8 เม.ย. เวลา 00:24 • ปรัชญา

จดหมายจากนีน่า

โดย นีน่า วัน กอร์คอม
แปลโดย จารุพรรณ เพ็งศรีทอง
คำนำ
ดิฉันเขียนจดหมายที่เกี่ยวกับพระธรรมจากประเทศต่างๆ ที่สามีและดิฉันไปประจำอยู่ จดหมายที่ดิฉันเขียนเป็นข้อคิดเห็นและเป็นคำถามซึ่งดิฉันได้รับเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เมื่อเราเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เมื่อมีเหตุการณ์ที่เศร้าใจ เช่น การพลัดพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รัก รวมทั้งคำถามที่เกี่ยวกับการเจริญสมถและวิปัสสนา ดิฉันไม่ได้รู้จักบุคคลที่ดิฉันเขียนถึงทุกคน แต่เพราะเราสนใจธรรมด้วยกัน จึงดูเหมือนกับว่าดิฉันได้รู้จักทุกคนแล้ว คุณจารุพรรณ เพ็งศรีทอง ได้รวบรวมจดหมายที่ดิฉันเขียนสิบฉบับและแปลเป็นภาษาไทย
เมื่อเรายุ่งกับงานและชีวิตสังคม เราอาจจะคิดไปว่าเราไม่มีเวลาอ่านและตรึกตรองพระธรรม แต่อย่างไรก็ตาม จากการถามตอบเรื่องธรรมก็จะกระตุ้นเตือนให้ศึกษา อ่านพระไตรปิฎก พิจารณาพระธรรมมากขึ้น และบอกเล่าเรื่องที่เราได้ศึกษามาแล้วแก่ผู้อื่น ในพระไตรปิฎกมีพระธรรมมากมายที่แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เตือนให้ประพฤติปฏิบัติธรรมทางกายและวาจา
ดิฉันได้รับคำถามและคำบอกเล่าเรื่องความไม่ก้าวหน้าในการเจริญสติปัฏฐาน ความก้าวหน้ามักจะช้าและบางครั้งเราอาจจะใจร้อน ขณะใดที่หวังผลเร็วก็ลืมว่าขณะนั้นเองที่ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นแต่เพียงนามหรือรูป ไม่ใช่ตัวตน เมื่อดิฉันเขียนจดหมายและคัดข้อความจากพระไตรปิฎกนั้น ดิฉันก็เตือนตนเองเช่นเดียวกับเตือนผู้อื่นไม่ให้ลืมระลึกรู้สภาพธรรมในขณะนี้ เช่น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือการคิด
ซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนั้น ปัญญาจะต้องเกิดจากการรู้สภาพธรรมตามปกติธรรมดาๆ นี่เอง อวิชชาหยั่งรากลึก ขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมนั้น ไม่ติดข้องในผล ไม่คิดถึง "ความก้าวหน้าของฉัน" ผลของการปฏิบัติคือการละคลายความสำคัญของตัวตน แต่เราก็ยังลืมอยู่เสมอ จากการติดต่อกันทางจดหมายเรื่องธรรมะ เราก็จะอาจหาญร่าเริงที่จะอดทนไม่ทอดทิ้งการอบรมเจริญปัญญา
จดหมายฉบับที่ ๑
โตเกียว
๑๐ เมษายน ๒๕๑๔
ถึง สหายธรรมที่นับถือ
ดิฉันขอทบทวนคำถามของคุณก่อน แล้วจึงแสดงความคิดเห็นของดิฉัน
"เมื่อรู้สึกร้อน ไม่ได้มีแต่นามเท่านั้น มีรูปด้วย
กายวิญญาณ สภาพรู้ทางกายมีลักษณะอย่างไร
ความรู้สึกทางกายซึ่งเกิดร่วมกับกายวิญญาณมีลักษณะอย่างไร
ความรู้สึกอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกิดร่วมกับกายวิญญาณ แต่เกิดขึ้นขณะอื่นๆ นั้นมีลักษณะอย่างไร
รูปร้อนมีลักษณะอย่างไร"
คำถามเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราศึกษาเรื่องลักษณะของนามและรูป และเริ่มระลึกรู้ลักษณะเหล่านั้น
กายวิญญาณ สภาพรู้ทางกายเป็นจิตซึ่งรู้รูปที่กระทบกายประสาท รูปที่กระทบกายอาจจะเป็นธาตุดินซึ่งรู้ได้ว่าแข็งหรืออ่อน ธาตุไฟซึ่งรู้ได้ว่าร้อนหรือเย็น ธาตุลมซึ่งรู้ได้ว่าไหวหรือตึง
กายประสาท ซึ่งเป็นทางให้รู้รูปเหล่านี้ปรากฏได้ก็เป็นรูปเหมือนกัน กายประสาทไม่ได้อยู่ที่ร่างกายข้างนอกเท่านั้น แต่อยู่ทั่วกาย ยกเว้นบางส่วนที่ไม่รู้สึก เช่น ที่ผมหรือเล็บ ในวิสุทธิมรรคกล่าวว่า "กายประสาทมีอยู่ทั่วกาย เป็นดุจน้ำมันชุ่มอยู่ในแผ่นฝ้าย" ส่วนอื่นๆ
