8 เม.ย. เวลา 00:33 • ปรัชญา

อุดมมงคล

โดย นีน่า วัน กอร์คอม
แปลโดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ในขุททกนิกาย สุตตนิบาต มงคลสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เทวดาท่านหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า อะไรคืออุดมมงคล พระผู้มีพระภาค ตรัสอุดมมงคลแก่เทวดา อุดมมงคลทั้งปวงของชีวิต ที่เพียบพร้อมด้วยธรรม ประมวลอยู่ในพระสูตรนี้ ดังมีข้อความว่า
"การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา นี้เป็นอุดมมงคล
การอยู่ในประเทศอันสมควร ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน การตั้งตนไว้ชอบ นี้เป็นอุดมมงคล
พาหุสัจจะ ศิลปะ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว วาจาสุภาษิต นี้เป็นอุดมมงคล
การบำรุงมารดา บิดา การสงเคราะห์บุตรภรรยา การงานอันไม่อากูล นี้เป็นอุดมมงคล
ทาน การประพฤติธรรม การสงเคราะห์ญาติ กรรมอันไม่มีโทษ นี้เป็นอุดมมงคล
การงดเว้นจากบาป ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย นี้เป็นอุดมมงคล
ความเคารพ ความประพฤติถ่อมตน ความสันโดษ ความกตัญญู การฟังธรรมโดยกาล นี้เป็นอุดมมงคล
ความอดทน ความเป็นผู้ว่าง่าย การได้เห็นสมณะทั้งหลาย การสนทนาธรรมโดยกาล นี้เป็นอุดมมงคล
ความเพียร พรหมจรรย์ การเห็นอริยสัจจ์ การกระทำนิพพานให้แจ้ง นี้เป็นอุดมมงคล
จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี เป็นจิตเกษม นี้เป็นอุดมมงคล
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า
ย่อมถึงความสวัสดีในทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น"
"การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา" เป็นมงคล ๓ ประการแรก ประการสุดท้ายเป็นอุดมมงคลสำหรับพระอรหันต์ ซึ่งจะถึงไม่ได้ ถ้าไม่ถึงซึ่งมงคลประการต้นเสียก่อน ถ้าไม่รู้ปัจจัยที่ควรแก่การตรัสรู้อริยสัจธรรม ก็รู้แจ้งนิพพานไม่ได้ ปัจจัยซึ่งเป็นองค์ของการตรัสรู้อริยสัจธรรม มี ๔ (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โสตาปัตติสังยุตต์
สารีปุตตสูตรที่ ๒) คือ สัปปุริสสังเสวะ การคบสัตบุรุษ ๑ สัทธรรมสวนะ ฟังคำสอนของท่าน ๑ โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยอุบายที่ชอบ ๑ ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ ปฎิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ เราจะไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญธรรม และไม่ได้ปฎิบัติธรรม ถ้าไม่คบกับสัตบุรุษผู้สามารถชี้ทางไปสู่ธรรม ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว
เราใคร่จะคบคนพาลหรือคบบัณฑิต ? ถ้าไม่พิจารณาใคร่ควรญเรื่องนี้ให้ถ่องแท้แล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเจริญภาวนา เราย่อมคิดจะคบกับบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงกับเรา มีฉันทะและอัธยาศัยเหมือนกันเรา อัธยาศัยของเราก็เหมือนกับธาตุ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ธาตุอย่างเดียวกันก็ (ไหล) ไปรวมกัน ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ธาตุสังยุตต์ หีนาธิมุตติสูตร มีข้อความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้า ย่อมสมาคมกันโดยธาตุเทียว
คือ สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้า ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้า ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี แม้ในอดีตกาลสัตว์ทั้งหลายก็ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้วโดยธาตุเทียว แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายก็จักคบค้ากัน จักสมาคมกันโดยธาตุเทียว แม้ในปัจจุบันกาล สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันโดยธาตุเทียว
