15 เม.ย. เวลา 03:00 • การตลาด

เปิดโอกาสทอง "เศรษฐกิจสีเงิน" ที่ธุรกิจต้องรีบคว้า

ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิด "เศรษฐกิจสีเงิน" ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รวมทั้ง ธุรกิจและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ
3
สังคมผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ซึ่งประเทศไทยเผชิญกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้วเมื่อปี 2566 คาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดในอีกไม่ช้า แม้สังคมสูงวัยเป็นโจทย์ใหญ่ด้านนโยบายที่ต้องคิด เเต่ก็มาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจที่ต้องคว้าไว้ เพื่อรับมือกับ "เศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือเศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy)"
วิจัยกรุงศรี อธิบายถึง โอกาสของ Silver Economy ในประเทศไทย กระจายอยู่ในธุรกิจหลากหลายประเภท รวมทั้งกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่น
ธุรกิจสุขภาพ
ธุรกิจเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกขึ้นผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น หมอดี (MorDee) ชีวี (Chiiwii)  ZeekDoc โดยผู้สูงอายุสามารถพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรักษาผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ หรือที่เรียกว่าการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)
​ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ (Caregiving) ปี 2564 ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล แต่ต้องการผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวัน มีถึง 2.6 แสนคน จึงเกิดแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดหาผู้ดูแลตามความต้องการ (On-demand) เช่น Health at Home ใส่ใจ (SAIJAI) แทนคุณ (tankoon) ทั้งนี้ บางธุรกิจยังมีบริการพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลด้วย อาทิ JoyRide เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกไปพบแพทย์ตามลำพัง
ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น จากลูกค้าสูงอายุทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างธุรกิจ Healthticket ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวมแพ็กเกจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยสามารถจองสปา โปรแกรมตรวจสุขภาพ และโรงพยาบาลได้
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
มาธุรกิจที่พักสำหรับผู้สูงอายุกำลังเติบโตขึ้น สะท้อนจากการมีผู้เล่นหลายรายในตลาด โดยลักษณะที่พักที่พบได้มาก มี 2 ประเภท
ที่พักรูปแบบ Nursing Home เน้นตลาดกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ที่ต้องการพักฟื้นหรือรับการดูแลระยะสั้น เนื่องจากมีบริการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เข้าพักจะจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน ราคาส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 10,000-30,000 บาท เช่น บ้านลลิสา Sansiri Home Care และ Asia Nursing Home
1
เนื่องจากจำนวนธุรกิจ Nursing Home เติบโตมาก และราคายังเกินความสามารถ จึงทำให้อัตราการเข้าพัก Nursing Home น้อยกว่าที่พักประเภทอื่น
บ้านหรือคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ เหมาะกับผู้สูงอายุต้องการพักอาศัยระยะยาว โดยผู้อาศัยต้องจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์อยู่อาศัยระยะยาว ตลอดชีพ หรือซื้อขาด ธุรกิจนี้จึงเน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง ยังช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ต้องการการอำนวยความสะดวกและความเชื่อมโยงกับสังคม (Community) โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1.5 ล้านบาท เช่น Supalai Wellness Valley, Wellness city, วิลล่ามีสุข และ NAYA Residence
เนื่องจากบ้านพักผู้สูงอายุในปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่เป็นหลัก จึงมีโอกาสของการลงทุนในโครงการที่พักอาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจบ้านพักผู้สูงอายุคือภาพลักษณ์ของบ้านพักคนชราที่เปลี่ยนไปจากเดิมในทางที่ดียิ่งขึ้น เพราะที่พักเหล่านี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสังคมของวัยเดียวกันหรือต่างวัย
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านตนเองหรือครอบครัว (Aging in Place) สามารถเพิ่มเติมการออกแบบและการใช้วัสดุเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องใส่ใจเรื่องอาหารมากขึ้น จึงมักซื้ออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตลอดจนอาหารเสริมรูปแบบต่างๆ เช่น นม ข้าว รังนก ในขณะที่อาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ครีมเทียม ไข่ไก่ ผงชูรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะเป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุบริโภคลดลง
ข้อมูลจาก The 1 Insight ยังพบว่าสินค้าขายดีในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีรายได้สูง ได้แก่ ผลไม้นำเข้า ผักออร์แกนิก และโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่
