5 เม.ย. เวลา 13:07 • บันเทิง

พี่ชายกับความตายในสังคม

บทวิจารณ์ทางสังคมเรื่อง พี่ชายกับความตายของสังคม
จากภาพยนตร์เรื่อง พี่ชาย My Hero
เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ เด็กกำพร้าวัย 11 ขวบ ชื่อ โอ๊ต มีพี่ชายชื่อ เอก โอ๊ตและเอก กำพร้าสูญเสียพ่อและแม่ ทั้งคู่เลยต้องอาศัยอยู่กับ ป้า และลูกสาวของป้า
เอกเป็นพี่ชายที่แสนดี คอยดูแลและประคบประหงมโอ๊ตอย่างดี อย่างไรก็ตาม เอกเป็นเกย์ คบหากับไจ๋ คนรักเพื่อนชายวัยเดียวกันแต่ฐานะดีกว่า ตัวละครทั้ง 2 ดำเนินชีวิตเฉกเช่นคนปกติธรรมดา จนเมื่อเอกต้องไปเกณฑ์ทหาร โอ๊ตตัดสินใจขโมยของมีค่าไปมอบให้เสี่ยผู้มีอิทธิพลประจำตลาด เพื่ออ้อนวอนขอให้เสี่ยช่วยเหลือพี่ชายของตน ทั้งนี้เสี่ยผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของบาร์ที่เอกทำงานอยู่
ท้ายสุด เอกจับได้ใบแดง ก่อนจะเข้ากรมกอง เอกได้ไปทำงานขายบริการทางเพศให้กับชายรักชาย โอ๊ตผู้เป็นน้องได้รับรู้ถึงงานที่เขาต้องทำ เอกตัดสินใจบอกเลิกกับแฟนผู้มีเส้นสายจนไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร ขณะเดียวกัน แฟนก็รู้สึกผิดหวังกับการทำงานขายบริการทางเพศของเอก ที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงน้องและครอบครัว
เอกถูกส่งไปชายแดนภาคใต้ และที่นี่ทำให้เขาต้องเสียชีวิต ฉากสุดท้ายของเรื่องตัดมาที่โอ๊ตตอนโต โดยโอ๊ตตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมใบดำถึงอยู่ที่คนท้าย ๆ ติด ๆ กันไปหมด รวมถึง "ไอ้ตี๋" ลูกชายเสี่ยก็จับได้ใบดำเช่นกัน ภาพในฉากโอ๊ตตอนโต ตื่นขึ้นมาในคอนโดมิเนียม หรูกลางกรุงเทพ ในวันที่เขาจับใบดำใบแดง และท้ายสุดก็ได้ใบดำ
พี่ชายกับความตายในสังคมไทย
ภาพยนตร์เรื่อง พี่ชาย My Hero เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องและสะท้อนสังคมที่ดีอีกเรื่องหนึ่งของภาพยนตร์ไทย เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รับรางวัลต่าง ๆ อีกมามายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยภาพยนตร์เรื่อง พี่ชาย My Hero นี้ ได้เล่าและสะท้อนสังคมต่าง ๆ ของบทและตัวละครไว้เป็นอย่างดี โดยแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ความรักของชายรักชายและการทำงานที่สังคมไม่ยอมรับ
เอกตัวละครเอกของเรื่องที่เป็นเกย์ซึ่งเป็นคนรักของไจ๋ตั้งแต่เรียนมัธยมและคบกันเรื่อยมา ความรักของทั้งสองนั้นผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะเป็นความรักที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมไทย และยิ่งเอกเองนั้นทำงานในบาร์และขายตัวให้กับบรรดานักเที่ยวทั้งหลายยิ่งทำให้สังคมไม่ยอมรับยิ่งไปอีก
เอกเองก็ไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ทั้งเรื่องความรักกับไจ๋ที่ถูกคนรอบข้างมองถึงแม้เอกจะไม่คิดว่าเป็นอะไรหรือเป็นเรื่องผิดอะไรแต่เอกก็อดสงสารไจ๋ไม่ได้ที่ต้องมาโดนคนอื่นมองในทางที่ไม่ดีเช่นนี้
เรื่องการทำงานของเขาเองที่สังคมไม่ยอมรับ แม้จะทำเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและเป็นงานที่สุจริตก็ตาม ทำให้เอกโดนกีดกันในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเรื่องในทำนองนี้นั้นในไทยปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งเพราะเพศแบบเอกและไจ๋มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและสังคมไทยยังไม่ได้เปิดรับกับเพศเหล่านี้เท่าที่ควรจึงทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตของเพศเหล่านี้ และการที่เอกทำงานที่บาร์อีกทั้งยังขายตัวยิ่งทำให้สังคมยอมรับไม่ได้เพราะสังคมไทยไม่อาจที่จะยอมรับคนที่ทำงานในลักษณะเช่นนี้