เมื่ออยู่กับใครนานๆ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่โน้มเอียงไปตามบุคคลนั้น ถ้าคบคนพาลผู้ซึ่งไม่รู้คุณค่าของกุศล มีกายทุจริตและวจีทุจริต ก็เป็นทางนำเราไปสู่ความเสื่อม เราอาจจะไม่สังเกตว่าเราโน้มเอียงไป แต่เราอาจจะค่อยๆ โน้มเอียงไปทีละน้อย ถ้าเราคบกับบุคคลที่รู้คุณค่าของกุศล ใจบุญสุนทาน มีกายสุจริตและวจีสุจริต ก็ส่งเสริมเกื้อกูลให้เราเจริญกุศลยิ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้โทษของการมีมิตรชั่ว และคุณของการมีมิตรดี
คนพาลไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศลอะไรเป็นอกุศล คนพาลสรรเสริญสิ่งที่ไม่ควรแก่การสรรเสริญ และไม่ควรบูชาบุคคลที่ควรบูชา ความนิยมยกย่องอย่างสูงมีแก่ผู้ทรงความงามเลิศในประเทศหรือในโลก มีแก่นักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ แก่นักแสดงและนักดนตรี เราควรจะเลิกนิยมบุคคลผู้ทรงความงาม
ทรงพลัง และความสามารถเสียกระนั้นหรือ ? เราฝืนใจที่จะให้ไม่ชื่นชมไม่ได้เลย แต่ถ้าเรามีความเห็นถูกเรื่องกุศลและอกุศล เราก็จะรู้ว่าการติดข้องในความงาม ความแข็งแรง และความสามารถนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เราจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เราและบุคคลอื่นหรือไม่
เมื่อยังไม่ฟังธรรมนั้น ชีวิตของเราช่างสับสนเสียเหลือเกิน ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นอกุศล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ และอะไรเป็นผลในชีวิต เมื่อมีความทุกข์ก็ไม่รู้ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงต้องเกิดกับเรา ในชีวิตมีทั้งลาภและเสื่อมลาภ ยศและเสื่อมยศ สรรเสริญและนินทา สุขและทุกข์ ซึ่งทางธรรมเรียกว่าโลกธรรม ๘
ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต โลกธรรมสูตร มีข้อความว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉนคือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
เราช่างหวั่นไหวไปตามโลกธรรมเหล่านี้เสียเหลือเกิน เราหวั่นไหวไปตามที่คนอื่นปฎิบัติต่อเรา เรายึดถือเป็นความสำคัญใหญ่โตในคำนินทาและสรรเสริญ ในการได้ยศและเสื่อมยศ ถ้าเราไม่ได้รับเกียรติที่เราคิดว่าควรจะได้รับ เราก็จะรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม และจะมีความรู้สึกขมขื่นต่อบุคคลที่ทำกับเราเช่นนั้น ถ้าชีวิตเราไม่เจริญก้าวหน้า
เราก็หวังว่าจะเจริญก้าวหน้า ถ้าได้รับมอบหมายงานที่ต่ำกว่าตำแหน่งหน้าที่ก็ผิดหวัง มีเหตุนานาประการที่ทำให้เรารู้สึกระคายเคือง กลัดกลุ้ม และโกรธแค้น มีสักวันหนึ่งไหมที่ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามที่เราปรารถนา เป็นวันแห่งความสุขทุกประการ ? เมื่อยังไม่มีความเห็นถูกตามความเป็นจริง เราก็ถูกโลกธรรมครอบงำและเป็นคนเขลา
พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นโทษของการหวั่นไหวไปตามโลกธรรม โลกธรรมนำไปสู่อะไร? โลกธรรมนำไปสู่อบายภูมิ พระเทวทัตผู้ทำสังฆเภทและได้แยกออกจากคณะสงฆ์ไปพร้อมกับภิกษุ ๕00 รูปนั้น เป็นคนพาล ถูกโลกธรรมครอบงำ เป็นผู้เสื่อมเพราะคบมิตรชั่ว ในอังคุตตรนิกาย อัฎฐกนิบาต เทวทัตตสูตร มีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ เมื่อพระเทวทัตต์หลีกไปแล้วไม่นานนัก พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
"……ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์ แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ ประการเป็นไฉน
คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ สักการะ ๑ ความเสื่อมสักการะ ๑ ความปรารถนาลามก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการนี้แลครอบยำย่ำยีแล้ว ต้องไปบังเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์ แก้ไขไม่ได้ ฯ "
คนพาลเช่นท่านพระเทวทัตต์ ผู้ถูกโลกธรรมครอบงำนั้นแสดงธรรมไม่ได้ เขาอยากให้คนอื่นเชื่อตามเขาอย่างงมงาย เขาไม่ชักนำบุคคลอื่นไปสู่พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ เพื่อให้บุคคลนั้นสอบสวนเทียบเคียงสัจธรรมด้วยตนเอง ถ้าเราคบคนพาล เราก็ไม่มีความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องชีวิตของเรา เราจะยิ่งถูกโลกธรรมครอบงำมากขึ้น และไม่มีทางดับกิเลสให้หมดสิ้นได้เลย
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย ทรงแสดงธรรมแก่สัตว์โลกด้วยพระมหากรุณา มิใช่เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า พระธรรมเป็นใหญ่ มิใช่บุคคลผู้สอนธรรมเป็นใหญ่ ในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค วักกลิสูตร มีข้อความว่า
ท่านพระวักกลิอาพาธเป็นไข้หนัก ท่านใคร่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนานมาแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จไปหาท่านและทรงแสดงธรรมแก่ท่าน พระองค์ตรัสเรื่องความไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งหลาย เพื่อให้ท่านเจริญมัคค์มีองค์ ๘ ข้อความในพระสูตรมีว่า ท่านพระวักกลิกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
"จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ฯ"
พ. "อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร ดูกรวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม
วักกลิ เธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง"
ว."ไม่เที่ยง พระเจ้าข้าฯ"
พ. "…..เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง"
ว. "ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ"
พ. "……เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มิ ฯ"
ผู้ที่เป็นบัณฑิตไม่ต้องการให้ใครเชื่อตามอย่างงมงาย แต่จะช่วยให้รู้ทางที่จะรู้แจ้งสัจธรรมได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น เป็นการอนุเคราะห์ที่มีประโยชน์ที่สุดแก่คนอื่น บัณฑิตชักพาให้ตรงไปสู่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง และเกื้อกูลให้ศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งจะทำให้มีโยนิโสมนสิการพิจารณาสภาพธรรมด้วยความแยบคาย
และประจักษ์สภาพธรรมด้วยตนเอง บัณฑิตชี้ทางปฏิบัติให้รู้ชัดในอนิจจสัญญา จุดประสงค์ของพระธรรมคือเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยึดถือสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขว่าเป็นสุข สิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปริชานสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ยังไม่รู้ยิ่ง ยังไม่กำหนดรู้ ยังไม่คลายกำหนัด ยังละไม่ได้ซึ่งสิ่งทั้งปวง ยังไม่เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงคืออะไร บุคคลผู้ยังไม่รู้ยิ่ง ยังไม่รู้กำหนดรู้ ยังไม่คลายกำหนัด ยังละไม่ได้ ยังไม่เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ จักษุ บุคคลยังไม่รู้ยิ่ง ฯลฯ รูป ฯลฯ จักษุวิญญาณ ฯลฯ สุขเวทนา ฯลฯ ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา…..หู ฯลฯ จมูก ฯลฯ ลิ้น ฯลฯ กาย ฯลฯ ใจ ฯลฯ ธัมมารมณ์ ฯลฯ ...........
