13 เม.ย. เวลา 16:10 • ครอบครัว & เด็ก

ห​ ล า​ น​ ม่​ า

หนังแนวแฟมมิลี่ดร่ามา
วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้แอดขอแนะนำหนังเรื่อง​ "หลานม่า" หรือ​ How To Make Millions Before Grandma Dies (2024) ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของค่าย​ GDH ที่กำลังกล่าวขานกันทั่วประเทศไทยหลังเข้าฉายเพียงไม่นานแฟนเพจหลายคนอาจจะได้ชมหนังเรื่องนี้มาแล้ว​
.
เรื่องนี้เหมาะกับวันผู้สูงอายุ​แห่งชาติคือวันนี้​ และวันครอบครัว​ ๑๔ เม.ย. ด้วย​ มีผู้ไปชม​ "หลานม่า" อย่างเนืองแน่นตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉายคือ​ ๔​ เม.ย.​ ซึ่งตรงกับวันเช็งเม้งที่ครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนจะเดินทางไปเคารพสุสานของบรรพบุรุษประจำทุกปี​ จนถึงวันนี้ก็ยังทำรายได้ต่อเนื่อง
.
หากดูจากชื่อเรื่องภาษาอังกฤษก็จะรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลของหนัง ซึ่งดูจะเป็นแนวดาร์กก็ว่าได้ แต่ถ้าดูโปสเตอร์หนังและคำโปรยจะสื่อโทนอบอุ่นมากค่ะ
.
ธีมเรื่องเล่าว่า​ ลูกทั้งสามคนของอาม่าโตแล้วก็แยกไปมีครอบครัว​กันหมด ไม่มีเวลามาดูแลอาม่า​ และปล่อยให้อาม่าอยู่ที่บ้านตึกแถวเก่า​ๆ​ แถวตลาดพลูตามลำพัง​ อาม่ามีรถเข็นไปขายโจ๊กคนเดียวทุกวัน
.
ฉากเปิดของเรื่องเป็นวันเช็งเม้งที่ครอบครัวมีคนสามรุ่นคืออาม่า ลูกชายคือกู๋เคี้ยง ลูกสาวคนกลางคือซิว (แม่เอ็ม) ลูกชายคนเล็กคือกู๋โส่ย และเอ็ม มาพร้อมกัน แต่ดูเหมือนไม่ค่อยใส่ใจกับงานมีอาม่าคนเดียวที่คอยบอกให้จัดวางของโน่นนี่นั่น
วันเช็งเม้ง
เอ็ม​ เด็กหนุ่มที่เรียนไม่จบและฝันจะเป็นเกมเมอร์ แต่ก็ล้มเหลว​เคยถามมุ่ย​ ลูกพี่ลูกน้องว่ามีงานอะไรที่สบายๆ​ และรวยเร็ว​ มุ่ยจึงบอกเอ็มว่า​ สิ่งที่คนแก่ต้องการแต่ไม่มีใครให้ได้คือ​ "เวลา" เธอจึงดูแลปรนนิบัติอากงที่นอนติดเตียงอย่างดี​ และเธอก็เป็นที่หนึ่งในใจอากง​ เมื่ออากงตายเธอจึงได้รับมรดกเป็นบ้านหลังใหญ่และเธอขายได้ราคาสิบล้าน
.
เอ็มได้ไอเดีย....อยากได้สมบัติคือตึกแถวของอาม่า​ จึงมาทำดีกับอาม่า​ หน้าที่ของหลานม่าจึงเริ่มขึ้นเมื่อเอ็มแวะเวียนไปหาอาม่า​ที่บ้าน อาม่าแปลกใจว่ามาทำไม เอ็มบอกว่าคิดถึง​และก็จะมาดูแลอาม่า... เอ็มจึงตามติดอาม่าตลอด​ ไม่ว่าตื่นเช้าไปช่วยขายโจ๊ก​ พาอาม่าไปโรงพยาบาล​ เล่นไพ่กับอาม่า​ฯลฯ
.