แต่ในปัจจุบันคนที่ประกอบอาชีพนี้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สื่อความรักและการดำเนินชีวิตของตัวละครที่เป็นเกย์หรือเพศทางนี้แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ทำให้เรื่องของเกย์เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะแก่นของเรื่องอยู่ที่เรื่องอื่นไม่ได้โฟกัสที่เรื่องของเกย์ ถือว่าเป็นการสร้างภพยนตร์ที่ดีมาก ๆ ให้เรามองอะไรที่แตกต่างและมองในหลาย ๆ มุมในเรื่องเกย์ที่ไม่ใช่แค่เป็นเพศที่ไม่ปกติ
2. การเกณฑ์ทหารกับการยัดใต้โต๊ะ
การเกณฑ์ทหารในสังคมไทยเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมายาวนานแม้จะไม่เหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมืองก็ตามและการเกณฑ์ทหารนี้ยังเป็นที่กล่าวถึงในสังคมอย่างกว้างขวางว่าเหมาะสมหรือไม่ซึ่งความคิดเห็นของแต่ละคก็มองไม่ตรงกัน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ตีแผ่สังคมไทยในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
โดยกล่าวถึงการเกณฑ์ทหารเพื่อไปฝึกและรับใช้ชาติของเอกและไจ๋ที่เป็นแฟนกัน ทั้งสองก็ไปเกณฑ์ทหารปกติ โดยที่ไจ๋นั้นพ่อของเขาได้ยัดเงินให้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อที่ไจ๋จะได้ไม่ต้องไปเป็นทหารและให้จับได้ใบดำ ส่วนเอกนั้นจับได้ใบแดงและต้องไปเป็นทหารและการไปเป็นทหารของเอกก็ทำให้เอกเสียชีวิต
ซึ่งเนื้อหาของเรื่องในตอนนี้จะพบเห็นได้มากในสังคมไทยทั้งเรื่องการเกณฑ์ทหารและการยัดเงินเพื่อจะไม่ให้ลูกหลานของตนไปเป็นทหาร โดยการยัดเงินแต่ละครั้งนั้นก็หลายแสนบาท เรื่องนี้ผู้วิจารณ์ได้เห็นและประสบกับตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยนั้นเรื่องความทุจริต เอารัดเอาเปรียบ ความยากมีอยากได้ ยังมีอยู่ และมีการกระทำเช่นนี้มีมาตั้งแต่อดีตจนปันจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่
และการเกณฑ์ทหารที่ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันในปัจจุบันว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพราะการเกณฑ์ทหารในแต่ละปีใช้งบจำนวนมากและในปัจจุบันประเทศไทยก็ไม่มีสงครามอะไร การเกณฑ์ทหารที่เยอะในแต่ละปีนั้นก็ฝึกไม่กี่เดือนและทหารทุกนายยังได้รับเงินเดือนในการฝึกด้วย บางคนฝึกแค่ไม่กี่เดือนก็ออกมาแล้วเงินเดือนที่จะได้รับก็ต้องมอบให้กับกรมไป แล้วคนที่ได้รับเงินส่วนนี้ละเป็นใครกันถ้าไม่ใช่กรมต้นสังกัด
ทำให้สังคมบางกลุ่มมองว่าเป็นการเกณฑ์ทหารเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศชาติแต่บางกลุ่มก็มองว่าการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องที่ดี เพราะได้ฝึกระเบียบวินัยของตนเอง แต่อย่างไรก็ดีการเกณฑ์ทหารที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการเกณฑ์ทหารและการที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหารเพราะทำให้เสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต
ซึ่งเนื้อเรื่องส่วนนี้ก็ตรงกับสังคมปัจจุบันที่หลายคนไม่อยากที่จะให้ลูกหลานตัวเองไปเป็นทหารเพราะทำเสียโอกาสทางอาชีพและโอกาสทางด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน ภาพยนตร์ก็ได้ยกมุมมองของผู้คนในส่วนนี้มาตีแผ่และสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน
3. ความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศนั้นเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้และเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงตลอดเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นสังคมที่น่ากลัว เพราะมีแต่ความรุนแรง ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และอันตรายต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ในภาพยนตร์เรื่อง พี่ชาย My Hero ก็ได้นำประเด็นนี้มาสร้างและเล่าถึงความน่ากลัวของเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเล่าผ่านตัวละครที่ชื่อเอก ซึ่งเป็นตัวนำของเรื่อง เอกถูกเกณฑ์ทหารและจับได้ใบแดง จากนั้นได้มาประจำการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและถูกลอบยิงจนทำให้เสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เรามักจะเห็นออกข่าวตามโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ โดยที่รัฐบาลของไทยไม่ว่าชุดไหนก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้
และความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับวันก็ยิ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นจิตใจของผู้คนว่าเป็นเช่นไร และสร้างความหวาดกลัวของทหารที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้หลายคนไม่อยากที่จะเป็นทหารเพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แม้บางคนอาจจะพูดได้ว่าตายอย่างมีศักดิ์ศรีเพราะตายเพื่อชาติ แต่คนที่อยู่และสูญเสียคงไม่คิดเช่นนั้นเพราะการสูญเสียไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียแบบไหนก็ย่อมเสียใจทั้งนั้น
และอยากจะให้เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ นี้หมดไป แต่ก็คงยากเพราะสังคมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นแตกต่างจากสังคมอื่น ๆ เพราะมีหลายเชื้อชาติ ต่างศาสนา ทำให้ยากที่จะทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ นี้หมดไป ซึ่งในภาพยนตร์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้คงไม่หมดไปเพราะผ่านไปกี่ปีเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากตอนที่โอ๊ตนั้นโตแล้วและก่อนที่จะมาเกณฑ์ทหารก็ได้เปิดข่าวดูและเหตุกาณ์เช่นนี้ก็ยังมีอยู่แม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตามตั้งแต่ที่พี่ชายของตนเองเป็นทหารและโดนยิงตาย
สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า เหตุการณความรุนแรงของสังคมไทยไม่มีทางหมดไปและจะยิ่งก็ให้เกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. ความเลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน
ความเลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในประเด็นนี้สื่อผ่านตัวของเอก ไจ๋ และตี๋ ที่ทั้งสามคนจะต้องไปเกณฑ์ทหารและจับใบดำ ใบแดง ไจ๋เป็นลูกของคนรวยในหมู่บ้านและตี่เป็นลูกของเสี่ยเจ้าของบาร์ที่เอกทำงานอยู่ ในตอนที่ทั้งสามไปเกณฑ์ทหารนั้น พ่อของไจ๋และตี๋ได้ยัดเงินให้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อที่ลูกของตนจะได้ไม่ต้องติดทหาร ส่วนเอกที่เป็นคนจนไม่มีเงินไปให้นายทหารก็ต้องจับใบดำ ใบแดง และได้ใบแดงในที่สุด
และความเลื่อมล้ำระหว่างความรวย ความจนนั้น ยังสื่อออกมาอีกหลายตอน อาทิ ตอนที่ตี๋เล็กไปเก็บเงินค่าเช่าจากชาวบ้านและได้ทำร้ายร่างกายชาวบ้านจนได้รับบาดเจ็บ แต่ชาวบ้านก็ไม่กล้าที่จะไปแจ้งความหรือแจ้งตำรวจ เพราะกลัวอำนาจของพ่อตี๋ที่แม้แต่ตำรวจก็ไม่กล้าจะทำอะไร
ทำให้เราเห็นว่าคนจนไม่มีบทบาทหรือมีปากมีเสียงในสังคมเลย จะทำอะไรก็กลัวอำนาจของผู้ที่รวยกว่ามีอิทธิพลมากกว่า แม้แต่เอกเองที่เป็นตัวละครหลักยังโดนความเลื่อมล้ำในเรื่องของความรวย ความจนเข้ามาทำให้เอกนั้นไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต เพราะการที่เอกไปรักกับไจ๋ที่มีความแตกต่างกันทางด้านการเงิน ฐานะทางสังคม ทำให้เอกไม่เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่เอกและยิ่งเป็นความรักระหว่างชาย-ชายด้วยแล้วไม่มีทางที่จะยอมรับได้อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะฐานะทางการเงินความรวย ความจนเป็นสิ่งสำคัญเพราะเอกไม่มีหน้าตาทางสังคมเลยแม้แต่ข้าวที่จะกินในแต่ละวันก็ยังจะไม่มีจึงต้องไปทำงานที่บาร์และขายตัวเพื่อนำเงินมาเลี้ยงตัวเองและจุนเจือครอบครัว ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าสังคมไทยเรื่องความรวย ความจน ฐานะทางสังคมนั้น มีการแบ่งชนชั้นกันอย่างชัดเจน
