8 เม.ย. เวลา 00:30 • ปรัชญา

สมถภาวนาและวิปัสสนา

โดย นีน่า วัน กอร์คอม
แปลโดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
"ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลังเรา ความสบายใจอย่างยิ่งคงจะมีแก่เรา
ผู้อยู่ในป่าผู้เดียว ผิฉะนั้น เราผู้เดียวจักไปสู่ป่า
อันพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า
ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้อยู่แต่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว"
ข้อความดังกล่าว (ขุททกนิกาย ทสกนิบาต เอกวิหาริยเถรคาถา) เป็นคาถาของเจ้าชายองค์หนึ่งผู้ใคร่ในการอยู่ป่า เราทุกคนไม่เคยมีบางขณะที่ไม่อยากจะให้มีใครมาอยู่ข้างหน้าและข้างหลังเราบ้างเลยหรือ? ขณะที่เราอยากอยู่คนเดียวด้วยจิตใจที่สงบ ดูเหมือนกับว่า ความสงบของจิตใจนั้นไม่อาจจะหาได้เลยในชีวิตประจำวัน เรามีคนอยู่กับเราทั้งวัน ทุกแห่งไม่พ้นเสียง แต่ต้นเหตุของความไม่สงบใจของเรานั้นอยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ใช่อยู่นอกตัว
ต้นเหตุนั้นอยู่ที่กิเลสของเราเอง เราอาจจะไม่ได้ประกอบกรรมหนัก เช่น การฆ่าหรือการลักขโมย แต่เราก็คิดถึงเรื่องอกุศลและเสียเวลาพูดถึงความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นไม่น้อยเลย การทำเช่นนั้นเป็นโทษแก่ตัวเอง อกุศลเป็นโทษทั้งแก่ร่างกายและจิตใจ เราจะเห็นอาการที่ต่างกันของคนที่จิตใจไม่สงบ และคนที่จิตใจสงบเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา
การที่จะแก้นิสัยนั้นยาก ถ้าเราเคยคิดอกุศลด้วย โลภะ โทสะ โมหะ และพูดอกุศลอยู่เสมอ ก็จะแก้ให้หมดไปทันทีไม่ได้ เราสะสมอกุศลมานานเท่าไหร่แล้ว เพราะอกุศลปัจจัยที่ได้สะสมมาจึงเป็นเหตุให้เราไม่กระทำกุศลกรรม ไม่พูดและคิดในทางที่เป็นกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราไม่สงบและเร่าร้อน เราอยากจะให้จิตสงบ แต่ไม่รู้จะหาความสงบได้ที่ไหน
ทาน ศีล และภาวนา เป็นทางให้จิตสงบเป็นกุศลจิตแทนอกุศลจิต การที่เราจะเจริญกุศลประเภทใดนั้นย่อมแล้วแต่อุปนิสัย บางคนมีอุปนิสัยในการให้ทาน เมื่อถวายภัตตาหารและนมัสการพระภิกษุสงฆ์ จิตใจก็สงบสบาย บางคนก็มีอุปนิสัยในการเจริญภาวนาอบรมจิตใจ ซึ่งก็รวมทั้งการศึกษาธรรม การแสดงธรรม การเจริญสมถภาวนา และการเจริญวิปัสสนาภาวนา
ในการเจริญภาวนานั้น จะต้องมีความรู้ทางธรรม การศึกษาพระไตรปิฎกจะทำให้เข้าใจพระธรรมมากขึ้น การศึกษาธรรม พิจารณาธรรมและแสดงธรรมแก่ผู้อื่น เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตของตนเองและผู้อื่น และจิตใจก็จะสงบ
การเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติก็ย่อมจะเจริญไม่ได้ เพราะทั้งการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้นเป็นปัญญา ถ้าผู้ใดใคร่ที่จะให้จิตสงบยิ่งขึ้นก็เจริญสมถกรรมฐาน การเจริญสมถกรรมฐานเป็นการไม่เกี่ยวข้องกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ฉะนั้นในขณะที่เจริญสมถกรรมฐาน จิตใจจึงไม่หมกหมุ่นในอารมณ์เหล่านั้น จุดประสงค์ของการเจริญสมถภาวนานั้น ก็เพื่อให้มี สมาธิที่มั่นคงซึ่งทำให้ระงับกิเลสได้ชั่วคราว แต่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทไม่ได้ ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาเท่านั้นที่ละกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท
เจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวันได้ไหม? ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องการหรือสามารถเจริญสมถกรรมฐานให้ถึงอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตได้ แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่เจริญสมถให้ถึงสมาธิขั้นฌาน เราก็ระลึกถึงอารมณ์ที่เป็นสมถกรรมฐาน แล้วจิตใจก็สงบได้ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีเวลาว่างหรือผู้ที่อยู่อย่างสงบคงจะต้องการใช้เวลาให้มีประโยชน์ที่สุด และคงใคร่จะเจริญสมถกรรมฐาน