อาหารที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Aging-friendly Foods) อาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุต้องเคี้ยวง่าย กลืนง่าย ย่อยง่าย อุดมไปด้วยสารอาหาร รวมทั้งต้องมีโซเดียม น้ำตาล และไขมันต่ำ
อาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) คืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐานต่อร่างกาย และยังมีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือรสชาติ รูปลักษณ์ และกลิ่นของอาหาร ที่สามารถกระตุ้นความอยากอาหารที่ลดลงตามวัย รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เข้าใจง่าย สื่อสารคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ได้อย่างครบถ้วน ด้วยการใช้ภาพและสีที่เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม (Universal Design)
ธุรกิจไลฟ์สไตล์
ข้อมูลจาก The 1 Insight พบว่าผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง นิยมซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีจุดเด่นด้านสุขภาพ อาทิ รองเท้าผ้าใบเพื่อสุขภาพ ที่นอนเพื่อสุขภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อชะลอวัย (Anti-Aging Skincare) และเครื่องสำอาง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จัดเป็นผู้ที่เต็มใจจ่ายเพื่อความสุขและเพื่อสุขภาพ
สินค้าและบริการที่ได้รับการออกแบบอย่างใส่ใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้สูงอายุพบเจอในชีวิตประจำวัน จะมีโอกาสเติบโตได้ดี เช่น เก้าอี้ที่มีเท้าแขนข้างเดียว ซึ่งช่วยให้เคลื่อนย้ายคนเข้าออกได้สะดวกขึ้น แท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ ที่ให้บริการโดยผู้ผ่านการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลและการดูแลผู้ป่วย ช่วยให้ผู้สูงอายุเชื่อมั่นในความปลอดภัยยิ่งขึ้น เมื่อต้องการเดินทางไปทำธุระต่างๆ
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชอบทำเมื่ออยู่บ้านจะได้รับอานิสงส์ เช่น การตกแต่งบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การปลูกผักและทำสวน สื่อและความบันเทิง ขณะเดียวกัน โอกาสทางธุรกิจยังเกิดขึ้นกับกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การท่องเที่ยวหลังเกษียณ หรือกิจกรรมร่วมกับชุมชนผู้สูงอายุหรือวัยอื่นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีธุรกิจหลายรายที่มุ่งสร้างชุมชนผู้สูงอายุผ่านการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกัน ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
ธุรกิจดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งผลให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น เครื่องช่วยฟังที่ปรับคุณภาพเสียงผ่านแอปพลิเคชันได้ ไม้เท้าอัจฉริยะ เก้าอี้นวดไฟฟ้า หุ่นยนต์ที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวของผู้สูงอายุ รวมถึงอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับวัดค่าต่างๆ ทางสุขภาพ
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดระดับออกซิเจน หรือ Smart Watch ที่ช่วยติดตาม แจ้งเตือน และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้หลายรายการ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการในตลาดผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและบริการเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการบำบัดและดูแลรักษาอาการป่วยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น แว่นตาที่ใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ในการสร้างโลกความเป็นจริงเสมือนแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเทคโนโลยี VR สามารถกระตุ้นความทรงจำและช่วยลดพฤติกรรมซ้ำๆ ของผู้ป่วยได้
สายรัดข้อมือ (Wristband) หรือ QR CODE ที่เปรียบเสมือนคลังข้อมูลสุขภาพบนระบบคลาวด์ ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำและเสี่ยงต่อการพลัดหลง วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ควบคุมด้วยสายตา สำหรับผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยอัมพฤกษ์/อัมพาต แอปพลิเคชันประเมินบาดแผลผ่านภาพถ่ายโดยเทคโนโลยี AI และบอกแนวทางดูแลรักษาเบื้องต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ธุรกิจทางการเงิน
ธุรกิจทางการเงินมีโอกาสมหาศาลใน Silver Economy เนื่องจากผู้สูงอายุไทยจำนวนมากยังประสบปัญหาเรื่องความเพียงพอของรายได้ และการเข้าถึงบริการทางการเงิน ดังนั้น สถาบันการเงินจึงสามารถเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น บัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูง และมีความยืดหยุ่นในการเบิก-ถอน สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพและสร้างรายได้
1
วัยเกษียณเป็นวัยที่ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังพึ่งพาสิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล เป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ สินเชื่อเพื่อการรักษาพยาบาล บัตรเครดิตที่ส่งเสริมหรือให้รางวัลการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีขึ้น ตั้งแต่การป้องกัน คัดกรอง และดูแลรักษา
โฆษณา