18 เม.ย. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

‘บริหารต้นทุน’ เคล็บลับที่ช่วยเพิ่มกำไรแต่เหนื่อยน้อยลง

การเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ หลายคนมักจะพุ่งเป้าไปที่การสร้างผลต่างของกำไรที่มากขึ้น เช่น ขยายฐานการผลิต ขึ้นราคาขาย …แต่ในความเป็นจริงแล้วหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้นแต่เหนื่อยน้อยลงคือ ‘การบริหารต้นทุน’ เสียใหม่ 💸
การบริหารต้นทุน หมายถึง การที่องค์กรจัดการต้นทุนในส่วนต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและตัดต้นทุนในส่วนที่ไม่เกิดประโยชน์ออก เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนในระยะยาวของตัวธุรกิจ โดยต้นทุนจะรวมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ บุคลากร หรือแม้กระทั่งเวลา
ทั้งนี้วิธีการบริหารต้นทุนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อธุรกิจ สามารถเริ่มทำได้หลากหลายรูปแบบ ดังนี้
⚙ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กับฝ่ายจัดซื้อ : หลายคนมักจะมองข้ามต้นทุนจากกลุ่ม Supplier ที่ใช้มาอย่างยาวนาน อาจจะเพราะเห็นว่าเป็นพาร์ทเนอร์ที่เชื่อใจได้ จึงไม่ได้สนใจการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กับฝ่ายจัดซื้อภายนอก ซึ่งมีผลเป็นอย่างมากต่อการบริหารต้นทุน เพราะในความเป็นจริงเมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงระดับหนึ่ง ควรมีการปรับเปลี่ยนและต่อรอง เช่น สมมติเมื่อก่อนต้นทุน 1 บาท ผลิต 500 ชิ้น แต่พอธุรกิจเติบโตขึ้น การผลิตเพิ่มเป็น 5,000 ชิ้น ดังนั้นต้นทุนจาก Supplier ควรจะลดลงเพื่อผันแปรตามยอดการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย
⚙ วิเคราะห์ต้นทุนของธุรกิจ หลังดำเนินธุรกิจ : การบริหารต้นทุนที่ง่ายที่สุด คือการวิเคราะห์และพิจารณาถึงต้นทุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากดำเนินธุรกิจไปได้สักระยะหนึ่ง เพื่อดูว่ามีสิ่งใดที่ไม่มีความจำเป็น จะได้ขจัดออกและไม่ต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าวไว้ ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ต้นทุนทางเวลาเพิ่มขึ้นด้วย หากตัดบางกระบวนการออกไป
⚙ คำนวณวงจรชีวิตของต้นทุน : หากธุรกิจของเรามีต้นทุนที่อยู่ในกระบวนการผลิต เช่น วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ให้ลองกลับมาทบทวนคิดต้นทุนตลอดกระบวนการว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนบ้าง ตั้งแต่ก่อนผลิต ระหว่างผลิต และหลังผลิต จะได้วางแผนควบคุมรายจ่ายของต้นทุนไม่ให้บานปลาย
⚙ สร้างระบบการผลิตแบบลีน : ใช้การบริหารต้นทุนด้วยการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตสินค้าหรือบริการที่ลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต เช่น ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคนในบางส่วนเพื่อลดต้นทุนเวลาและสามารถใช้ได้ในระยะยาว เป็นต้น
⚙ วางแผนการใช้ต้นทุนคู่กับกำไรเป้าหมาย : ใช้วิธีการคำนวณต้นทุนรวมทุกอย่างทั้งเงินที่ต้องจ่าย จำนวนทรัพยากร และเวลา มาเทียบกับกำไรเป้าหมายที่ธุรกิจต้องการบรรลุ จากนั้นวางแผนและวิเคราะห์ว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะบางธุรกิจชอบลืมที่จะนำต้นทุนบุคลากรมาคำนวณในการบริหาร
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เราหยิบยกมาให้เห็นว่าการบริหารต้นทุนสามารถทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจของเรามีกำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่เหนื่อยน้อยลงจากการที่ต้นทุนลดลง และที่สำคัญนี่ยังเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจทำได้ทันทีอีกด้วย!
ขอบคุณข้อมูล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา