14 เม.ย. เวลา 04:00 • ครอบครัว & เด็ก

วันครอบครัว 14 เมษายน 2567 ยุคใหม่ของสังคมข้ามรุ่น อยู่ตัวคนเดียว

14 เมษายน 2567 วันครอบครัว กับการเริ่มต้นยุคใหม่ของสังคมข้ามรุ่น ครัวเรือนตัวคนเดียว หลังจากข้อมูลด้านโครงสร้างประชากร ระบุชัด ครอบครัวคนไทยเริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าจากอดีต
วันที่ 14 เมษายน 2567 หรือ “วันครอบครัว” ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง นอกเหนือไปจากวันหยุดยาวเทศกาลวันสงกรานต์ โดยปัจจุบันต้องยอมรับว่า ครอบครัว หรือ ครัวเรือนของคนไทยนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยเป็นอย่างมาก จากสังคมแบบครอบครัวใหญ่ กลายเป็นสังคมแบบข้ามรุ่น หรือมีความห่างของเจเนอเรชั่น รวมทั้งยังกลายเป็นครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียว (single person household) เพิ่มมากขึ้น
1
แนวโน้มครอบครัวไม่ลูก-อยู่คนเดียว เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุข้อมูลไว้ในรายงานแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2580) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศมีครอบครัวที่ไม่มีบุตรและอยู่คนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มอัตราการเกิดของประชากร และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุในอนาคต
1
ทั้งนี้จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ ทัศนคติในการดำเนินชีวิต และค่านิยมสมัยใหม่ ทำให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง และมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นจากในอดีตที่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวพ่อแม่ลูก กลายเป็นครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง หรืออาจเป็นครัวเรือนคนเดียว
ทั้งนี้ประเมินว่า ครัวเรือนลักษณะนี้ในอนาคตจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของครัวเรือนทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทย อีกทั้งยังส่งผลให้มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิง เนื่องจากเพศหญิงมีอายุคาดเฉลี่ยสูงกว่าเพศชาย ประกอบกับผู้สูงอายุเพศหญิงยังพึ่งพิงรายได้จากบุตรเป็นหลัก
ขณะที่ผู้ชาย มีรายได้มาจากการทำงาน แต่ในอนาคตการที่จะหวังพึ่งการดูแลจากบุตรจะเป็นไปได้ยากขึ้น แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุเพศหญิงจะเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากกว่าเพศชาย
นอกจากนี้ยังมีครอบครัวในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ครอบครัวข้ามรุ่น ครอบครัวพ่อ หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเพศเดียวกัน โดยข้อมูลจาก LGBT CAPITAL ปี 2562 ระบุว่า กลุ่มเพศทางเลือกในประชากร ไทยที่อายุมากกว่า 15 ปี มีจำนวน 3.6 ล้านคน หรือมีสัดส่วนประมาณ 5% ของประชากรไทย
สถาบันครอบครัวไม่ดีทำเด็กมีปัญหา
สศช. ระบุว่า ครอบครัว ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละปีมีเด็กจำนวนมากประสบปัญหา โดยในปี 2561 มีเด็กและเยาวชนถึง 75,350 คน ประสบปัญหา เช่น
  • เด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงดู 10,806 คน
  • เด็กกำพร้าเร่ร่อนหรือถูกทอดทิ้ง 4,307 คน
  • ครอบครัวยากจน 46,896 คน
  • ถูกกระทำรุนแรง 7,249 คน
ขณะที่แนวทางการพัฒนาที่ผ่านมายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถาบันครอบครัวมากเท่าที่ควร ทั้งการละเลยในระดับปัจเจก เช่น การที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพมากกว่าการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่และลูก จนเกิดเป็นปัญหาความแตกต่างทางทัศนคติของคนระหว่างวัยมากยิ่งขึ้น
2
รวมถึงนโยบายการพัฒนายังยึดหน่วยบุคคลเป็นหลัก เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่เน้นการช่วยเหลือในระดับปัจเจกที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยเฉพาะการเลี้ยงดูบุตร ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการสร้างประชากรที่มีคุณภาพในยุคของการเกิดน้อยดังเช่นปัจจุบัน
สถิติครัวเรือนคนเดียวพุ่ง 7 ล้าน
1
มาดูข้อมูลครัวเรือนคนเดียวของประเทศไทยบ้าง โดยปัจจุบันครัวเรือนคนเดียวของไทยมีสัดส่วนมากขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2565 มีครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวจำนวนกว่า 7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 26.1% ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 16.4% ในปี 2555 ซึ่งครัวเรือนคนเดียวส่วนใหญ่เป็นคนโสด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (2563) คาดว่า ครัวเรือนคนเดียวจะมีการใช้จ่ายกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี สอดคล้องกับข้อมูลของ Euromonitor ที่ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการปรับตัวของธุรกิจไทย พบว่ายังมีไม่มากนัก เช่น การท่องเที่ยว (Solo Traveler) มีเพียงโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับ แอปพลิเคชัน Tinder และบริษัท ไดรฟ์ดิจิทัล จำกัด จัดทำโครงการ “เส้นทางคนโสด Single Journey” ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นให้ครัวเรือนคนเดียวเดินทางท่องเที่ยวมากกว่า 70 ล้านครั้งและคาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ขณะที่ภาคเอกชนมีการปรับตัวที่ชัดเจน ในธุรกิจอาหารที่รองรับลูกค้าที่มาคนเดียว (Solo Diner) และธุรกิจบริการอาหารเดลิเวอรี่ที่ได้รับความนิยมสำหรับลูกค้าที่อยู่คนเดียวและไม่ค่อยมีเวลา ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอำนวยความสะดวกให้สามารถสั่งสินค้าทีเดียวได้หลายร้าน
ดังนั้นการจัดเตรียมการรองรับการเข้าสู่สังคมยุคใหม่กับพื้นฐาน “ครอบครัว” ที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องติดตามและปรับตัว
โฆษณา