8 เม.ย. เวลา 00:35 • ปรัชญา

ธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

โดย นีน่า วัน กอร์คอม
แปลโดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ความตาย
"ความจริงประการหนึ่งในชีวิตก็คือ เราจะต้องสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักของเรา เมื่อญาติหรือมิตรสหายสิ้นชีวิตลง เราย่อมเศร้าโศกยิ่งนักและรู้สึกว่ายากยิ่งที่จะทนได้ พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคช่วยให้เราเผชิญความจริงได้ และรู้ความจริงของธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องความทุกข์โศกอันเกิดจากการสูญเสียบุคคลผู้ที่เป็นผู้รักไว้มากทีเดียว
"ดูกร คฤหบดี ท่านไม่มีอินทรีย์ที่จะระงับจิตของท่าน อินทรีย์ของท่านมีอาการเป็นอย่างอื่นไป”
"ข้าแต่พระผู้เจริญ ทำไมข้าพระองค์จะไม่มีอินทรีย์เป็นอย่างอื่นเล่า เพราะว่าบุตรน้อยคนเดียวของข้าพระองค์ ซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจได้ทำกาละเสียแล้ว"
" ดูกร คฤหบดี ข้อนี้เป็นอย่างนั้นๆ เพราะว่า โสกะ ปริเทวะทุกขะ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก มาแต่ของที่รัก"
" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ว่า โสกะ ปริเทวะทุกขะ โทมนัส และอุปายาสย่อมเกิดแต่ของที่รัก มาแต่ของที่รักนั้น จักเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความจริง ความยินดี และความโสมนัสย่อมเกิดแต่ของที่รัก มาแต่ของที่รัก "
ครั้งนั้นแลคฤหบดีนั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากที่นั่งแล้วหลีกไป
คฤหบดีนั้นไม่เข้าใจความหมายลึกซึ้งของพระธรรม เราควรจะพิจารณาให้เข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เราควรพิจารณาให้เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องโลก เรื่องของเราเอง เรื่องชีวิตและความตายไว้อย่างไรบ้าง พระผู้มีพระภาคทรงประมวลพระธรรมไว้ในอริยสัจธรรม 4 ในสังยุตตนิกายมหาวารวรรค ธรรมจักกัปปวัตตนวรรค
ที่ 2 ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒ ตถาคตสูตรที่ ๑ มีข้อความว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยสัจ ๔ แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อริยสัจธรรมที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แลคือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ คือนามธรรม และรูปธรรมทั้งภายในและภายนอกนั้นเป็นทุกข์ คงจะมีผู้สงสัยว่าทำไมขันธ์ ๕ จึงเป็นทุกข์ เรายึดถือจิตใจว่าเป็นตัวตน
แต่ที่เรายึดถือว่าเป็นจิตของเรานั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปทันที เท่านั้นเองเรายึดถือร่างกายว่าเป็นตัวตน แต่ที่เรายึดถือว่าเป็นร่างกายของของเรานั้น เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเมื่อไม่ รู้ความจริงก็ คิดว่าสภาพธรรมเหล่านั้นยั่งยืนและยึดถือว่าเป็นตัวตน เช่น เราอาจจะคิดว่าความเศร้าโศกนั้นไม่หมดไป แต่ว่าในวันหนึ่ง ๆ นั้น ก็ไม่ได้มีแต่ความเศร้าโศก มีสภาพธรรมอื่นๆ อีกหลายอย่างด้วย
เช่น มีการเห็น การได้ยิน การคิดนึก เป็นต้น ที่เราคิดว่าเศร้าโศกนั้น แท้จริงเป็นสภาพธรรมต่างๆ ชนิดที่เกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ สภาพธรรมทั้งปวงที่ไม่เที่ยงนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ฉะนั้นจึงเป็นทุกข์ ถึงแม้จะใช้คำว่าทุกข์ ก็มิได้หมายเฉพาะความรู้สึกที่เป็นทุกข์เท่านั้น ทุกขอริยสัจ คือสภาพของสังขารธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตลอดชีวิตของเรานั้นไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ทุกข์ ถึงแม้ความรู้สึกเป็นสุขนั้น ก็เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง
อริยสัจจ์ที่ ๒ คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งได้แก่ ตัณหา ในพระสูตรเดียวกันมีข้อความว่า
ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้แล คือตัณหา อันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาตราบใดที่ยังมีตัณหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดก็ตามก็ยังมีปัจจัยให้เกิดอยู่ มีปัจจัยให้นามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้น ฉะนั้นก็จะต้องเป็นทุกข์ อริยสัจจ์ที่ ๓
คือ ทุกขนิโรธ ซึ่งได้แก่นิพพาน ในพระสูตรที่ได้กล่าวถึงแล้วนั้นมีข้อความว่า"….ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือความดับด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย ”นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลสเมื่อดับตัณหาแล้ว
ก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดภพชาติอีกต่อไป ฉะนั้นจึงเป็นที่ดับของทุกข์ทั้งปวง ในพระสูตรเดียวกัน แสดงอริยสัจจ์ที่ว่าดังนี้ "…. ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ นี้แล คืออริยมัคค์ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิฯ มัคค์มีองค์ ๘ หรืออริยมัคค์นั้น เป็นการเจริญ ปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเราเจริญปัญญาให้รู้ชัดในโลกทั้งภายในและภายนอก
ไม่ใช่โดยการคาดคะเนแต่เป็นการรู้แจ้งด้วยตนเอง เรารู้แจ้งโลกได้อย่างไร เรารู้แจ้งโลกได้ในขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์ ทุกสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ นั้นรวดเร็วมาก เพราะธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นดับไปทันที ขณะที่เห็นก็เป็นโลกของสี ซึ่งไม่เที่ยง เกิดแล้วดับไปๆ ขณะที่ได้ยินก็เป็นโลกของเสียงซึ่งก็ไม่เที่ยง โลกของกลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ก็เช่นเดียวกันโลกเหล่านี้ไม่เที่ยงเลย
ในวิสุทธิมัคค์ (มรณสติ ) มีข้อความเรื่องความสิ้นไปอย่างรวดเร็วโลก ดังนี้ว่า
"…. โดยปรมัตถ์ขณะแห่งชีวิตของปวงสัตว์มีน้อยยิ่งนัก เปรียบดุจล้อรถแม้ที่หมุนอยู่ ก็ย่อมหมุนด้วยส่วน (แห่งดุม ) อันเดียวเท่านั้น แม้เมื่อหยุด ก็หยุดด้วยส่วน ( แห่งดุม ) อันเดียวเหมือนกันฉันใด ชีวิตของสัตว์ก็ฉันเดียวกันนั่นแล เป็นไปเพียงขณะจิตดวงเดียว เมื่อจิตดวงนั้นพอดับแล้ว สัตว์ท่านก็เรียกว่าตายแล้วเหมือนกัน..."
ชีวิต อัตตภาพ และ สุข ทุกข์ ทั้งมวล
เกิดกับจิตดวงเดียว ขณะย่อมล่วงไปพลัน
ขันธ์ของคนที่ตายไป หรือของคนที่เป็นอยู่ก็ตาม ซึ่งดับไปแล้ว
ขันธ์ทั้งหมดก็เป็นเช่นเดียวกันคือดับไปโดยไม่กลับมาเกิดอีก
สัตว์ชื่อว่าไม่เกิด เพราะจิตไม่เกิด
ชื่อว่าเป็นอยู่ เพราะจิตเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน
ชื่อว่าตายแล้ว เพราะจิตดับ ดังนี้.. "
ที่เรียกว่าตายนั้น ความจริงไม่ได้ต่างอะไรกับสภาพที่เป็นไปทุกขณะจิตนี้เอง ทุกขณะที่จิตดับไปก็เป็นการตายของจิต จิตทุกดวงเกิดขึ้นแล้วก็ดับสิ้นไป ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงต่อไป เมื่อจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ คือ จุติจิตดับไปแล้ว จิตดวงแรกในชาติต่อไป คือ ปฏิสนธิจิต ก็เกิดต่อ ไม่มีตัวตนเลยสักขณะเดียวในชีวิต ฉะนั้นจึงไม่มีอัตตาตัวตนที่ท่องเที่ยวไปจากชาตินี้สู่ชาติหน้า อวิชชานั่นเองที่ทำให้คิดและกระทำเสมือนดังว่าร่างกายและจิตใจนั้นยั่งยืนเราติดข้องและยึดมั่นในร่างกายและจิตใจว่าเป็นตัวตน
เราคิดว่าเป็นตัวตนที่เห็นได้ยินคิด และไปโน่นมานี่ การยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นทำให้เกิดความทุกข์ เราอยากจะประสบแต่อารมณ์ที่น่ายินดีเท่านั้น และเมื่อประสบกับสภาพธรรม เช่นชรา พยาธิและมรณะ ก็เศร้าโศก คนที่ไม่เข้าใจสภาพธรรม ก็ไม่เข้าใจพระธรรมที่ว่าความทุกข์เกิดจากความรัก ซึ่งเป็นอริยสัจธรรมที่สอง เราควรรู้ชัดว่านามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลายโดยประการต่างๆ พระองค์ตรัสเรื่องความไม่เที่ยงของรูปร่างกายเพื่อทรงอนุเคราะห์ให้ละการยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา พระองค์ตรัสเรื่องการพิจารณาความเป็นอสุภของร่างกายซึ่งเป็นการเจริญอสุภกรรมฐานลักษณะต่างๆ
ในทีฆนิกาย มหาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลายอีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทั้งนั้นในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี่แหละว่าถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ในวิสุทธิมัคค์ (อสุภกรรมฐานนิเทส ) ข้อความอธิบายว่า
"…..ร่างกายของคนตายเป็นของไม่งามแท้แม้ฉันใด ร่างกายของคนเป็นก็เป็นของไม่งามอย่างเดียวกันฉันนั้นนั้น เป็นแต่ว่าในร่างกายของคนเป็นนี้ ลักษณะที่ไม่งามย่อมไม่ปรากฏเพราะถูกเครื่องประดับอันเป็นของจรปิดบังไว้ เพื่อให้รู้ชัดในความเป็นปฏิกูลของร่างกายที่ยังเป็นอยู่นี้ด้วย
พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงปฏิกูลมนสิการบรรพ ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมามีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ
การพิจารณาความปฏิกูลของร่างกายทำให้คลายความยึดมั่นลงได้ แต่ประโยชน์ที่สุดคือการรู้ลักษณะของรูปธาตุต่างๆชนิดที่ประชุมรวมกันเป็นร่างกาย เมื่อรู้ลักษณะของรูปธาตุต่างๆเหล่านั้น ก็จะรู้ว่าลักษณะที่แท้จริงของร่างกายนั้นเป็นอย่างไร ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องของร่างกายโดยความเป็นธาตุต่างๆ ในมหาสติปัฎฐานสูตร มีข้อความว่า
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินปรากฏให้รู้ในลักษณะแข็งและอ่อน ธาตุน้ำปรากฏให้รู้ในลักษณะไหลและเกาะกุม ธาตุไฟปรากฏให้รู้ในลักษณะร้อนและเย็น ธาตุลมปรากฏให้รู้ในลักษณะไหวและตึง ไม่ว่าเป็นวัตถุภายนอกหรือร่างกาย ธาตุเหล่านั้นก็มีลักษณะ ( ของธาตุเหล่านั้น ) เหมือนกันเราไม่ได้ยึดถือรูปภายนอกว่าเป็นร่างกายของเรา ไฉนจึงยึดถือร่างกายว่าเป็นตัวตนอยู่อีกเล่า
เราควรรู้จักโลกตามความเป็นจริงด้วยการรู้ชัดลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวอย่างเช่นเมื่อสภาพร้อนปรากฏที่กาย สภาพร้อนนั้นก็เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ เมื่อสภาพอ่อนปรากฏสภาพอ่อนนั้นก็เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้
เมื่อมีสติระลึกรู้เช่นนี้ ก็จะรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรม การรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้น ก็จะยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นตัวตน เช่นเราอาจจะคัดว่าความอ่อนที่กายนั้นเป็น "กายของเรา เมื่อรู้ลักษณะของ
รูปอ่อนบ่อยขึ้น ก็จะรู้ลักษณะที่อ่อนนั้นก็เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนที่วัตถุภายนอกหรถือที่ร่างกาย เรารู้ได้ว่าลักษณะที่อ่อนนั้นเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร เป็นรูปธรรมไม่ใช่ตัวตน ดังนั้นเราก็จะค่อยคลายการยึดถือว่าเป็น "ร่างกายของเรา ลงทุกที่ เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่นการเห็นความเสียใจ ความสุข และการคิดนึก ก็จะรู้ได้ว่าเป็นลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์ ตาเป็นทุกข์ การเห็นเป็นทุกข์ ความรู้สึกที่เนื่องมาจากสิ่งที่เห็นก็เป็นทุกข์
การเจริญสติรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันนั้น มิใช่ว่าทุกคนมีฉันทะพอใจจะปฏิบัติ แต่ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ว่าเราต้องการอะไรอย่างแท้จริงในชีวิต เราอยากจะหลงยึดถือร่างกายและจิตใจเป็นตัวตนต่อไปอีกกระนั้นหรือ? เราอยากจะมีชีวิตอยู่ในความมืดมนหรือว่าใคร่จะเจริญปัญญาให้ถึงความสิ้นทุกข์ ถ้าเราตัดสินใจว่าจะดำเนินทางที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์แล้ว เราจะต้องเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันในขณะที่เห็นได้ยินคิดนึก
เป็นทุกข์ เป็นสุข ทางนี้เป็นทางเดียวที่จะรู้แจ้งว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นธรรมที่ดับทุกข์ และอะไรเป็นทาง ปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์ เมื่อรู้ว่าอวิชชา ความไม่รู้ของเรานั้นหนาแน่นเพียงใด และเราหลงยึดมั่นในตัวตนมากเพียงใด เราก็จะปรารภความเพียรเจริญสติรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อไปเรื่อยๆ "> พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องมรณสติ ( การระลึกถึงความตาย ) เนืองๆ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องความตายเพื่อทรงเตือนให้ระลึกถึงความไม่เที่ยงทุกๆขณะ
ชีวิตนั้นสั้นนัก ฉะนั้นจึงไม่ควรให้เวลาล่วงไปโดยไร้ประโยชน์แต่ควรเจริญอนิจจสัญญาเสียในขณะนี้ อวิชชาจึงจะหมดสิ้นไปได้ อวิชชานั้นจะละให้หมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วไม่ได้ เมื่อบรรลุอริยสัจจธรรมขั้นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีอกุศลธรรมอีกต่อไป อวิชชาดับหมดสิ้น ในทีฆนิกาย มหาปรินิพพานสูตร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานนั้น บุคคลผู้ยังมีปัจจัยของโทมนัสก็โศกเศร้าคร่ำครวญ ดังข้อความในพระสูตรว่า
"เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุทั้งหลายนั้น ภิกษุเหล่าใดยังมีราคะไม่ไปปราศแล้ว ภิกษุเหล่านั้นบางพวกประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ล้มลงเกลือกกลิ้งไปมา (ดุจมีเท้าอันขาดแล้ว ) รำพันว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก
พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลกอันตรธานเสียเร็วนัก ส่วนภิกษุเหล่าใดที่ราคะไปปราศแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีสติสัมปชัญญะอดกลั้นโดยธรรมสังเวชว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เพราะฉะนั้นเหล่าสัตว์จะพึงได้ สังขาร นี้แต่ที่ไหน ? ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธเตือนภิกษุทั้งหลายว่า
"อย่าเลย อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่าความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้นจะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหนสิ่งใดเกิดแล้วมีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่าขอสั่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้"
ในพระสูตรเดียวกันนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
"ดูกรอานนท์ บัดนี้ เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว ….เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ดูกร อานนท์อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล …"
การพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตและธรรมในธรรม คือการไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นตัวตน เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็จะรู้ชัดว่าสภาพเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หนทางนี้เป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ที่ดับทุกข์และที่สุดแห่งความตาย
โฆษณา