14 เม.ย. เวลา 09:05 • ความคิดเห็น

Advocacy Note : ทรัพย์มรดกกว่า 20 ล้านกับทายาท 10 คน

👤ทนายความฝ่าย : ทายาทฝ่ายพี่น้องของเจ้ามรดก
💬เล่าขั้นตอนการดำเนินการแต่ละครั้ง💬
คดีนี้เป็นเรื่องที่ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีผู้มีสิทธิได้รับมรดกด้วยกัน 10 คน คือ ภริยา 1 คน และพี่น้องร่วมบิดามารดา รวมแล้ว 9 คน
ซึ่งก่อนหน้าที่ผมจะได้เข้าเป็นทนายความในคดีนั้น ได้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายไว้แล้ว โดยมีผู้จัดการมรดกร่วมกัน 2 คน คือ ภริยา 1 คน กับ ตัวแทนทายาทฝ่ายพี่น้อง 1 คน แต่ต่อมาภายหลังผู้จัดการมรดกฝ่ายภริยากลับเพิกเฉยไม่ยอมให้ความร่วมมือในการแบ่งทรัพย์มรดก
ทีนี้ก็มาถึงคราวผมได้เข้าเป็นทนายในคดีแล้วครับ ผมเป็นทนายให้ฝั่งทายาทฝ่ายพี่น้อง โดยได้ยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกที่เป็นภริยา ให้ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย (เหตุผลจริง ๆแล้วทางฝ่ายผมมีเจตนาอยากจะคุยกันดี ๆเพื่อหาทางออกให้ทั้งสองฝ่ายเท่านั้นครับ)
พอถึงวันขึ้นศาลนัดแรกเป็นนัดไกล่เกลี่ยครับ ทางฝ่ายผมมีการประชุมกันแล้วว่าคดีนี้ฝ่ายเราเพียงต้องการให้อีกฝ่ายแบ่งทรัพย์สินให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
1️⃣ ครั้งแรกประมาณต้นปี 2566 ซึ่งวันแรกที่ไกล่เกลี่ยจำได้ว่าบรรยากาศไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ต่างฝ่ายต่างมีอารมณ์ในการพูดคุยทำให้การไกล่เกลี่ยไม่ค่อยคืบหน้า และหนทางในการไปต่อก็แลจะไม่ค่อยมีครับ และวันนั้นจบด้วยการที่เลื่อนนัดไกล่เกลี่ยไป เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างไปทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพื่อให้ครั้งหน้าจะได้คุยกันง่ายขึ้น
2️⃣ครั้งที่สอง ต่างฝ่ายต่างทำบัญชีทรัพย์มรดกมาแล้ว แต่ด้วยการที่ทรัพย์มรดกมีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ , เงินในบัญชี , รยถนต์ และทรัพย์สินอื่น ๆอีกมากมาย
ต่างฝ่ายต่างก็อยากได้ทรัพย์อันนั้นอันนี้จนคุยกันไม่ลงตัวสักที จนเกือบจะหมดเวลาราชการแล้ว มีท่านผู้พิพากษาท่านหนึ่งมาช่วยพูดคุยให้ โดยแยกคุยเพื่อให้ศาลทราบความประสงค์ของแต่ละฝ่ายว่าติดขัดตรงไหน ซึ่งเมื่อศาลท่านทราบแล้ว พอได้มาคุยพร้อมกันอีกครั้งก็ทำให้ไหลลื่นมากยิ่งขึ้นครับ แต่สุดท้ายวันนั้น ก็ต้องเลื่อนคดีออกไปอีก เพราะว่าต่างฝ่ายต่างล้ากันมาก และก็หมดเวลาราชการพอดี
3️⃣ - 5️⃣ครั้งที่สามถึงห้า แนวทางในการไกล่เกลี่ยเริ่มดีขึ้น โดยตกลงแบ่งทรัพย์บางอย่างได้ และได้แบ่งทรัพย์บางอย่างไปแล้ว เช่น เงินในบัญชี หรือสังหาริมทรัพย์ที่แบ่งกันง่าย จะคงเหลือก็แต่อสังหาริมทรัพย์ ที่ตกลงกันแบ่งค่อนข้างยากครับ
ซึ่งสุดท้ายคุยกันไปกันมาก็ตกลงกันได้ลงตัว แต่ด้วยการที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การจะแบ่งแยกกันก็ต้องใช้เวลา ประกอบกับคดีนี้เลื่อนนัดศาลมาหลายครั้งแล้ว ทำให้ถ้าหากรอให้เรื่องที่ดินเสร็จ คดีที่ศาลก็จะล่าช้าเกินไป ฝ่ายเราก็กลัวว่าถ้าคดีนี้จบไปโดยยังแบ่งทรัพย์กันไม่เสร็จ ก็จะติดต่อประสานงานกันยากแล้วยิ่งล่าช้าขึ้นไปอีก ถ้าหากจะไปฟ้องเป็นคดีใหม่ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลมากมายอีก
จนสุดท้ายได้ทางออกร่วมกันคือการ "ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง" (เดี๋ยวผมจะเอาตัวอย่างคำร้อง และอธิบายขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องแยกในโพสต์อื่นนะครับ) ซึ่งเป็นทางออกที่ดีมากสำหรับการตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกัน เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย และถ้าหากข้อตกลงไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลก็สามารถพิพากษาตามยอมได้ หากฝ่ายใดผิดข้อตกลงก็สามารถไปบังคับคดีได้อีก ถือเป็นกระบวนการที่ดีมาก ๆ
6️⃣ - 7️⃣ครั้งที่หกและเจ็ด คราวนี้ไม่ไปไกล่เกลี่ยกันที่ศาลแล้วครับ มาไกล่เกลี่ยกันนอกศาลบ้าง โดยเป็นการคุยกันถึงข้อตกลงที่จะทำสัญญาประนีประนอมฯให้ชัดเจนครับ โดยเมื่อคุยเสร็จแต่ละครั้งผมก็จะทำบันทึกการประชุมไว้ทุกครั้ง เพื่อที่หากครั้งหน้าฝ่ายใดจะเปลี่ยนข้อตกลง เราก็มีหลักฐานการพูดคุยไว้แล้ว (เป็นประโยชน์มากครับ)
8️⃣ครั้งที่แปด คราวนี้ไปศาลครับ เพื่อที่จะทำเรื่องไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และนำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ร่างมา ให้ท่านผู้พิพากษาตรวจสอบว่ามีข้อที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแก้กันไปกันมาใช้เวลาทั้งวันก็มาติดอยู่เรื่องหนึ่งคือการจะแบ่งที่ดิน ท่านผู้พิพากษาแนะนำให้ไปรังวัดโดยให้เรียบร้อยก่อน เพื่อที่จะนำภาพถ่ายการรังวัดของแต่ละฝ่ายมาแนบกับบันทึกข้อตกลง ซึ่งก็เป็นการแนะนำที่ดีมากครับ มันจะทำให้ตัดปัญหาต่าง ๆที่อาจจะเกิดในภายหน้าได้ แต่อาจจะต้องเสียเวลามาศาลอีกสักครั้ง
9️⃣ครั้งที่เก้า วันนี้วันสุดท้ายแล้วครับ ตอนแรกผมคิดว่าจะเร็ว เพราะข้อตกลงมันลงตัวแล้ว แต่อีกฝ่ายกลับเปลี่ยนใจในสิ่งที่ตนเองเคยตกลงไว้ ทำให้ต้องคุยกันยาว ซึ่งตรงนี้เองทำให้บันทึกการประชุมที่ผมทำไว้ทุกๆครั้งได้นำมาใช้แล้วครับ เพราะการที่เขาจะเปลี่ยนอะไรในสิ่งที่พูดนั้น ผมมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้หมดแล้ว แต่ต้องคุยกันนานพอสมควรกว่าที่จะตกลงได้ครับ จนสุดท้ายก็ใช้เวลาทั้งวันในการทำบันทึกฯ จนศาลก็มีคำพิพากษาตามยอมในที่สุดครับ
🏴จุดประสงค์ในการทำคดี และผลลัพธ์🏴
คดีนี้การที่ตั้งเรื่องไปเป็นเรื่องขอถอนผู้จัดการมรดก โดยเจตนาจริงเพียงเพื่อจะเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อแบ่งทรัพย์กันโดยเร็วเท่านั้น ซึ่งผลสุดท้ายก็เป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย
💡บทเรียนที่ได้รับ💡
1.ประโยชน์ของการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
2.การทำบันทึกการประชุม ในการไกล่เกลี่ยแต่ละครั้งสำหรับเรื่องแบ่งทรัพย์มรดก นั้นสำคัญมาก ถึงแม้จะใช้เวลาหน่อยแต่ยอมทำเถอะ เพราะมันเป็นผลดีแน่ ๆในการประชุมครั้งถัดไป ทำให้ลูกความเห็นถึงความตั้งใจ และทำให้เราไม่เสียเปรียบ
3.คดีนี้ผมได้เรียนรู้จากท่านผู้พิพากษาที่ช่วยไกล่เกลี่ย หลายอย่างมาก ในการหาทางออกเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินกัน ซึ่งจะต้องทราบจุดประสงค์ของแต่ละฝ่ายก่อนว่าทำไมถึงอยากได้รูปแบบนี้ จากนั้นจะทำให้เปิดกว้างมุมมองมากยิ่งขึ้น
4.การเขียนสภาพบังคับในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ด้วยการที่คดีนี้มีทรัพย์หลายอย่างและข้อตกลงการแบ่งหลายอย่าง ทำให้การเขียนสภาพบังคับในแต่ละข้อก็แตกต่างกันไป ทำให้ยิ่งต้องรัดกุม และรอบคอบในการเขียนมากยิ่งขึ้น
👋สำหรับคดีนี้ผมดีใจมากที่สรุปสุดท้ายคดีสามารถตกลงกันได้ เพราะว่าระหว่างทางการไกล่เกลี่ยนั้น มีการอุปสรรคในทุก ๆครั้งไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนข้อตกลง หรืออาจจะมีปากเสียงกันบ้าง ในการไกล่เกลี่ยแต่ละครั้งใช้เวลาหมดวันทุกครั้ง แต่สุดท้ายก็สามารถตกลงกันจบได้โดยเป็นที่พอใจสำหรับลูกความ
โฆษณา