17 เม.ย. เวลา 06:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ขั้วโลกเหนือและอาร์กติก

วันนี้เราจะลองไปดูกันที่ขั้วโลกเหนือเน้อเจ้าาาาาา ส่วนในโอกาสต่อไป เราค่อยไปดูขั้วโลกต่ายกัน
ขั้วโลกเหนืออยู่ที่ไหน ?
ขั้วโลกเหนือ (อังกฤษ: North Pole) หรือขั้วโลกเหนือภูมิศาสตร์ (อังกฤษ: Geographical North Pole) เป็นจุดบนผิวโลกในซีกโลกเหนือที่ตั้งฉากกับแกนหมุนของโลก ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอาร์กติกซึ่งมักจะถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่มีความหนา 2-3 เมตร มหาสมุทรอาร์กติกนี้มีความลึกราว 4 กิโลเมตร แผ่นดินที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากที่สุดก็คือเขตนูนาวุตซึ่งเป็นดินแดนที่ใหญ่ที่สุดและใหม่ที่สุดของแคนาดา เพิ่งแยกออกมาอย่างเป็นทางการจากนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ เมื่อวันที่ 1 เมษายนน ค.ศ. 1999
แต่ในบทความนี้ เราไม่ได้เน้นเรื่องเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือ แต่เราพุ่งความสนใจไปยังพื้นที่ที่อยู่รอบขั้วโลกเหนือซึ่งเรียกว่าเขตอาร์กติก
การพยายามหาว่าเขตแดนของอาร์กติกเริ่มต้นจากที่ไหนและไปจบลงที่ตรงไหนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละประเทศก็มีนิยามของตนเอง ตามความเข้าใจแต่เดิมระบุว่าอาร์กติกคือพื้นที่ที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 60 องศาเหนือขึ้นไป ถ้ามองจากด้านบนลูกโลกก็เอาเป็นว่าบริเวณพื้นที่ที่เรียกว่าวงกลมอาร์กติก
การที่น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลายอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้มนุษย์สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ได้มากขึ้นกว่าที่เคย บริษัทต่าง ๆ พยายามหาเส้นทางเดินเรือสายใหม่เพื่อเชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป โดยพบว่าในช่วงปี 2013 -2019 มีการเดินเรือขนส่งผ่านอาร์กติกเพิ่มขึ้น 25%
การที่เรารับรู้เรื่องน้ำแข็งขั้วโลกละลายเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น หลักใหญ่ใจความก็มาจากสาเหตุภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาต่อเนื่องและยาวนาน เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลก็สูงขึ้น กระแสน้ำร้อนน้ำเย็นก็เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบูมหรือสาหร่ายบูม พืชพรรณเฉพาะถิ่นปรับตัวไม่ได้ก็ตาย ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ก็ไม่มีแหล่งวางไข่ แหล่งอาหาร กระทบกันเป็นทอด ๆ
พื้นที่ที่มีแต่น้ำแข็ง อากาศเหน็บหนาวสุดขั้ว หมีขั้วโลก วาฬ นอกจากชาวอินูอิตและชนเผ่าท้องถิ่นอื่น ๆ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติที่มาร่วมมือกันทำการศึกษาวิจัย พื้นที่อาร์กติกทำไมถึงได้รับความสนใจมากขึ้นทุกที ที่นี่มีอะไร ?
………………………….
กินกว่าครึ่งของแนวชายฝั่งในแถบอาร์กติกนั้นเป็นของรัสเซีย รองลงมาก็เป็นพื้นที่ของสหรัฐฯ คืออลาสกา บริเวณเกาะกรีนแลนด์ซึ่งเป็นของเดนมาร์ก แล้วก็ยังมีแคนาดา นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ โดยกฎหมายระหว่างประเทศให้สิทธิประเทศเหล่านี้ในการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติได้ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะห่างจากแนวชายฝั่งของตน 200 ไมล์ทะเล
ส่วนพื้นที่อาร์กติกที่อยู่นอกเหนือบริเวณดังกล่าวรวมถึงขั้วโลกเหนือนั้นได้ถือว่าเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งหมายความว่าเป็นหลักประกันความเชื่อมั่นในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป เป็นพื้นที่ที่ถูกปกป้องไว้จากการสำรวจโดยชาติต่างๆ หรือบริษัทใด ๆ
นอร์เวย์ รัสเซียและแคนาดารวมถึงเดนมาร์กได้ทำแนวเศรษฐกิจของตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากตั้งสมมติฐานว่าเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายก็จะเผยให้เห็นโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย ดังนั้นการมีพื้นที่ของตนเองในอาร์กติกจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นทุกที
โดยนัยหนึ่งพื้นที่แถบอาร์กติกตกอยู่ในความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง NATO และรัสเซีย ดังนั้นแล้วยุทธศาสตร์อาร์กติกจึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับรัสเซีย นำไปสู่กิจกรรมทางการทหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อเน้นย้ำในเรื่องความมั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์
รัสเซียได้มีการซ้อมรบโดยจำลองสถานการณ์การโจมตีเป้าหมายในนอร์เวย์หรือไม่ก็จำลองการโจมตีเป้าหมายของ NATO ซึ่งทาง NATO เองก็มีการโต้ตอบด้วยการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่รวมเอากองกำลังจากประเทศต่าง ๆ กิจกรรมทางการทหารเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งกันในอนาคต