ของร่างกายที่เราเรียกว่า "ไต" หรือ "ตับ" ก็มีกายประสาทด้วย เรารู้สึกเจ็บที่อวัยวะเหล่านี้ได้ ขณะที่เรารู้สึกว่ามีความรู้สึกทางกาย ไม่ว่าน้อยเพียงใดก็แสดงว่ามีการกระทบที่กายประสาท เมื่อเรารู้อย่างนี้ก็อาจเป็นปัจจัยให้ระลึกรู้สภาพธรรมต่างๆ ชนิด และระลึกรู้เมื่อมีการสัมผัสทางกาย แม้ว่าจะน้อยมาก หรือภายในร่างกาย
กายวิญญาณเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเป็นวิถีจิตซึ่งรู้สิ่งที่กระทบกายประสาท เมื่อสิ่งที่กระทบกายประสาทไม่น่าสบาย กายวิญญาณก็เกิดร่วมกับความรู้สึกเจ็บ (ทุกขเวทนา) เมื่อสิ่งที่สัมผัสกายเป็นสิ่งที่น่าสบาย กายวิญญาณก็เกิดร่วมด้วยกับความรู้สึกสุขทางกาย (สุขเวทนา) กายวิญญาณเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ สิ่งที่ไม่น่าสบาย เช่น เมื่อเย็นไปหรือร้อนไป และสิ่งที่น่าสบายก็เหมือนอุณหภูมิพอเหมาะ
ความรู้สึกสบายหรือไม่สบายซึ่งเกิดร่วมกับกายวิญญาณนั้นจึงเรียกว่า "เวทนาทางกาย" เป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้สึกต่างกับรูปซึ่งไม่รู้อะไรเลย เพราะกายวิญญาณเป็นวิบาก เวทนาที่เกิดร่วมจึงเป็นวิบากด้วย
หลังจากที่กายวิญญาณดับไปแล้วไม่นาน ชวนจิตก็เกิดในวาระเดียวกันนั้น ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดขึ้น รู้สิ่งเดียวกับกายวิญญาณ เมื่อชวนจิตเป็นกุศลจิตเกิดร่วมกับความรู้สึกสุข (ทางใจ) โสมนัสหรืออุเบกขา ความรู้สึกเฉยๆ ถ้ากุศลจิตเกิดก็มีโสมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา หรือความรู้สึกไม่สบายใจ โทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ความรู้สึกเหล่านี้เรียกได้ว่า "เวทนาทางใจ" เพื่อแยกจากเวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณ
บางทีเราคิดว่าทุกขเวทนาเกิดกับโทมนัสเวทนาแทบจะแยกกันไม่ออก แต่ถึงอย่างไร เวทนาทั้งสองก็เป็นสภาพธรรมต่างกัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างกัน เวลาเราถูกไฟลวก ความร้อนซึ่งเป็นสิ่งไม่น่ายินดีกระทบปลายประสาททำให้เกิดกายวิญญาณซึ่งมีทุกขเวทนาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นยังไม่มีความไม่ชอบ
กายวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิตเพียงแต่รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โทสะมูลจิตซึ่งมีโทมนัสเกิดร่วมด้วยนั้นเกิดภายหลัง และรู้อารมณ์ด้วยความขุ่นเคืองใจ เมื่อสติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมแต่ละอย่างทีละขณะ จึงค่อยๆ รู้สภาพธรรมลักษณะต่างๆ กันทีละน้อย เมื่อเราพยายาม "จับ" สภาพธรรมและอยากรู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นจิต หรือเวทนาความรู้สึก หรือรูป หรือสภาพธรรมอื่น นั่นเป็นการคิดไม่ใช่การระลึกรู้
คุณเขียนมาว่าคุณรู้โลภะและโทสะได้ง่ายกว่าเห็นหรือได้ยิน เราจะพูดได้ไหมว่าอะไรง่าย สภาพธรรมต่างๆ อาจปรากฏติดต่อกันไปจากอย่างหนึ่งต่อด้วยอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อปัญญายังไม่เจริญ เราก็มักจะปนสภาพธรรมเหล่านั้น เมื่อมีโลภะ โสมนัสอาจเกิดร่วมด้วย เราแน่ใจหรือว่าโลภะกับโสมนัสมีลักษณะต่างกัน เรายึดมั่นในเวทนา
ในร่างกายและสภาพธรรมอื่นๆ จนยากที่จะเข้าใจลักษณะที่ต่างกันได้ชัดเจน เมื่อโลภะมูลจิตหรือโทสะมูลจิตเกิด ก็มีทั้งนามและรูป จิตเหล่านี้เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ พระอภิธรรมอธิบายว่ารูปเกิดจากสมุฏฐาน ๔ ประการ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร
เราไม่อาจสังเกตได้หรือ เป็นต้นว่าตอนเราโกรธก็มีรูปที่เกิดขึ้นโดยมีโทสะมูลจิตเป็นปัจจัย เราดูไม่ต่างกันเลยหรือตอนที่เราโกรธหรือตอนที่เราดีใจ ตอนที่เรากลัวหรือตอนที่ไม่ชอบอะไร เราอาจสังเกตสภาพของรูปทางกายซึ่งมีจิตเป็นปัจจัย เราอาจคิดว่าโลภะและโทสะระลึกรู้ได้ง่ายกว่า แต่เมื่อศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็รู้ว่า ไม่ง่ายเลยที่จะแยกลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมต่างๆ เรามักจะรวมสภาพธรรมต่างๆ เป็น "สิ่งหนึ่ง" ฉะนั้นเราจึงไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ในจดหมายคุณได้ให้ตัวอย่างขณะที่มีการระลึกรู้ คุณเขียนว่าขณะเดินคุณระลึกรู้ความรู้สึกที่กระทบพื้น ไม่มีการคิดถึงบัญญัติว่า "กระทบพื้น" เลยหรือ คุณนึกเห็นภาพตนเองกำลังเดินหรือเปล่า นั่นเป็นการคิดชนิดหนึ่ง สิ่งที่เราคิดถึงในขณะนั้นเป็นแต่เพียงความคิด ไม่ใช่สภาพธรรม แต่นามธรรมที่คิดก็เป็นอารมณ์ของสติได้ เวลาคุณเดิน รูปต่างๆ เช่น แข็ง ตึง หรือไหวอาจปรากฏ สติอาจเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมแต่ละอย่างทีละขณะ โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องหรือเรียกชื่อ
คุณเขียนมาว่า เวลารับประทานอาหารคุณระลึกรู้รส ไม่ได้มีแต่เพียงรสเท่านั้น แต่ยังมีนามที่รู้รสด้วย เรารู้ความต่างกันแล้วหรือ อาจจะมีการระลึกรู้ทีละอย่างทีละขณะ คุณพูดถึงเวลารับประทานว่าขากรรไกรเคลื่อนไหว ก็อย่างเดิมนั่นแหละ ไม่มีการคิดถึงบัญญัติว่า "ขากรรไกร"
แทนที่จะระลึกรู้นามหนึ่งนามใด หรือรูปหนึ่งรูปใดทีละขณะเลยหรือ เมื่อเราเคยชินกับลักษณะของนามหรือรูปมากขึ้น เราก็จะคิดถึงชื่อหรือเลือกอารมณ์ที่เราระลึกรู้น้อยลง อาจจะมีการระลึกรู้ ลักษณะ ของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง ถึงแม้ว่าการคิดจะเกิดขึ้นมากระหว่างนั้น
บางคนอาจจะนั่งคอยให้ได้ยินเสียง ให้เสียง ให้ความชอบ ความไม่ชอบปรากฏ ด้วยวิธีนี้จะไม่มีทางรู้สภาพธรรมได้เลย เราทำทุกอย่างที่เราทำอยู่เป็นปกติได้และไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อให้สติเกิดมากขึ้น เช่น เมื่อดิฉันกำลังเขียน อาจมีเสียง ได้ยิน ความชอบ ความไม่ชอบ หรือสภาพธรรมอื่นๆ กำลังปรากฏ เมื่อขยับมือ แข็งหรือไหวอาจปรากฏ
สภาพธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ เราไม่ควรถือว่าสภาพธรรมใดที่ปรากฏจะสำคัญ ในตอนต้นเราอาจจะพยายาม "จับ" ว่าได้ยินเสียงกับเสียงต่างกันอย่างไร เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่างกันอย่างไร แต่โดยวิธีนั้นเราจะรู้สภาพธรรมไม่ได้ บางทีสติอาจระลึกรู้รูป บางทีก็ระลึกรู้นาม ทั้งนี้แล้วแต่สติ
ดิฉันดีใจที่ทราบว่า เวลาคุณพูดสติก็เกิด บางคนอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่สติจะเกิดตอนกำลังพูด เพราะต้องคิดว่ากำลงจะพูดอะไร ตอนนี้คุณก็พิสูจน์ได้ด้วยตนเองแล้วว่าขณะนั้นก็มีนามและรูปปรากฏ
ชีวิตเราประกอบด้วยนามและรูป เวลาเราหิวหรือปวดศีรษะ ก็มีนามและรูปต่างๆ กัน มีรูปเช่นความแข็ง มีนามเช่นทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา มีสภาพธรรมมากมาย ถ้าสติไม่เกิดขณะเจ็บเราก็คิดว่าเจ็บดำรงอยู่นาน เมื่อสติเกิดก็รู้ว่ามีนามและรูปอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ปรากฏ นอกจากความเจ็บซึ่งเกิดขึ้นเพราะกระทบกายประสาท ความเจ็บไม่ได้คงอยู่ ความเจ็บดับไปและก็เกิดขึ้นอีก
