15 เม.ย. เวลา 01:08 • ธุรกิจ

หรือ ถ้าจะถามอีกอย่าง คือ ข้าราชการ (หมอ) เปิดคลินิคได้หรือไม่

หมอที่เปิดคลินิกส่วนตัว (private practice) นั้น ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของ "พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541"
หมอมีบทบาทอะไรบ้างในคลินิก ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล ?
  • 1.
    ​ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
  • 2.
    ​ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
  • 3.
    ​ผู้ประกอบวิชาชีพ
ในคลินิก หมอที่ไปตรวจคนไข้ ก็เรียกว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพ" ซึ่งบทบาทจะต่างกับ "ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล" และ "ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล"
ในกรณีคลินิกเล็กๆ ผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้ดำเนินการ และผู้ประกอบวิชาชีพ อาจเป็นคนเดียวกันก็ได้
ส่วนหมอที่ไปรับจ๊อบอยู่คลินิกคนอื่นหรือโรงพยาบาลเอกชน จะเป็นแค่ ผู้ประกอบวิชาชีพ เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบการดำเนินกิจการสถานพยาบาล
ผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ คล้ายๆ นักธุรกิจที่เปิดโรงพยาบาลหรือคลินิกนั่นแหละ
ส่วนผู้ดำเนินการสถานพยาบาลนั้น ต้องเป็นหมอ (มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม) อาจถูกจ้างมา หรือตัวเองดำเนินการเอง
ผู้รับใบอนุญาตและผู้ดำเนินการอาจเป็นคนเดียวกันได้ ดังกล่าวแล้ว
แต่กฎหมายห้ามเป็นผู้ดำเนินการมากกว่า 2 แห่ง (สมมติหมอเป็นผู้ดำเนินการคลินิกตัวเอง ห้ามทำมากกว่า 2 แห่ง ถ้ามีคลินิกมากกว่า 2 แห่ง ในแห่งที่ 3 ต้องหาหมออื่นมาเป็นผู้ดำเนินการ)
ทีนี้ มาว่ากันเฉพาะเรื่อง "ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล"
ในมาตรา 25 (3) ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญ้ติว่า ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องเป็นผู้ที่ควบคุมดูแลกิจการสถานพยาบาลได้โดยใกล้ชิด
คำว่า "ใกล้ชิด" นี่แหละเป็นประเด็นสำคัญ ลองนึกสภาพ เวลาเปิดคลินิกเป็นเวลาเดียวกับหรือมีช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับเวลาปฏิบัติราชการตามปกติแล้ว (8-16 น.) หากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือกรณีที่ต้องไปดูแลเร่งด่วน ย่อมไม่สามารถทำได้ จะมอบหมายก็ได้แค่ชั่วคราวเพียง 90 วัน นับจากเริ่มดำเนินการสถานพยาบาล เท่านั้น ตาม มาตรา 26 (หาหมอคนอื่นมาดูแลแทนไปก่อนในการเปิดทำการช่วงแรก)
ข้อกำหนดข้อนี้จึงเป็นอุปสรรคในการเป็นผู้ดำเนินการสถานพยานของหมอที่เป็นข้าราชการอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน หมอทำราชการที่เปิดคลินิกส่วนตัวได้ จะแจ้งเวลา "ทำคลินิกนอกเวลาราชการ" ซึ่งก็ย่อมทำได้
ดังนั้น ตอบคำถามข้างต้น ก็คือ ทำได้ หากเวลาเปิดทำการคลินิกอยู่นอกเหนือเวลาราชการจริงๆ (ตามที่จดแจ้ง)
แต่ถ้ากรณีที่แจ้งเวลาเปิดคลินิกเป็นนอกเวลาราชการ แต่ไปตอนเที่ยง หรือในเวลาราชการ นี่ก็ตาม common sense ไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการเบียดบังเวลาราชการไปทำคลินิกส่วนตัว และ ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล อาจถูกปิดคลินิกไปเลยก็ได้ ถ้าไม่สามารถหาหมออื่นมาเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลแทน เพราะคณะกรรมการสถานพยาบาลอาจเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลได้ และจะขอรับใบอนุญาตใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกําหนดสองปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ตาม มาตรา 53, 55
และหากเปิดคลินิกขณะที่ไม่มีใบอนุญาต โทษจำคุกนะครับ (มาตรา 57 กำหนดให้ระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลจะสั่งริบบรรดาสิ่งของที่ใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลด้วยก็ได้)
อ้างอิง
1. พระราชบัญญัติ สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 https://hss.moph.go.th/webs/law/fileupload_doc/2021-08-24-12-21-3498427.pdf
2. คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 511/2556 https://www.admincourt.go.th/admincourt/Casefile/admcase/document/signed/pdf/2549/01012-490790-1f-560702-0000118641.pdf
โฆษณา