8 เม.ย. เวลา 00:26 • ปรัชญา

ธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

โดย นีน่า วัน กอร์คอม
แปลโดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ชีวิต
ชีวิตคืออะไร ชีวิตเกิดจากอะไร ชีวิตจะสิ้นสุดลงอย่างไร และเมื่อใดนั้นเป็นปัญหาที่เรามักจะขบคิดอยู่เสมอ ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่อยู่ห่างไกล ชีวิตคือนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็นอยู่นี้มิใช่ชีวิตหรือ? โลภะ โทสะ และโมหะ ที่เกิดเนื่องมาจากสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ชีวิตหรือ? การคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส มิใช่ชีวิตหรือ?
เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรารู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ นี้ กิเลสย่อมเกิดเนื่องมาจากอารมณ์เหล่านั้น นี่คือชีวิตในขณะนี้ แต่ก็ได้มีชีวิตมาแล้วในอดีต และจะมีชีวิตต่อไปในอนาคตด้วย นอกจากว่าจะหมดกิเลสแล้วเท่านั้น
ชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเบื้องต้นของภพชาติมากมายเหล่านี้หรือไม่ เราย้อนกลับไปหาอดีตไม่ได้ ถ้าเราใคร่จะรู้ว่าชาติก่อนๆ ของเรานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เราก็ควรจะรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดภพชาติในขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส
และคิดนึกอยู่นี้มีอวิชชาบ้างไหม ขณะนี้มีความยึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมบ้างไหม ตราบใดที่ยังยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) และธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่รู้ทางใจ) อยู่ก็มีปัจจัยให้เกิดภพชาติต่อไปไม่สิ้นสุด ฉะนั้น ภพ ชาติ จึงมีอวิชชาและตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น
ในมัชฌิมนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนวิภังคสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นจักษุตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นรูป…..จักษุวิญญาณ…..จักษุสัมผัสตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นความเสวยอารมณ์เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยตามความจริง ย่อมกำหนัดในจักษุ กำหนัดในรูป กำหนัดในจักษุวิญญาณ กำหนัดในจักษุสัมผัส กำหนัดในความเสวยอารมณ์เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม
มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตามที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นกำหนัดนักแล้วประกอบพร้อมแล้ว ลุ่มหลง เล็งเห็นคุณอยู่ย่อมมีอุปทานขันธ์ ๕ ถึงความพอกพูนต่อไป และเขาจะมีตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่สหรคตด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ เจริญทั่ว จะมีความกระวนกระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว เขาย่อมเสวยทุกข์ทางกายบ้าง ทุกข์ทางใจบ้าง ฯ"
เราสงสัยกันว่า จะมีเบื้องต้นของสังสารวัฏฏบ้างหรือไม่ อวิชชาครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นเกิดขึ้นอย่างไร และเกิดเมื่อใด พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงเรื่องเบื้องต้นของสังสารวัฏฏ์ เพราะไม่ใช่ทางดำเนินไปสู่ธรรมที่ดับกิเลส ขณะนี้มีอวิชชา นี่เป็นความจริง อวิชชาในขณะนี้เกิดมาจากอวิชชาในอดีต ถ้าอวิชชายังไม่ดับหมดสิ้น ก็จะยังมีอวิชชาสืบต่อไปในอนาคตไม่สิ้นสุด ชีวิตประดุจวงล้อรถที่หมุนไปอันหาเบื้องต้นไม่ได้
เราไม่รู้ว่าเรามาจากภพไหน และจะไปสู่ภพไหน ชีวิตสั้นเหลือเกิน ประดุจความฝัน เราเกิดมามีอุปนิสัยต่างกัน และมีกิเลสสะสมมากมาย เราย้อนกลับไปดูในอดีตไม่ได้ว่า เราสะสมกิเลสมาอย่างไรบ้าง บุคคลในอดีตก็มีกิเลสเหมือนกัน บางท่านก็ระลึกอดีตชาติได้ และรู้ว่าได้สะสมกิเลสมาต่างๆ กันอย่างไร ในขุททกนิกาย จัตตาฬีสนิบาต อิสิทาสีเถรีคาถา มีข้อความเรื่องชีวิตของพระอิสิทาสีภิกษุณี ผู้ไม่เป็นที่รักของสามี
ท่านมีสามีมาแล้วหลายครั้ง แต่ภายหลังท่านได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีและได้บรรลุอรหัตต์ ท่านระลึกอดีตชาติได้ และรู้เหตุที่ทำให้ต้องได้รับความทุกข์อันใหญ่หลวงนั้นว่า ในอดีตชาติท่านประพฤติผิดในกาม อกุศลกรรมนั้นทำให้เกิดในนรกตลอดกาลนาน และเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานสามชาติ หลังจากนั้นก็ได้เกิดเป็นมนุษย์สามชาติ และได้รับทุกข์อันใหญ่หลวงในชาติที่เป็นมนุษย์ด้วยจนกระทั่งได้บรรลุอรหัตต์
ชีวิตคือ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย ความทุกข์โศกที่ทุกคนประสบในชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น ตราบใดที่ยังมีปัจจัยให้เกิดทุกข์นั้นๆ ในขุททกนิกาย ฉักกนิกาย ปัญจสตาปฏาจาราเถรีคาถา มีข้อความเรื่องหญิงทั้งหลายที่โศกเศร้าเพราะสูญเสียบุตร หญิงเหล่านั้นได้ไปหาปฏาจาราภิกษุณี
ซึ่งท่านเองก็ได้สูญเสีย สามี บุตรสองคน มารดา บิดา และพี่ชายในวันเดียวกัน ท่านเสียสติไปเพราะความโทมนัสอย่างใหญ่หลวง แต่ก็กลับได้สติบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และภายหลังก็ได้บรรลุอรหัตต์ ปฏาจาราภิกษุณีแสดงธรรมปลอบโยนหญิงผู้เศร้าโศกเหล่านั้นว่า
"ท่านไม่รู้ทางของผู้ใดซึ่งมาแล้ว
หรือไปแล้ว
แต่ท่านก็ยังร้องไห้ถึงคนนั้นซึ่งมาจากไหนว่า
บุตรของเรา บุตรของเรา
ถึงท่านจะรู้จักทางของเขาผู้มาแล้ว
หรือไปแล้ว
ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงเขาเลย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
เมื่อเขามาจากปรโลก ใครๆ ไม่ได้อ้อนวอนเลย เขาก็มาแล้ว เมื่อเขาจะไปจากมนุษย์โลก ใครๆ ก็ไม่ได้อนุญาตให้ไป
เขามาจากไหนก็ไม่รู้
พักอยู่ที่นี้ชั่วระยะเล็กน้อย แล้วไป ก็ดี
มาจากที่นี้สู่ที่อื่น ไปจากที่นั้นสู่ที่อื่น ก็ดี
เขาละไปแล้วจากรูปมนุษย์ จักท่องเที่ยวไป
มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น การร่ำไห้ในการไปของสัตว์นั้นจะเป็นประโยชน์อะไร"
เราไม่รู้ว่าใครมาจากภูมิไหนและจะไปสู่ภูมิไหน ภพชาติในอดีตนั้นไม่อาจประมาณได้ ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าในอดีตอนันตรชาตินั้น บุคคลทั้งหลายย่อมเคยสัมพันธ์กันมาแล้วในฐานะต่างๆ ใน ฐานะ มารดา บิดา พี่ น้อง บุตร หลาน เราอยากจะวนเวียนไปในสังสารวัฎฎ์ต่อไปอีกหรือ? ในขุททกนิกาย ฉักกนิบาต มหาปชาบดีโคตมีเถรีคาถา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีได้บรรลุธรรมะที่ดับกิเลสแล้ว กล่าวว่า
"…….หม่อมฉันกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวงแล้ว
เผาตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้เหือดแห้งแล้ว
ได้เจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว
ได้บรรลุนิโรธแล้ว
ชนทั้งหลายเป็นมารดา เป็นบิดา เป็นบุตร เป็นธิดา เป็นพี่ชาย เป็นน้องชาย
เป็นปู่ย่าตายายกันในชาติก่อน
หม่อมฉันไม่รู้ตามเป็นจริง
ไม่ประสบอริยสัจจ์ ๔
จึงได้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่
ก็หม่อมฉันได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว
อัตตภาพนี้มีในที่สุด
ชาติสงสารสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ภพใหม่มิได้มี…."
สิ่งที่เกิดขึ้นในชาตินี้มีปัจจัยในอดีต อุปนิสัยที่มีอยู่ในชาตินี้ก็ย่อมเคยเป็นมาแล้วในอดีตด้วย กรรมใดๆ ที่กระทำในขณะนี้ ก็อาจจะเคยทำมาแล้ว ในอดีตด้วย ในพระไตรปิฎก มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสถึงการกระทำของพระองค์เอง และของคนอื่นๆ ว่าได้เคยกระทำคล้ายอย่างนั้นมาแล้วในอดีต เราระลึกอดีตชาติไม่ได้แต่ก็รู้ว่าได้สะสมกิเลสมาแล้วในอดีตกาลนาน
คำว่า "กิเลส" นั้นจะไม่แรงไปหรือ? บางคนอาจจะคิดว่าเขามีจิตผ่องแผ้ว นอกจากจะมัวหมองไปบ้างเพราะอกุศล และข้อบกพร่องบางประการ คำว่า "defilement" แปลจากคำว่า "กิเลส" ในภาษาบาลี กิเลสเป็นธรรมที่เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ เมื่อรู้จักกิเลสของเราเองมากขึ้น ก็จะเห็นความน่ารังเกียจของกิเลสและความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส จะเห็นโทษภัยของกิเลสและจะรู้ว่ากิเลสนั้นหนาแน่น เหนียวแน่นและละคลายได้ยากเพียงใด
ชีวิตของเราเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ บางคนก็ไม่เห็นว่าความทุกข์จะลดน้อยลงเมื่อกิเลสลดคลายลง เรามีความมุ่งหวังในชีวิตต่างๆ กัน เราปรารถนาความสุขกันทุกคน แต่ต่างก็มีทัศนะในเรื่องความสุขและทางที่จะได้รับความสุขต่างกัน แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานและในสมัยนี้
ก็มีทั้งคนเขลาและบัณฑิต คนเขลาคิดว่าการเพลิดเพลินยินดีในบุคคล และวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นการดี คนเขลากล่าวว่า ถ้าไม่มีโลภะก็ไม่มีชีวิตชีวา เพราะอวิชชาที่มีอยู่จึงปิดบังไม่ให้เห็นเหตุและผลในชีวิต ขณะใดที่ประสบกับอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจก็ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงวิบาก (ผลของกรรม)
ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที และเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจก็โทษผู้อื่น ไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ตัวเอง เป็นเพราะอกุศลกรรมที่ตนเองเป็นผู้กระทำ คนที่เป็นทุกข์เพราะความกลัดกลุ้มกังวลใจ และทุกข์ในเรื่องชีวิตประจำวัน ก็พยายามหาทางหนีให้พ้นจากชีวิตประจำวันด้วยวิธีต่างๆ บางคนก็ไปดูหนังแก้กลุ้ม บางคนก็ดื่มเหล้าหรือเสพย์ยาเสพย์ติด เพื่อให้อยู่เสียอีกโลกหนึ่ง หรือให้รู้สึกเหมือนกับเป็นคนอื่น คนที่หนีความจริงจะไม่รู้จักตัวเอง และจะมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่รู้ต่อไป
ทั้งในสมัยก่อนและสมัยนี้ ก็มีคนที่ไม่ยอมรับพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค หรือมิฉะนั้นก็เข้าใจผิดไป เขาไม่เห็นว่าชีวิตมีอวิชชาและตัณหาเป็นปัจจัย และไม่เห็นทางที่นำไปสู่การดับกิเลส คนที่เห็นว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็ใคร่จะลดคลายกิเลสลง เขาฟังธรรม เจริญทาน ศีล และภาวนา แต่ก็มีน้อยคนที่มีอุปนิสัยในการเจริญอบรมปัญญาทุกวัน เพื่อละคลายกิเลส คนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต
ในขุททกนิกาย เถร - เถรีคาถา มีเรื่องบุคคลในครั้งพุทธกาลที่มีอุปสรรคในชีวิตเหมือนๆ กัน และก็เหมือนกับความวิตกกังวลของคนในสมัยนี้ด้วย ท่านเหล่านั้นมีกิเลสมาก แต่ก็ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทด้วยการเจริญมัคค์มีองค์ ๘ ก็เมื่อท่านเหล่านั้นสามารถปฎิบัติได้ ทำไมเราจึงจะปฎิบัติไม่ได้เล่า ?
บุคคลผู้เป็นบัณฑิตรู้ว่าชีวิตไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจึงควรรีบเร่งเจริญธรรมที่เป็นทางดับกิเลส เรามักจะรั้งรอการปฎิบัติธรรม ในขุททกนิกาย ติกนิบาต เถรคาถา มาตังคปุตตเถรคาถา มีข้อความว่า
"ขณะทั้งหลายย่อมล่วงพ้น
บุคคลผู้สละการงาน
โดยอ้างเลศว่า เวลานี้หนาวนัก ร้อนนัก สายนัก
ก็ผู้ใดเมื่อทำกิจของลูกผู้ชาย
ไม่สำคัญความหนาวและร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า
ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข….."
เราคิดบ้างไหมว่า หนาวนัก ร้อนนัก สายนัก เจริญสติปัฎฐานไม่ได้ ? ดูคล้ายกับว่าเราอยากจะทำอย่างอื่นอยู่เสมอ นอกจากการเจริญสติรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฎ สิ่งที่เรามุ่งหวังที่สุดในชีวิตนั้น เป็นการเพลิดเพลินไปในอารมณ์ที่ปรากฎ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายหรือ ? หรือว่าทรัพย์สมบัติ ความสุขสำราญทางกาย ญาติพี่น้อง และมิตรสหาย ?
เราลืมว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ยั่งยืน ลืมว่าทันทีที่เกิดมานั้นก็แก่พอที่จะตายได้แล้ว ผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้นเห็นความไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งหลาย ในขุททกนิกาย ทุกนิบาต วีตโสกเถรคาถา ท่านวีตโสกเถระส่องกระจกในขณะที่ช่างกัลบกตัดผมของท่าน และบรรลุอรหัตต์ในขณะนั้น ท่านกล่าวคาถาว่า
"ช่างกัลบกเข้ามาหาเราด้วยคิดว่า จักตัดผมของเรา
เราจึงรับเอากระจกจากช่างกัลบกนั้นมา
ส่องดูร่างกาย
ร่างกายของเรานี้ได้ปรากฏเป็นของเปล่า
ความมืดคืออวิชชาในกาย อันเป็นต้นเหตุแห่งความมืดมน
ได้หายหมดสิ้นไป
กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวงเราตัดขาดแล้ว
บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ฯ"
โฆษณา