การให้ทานและรักษาศีลนั้น ย่อมมีได้เฉพาะโอกาส แต่การเจริญภาวนานั้นย่อมเจริญได้ทุกโอกาส แทนที่จะคิดไปในเรื่องอกุศลและความเลวร้ายของใคร ๆ เราก็ระลึกถึงสมถกรรมฐาน การอบรมจิตให้เป็นไปในทางกุศลนั้นมีประโยชน์กว่าการนั่งเฉย ๆ เมื่อมีเวลาว่าง
การเจริญสมถภาวนามีอารมณ์ คือ สมถกรรมฐาน ๔๐ (ข้อความละเอียดมีในวิสุทธิมัคต์ สมาธินิเทส) บางอารมณ์ เช่น สภาพที่เป็นปฏิกูลของร่างกาย อสุภในลักษณะต่าง ๆ และอานาปานสตินั้นเป็นอารมณ์ได้ทั้งในการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา จุดมุ่งหมายของการเจริญสมถภาวนานั้นเพื่อความสงบ อารมณ์กรรมฐานใดจะเป็นสัปปายะให้เกิดความสงบยิ่งขึ้นนั้น
ก็ย่อมแล้วแต่จริตอัธยาศัยของบุคคล สำหรับบางคนการระลึกถึงอสุภทำให้คลายความพอใจในกามอารมณ์ได้ เราทุกคนก็ต้องเห็นคนตายหรือสัตว์ตายบ้าง เมื่อรู้เรื่องการระลึกถึงอสุภกรรมฐาน และระลึกได้ในขณะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตที่เป็นกุศลแทนโทสะมูลจิต เราอาจจะระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องความไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งหลายก็ได้
ในขุททกนิกาย เถรคาถา เถรีคาถา มีข้อความเรื่องคนที่จิตใจกระวนกระวายเดือดร้อนจนหาความสงบใจไม่ได้เลย การระลึกถึงอสุภกรรมฐานและความเป็นปฏิกูลของร่างกาย จะทำให้คลายความกระวนกระวายลง ในขุททกนิกาย ฉักกนิบาต กุลลเถรคาถา มีข้อความที่ท่านพระกุลลเถระกล่าวว่า
""เราผู้ชื่อว่ากุลละ ไปที่ป่าช้าผีดิบ
ได้เห็นซากศพหญิงคนหนึ่ง (เขาทิ้งไว้ในป่าช้า)
มีหมู่หนอนฟอนกัดอยู่
ดูกร กุลลภิกษุ ท่านจงดูร่างกายอันกระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า
มีของโสโครกไหลเข้าไหลออกอยู่
อันหมู่คนพาลพากันชื่นชมนัก
เราได้ถือเอาแว่นธรรมแล้ว
ส่องดูร่างกายอันไร้ประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกนี้
สรีระเรานี้ฉันใด ซากศพนั้นก็ฉันนั้น
ซากศพนั้นฉันใด สรีระเรานี้ก็ฉันนั้น"
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องเห็นร่างกายอยู่เสมอ ไม่ว่าร่างกายที่ยังเป็นอยู่หรือที่ตายแล้ว เมื่อเห็นแล้วก็อาจจะเกิดอกุศล แต่ถ้าระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของร่างกายก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตแทนอกุศลจิต
การระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของร่างกาย อาจจะไม่เหมาะกับจริตอัธยาศัยของบางคน เขาอาจจะมีฉันทะในการระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็อาจจะระลึกถึงศีล ซึ่งก็เป็นสมถกรรมฐานอารมณ์หนึ่ง การระลึกถึงศีลย่อมดีกว่าการระลึกถึงความไม่ดีของคนอื่น การระลึกถึงทานหรือจาคะ ก็ย่อมจะทำให้มีการสละบริจาคเพิ่มขึ้น ในวิสุทธิมัคค์ (จาคานุสสติ) มีข้อความว่า ผู้ต้องการเจริญจาคานุสสติพึงทำการสมาทานว่า
"ตั้งแต่นี้ไป เมื่อมีปฏิคาหก เรายังไม่ได้ให้ทาน โดยที่สุดแม้เพียงคำข้าวคำหนึ่ง ตัวเองจักไม่บริโภคเลย" แล้วก็ระลึกต่อไปว่า "….เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เราเมื่อหมู่สัตว์ถูกมลทิน คือ ความตระหนี่กลุ้มรุมแล้ว มีใจปราศจากตระหนี่อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง เป็นผู้สละขาดแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่มแล้ว ยินดีแล้วในความเสียสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ เป็นผู้ยินดีแล้วในการให้และแบ่งปันอยู่ ๆ ดังนี้"
อานาปานสติซึ่งเป็นอารมณ์กรรมฐานของการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้นระลึกได้ยาก เพราะเป็นอารมณ์ละเอียดมาก ในการเจริญสมถภาวนานั้นก็มีสติและปัญญา แต่ต่างกับการเจริญวิปัสสนา เพราะสมถภาวนาไม่ได้ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เรารู้ว่ารูปที่เป็นลมหายใจนั้นปรากฏที่ช่องจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน แล้วก็ดับไป ณ ที่นั่นเอง สติระลึกรู้ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าที่ยาวหรือสั้น ในวิสุทธิมัคค์ (อานาปานสติ)
มีข้อความว่า "ลมที่ออกมาข้างนอก มีสะดือเป็นเบื้องต้น มีหัวใจเป็นท่ามกลาง มีปลายจมูกเป็นที่สุด ลมที่เข้าไปข้างใน มีปลายจมูกเป็นเบื้องต้น มีหัวใจเป็นท่ามกลาง มีสะดือเป็นที่สุด ก็เมื่อพระโยคีนั้นติดตามเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุด แห่งลมออกและเข้านั้น จิตที่ถึงความฟุ้งซ่านย่อมมีเพื่อความระส่ำระสายและระหกระเหิน ฯ"
เราไม่ควรตามรู้ลมหายใจที่ออกจากภายในหรือลมหายใจที่เข้าไปสู่ภายใน ควรรู้ลักษณะของลมหายใจที่กระทบช่องจมูกในวิสุทธิมัคค์ได้อธิบายไว้ด้วยอุปมาว่า "ก็อุปมาเหมือนนายประตู ดังต่อไปนี้ เปรียบเหมือนนายประตู ย่อมไม่ตรวจตราคนอยู่ข้างในและข้างนอก ท่านคือใคร หรือมาจากไหน หรือไปไหน หรือมีอะไรในมือของท่าน
เพราะการซักถามคนอยู่ข้างในและข้างนอกเหล่านั้น มิใช่หน้าที่ของนายประตู ก็นายประตูย่อมคอยตรวจดูเฉพาะคนทุก ๆ คนที่ถึงประตูเท่านั้น ฉันใดภิกษุนี้ก็เช่นกัน ลมเข้าข้างในแล้ว และออกข้างนอกแล้ว ไม่ใช่หน้าที่ (ของท่าน) มีหน้าที่อยู่แต่เพียงกำหนดรู้ลมที่มาถึงที่ช่องจมูกแล้ว ๆ เท่านั้น"
มีการเจริญสมถภาวนาที่เป็นพรหมวิหารธรรม คือ สติระลึกเป็นไปในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การที่สติระลึกเป็นไปในเมตตานั้นทำให้คลายความคิดร้ายต่อคนอื่น แทนที่จะเป็นความขึ้งเคียดก็จะคิดเมตตาว่า "ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงไม่มีเวร ไม่มีเครื่องเดือดร้อน ไม่มีเครื่องคับแค้น เป็นผู้มีสุขบริหารตนเถิด" (วิสุทธิมัคค์ เมตตาพรหมวิหาร) การเจริญเมตตานั้น มิใช่ต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ต่อสัตว์ทั้งปวง การเจริญเมตตากรรมฐาน จะทำให้มีเมตตาต่อสัตว์โลกในทิศทั้งปวงจนหาประมาณมิได้
มีสมถกรรมฐานหลายอารมณ์ที่เจริญได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้จิตใจสงบ แต่บางคนก็ใคร่จะกำหนดอารมณ์เดียว เพื่อให้จิตเป็นสมาธิที่มั่นคงขึ้น สมาธิคืออะไร สมาธิเป็นเจตสิกเป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต สมาธิคือเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ได้เกิดเฉพาะกับกุศลจิตเท่านั้น เอกัคคตาเจตสิกทำให้จิตตั้งมั่นใน
อารมณ์เดียว เช่น ในขณะเห็น จิตมีสี (สิ่งที่ปรากฏทางตา) เป็นอารมณ์ เอกัคคตา เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตขณะนั้น ทำให้จิตมีสีเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว ทำให้จิตมีอารมณ์ได้ดวง (ขณะ) ละอารมณ์เดียว สมาธิหรือเอกกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ไม่ใช่สมาธิที่เกิดกับอกุศลจิต
ในวิสุทธิมัคค์ (กรรมฐานคหณนิเทส) แสดงลักษณะของสมาธิไว้ว่า "สมาธินี้มีลักษณะและรส (กิจ) และความปรากฎและปทัฎฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด) อย่างไรนั้น แก้ว่าสมาธิมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีการกำจัดความฟุ้งซ่านเป็นรสมีการไม่หวั่นไหวเป็นความปรากฏ มีความสุขเป็นปทัฎฐาน เพราะบาลีว่า จิตของผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่นฉะนี้ ฯ."
