8 เม.ย. เวลา 03:37 • ปรัชญา

นั่งสมาธิทำไมจึงได้ผลเร็ว-ช้าต่างกัน

การนั่งสมาธิ เห็นบางคนต้องทนนั่งหลายๆ ชั่วโมง ใจจึงจะสงบได้ บางคนเตี๋ยวเดียวก็ได้ ทำไมจึงแตกต่างกันครับ ?
คืออย่างนี้นะ เอาละจะไม่ขอใช้คำว่าใครมีบุญเก่า บุญใหม่มากละนะ แต่จะใช้คำว่าใครที่ปกติเป็นคนไม่เจ้าอารมณ์ เป็นคนที่ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ทำตามแต่ใจอยาก เป็นคนมีเหตุผล คนประเภทนี้เมื่อถึงเวลาทำสมาธิ จะประคองใจให้หยุดให้นิ่งได้ง่าย
สำหรับท่านที่ประคองใจให้หยุดให้นิ่ง ไม่ค่อยจะได้กับเขา ก็รู้ไว้เถอะว่าเราน่ะเจ้าอารมณ์ อย่าสงสัยเลยนะ
ก็เพราะว่าเป็นคนเจ้าอารณ์ เอาแต่ใจตัวเองนี่แหละ หลวงพ่อจึงต้องใช้วิธีฝึกให้แบบดัดสันดาน แต่ถ้าพูดก่อนหน้านี้ตรงๆ คงไม่ยอมมาวัดกันหรอก ก็ต้องค่อยๆ ตะล่อม "มานะ มาอยู่กลด" มาอยู่ทำไม? "มาดัดนิสัยเจ้า อารมณ์"..
ถ้าพูดภาษาชาวบ้านให้ชัด แบบสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก็ต้องพูดว่ามาฝึกหัดดัดสันดานเจ้าอารมณ์กันไง ที่เรามาปักกลดกันนี่พระก็ปักกลด เณรก็ปักกลด ญาติโยมก็ปักกลด ให้ปักกลดอยู่ทำไม?
ก็จะดัดสันดานเจ้าอารมณ์ให้อย่างไรล่ะ เช่น เมื่อก่อนนี้กว่าจะนอนได้ อู้ย...ไม่มีห้องแอร์ละก็ ฉันนอนไม่หลับ คราวนี้มาอยู่วัดอยู่กลดเป็นอย่างไรบ้างล่ะ นอนบนลูกรังสบายดีไหม เอ๊ะ....มันก็หลับได้ นี่ยกตัวอย่าง
เพียงแค่การเป็นคนเจ้าอารมณ์อย่างเดียว มันยังส่งผลไปถึง การกระทำทุกเรื่องอย่างนึกไม่ถึง เมื่อเป็นอย่างนี้ มาเถอะนะมาปักกลดอยู่ธุดงค์ มาฝึกตนเองมาดัดนิสัยตนเองเสียเร็วๆ แน่นอนการอยู่ธุดงค์ไม่สบายหรอก แต่นั่นแหละการมาอยู่ธุดงค์ ก็เป็นวิธีขจัดความเจ้าอารณ์ อย่างได้ผลชะงัดที่สุด
เมื่อใดก็ตามที่เราขจัดความเจ้าอารณ์ ออกไปจากใจได้ เมื่อนั้นความดีงามต่างๆ ก็จะปรากฏแก่เรา แม้แต่การนั่งสมาธิก็ประสบผลสำเร็จโดยง่าย
โดยคุณครูไม่เล็ก
หลวงพ่อตอบปัญหา ๓
ภาวนา - จิต (หน้า ๗๗-๗๘)
ภาพดีๆ ๐๗๒, เพจการบ้าน
โฆษณา