11 เม.ย. เวลา 09:10 • การเมือง

วิกฤตแคดเมียม: คอร์รัปชันที่แลกด้วยชีวิตประชาชน

.
วิกฤตแคดเมียมเกิดจากคอร์รัปชันในการออกใบอนุญาตอนุมัติของใครบางคนในกระทรวงอุตสาหกรรม การจ่ายใต้โต๊ะในเรื่องแบบนี้แม้ผู้จ่ายจำยอมหรือเป็นฝ่ายเสนอให้แต่ก็สมประโยชน์ แต่ครั้งนี้พวกเขาร่ำรวยขึ้นบนเสี่ยงที่แลกด้วยชีวิตและสุขภาพของประชาชนมากเกินไป
ใครบ้างได้ประโยชน์?..
1. นายทุนเจ้าของเหมืองคือผู้ได้ประโยชน์ก่อนใครจากกากแร่พิษ ที่กฎหมายเคยบังคับให้ฝังไว้ใต้ดินเป็นขยะตลอดไป แต่วันนี้กลับขายได้ราว 100 ล้านบาท แถมที่ดินผืนนั้นก็กลับมามีมูลค่าอีกครั้ง
2. นายทุนต่างชาติที่กล้าซื้อของล็อตใหญ่คงย่ามใจว่าประเทศไทยอะไรก็ซื้อได้แม้เจ้าหน้าที่รัฐ
กากแร่ 13,832 ตันต้องใช้รถบรรทุก 10 ล้อ ราว 550 คัน
พื้นที่เก็บกองก็ไม่ใช่ห้องแถวลับๆ แต่อยู่บนที่ดินกว่า 80 ไร่ ใหญ่ขนาดเปิดกูเกิ้ลยังมองเห็น อย่างนี้อุตสาหกรรมจังหวัด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ กรมโรงงานฯ ท่านผู้ว่าฯ ของทั้งสองจังหวัดจะชี้แจงอย่างไร
3. คอร์รัปชันในการบริหารราชการของอุตสาหกรรมจังหวัด เขาโกงความไว้วางใจของประชาชน ออกใบอนุญาตให้มีการขนย้ายกากแร่พิษ แถมยังขาดการติดตามควบคุมเส้นทางขนย้าย (Post Auditing Process)
คนรับราชการมาจนถึงซี 9 ต้องรู้แล้วว่า เป็นอันตรายต่อประชาชนในวงกว้าง ต้องใส่ใจเป็นพิเศษว่าวัตถุมีพิษมหาศาลขนาดนี้ควรจัดการอย่างไร ใครจะเอาไปไหน ไปทำอะไร
ขอเน้นเพื่อชวนติดตามกันว่า..
 
“ปรกติแล้วเรื่องใหญ่ขนาดนี้เส้นทางสินบนต้องขึ้นสูงมากไม่จบแค่ในจังหวัดแน่นอน”
ต้นตอของวิกฤต..
เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เพิ่งรับรู้ว่า รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ยอมให้ขุดกากแร่พิษขึ้นมารีไซเคิลได้ การขออนุญาตขนย้ายก็ทำได้ง่ายขึ้น
ขณะที่มาตรการควบคุมอ่อนแอ
เช่น ขาดการลงโทษที่รุนแรงต่อผู้ฝ่าฝืน การขนย้ายกากแร่ทำได้ง่าย โรงหลอมขาดการควบคุม ขาดมาตรฐานควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่รัฐเกรงกลัวอิทธิพลและเกรงกลัวเอกชนฟ้องร้อง การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน และเต็มไปด้วยคอร์รัปชัน (ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ)
คนไทยต้องมีส่วนร่วมทบทวนและตรวจสอบ..
1. กากแร่ที่สมุทรสาครนายทุนบอกว่าจะเอาไปหลอม ส่วนที่ชลบุรีตั้งใจส่งออกไปต่างประเทศ แสดงว่าโลกเปลี่ยนไป ของที่เคยเป็นขยะกลับมีค่ามีราคาแพง ดังนั้นในอนาคตภาครัฐจะจัดการอย่างไรกับขยะอันตราย
2. การที่รัฐมีสนับสนุนให้เอกชนขุดขยะอิเลกทรอนิกส์และกากอุตสาหกรรมหรือนำเข้าจากต่างประเทศมารีไซเคิล จึงเปลี่ยนแปลงกฎหมายและ EIA แต่ยังขาดเงื่อนไขและมาตรการควบคุมที่ชัดเจน เป็นเรื่องเหมาะสมแล้วหรือไม่
3. ต้องเร่งรัดพิจารณาร่าง “พ.ร.บ. การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ” (PRTR) ที่ภาคประชาชนเสนอ
บทสรุป..
ปัญหาเดิมๆ ของราชการไทยที่ทำให้เกิดคอร์รัปชันได้ง่าย คือ การปกปิดข้อมูลต่อสาธารณะ ผลประโยชน์การค้าของเอกชนแม้เป็นภัยต่อประชาชนก็ยังเป็นความลับ หน่วยงานรัฐไม่แชร์ข้อมูลในระบบให้หน่วยงานอื่นใช้ประโยชน์ นโยบายรัฐและกฎเกณฑ์เปลี่ยนไปมาขาดความชัดเจน
รัฐบาลต้องเห็นค่าของชีวิตประชาชน สำคัญกว่าความร่ำรวยจากธุรกิจ คนเป็น “รัฐมนตรี” ต้องเลิกหาประโยชน์จากระบบราชการที่บกพร่องอยู่ หันมาพัฒนาและสานต่อการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย
ขอบคุณมูลนิธิบูรณะนิเวศและภาคประชาชนทุกท่าน ที่เปิดโปงวิกฤตนี้เพื่อประโยชน์ของสังคม
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
10 เมษายน 2567
#คอร์รัปชัน #ใบอนุญาตอนุมัติ #แคดเมียม #เปิดเผยข้อมูล #ชวนคนไทยต้านโกง #สินบน
#ActiveCitizen #watchdog #ปปท #หมาเฝ้าบ้าน #ปปช #สตง #นยปส #ชมรมSTRONGต้านทุจริตภาคใต้ #ชมรมSTRONGต้านทุจริตภาคตะวันออก #ชมรมSTRONGต้านทุจริตภาคตะวันตก #ชมรมSTRONGต้านทุจริตภาคอีสาน #ชมรมSTRONGต้านทุจริตภาคกลาง #ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย
โฆษณา