สมาธิในการเจริญวิปัสสนาต่างกับสมถภาวนา ในการเจริญวิปัสสนา สมาธิเกิดกับปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สมาธิในการเจริญวิปัสสนา เป็นสัมมาสมาธิในมัคค์มีองค์ ๘
สมาธิในการเจริญสมถภาวนานั้นมี ๓ ข้อ ขณะที่จิตระลึกถึงอารมณ์ที่เป็นกรรมฐานในขั้นแรกนั้นเป็นบริกรรม สมาธิไม่ใช่ฌานจิต เป็นกามาวจรจิต กามาวจรจิตเป็นจิตที่เกิดตามปรกติทุกๆ วัน เช่น จิตที่เห็น คิดนึก และอยากได้ เป็นต้น ถึงแม้ในขณะที่
สมาธิถึงขั้นอุปจารสมาธิแล้ว ก็ยังไม่ใช่ฌานจิต ต่อเมื่อสมาธิมั่นคงถึงขั้นอปนาสมาธิแล้ว จึงจะเป็นฌานจิต ฌานจิตเป็นจิตที่แนบแน่นในอารมณ์กรรมฐาน เมื่อถึงขั้นฌานจิตแล้วจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่รู้อารมณ์อื่นเลย ฌานจิตเป็นจิตขั้นสูงกว่ากามาวจรจิต ฌานจิตมี ๒ ประเภท คือ รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต
ผู้ที่ไม่รู้เรื่องสมาธิขั้นต่างๆ ก็อาจจะหลงผิดว่าถึงขั้นฌานจิตแล้ว บางคนก็สงสัยว่าใช่ฌานจิตไหม ฌานจิตเกิดกับปัญญา ถ้าสงสัยก็แสดงว่าไม่มีปัญญา ควรรู้ว่าความสงสัยนั้นไม่ใช่ปัญญา ถึงแม้ไม่ประสงค์ที่จะเจริญฌาน การรู้เรื่องสมาธิขั้นต่างๆ ก็มีประโยชน์ บางท่านก็อาจจะเคยเจริญฌานมาแล้ว ในอดีตชาติและเมื่อมีปัจจัย สมาธิขั้นใดขั้นหนึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเข้าใจสับสนเรื่องฌานและนิพพาน เขาอาจจะเข้าใจผิดว่าฌานหรือสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่งเป็นนิพพานก็ได้
สมถกรรมฐาน ๔๐ นั้น บางกรรมฐานก็เป็นอารมณ์ให้ถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น บางกรรมฐานก็เป็นอารมณ์ให้ถึงรูปฌานขั้นต้นแต่ไม่ถึงรูปฌานสุดท้าย บางกรรมฐานก็เป็นอารมณ์ให้ถึงรูปฌานสุดท้ายด้วย ผู้ที่เห็นโทษของรูปกรรมฐานก็เจริญอรูปกรรมฐาน คือ อากาสาณัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญาตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ (สัญญาในอรูปฌานที่ ๔ นั้นละเอียดมาก)
ในบรรดาผู้ที่เจริญสมถภาวนานั้น มีน้อยคนที่ถึงขั้นฌานจิต การจะถึงขั้นฌานจิตได้นั้นจะต้องเจริญจนชำนาญมาก จะต้องรู้ปัจจัยที่ทำให้บรรลุฌานจิต และรู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรคของการบรรลุฌาน ในวิสุทธิมัคค์ (อิทธิวิธินิเทส) มีข้อความว่าการจะให้จิตเป็นบริกัมมสมาธิ อุปจารสมาธิ ฌานจิต และการเจริญอบรมฌานจิตจนชำนาญเพื่อให้ได้อภิญญานั้นยากยิ่งเพียงใด
คนสมัยนี้อยากจะรู้เห็นสิ่งอื่นนอกโลก เพราะกลัดกลุ้มใจและเบื่อหน่ายชีวิต จริงหรือไม่ที่บางครั้งเราก็อยากจะรู้อนาคต อยากรู้ว่าหมอดูจะทำนายว่าอย่างไร มีคนไม่น้อยที่อ่านคำพยากรณ์ดวงชาตาในหนังสือพิมพ์รายวัน และถึงแม้จะพูดว่าไม่เชื่อสิ่งเหล่านั้น
แต่ก็อดจะยึดถือบ้างไม่ได้เหมือนกัน คนป่วยที่หมอรักษาไม่หายก็ไปหาคนที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคได้ด้วยวิธีการที่เป็นผลกว่าหมอ เราอาจจะไปหาหมอดูหรือไปหาคนที่อ้างว่ามีตาทิพย์ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่รู้จักตัวเอง เรายังมีกิเลสยังมีอวิชชา ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ตราบใดที่จิตใจมีโลภะ โทสะ และโมหะอยู่ ก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