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ที่ยังไม่รู้ยิ่ง ยังไม่รู้กำหนดรู้ ยังไม่คลายกำหนัด ยังไม่ละซึ่งสิ้งทั้งปวงนี้ยังเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ที่รู้ยิ่ง กำหนดรู้ คลายกำหนัดได้ ละได้ซึ่งสิ่งทั้งปวง เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์"
พระผู้มีพระภาคตรัสเนืองๆ เรื่องความไม่เที่ยงของการเห็น การได้ยิน และสภาพธรรมทั้งหลายที่รู้ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อทรงเตือนให้เจริญสติรู้ลักษณะของการเห็นในขณะนี้ การได้ยินในขณะนี้ ถ้าเราไม่ระลึกรู้ลักษณะของการเห็นหรือสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เราจะไม่มีความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้น จึงไม่เห็นสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นบัณฑิต ไม่แสดงธรรมที่ผิดไปจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ไม่ชี้ทางปฏิบัติที่ไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจ์
ไม่สอนให้คนละเลยการศึกษาและการเจริญสติ แต่จะเตือนให้เจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหน และไม่ว่าจะทำอะไร ข้อสำคัญก็คือ จะต้องพิจารณาให้รู้ว่า บุคคลที่เราคบนั้นเป็นกัลยาณมิตรในธรรมหรือมิใช่ ถ้าไม่ใช่กัลยาณมิตร ก็ไม่สามารถจะแสดงข้อปฏิบัติที่ทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
เราจะรู้ว่าเขาเป็นกัลยาณมิตร ถ้าเขาแสดงข้อปฏิบัติที่ทำให้รู้ลักษณะของการเห็นที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ การได้ยินที่กำลังปรากฏเดี่ยวนี้ และสภาพธรรมอื่น ๆ ที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เมื่อละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนลง ก็จะรู้ด้วยตนเองว่า การคบบัณฑิตนั้นเป็นอุดมมงคล
การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่ควรบูชาสักการะ บัณฑิตผู้สอนให้เจริญมัคค์มีองค์ ๘ เป็นผู้ควรแก่การนอบน้อม เราจะบูชานอบน้อมบุคคลผู้ที่ควรบูชาอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด เราซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค และใคร่จะแสดงความระลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระองค์ เราบูชาพระองค์ได้ด้วยการปฏิบัติตามพระปัจฉิมโอวาทที่ตรัสว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" (ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร) เราไม่ควรละเลย เราไม่ละเลยถ้าเราเจริญสติ ถ้าไม่มีพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง เราก็จะไม่ได้เจริญสติในขณะนี้ และไม่มีทางละกิเสสให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้เลย จุดประสงค์ของพระธรรมคือการดับกิเลสด้วยการเจริญปัญญา ฉะนั้นทุกขณะที่เจริญสติ จึงเป็นการบูชาอย่างสูงสุดแด่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
"การอยู่ในประเทศอันสมควร" เป็นอุดมมงคล เราจะไม่พบกัลยาณมิตรในธรรมในที่ทั่วไป บัณฑิตหาได้ยากในโลก การอยู่ในประเทศที่มีการแสดงธรรมและการปฏิบัติธรรมเป็นอุดมมงคล ที่ทำให้เรามีโอกาสได้รู้ธรรม มีปัจจัยร่วมกันหลายประการที่ทำให้ได้พบกัลยาณมิตร ไม่ใช่เป็นเหตุบังเอิญที่ได้พบ แต่เพราะกรรมเป็นปัจจัย
เมื่อพบบัณฑิต เราอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับธรรม อาจจะยังไม่ใช่โอกาสที่จะฟังธรรม อาจจะยังไม่เหมาะควรที่จะ "พิจารณาธรรมด้วยความแยบคาย" การสะสมกุศลกรรมเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้เราพร้อมที่จะรับธรรม "ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน" เป็นอุดมมงคล ในเถรคาถา เถรีคาถา มีข้อความเรื่องบุคคลที่บรรลุอริยสัจธรรมในครั้งพุทธกาลนั้น ได้สะสมบุญมาแล้วในอดีตกาลนาน และได้เคยฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ในอรรถกถาปรมัตถทีปนี สุภากัมมารธีตา เถรีคาถา มีข้อความว่า
