14 เม.ย. เวลา 02:00 • บ้าน & สวน

LAAB IS MORE เล่าวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบชนบท ด้วยภาษาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเป็นกันเองแบบ “บ้านบ้าน”

"ลาบ" ไม่ใช่แค่อาหารเหนือ แต่เป็นวิถีชีวิตของบ้านหลังหนึ่ง นี่คือภาพแทนของการตามหา “ความธรรมดา ที่เท่ เป็นพิเศษ” ด้วยชีวิตด้านหนึ่งของเจ้าของบ้านเป็นนักถ่ายภาพ
สารตั้งต้นของการสร้างบ้านหลังนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการพื้นที่ส่วนตัวและความสงบในการทำงาน บวกกับความชื่นชอบการเล่นสเก็ตบอร์ด มีวิถีแบบร่วมสมัย
ส่วนชีวิตอีกด้านหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นคนชอบกินลาบ มีความสุขกับการทำลาบกันเองในหมู่เพื่อนฝูงพี่น้อง และเติบโตมากับทุ่งนา จึงมีตัวตนของวิถีชนบทอยู่ภายใน คำว่า "ลาบ" คำนี้ จึงเป็นความหมาย และนิยามของบ้านที่เป็นส่วนตัว พร้อมเปิดรับบรรยากาศเครือญาติแบบไทย ๆ ไปพร้อมกัน ที่นี่จึงเปี่ยมไปด้วยความสุขของการใช้ชีวิต (Joyful of Living) ที่มีความเป็นลูกผสม ระหว่างความสุขแบบชาวเมือง และความสุขแบบชาวบ้านที่เรียบง่าย
บ้านหลังนี้ตั้งกลางพื้นที่ชุมชน ที่ถูกห้อมล้อมด้วยญาติพี่น้องในระยะประชิด ซึ่งยังใช้ชีวิตอยู่ในวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบชนบท เช่น การทำอาหารจากเตาไฟ ที่ยังจุดถ่านเอง บ้านหลังนี้จึงออกแบบให้ตอบรับความงาม (Aesthetic) ในวิถีลูกผสมนี้ โดยสามารถรองรับจังหวะชีวิตร่วมสมัย (Functional Design1) และรองรับจิตวิญญาณชีวิตชนบทให้เกิดความแนบแน่น (Functional Design2) บ้านหลังนี้จึงมีความเท่ที่แฝงในความธรรมดาของวิถีลาบ เป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณของชาวเหนือ ส่งต่อไปยังสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
สำหรับชาวเหนือ "ลาบ" เป็นมากกว่าอาหารประจำถิ่น แต่คือวิถีชีวิตเป็นความสุขในการรวมตัวญาติพี่น้องที่นั่งขลุกตัวกันทำลาบบนพื้น ทั้งการนั่งยอง ๆ ลงมือสับเนื้อบนเขียงที่วางบนพื้น และการนั่งล้างผัก รวมถึงการนั่งล้อมวงกินลาบกับข้าวเหนียว การนั่งกินลาบง่าย ๆ กับพื้นบ้าน คือวิถีชีวิตที่มีความสุขของชาวเหนือ ซึ่งวัฒนธรรมการใช้ชีวิตผ่านการนั่งกับพื้นเช่นนี้ ก็เป็นหนึ่งในบุคลิกร่วมของชาวเอเชียอาคเนย์
ด้วยบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ปลูกท่ามกลางกลุ่มบ้านเดิมที่เคยตั้งอยู่มาก่อนแล้ว การทำหน้าที่เปรียบได้กับห้องรับแขกกลางของญาติ ๆ และการเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ต่างเป็นโจทย์ที่ผสมผสานอยู่ภายในบ้านหลังนี้ การออกแบบที่ต้องสร้างให้การใช้งานนั้นสอดคล้องกับทั้งสองโจทย์ จึงเป็นความท้าทายของผู้ออกแบบ
สร้างการปิดล้อม เพราะด้วยระยะกระชั้นของบ้านญาติพี่น้องรอบพื้นที่ จึงออกแบบบ้านให้ปิดล้อมด้วยผนังหลายรูปแบบ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว โดยเก็บรักษาที่ว่างวิถีลาบ และวิถีร่วมสมัยไว้ภายใน
สร้างที่ว่าง พื้นที่กลางบ้านทำหน้าที่คล้ายเติ๋นของเรือนล้านนา มีพื้น 2 ระดับขนาดพอเหมาะกับการนั่งเล่นสบาย ๆ โดยพื้นระดับบน ได้เชื่อมไปรองรับชีวิตวิถีชีวิตร่วมสมัย ทั้งพื้นที่ทำงานส่วนตัว และพื้นที่นอนหลับพักผ่อน
ส่วนพื้นระดับล่างในบ้าน เป็นโถงนั่งเล่นสบาย ๆ ที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ชานอเนกประสงค์นอกบ้านที่ออกแบบมาให้รองรับวิถีปรุงลาบ โดยมีพื้นที่สำหรับล้างผักบนพื้น และพื้นที่สำหรับวางเขียงเพื่อให้นั่งยองปรุงลาบสบาย ๆ ก่อนจะไปนั่งล้อมวงกินลาบร่วมกัน
วัสดุและโครงสร้างเหล็ก สามารถถ่ายทอดความเบาลอยของโครงสร้างไม้แบบเรือนชนบทพื้นถิ่นได้ดี เช่น การสร้างแผ่นผนังให้มีช่องแสงแมวลอดใต้ผนัง และคอสองเหนือผนัง โดยที่ผนังยังดูเบาอยู่ เหล็กจึงเสมือนเป็นวัสดุในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในบ้านหลังนี้ ที่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณเชิงช่างไม้ของชาวเหนือให้สอดคล้องกับบริบทชีวิตชนบทเรียบง่ายในชุมชน
ออกแบบ: Studio Sifah (https://www.facebook.com/studiosifah)
ภาพ: PotoArchitects & Blind Space
เนื้อหา: Studio Sifah
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา