9 เม.ย. เวลา 15:44 • การเมือง

[ มาตรการเพื่อคนไทยมีบ้าน หรือ เพื่อช่วยบริษัทอสังหาโล๊ะสต็อกบ้าน? ]

วันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ 5 ข้อ ซึ่งผมคิดว่า มี 2 ประเด็นใหญ่ ที่สะท้อนแนวนโยบายที่น่ากังวลไปจนถึงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลเศรษฐา
มี 3 ข้อที่เห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์และส่งเสริมให้คนไทยมีบ้าน ไม่ว่าจะเป็น โครงการสินเชื่อบ้าน (ไม่เกิน 3 ล้านบาท/ราย), โครงการบ้าน BOI (ไม่เกิน 1.5ล้านบาท/หลัง) แต่มาตรการที่น่ากังวล คือ การลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหาฯ (จาก 2% เป็น 0.01%) และค่าจดทะเบียนจำนอง (จาก 1% เป็น 0.01%) จากมาตรการเดิม ที่กำหนดให้เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ปรับเป็นรวมไปถึงบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
ประเด็นแรกคือ ที่มาของการทบทวนมาตรการลดค่าธรรมเนียมรอบนี้ รัฐบาลอ้างว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา และ ข้อมูลจากภาคอสังหาพบว่า บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่เหลือขาย มีจำนวนไม่มาก แต่บ้านราคา 3 - 7 ล้านบาท ที่ยังเหลือขาย มีจำนวนสู
งถึง 46% หรือ อีกในความหมายนึงคือ บ้านค้า
งสตอคของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ราคา 3 - 7 ล้านบาท/หลัง ไม่ใช่ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท/หลัง
ซึ่งมาตรการเดิม ที่กำหนดให้เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ยังพอเข้าใจได้ว่า วัตถุประสงค์หลักเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นนโยบายที่เอื้อให้ผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้น กลับกลายเป็นว่าในครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของการเปลี่ยนเงื่อนไข เอาผู้มีรายได้น้อยมาบังหน้า แต่เนื้อแท้กลับเอื้อให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีสต็อคบ้านเหลือ ขายไม่ออก สามารถเร่งขายบ้านออกได้ง่ายขึ้น!
ประเด็นที่สองคือ การลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหากระทบงานบริการสาธารณะของท้องถิ่นโดยตรง เพราะค่าธรรมเนียมโอนเป็นแหล่งรายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล, อบต, และ กทม) ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้รายได้ท้องถิ่นลดลงไปถึง 23,822 ล้านบาท/ปี จากเดิมที่รายได้ท้องถิ่นมีน้อยนิดอยู่แล้ว
รัฐบาลออกมาตรการนี้มาเป็นการซ้ำเติมเพราะกระทบรายได้ของท้องถิ่นโดยตรง แต่กลับไม่มาพร้อมกับการชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่น สะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ ไม่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น ถ้าจะให้พูดตรงๆวิธีคิดมันคล้ายกับรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ อย่างกับลอกมาใช้
แทนที่ท้องถิ่น จะมีรายได้มาพัฒนาสิ่งที่เป็นบริการอยู่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด ถูกกลับเอาไปให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือ เอาทรัพยากรที่รีดมาจากรายได้ของท้องถิ่นให้กลายไปเป็นรายได้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เอาเงินที่จะใช้เพื่อทำบริการสาธารณะไปช่วยโละสต็อคบ้านนายทุนอสังหาซะงั้น
สุดท้าย จะมีอะไรเหมาะเจาะไปกว่านี้ เพราะช่างเป็นเหตุบังเอิญที่ว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ก็ดันเคยเป็นอดีตผู้บริหารและเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็จะกลายเป็นผู้ได้ประโยชน์จากมาตรกาเช่นนี้ ผมจึงขอตั้งคำถามตัวโตๆ กับมาตรการของรัฐบาลนี้ว่า เป็นมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วยให้คนรายได้น้อยมีบ้าย หรือ เพื่อกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ให้โละบ้านค้างสตอคให้หมด ?
#สสเติ้ล #ก้าวไกล
โฆษณา