ในสมัยพุทธกาล มีบุคคลที่เจริญอบรมฌานจนชำนาญและได้อภิญญา คนที่บรรลุรูปฌานขั้นสุดท้ายและอรูปฌานแล้ว จึงจะเจริญอบรมฌานเหล่านั้นให้ชำนาญยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุอภิญญา การที่จะให้เกิดอภิญญาจิตนั้นยากยิ่ง คนที่บรรลุฌานแล้วสามารถบรรลุอภิญญาด้วยนั้นมีมาก อภิญญาที่เกิดจากการเจริญสมถภาวนานั้นเป็นอิทธิฤทธิ์ เช่น เหาะไปในอากาศ เดินบนน้ำ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน ได้ยินเสียงทิพย์ด้วยทิพโสต กำหนดรู้ใจของบุคคลอื่นด้วยใจ ระลึกอดีตชาติได้ เห็นจุติและปฎิสนธิของหมู่สัตว์ด้วยทิพจักษุ
ในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระเจ้าแผ่นดินมคธ เรื่องภิกษุผู้บรรลุอิทธิวิธีดังนี้ว่า "ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธีหลายประการคือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้
ทำให้ปรากฎก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้"
ในพระพุทธศาสนาเราเรียนรู้เหตุและผล ผู้คนตื่นเต้นในสิ่งผิดธรรมดาที่เขาไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นเหตุ สภาพธรรมทุกสิ่งในชีวิตเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็จะไม่ประหลาดใจในปรากฏการณ์แปลกๆ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และพระสาวกรูปอื่นๆ ก็บรรลุอิทธิวิธีแต่ท่านเหล่านั้นไม่ติดข้องและไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะท่านประจักษ์แล้วว่าสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
สมถภาวนาเป็นกุศลกรรมประการหนึ่งซึ่งมีกุศลวิบากเป็นผล สมถภาวนาทำให้จิตใจสงบลง แต่ถึงแม้ว่าบรรลุขั้นฌานจิตแล้วก็ดับกิเลสไม่ได้ ฌานจิตและแม้อิทธิวิธีต่างๆ ก็ดับกิเลสไม่ได้ ฌานจิตและอิทธิฤทธิ์ไม่ใช่ทางดับอวิชชา ในสมัยที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงเจริญสมถภาวนา แต่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการเจริญวิปัสสนาในปัจฉิมยาม
ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ภาค ๑ เวรัญชกัณฑ์ พระผู้มีพระภาคตรัสกับเวรัญชพราหมณ์ถึงยามทั้งสามแห่งราตรีที่พระองค์ตรัสรู้พระโพธิญาณว่า ในปฐมยาม เมื่อจิตเป็นสมาธิ พระองค์ทรงน้อมจิตไปเพื่อบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในมัชฌิมยาม เมื่อจิตเป็นสมาธิ ทรงน้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ในปัจฉิมยามทรงหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ดังข้อความว่า "เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์….ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์….นี้เหตุให้เกิดทุกข์…
.นี้ความดับทุกข์….นี้ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์…ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์ วิชชาที่ ๓ นี้แล เราได้บรรลุแล้ว ในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว…"
อริยสัจจธรรม ๔ นั้น รู้แจ้งด้วยการเจริญวิปัสสนา เราจะรู้ว่านามธรรมและรูปธรรมเป็นทุกข์ได้อย่างไร ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้ ด้วยการเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น จึงจะรู้ว่านามธรรมและรูปธรรมไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ กิเลสของบุคคลผู้ทรงบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดับเป็นสมุจเฉทในปัจฉิมยามแห่งราตรีด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา หาใช่เพียงด้วยการเจริญสมถภาวนาไม่
โฆษณา