย. เวลา 13:46 • ข่าว

ชำแหละ 5 โรคเลื่อน ดิจิทัลวอลเล็ต จนจำไม่ได้

การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของสภาผู้แทนราษฎร วันแรก (3 เม.ย.2567) ช่วงหนึ่งของการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่จนถึงตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียด เป็นรอบที่ 5 แล้ว!! ทั้งแหล่งที่มาของเงิน จำนวนประชาชนที่จะได้รับเงิน วันเริ่มดำเนินการ แอปที่ใช้
ยกตัวอย่าง วันเริ่มดำเนินการ เปลี่ยนมาแล้ว 4 รอบ
- ก่อนเลือกตั้ง ไม่ระบุวันเริ่ม แต่บอกว่าทำทันที
- เปลี่ยนรอบ 1 : เลื่อนเป็นเริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2567
- เปลี่ยนรอบ 2 : เลื่อนเป็นเริ่มไตรมาส 1 ปี 2567
- เปลี่ยนรอบ 3 : เลื่อนเป็นเริ่ม 1 พฤษภาคม 2567
- เปลี่ยนรอบ 4 : เลื่อนเป็นเริ่มไตรมาส 4 ปี 2567
ส่วนแหล่งที่มาของเงิน ศิริกัญญาระบุว่า โครงการนี้สร้างความสับสนมาตลอด
🔻จากช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยประกาศจะใช้งบประมาณปี 2567 พอเป็นรัฐบาลก็เปลี่ยนจะไปกู้ธนาคารออมสินแต่กฤษฎีกาได้ห้ามไว้ก่อน
1
🔻ต่อมามีแนวคิดว่าจะใช้งบผูกพันปี 2567-2568 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่าผิด พ.ร.บ.เงินตรา
🔻ต่อมาบอกว่าจะใช้ทั้งงบประมาณและ พ.ร.บ.เงินกู้ แต่เมื่อไปดูในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ก็ปรากฏว่าไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็เลยมีการเปลี่ยนรอบที่ 4 จะเป็นการกู้ทั้งหมด แต่ก็โดนสกัดตัดขาโดย ป.ป.ช. จึงต้องมีการเปลี่ยนอีกเป็นรอบที่ 5 ซึ่งตนขอเดาว่าน่าจะมีการใช้แหล่งเงินจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ
1) งบประมาณปี 2568 ที่เมื่อวานคณะรัฐมนตรีได้มีการทบทวนกรอบการคลังระยะปานกลาง โดยให้เพิ่มงบประมาณปี 2568 เป็น 3.75 ล้านล้านบาท และจะกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งก็ตรงกับสมมติฐานที่ตนตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่าน่าจะมีการแบ่งงบปี 2568 เพื่อนำมาใช้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
2) งบประมาณกลางปี 2567 ซึ่งรัฐบาลสามารถออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี หรือ “งบกลางปี” ขึ้นมาได้ ซึ่งในขณะนี้ก็จะสามารถกู้จนเต็มเพดานได้อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่วิธีการนี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าออกงบกลางปี 2567 แล้วจะไปใช้ปี 2568 ได้อย่างไร ซึ่งก็พบว่ามีช่องทางอยู่ คือน่าจะเป็นเอาไปใส่ไว้ในกองทุน
เพราะบรรดากองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนของรัฐบาลสามารถใส่เงินเข้าไปได้ และจะนำมาใช้เมื่อใดก็ได้ ใช้กับอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องส่งคืนคลัง ซึ่งตนเข้าใจว่าน่าจะเป็นกองทุนประชารัฐเพื่อสวัสดิการ ที่มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าจะต้องให้กับเฉพาะผู้ที่มีสถานะยากจน มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่ง ณ วันนี้มีคนที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านคน
ดังนั้น ตนจึงมีสมมติฐานว่าอาจจะต้องนำกลางปี 2567 มาใช้เพิ่มอีก 4 หมื่นล้านบาทหรือไม่ แต่ปัญหาก็คือมีแค่ 14 ล้านคนที่จะสามารถใช้งบตรงนี้ได้ จำนวนรวม 1.4 แสนล้านบาท และยังมีส่วนที่ขาดอยู่ค่อนข้างมาก จึงนำมาสู่แหล่งที่ 3 คือ
3) การสั่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินนโยบายแทนรัฐบาล ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง คือการกู้เงินของ ธ.ก.ส. มาใช้ก่อนแล้วค่อยใช้คืนทีหลัง แต่วัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจของ ธ.ก.ส. เองก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท จึงต้องมีการตีความอย่างตีลังกาว่า ธ.ก.ส. จะสามารถแจกเงินดิจิทัลให้เกษตรกรได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นไปในลักษณะของครัวเรือน มากกว่าตามข้อมูลของทะเบียนเกษตรกรซึ่งมีอยู่ประมาณแค่ 8 ล้านคน
ทั้งหมดนี้ ศิริกัญญายังคงรอคำตอบจากรัฐบาลว่าจะคาดการณ์ผิดไปหรือไม่ ซึ่งหากเดาไม่ผิด นี่เป็นความพยายามที่เรียกได้ว่าเลือดเข้าตาแล้ว จากเดิมที่เคยพายเรือในอ่างกลับไปเริ่มที่ศูนย์ใหม่เรื่อย ๆ วันนี้เรากำลังออกทะเลกันไปไกลแล้ว เพราะมูลค่า 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้สุดท้ายก็ต้องมาจากการกู้ เพียงแต่ว่าเป็นการกู้ที่อาจจะสามารถทำให้ถูกกฎหมายได้
ทำให้จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ต้องลุกขึ้นมาชี้แจง ขอให้ศิริกัญญาลดการคาดการณ์คาดเดาลง เพราะอีกไม่กี่วัน 10 เมษายนนี้ คณะกรรมการฯ จะแถลงให้ชัดเจน ไม่อยากให้คาดเดาไปต่างๆ นานา พอผิดก็ต้องมี “หน้าแตก” กันอีกโดยไม่จำเป็น
สุดท้ายใครจะหน้าแตก หรือใครจะทำไม่ได้ตามที่พูดอีก เอาเป็นว่าประชาชนดูจากที่ผ่านมาและโปรดติดตามตอนต่อไป.
โฆษณา