เราคิดว่าที่เราชอบหรือไม่ชอบอะไรนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เราปล่อยให้ความชอบหรือไม่ชอบครอบงำเราแทนที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่ต่างกัน
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (คหปฏิวรรคที่ ๓) หาลิททการนิสูตร ข้อ ๒๐๑-๒๐๒
(๒๐๑) สมัยหนึ่ง พระมหากัจจายนะ อยู่ที่เรือนสกุล ใกล้สังปวัตบรรพตในอวันตีชนบท
ครั้งนั้นแล หาลิททกานิคฤหบดีเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า
พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า "ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ดังนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งความผัสสะอย่างไรหนอแล ฯ"
(๒๐๒) ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า "ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุว่า รูปอย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา
อนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขสุขเวทนา
"ดูกรคฤหบดี อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหูแล้ว ...สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ...ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ...รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดว่าธรรมารมณ์อย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา อนึ่ง ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า
ธรรมารมณ์นี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา อีกประการหนึ่ง ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่าธรรมารมณ์อย่างนี้เป็นอุเบกขาเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแต่อทุกขมสุขเวทนา"
"ดูกรคฤหบดี ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ดัวยประการอย่างนี้แล ฯ"
เราไม่อาจรู้สภาพเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา การกระทบสัมผัส ความรู้สึก "ตามที่เป็น" ด้วยการคิดเรื่องสภาพธรรมเหล่านี้เท่านั้น ปัญญาควรรู้ลักษณะของเห็นเมื่อเห็นปรากฏ ควรรู้ว่าเห็นเป็นนามที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน นามเห็นต่างจากรูปที่ปรากฏทางตา เมื่อเริ่มรู้ว่าสภาพธรรมต่างๆ เป็นแต่เพียงธาตุที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยและบังคับบัญชาไม่ได้ เราก็จะถูกสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจครอบงำน้อยลง
หลังจากที่ดิฉันได้พิมพ์ข้อความจากพระสูตรแล้ว ดิฉันก็ได้ไปงานเลี้ยง เมื่อดิฉันพิมพ์พระสูตรเสร็จ ดิฉันก็ได้รู้ว่าหลังจากนั้น พระสูตรเตือนให้ดิฉันระลึกรู้สภาพธรรมมากกว่าตอนที่ดิฉันเพียงแต่อ่านหนังสือเท่านั้น ดังนั้นเมื่อดิฉันอยู่ในงาน พระสูตรเตือนดิฉันให้นึกถึงทวาร ๖ ดิฉันเห็นวัตถุที่น่าพอใจ และเพราะได้รับอารมณ์ที่น่าพอใจนั้น ความรู้สึกเป็นสุขก็เกิด ดิฉันเห็นวัตถุที่ไม่น่าพอใจและเพราะได้รับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ
ความรู้สึกไม่เป็นสุขก็เกิด มีความต่างกันแห่งธาตุ ฉะนั้นจึงมีความต่างกันแห่งผัสสะ และความต่างกันแห่งเวทนา ดิฉันเมื่อยขาและก็มีแข็งให้รู้ได้ มีการกล่าวสุนทรพจน์และดิฉันรู้สึกเครียดแล้วก็มีโทสะและแข็งให้รู้ได้ ต่อจากนั้นเมื่อเรารับช่อกุหลาบ ก็มีความรู้สึกยินดีเกิดจากทางตา ไม่จริงหรอกหรือที่ตลอดวันมีความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งผัสสะและความต่างกันแห่งเวทนา
ด้วยเมตตา
นีน่า วัน กอร์คอม
โฆษณา