ซึ่งเรื่องนี้มีมาตั้งแต่อดีตแล้วที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะทางสังคม ทำให้ผู้คนที่ฐานะต่ำกว่าต้องยอมและไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องอะไรได้เลย แม้จะเป็นเรื่องที่ตนควรได้รับประโยชน์ก็ตาม ในสังคมไทยแม้ปัจจุบันจะมียกเลิกการแบ่งชนชั้นวรรณะไปแล้ว แต่ผู้คนก็ยังมีการแบ่งแยกเช่นเดิมซึ่งอาจจะติดมาตั้งแต่อดีตและส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมไทยที่ยังมีการเลื่อมล้ำทางสังคมให้เห็น ถ้าหากได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้จะเห็นว่าความเลื่อมล้ำในลักษณะเช่นนี้จะปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์เกือบตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งเป็นการย้ำชัดว่าสังคมไทยการแบ่งชนชั้นทางสังคมนั้นไม่มีทางหมดไปอย่างแน่นอน ตั้งแต่ในชาวบ้านทั่ว ๆ ไปจนถึงชนชั้นกษัตริย์
5. ยาเสพติดกับชีวิตวัยรุ่น
ยาเสพติดกับวัยรุ่นในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นของคู่กัน เพราะทุกวันนี้ยาเสพติดแพร่หลายเข้ามาง่ายมากและใกล้ตัววัยรุ่น โดยเฉพาะคนใกล้ตัวที่นำเข้ามา ซึ่งในเรื่องนี้นั้นเอกเป็นคนที่นำสิ่งเสพติดเข้ามาและติดสิ่งเสพติด และในเรื่องจะมีฉากที่เอกไปเสพยากับเพื่อนที่ทำงานแล้วโอ๊ตที่เป็นน้องชายได้ตามไปด้วยและขอเอกเสพด้วยซึ่งตอนนี้โอ๊ตยังเป็นเด็ก อาจจะอยู่ชั้นประถมด้วยซ้ำ เพื่อนของเอกจะให้โอ๊ตลองเสพแต่เอกก็ห้ามไว้
ซึ่งฉากนี้แสดงให้เห็นว่า ยาเสพติดนั้นเข้ามาง่ายและทำให้ติดง่ายมาก เพราะคนที่นำเข้ามาส่วนมากจะเป็นคนใกล้ชิด และด้วยวัยที่อยากรู้อยากลองยิ่งทำให้ติดง่ายขึ้น และในสังคมไทยหากเราสังเกตจะเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนมักจะทำตามแบบย่างของคนที่อยู่ใกล้ชิดของตนเอง หากคนที่อยู่ใกล้ชิดทำตัวแบบไหน เด็กหรือเยาวชนก็จะทำตามแบบอย่างคน ๆ นั้น
แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยความสัมพันธ์ของบุคคลภายในครอบครัวมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนมาก เด็กจะทำตามแบบอย่างที่เขาเห็นและคิดว่าสิ่งที่นั้นเป็นเรื่องที่ถูก และในภาพยนตร์โอ๊ตก็อยากที่จะลองเสพยาเสพติดตามพี่ชาย เพราะโอ๊ตคิดว่าเท่และไม่ใช่เรื่องผิด ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากของสังคมไทย เพราะหาเด็กคิดว่าการเสพสิ่งเสพติดมันไม่ใช่เรื่องผิดและเท่ อีกทั้งทำให้ผู้เป็นที่ยอมรับทางสังคม และอาจส่งผลต่อประเทศชาติในอนาคตได้
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เล่าถึงตรงนี้อย่างตรง ๆ แต่ถ้าเราดูและวิเคราะห์ดี ๆ แล้ว จะเห็นปัญหาและสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการที่จะสื่อ
จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าภาพยนตร์เรื่อง พี่ชาย My Hero นั้นได้สะท้อนสังคมไทยในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะประเด็นการเกณฑ์ทหารของสังคมไทยที่ถือว่าเป็นแก่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ และยังสะท้อนประเด็นย่อย ๆ อีกหลายประเด็น และประเด็นทางสังคมที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อนั้น ได้สื่อให้เห็นถึงจุดจบของประเด็นที่ต้องการสื่อด้วย นั้นคือความตาย และการที่สังคมไม่ยอมรับในประเด็นความรักของชายกับชาย การทำงานที่สังคมไม่ยอมรับ ความเลื่อมล้ำทางสังคม
ส่งผลให้ตัวละครที่ประสบปัญหาเหล่านี้เหมือนกับตายทั้งเป็นเพราะโดนสังคมที่ไม่ยอมรับตราหน้าและมองไปในทิศทางที่ไม่ดี แม้จะไม่รู้จักคน ๆ นั้นเลยก็ตาม ดังภาพยนตร์เรื่อง พี่ชาย My Hero ที่สื่อและสะท้อนประเด็นเหล่านี้ออกมาให้ผู้คนได้ชม ได้คิด และรู้จักมองในมุมที่แตกต่างแล้วเราก็จะเห็นอะไรที่ต่างออกไปนอกจากที่ผู้เขียนบทต้องการที่จะสื่อ
โฆษณา