"พระสุภาเถรีได้เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว ในศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ และได้บำเพ็ญบุญกุศลเป็นอันมาก เพื่อเพิ่มพูนอุปนิสัยปัจจัยให้ได้บรรลุธรรมเครื่องสิ้นอาสวะ ในสมัยพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ท่านเกิดในพระนครราชคฤห์………"
เมื่อเห็นปัจจัยหลายประการที่เกื้อกูลให้ปัญญาถึงความแก่กล้า ก็จะทำให้ละคลายความคิดว่าเป็นตัวตนที่เจริญมัคค์มีองค์ ๘ เมื่อได้รู้เรื่อง "การบำเพ็ญบุญบารมีเป็นอันมาก" ของบุคคลในครั้งพุทธกาล และพิจารณาเห็นว่าบุคคลเหล่านั้น ได้ฟังธรรมมาแล้วเป็นอันมากจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แล้วจึงได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดมพระองค์นี้ และบรรลุอริยสัจธรรม ก็เตือนให้เราไม่ละเลยในขณะนี้
ในมงคลสูตร มีข้อความเรื่องอุดมมงคลของชีวิตที่เพียบพร้อมด้วยธรรม ความเมตตาต่อกันในความสัมพันธ์ของมารดาบิดาและบุตร สามีและภรรยา และวงศ์ญาติ การอบรมจิตและทางดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ เมื่อทราบข้อความเหล่านั้นแล้ว ก็อาจจะรู้สึกท้อใจ และคิดว่าไม่สามารถจะปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงสอนได้เลย เราอยากจะมีโลภะ โทสะ
โมหะเบาบางลง แต่จะฝืนตัวเองไม่ให้ยินดีในสิ่งที่น่ารื่นรมย์ และไม่ให้ยินร้ายในสิ่งที่ไม่น่ารื่นรมย์ได้ไหม ? เราบังคับใจให้ "ประพฤติธรรม งดเว้นจากบาป ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย" ไม่ได้ เราจะบรรลุถึงมงคลของชีวิตที่เพียบพร้อมด้วยธรรมได้หรือหนอ?
ตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ก็จะไม่สิ้นโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสมากมายของเราเองเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเป็นทุกข์ในชีวิต วันแล้ววันเล่า เราควรรู้จริงๆ ว่า เราต้องการอะไรอย่างแท้จริงในชีวิต เราอยากจะสะสมกิเลสมากขึ้นหรือว่าอยากจะละคลายกิเลสลง ถ้าต้องการดับกิเลส ก็ต้องเจริญมัคค์มีองค์ ๘ เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนก็จะละคลายลง จนดับหมดสิ้นเป็นสมุทเฉท การเจริญมัคค์มีองค์ ๘ จะเริ่มพัฒนาชีวิตของเราให้เปลี่ยนไปจากเดิม
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐานแก่พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สำหรับเพศพรรพชิตนั้นไม่ควรแยกพระวินัยออกจากมหาสติปัฏฐาน ในครั้งพุทธกาลพระวินัยและพระมหาสติปัฎฐานไม่ได้แยกกัน ในมงคลสูตร อุดมมงคลข้อ ๑ คือ "วินัยที่ศึกษาดีแล้ว"
ในอรรถกถาปรมัตถโชติกา มีข้อความเรื่องวินัยของคฤหัสถ์ซึ่งได้แก่การละเว้นอกุศลกรรม และวินัยของภิกษุ ภิกษุผู้เจริญมัคค์มีองค์ ๘ จะมีความเข้าใจพระวินัยอย่างลึกซึ้ง และจะรักษาศีลได้สมบูรณ์ขึ้น ข้อปลีกย่อยของพระวินัยล้วนเป็นประโยชน์ เพราะเป็นสิกขาบทเพื่อให้สงฆ์อยู่สำราญ และประพฤติพรหมจรรย์ได้สะดวก
สิกขาบททั้งหลายทำให้ภิกษุสำรวมความประพฤติทางกายและวาจา ไม่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน พระวินัยบัญญัติให้ภิกษุสำรวมกาย วาจา และใจ เมื่อเจริญสติก็เป็นการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ไม่หลงใหลติดข้องในสี เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ และธัมมารมณ์ จะเริ่มรู้กิเลสที่ละเอียดและเห็นโทษภัยแม้ของกิเลสที่ละเอียด ภิกษุผู้เจริญสติจะเคารพสิกขาบทในพระวินัยมั่นคงขึ้น ที่เตือนให้สำรวม "เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย" ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าพระวินัยและมหาสติปัฎฐานนั้นไม่ควรแยกกัน