ลูกๆ​ ไม่มีใครกล้าบอกว่าอาม่าป่วยเป็นอะไร​หลังตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง​ แต่เอ็มบอกอาม่าตั้งแต่มาอยู่ด้วยกันวันแรกๆ​ เขาคิดว่าอาม่าควรต้องรู้เพราะเป็นสิทธิ์ของอาม่า​และร่างกายของอาม่าเอง
อาม่าและซิว
.
แม้เอ็มจะไม่ได้เติบโตอย่างใกล้ชิดอาม่า​ ไม่รู้ว่าอาม่ากินเจ​ ไม่เคยอาบน้ำให้อาม่า​ และไม่เคยนอนกับอาม่า​ฯลฯ​ แต่เขาก็ปรับตัวอยู่กับอาม่าได้อย่างดี​ อาม่ายังแปลกใจที่หลานคนนี้มาดูแลเพื่ออะไร​ วันหนึ่งจึงถามเอ็มว่า​ "มึงก็หว่านพืชเพื่อหวังผลใช่มั้ย" อาเอ็มนิ่งเงียบ
.
แอดเชื่อว่าผู้ชม​ "หลานม่า" ต่างรู้สึกต่อหนังและตัวละครต่างกันขึ้นกับประสบการณ์ในชีวิตที่แตกต่างทั้งวัยและเพศด้วย​ สิ่งที่ตัวละครแสดงออกจึงมีผลค่ออารมณ์ผู้ชมแตกต่างกัน​ แอดจะขอยกตัวอย่างถ้อยคำที่สื่อความหมายบางช่วงมาแชร์กัน
.
ฉากที่กู๋เคี้ยงและครอบครัวพาอาม่าไปทำบุญสื่อความสำคัญของบุคคลในชีวิตแต่ละคนได้อย่างดีทีเดียว​ ลูกชายคนโตและครอบครัวไม่มีใครเขียนขอพรให้อาม่าเลย ขณะที่เอ็มเขียนว่าขอให้อาม่าถูกหวย อาม่าเขียนขอพรให้ลูกๆและหลานครบทุกคน​ เอ็มต้องทักว่า
เอ็ม : ครอบครัวนี้ไม่เห็นมีใครขอพรให้อาม่าเลย
อาม่า : เขาก็เขียนให้ครอบครัวของเขา
เอ็ม : อ้าว แล้วอาม่าไม่ใช่ครอบครัวเขาเหรอ!!!
.
ความใกล้ชิดค่อยๆ​ สร้างความรู้สึกรัก​ ​ความผูกพัน​และห่วงใยต่ออาม่า​ ปกติลูก​ ๆ​ อาม่าจะแวะไปบ้านอาม่าที่ตลาดพลูทุกวันอาทิตย์ เมื่อเอ็มมาอยู่กับอาม่า​ เขาสงสัยทำไมอาม่าแต่งตัวด้วยชุดสวยผิดปกติจากวันอื่นๆ​ ภายหลังจึงรู้ว่าอาม่า​แต่งตัวรอลูก​ๆ​ ที่จะมาหา​ โดยเฉพาะโส่ย​ บางครั้งอาโส่ยไม่แวะมา​ อาม่าเปรยกับเอ็มขณะที่รอฟังเสียงมอเตอร์ไซค์ของโส่ยว่า​ เขาไม่แวะมาก็แสดงว่าเขามีความสุขดี... ถ้าใครได้ดูแอดเชื่อว่าจะรู้สึกซาบซึ้งกับบทสนทนาของเอ็มกับอาม่ามากๆ​
เอ็ม : กู๋โส่ยนี่​ ไม่น่ามาหาอาม่าเลยเนอะ มาที่ไรได้เรื่องทุกที
อาม่า : อาโส่ย อีไม่มาดีที่สุด อีไม่มาก็แสดงว่าอีสบายดี!!!
อาม่ารอคอยลูกๆ
.
“หลานม่า” เป็นหนังที่ไม่เพียงสะท้อนเรื่องความรักและความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว​ แต่ยังเอ่ยถึงความเชื่อและวิถีชีวิตของคนจีนที่ยังคงไม่เปลี่ยนไป เช่น​ ความรักลูกผู้ชายมากกว่าลูกสาว​ เห็นได้จากอาม่ารักกู๋เคี้ยงมากกว่าซิว​ ที่ห่วงใยดูแลแม่อย่างใกล้ชิดมากกว่า​ แต่ลึกๆ​ ในใจอาม่าในฐานะแม่ก็รักและห่วงใยลูกทุกคน
.
