16 เม.ย. เวลา 06:29 • ไลฟ์สไตล์

แห่ข้าวพันก้อน ประเพณีเก่าแก่กว่า 400 ปี ส่งท้ายสงกรานต์ที่พระธาตุศรีสองรัก

เสน่ห์อย่างหนึ่งของ “สงกรานต์ไทย” ก็คือแต่ละภูมิภาคและชุมชนจะมีประเพณีย่อยๆ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่มีประเพณีแห่ข้าวพันก้อน ปิดท้ายวันสงกรานต์ จัดยาวนานสืบต่อกันกว่า 400 ปี
ตามปกติแล้วงานบุญประเพณีแห่ข้าวพันก้อนมักจะจัดขึ้นช่วงบุญผะเหวด แต่ที่ด้านซ้ายนั้นจะแห่ข้าวพันก้อนมาถวายแด่องค์พระธาตุศรีสองรักในวันหลังจากสงกรานต์ ตรงกับ 16 เมษายนของทุกปี โดยพิธีกรรมจะยึดตามแบบแผนดั้งเดิมที่มี “เจ้าพ่อกวน” และ “เจ้าแม่นางเทียม” เป็นศูนย์กลาง
การทำพิธีเริ่มตั้งแต่เย็นของวันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่ “บ้านเจ้าพ่อกวน” ซึ่งเป็นตำแหน่งดั้งเดิมของผู้ดูและพระธาตุศรีสองรักที่สืบต่อกันมา 7 รุ่น จากนั้นพากันเดินไปยังพระธาตุศรีสองรักโดยใช้เส้นทางดั้งเดิมที่ต้องผ่านป่าและสะพานนาค เมื่อถึงองค์พระธาตุศรีสองรักก็จะมีการเวียนรอบองค์พระธาตุและสวดมนต์ ฟังเทศน์ ถวายดอกไม้ธูปเทียน
ถัดมาในวันที่ 16 เมษายน จึงจะเป็นการแห่ข้าวพันก้อนซึ่งชาวชุมชนจะตื่นมานึ่งข้าวเหนียวกันตั้งแต่ตี 2 จากนั้นปั้นข้าวเหนียวร้อนๆ เป็นก้อนเล็กๆ ใส่ขันพร้อมดอกไม้ธูปเทียน บ้างก็ไม่ลืมที่จะหิ้วตะเกียงแล้วออกมารวมตัวที่บ้านเจ้าพ่อกวนราว 3.00 น. จากนั้นตีฆ้องเคลื่อนขบวนไปยังองค์พระธาตุศรีสองรัก เป็นขบวนแห่ข้าวพันก้อนที่เรียบง่าย ระยิบระยับด้วยแสงเทียนนำทาง และเปี่ยมด้วยศรัทธาที่ชาวชุมชนมีต่อองค์พระธาตุ
ข้าวเหนียวที่ชาวชุมชนนำมาถวายนั้นจะถูกวางไว้รอบองค์พระธาตุ ซึ่ง ดร.ถาวร เชื้อบุญมี ผู้สืบทอดตำแหน่ง “เจ้าพ่อกวน” รุ่นที่ 7 เล่าว่าเหตุที่ต้องนึ่งข้าวเหนียวมาถวายก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นปีใหม่ไทยอย่างอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
โฆษณา