ภิกษุผู้เจริญมัคค์มีองค์ ๘ และบรรลุอริยสัจธรรมแล้ว จะไม่ลาสิกขาบทกลับคืนไปสู่ "เพศต่ำ" อีกเลย ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นทีสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาภิกษุผู้ไม่หวนกลับไปสู่เพศคฤหัสถ์ กับแม่น้ำคงคาที่ไหลไปสู่ทิศปราจีนว่า จักทำการทดแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลกลับไม่ได้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา มิตรสหาย หรือ ญาติสาโลหิต จะพึงเชื้อเชิญภิกษุผู้เจริญมัคค์อันประกอบด้วยองค์ ๘ ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมัคค์อันประกอบด้วยองค์ ๘ ด้วยโภคะทั้งหลาย เพื่อนำไปตามใจว่า ดูกร บุรุษผู้เจริญ เชิญท่านมาเถิด ท่านจะนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้ทำไม ท่านจะเป็นคนโล้นถือกระเบื้องเที่ยวไปทำไม
ท่านจงสึกมาบริโภคโภคะและกระทำบุญเถิด ภิกษุผู้เจริญอริยมัคค์อันประกอบด้วยองค์ ๘ ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมัคค์อันประกอบด้วยองค์ ๘ นั้น จักลาสิกขาสึกออกเป็นคฤหัสถ์ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตที่น้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวกตลอดกาลนั้น จักสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ฯ"
การเจริญมัคค์มีองค์ ๘ เปลี่ยนชีวิตของภิกษุและฆราวาส เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างมารดาบิดาและบุตร สามีและภรรยา ญาติและมิตรสหาย ซึ่งโดยปรกติย่อมมีความผูกพันบ้าง ความโทมนัสขัดเคืองบ้าง ในความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน แต่เมื่อเจริญสติก็มีปัจจัยให้เกิดอโลภะ ความโอบอ้อมอารีแทนโลภะ มีปัจจัยให้เกิดอโทสะ ความเมตตาแทนความโทมนัสขัดเคือง เมื่อคนอื่นประพฤติต่อเราโดยไม่สมควร ก็มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่เป็นทุกข์น้อยลง หรือความรู้สึกว่าเป็นคนอื่นที่ประพฤติไม่สมควรกับเราก็น้อยลง
เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีบุคคลนี้บุคคลนั้น เราจะหวั่นไหวน้อยลงในลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ วันหนึ่งมีนินทา อีกวันหนึ่งมีสรรเสริญ แต่จะถูกนินทาหรือได้รับสรรเสริญ ก็เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปทันที สุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็จะยิ่งละคลายความยึดถือว่าเป็นตัวตนลงทุกที
พระอรหันต์เป็นบุคคลที่มีจิต "ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี เป็นจิตเกษม นี้เป็นอุดมมงคล" พระอรหันต์เป็นบุคคลที่พ้นแล้วจากความเศร้าหมอง ไม่มีสิ่งใดทำให้ท่านเศร้าหมองได้ ข้อความในมงคลสูตรมีว่า "เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคล (ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น)
เราไม่พ้นความทุกข์โศก แต่เมื่อปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะใด ขณะนั้นก็มีความสงบ ไม่มีความหวาดกลัว ความวิตกกังวล และความกระสับกระส่าย ไม่จริงหรือที่ปัญญาทำให้มีความสงบสุข แม้ว่าจะเพียงชั่วขณะ? บ่อยครั้งที่เราอาจจะรู้สึกท้อถอย อาจจะคิดว่าการเจริญมัคค์มีองค์ ๘ นั่นมิใช่สำหรับเรา และคิดว่าเราห่างไกลจากการรู้แจ้งอริยสัจธรรม
แต่อย่างไรก็ตาม เราควรระลึกว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงอริยสัจธรรมเพื่อประโยชน์สุขของเรา พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงสอนสิ่งที่รู้แจ้งไม่ได้ เมื่อเจริญมัคค์มีองค์ ๘ ก็จะรู้จักตัวเองและชีวิตประจำวัน และก็จะประจักษ์ว่าอุดมมงคลของพระธรรมนั้นเองที่เปลี่ยนชีวิตของเรา
โฆษณา