เช่นเมื่ออาม่าได้ย้ายมาอยู่บ้านอาซิว ลูกสาวคนกลาง​ อาม่าคุยกับอาซิวว่า​ "อาเอ็มอีถามอั๊วบ่อย​ ๆ​ ว่ารักลูกคนไหนมากที่สุด​ อั๊วตอบไม่ได้หรอกนะ​ แต่อั๊วอยากอยู่กับลื้อที่สุด"!!!
.
"หลานม่า" ยังสะท้อนถึงรุ่นลูกหลานที่ไม่ได้ซึบซับวัฒนธรรมจีนในชีวิตประจำวันให้เห็นชัดเจนขึ้น เช่นการที่ลูกหลานคนจีนพูดภาษาแต้จิ๋วไม่ได้ก็ปรากฏอยู่บางฉากที่เอ็มไม่เข้าใจว่าอาม่าพูดอะไร​
อาม่า​: "กูโจ่ยเซี่ยมึงนะ"
เอ็ม​: "อาม่าด่าอะไรเอ็ม"
อาม่า: "กูขอบใจ​ เป็นคนจีนภาษาอะไร​ ฟังไม่ออกสักอย่าง"
เอ็ม: "คนจีนภาษาไทยไงม่า"
ขณะที่มุ่ยนั้นเข้าใจและสื่อสารกับอาม่าได้อย่างที่อาม่าคุยด้วยแล้วมีความสุข​
 
.
หนังเรื่องนี้เก็บรายละเอียดทั้งความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร​ ฉาก​ย่านตลาดพลู​ ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและชาย​ (อาม่าไปขอเงินพี่ชายเพื่อซื้อฮวงซุ้ย) และการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัยเพียงลำพังในแง่มุมต่างๆ​ ในสังคมไทยยุคปัจจุบันได้ดีทีเดียว​ ฉากไปโรงพยาบาลก็ยังสื่อถึงสภาพสวัสดิการที่ขาดแคลนในสังคมแก่คนชรา​ หรือการทำโจ๊กขายของอาม่าก็แทรกบทเรียนสอนเอ็มด้วยว่าอย่าดูถูกอาชีพที่ต่ำต้อย
.
หากใครสังเกตในหนังเรื่อง​ "หลานม่า" มีฉากเปิดเรื่องในงานวันเช็งเม้งที่ฮวงซุ้ยและก็ฉากจบที่สอดรับกันมากทีเดียว​ ในฉากเปิดเรื่องเอ็มนั่งเล่นเกมมือถือ​ พออาม่าให้ช่วยโปรยดอกไม้​ เอ็มก็โปรยส่งเดชให้เสร็จๆ​ อาม่าต้องเดินขึ้นเนินเหนือฮวงซุ้ยเพื่อมาหยิบดอกไม้โปรยใหม่​ และบ่นว่าถ้าอาม่าตายไปและเอ็มโปรยดอกไม้ไม่ดีละก็อาม่าจะมาหาเอ็ม...
.
ฉากจบเรื่องปิดที่ฮวงซุ้ยเช่นกัน​ แอดไม่เล่าและขอให้ไปชมกันเองค่ะว่า​ ทำไมคนเขียนบทจัดให้ฉากจบที่ฮวงซุ้ยด้วย​ อยากขอแนะนำให้ชม​ "หลานม่า" ค่ะ​ เป็นหนังที่ส่งเสริมความเข้าใจและความรักระหว่างคนต่างวัยที่ช่วยสร้างพลังใจดีๆ​ ให้ผู้ชม
ขอบคุณรูปจาก​ GDH
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ​ #หลานม่า #สถาบันครอบครัว​ #GDH #ความรักของพ่อแม่ #ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น #คนไทยเชื้อสายจีน #วันผู้สูงอายุแห่งชาติ​ #วันครอบครัว​ #วันเช็งเม้ง #ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย​ #สวัสดิการผู้สูงวัย
โฆษณา