แต่อาร์กติกกำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ทำเงินจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
มีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่ที่เรียกว่า The Great Arctic ซึ่งเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย รวมถึงเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Vostok oil โดยรัสเซียหวังว่าจะสามารถนำน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ราว 6 พันล้านตันรวมถึงก๊าซธรรมชาติอีกราวสองล้านล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้แล้วยังมีแผนจะสร้างสนามบินแห่งใหม่ ท่าเรือ และวางระบบท่อส่งเป็นระยะทางราว 800 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามการที่รัสเซียบุกยูเครนนั้นทำให้แผนการเหล่านี้หยุดชะงักไป โครงการน้ำมัน Vostok มีผู้สนใจลงทุนน้อยและหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีและบริการน้ำมันและก๊าซจากตะวันตกแทน ทำให้โครงการดังกล่าวต้องล่าช้าหรือจำเป็นต้องปรับลดขนาดลง
Photo by Willian Justen de Vasconcellos on Unsplash
แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ให้ความสนใจสิ่งนี้ นักลงทุนรายใหญ่ก็คือจีน จีนนั้นมีความสนใจในวิทยาศาสตร์อาร์กติก นั่นเป็นเพราะว่าหากขาดความรู้ดังกล่าวแล้ว จะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ในพื้นที่ดังกล่าว
จีนนั้นมีความต้องการทรัพยากรอย่างมาก เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยภาคอุตสาหกรรมหนักที่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจำนวนมาก ทั้งนี้พื้นที่แถบอาร์กติกเป็นพื้นที่ใหม่ที่อาจจะมีทรัพยากรจำนวนมากอยู่ข้างใต้ แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกันกับประเทศแถบอาร์กติกโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย
แต่การที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครนนั้น ทำให้จีนมีความระแวดระวัง นักลงทุนชาวจีนบางรายได้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรัสเซียเนื่องจากกังวลเรื่องการถูกแซงก์ชั่น ถึงแม้ว่าในตอนนี้จีนยังไม่ได้ถูกแซงก์ชั่น แต่ถ้าจีนยังมีความร่วมมือกับรัสเซียอย่างใกล้ชิด จีนเองก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแซงก์ชั่นจากสหภาพยุโรปหรือสหรัฐฯ ได้เช่นกัน
พื้นที่แถบอาร์กติกยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการขยายเส้นทางการค้า One belt one Road อีกด้วย ที่เรียกว่า Polar Silk Road ยุทธศาสตร์ Belt and Road นี้ก็คือการสร้างเครือข่ายเส้นทางขนส่งทางรางรวมถึงถนนหนทาง ท่าเรือต่างๆ เพื่อทำให้จีนสามารถขนส่งสินค้าและทรัพยากรของตนไปยังทั่วโลกได้ จีนอ้างว่าการใช้เส้นทางทะเลเหนือนั้นช่วยลดระยะเวลาการเดินเรือในปัจจุบันลงได้เกือบ 20 วันเลยทีเดียวจากที่ต้องไปอ้อมผ่านคลองสุเอซ
…………………
นอกจากเส้นทางเดินเรือแล้วเพื่อที่จะลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้า ยุทธศาสตร์อาร์กติกเพื่อความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ก็สำคัญ ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พื้นที่แถบอาร์กติกตกเป็นที่สนใจ
บริเวณแถบอาร์กติกนี้เชื่อกันว่ามีก๊าซและน้ำมันอยู่มหาศาลซึ่งฟังดูดึงดูดใจมิใช่น้อยและมักจะถูกนำมากล่าวถึงว่าเป็นข้อเท็จจริง การอ้างถึงทรัพยากรดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งจะมีที่มาจากงานศึกษาสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ในปี 2009 Assessment of Undiscovered Oil and Gas in the Arctic
กลุ่มประเทศมหาอำนาจรอบอาร์กติก พวกเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำน้ำมันขึ้นมาใช้และส่งผลร้ายเป็นการซ้ำเติมต่อปัญหาภาวะโลกร้อนหรือไม่ ? หรือพวกเขาจะร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ? มันอาจจะไม่ง่ายอย่างที่เราคิดกันก็เป็นได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศแถบอาร์กติกบางประเทศได้ชะลอการลงทุนหรือว่าหยุดการลงทุนในส่วนของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
แคนาดาได้สั่งห้ามไม่ให้มีการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งในเขตพื้นที่ปกป้องทางทะเล ส่วนทางเกาะกรีนแลนด์เองก็ห้ามไม่ให้มีการเจาะสำรวจน้ำมันในปี 2021 ทางสหรัฐฯ ก็ได้สั่งระงับการใช้น้ำมันและก๊าซที่ผลิตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติกที่อยู่ในดินแดนอลาสกา แต่แรงกดดันที่ทำให้มีการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณนี้เพิ่มขึ้นทุกทีนั้นก็เนื่องมาจากเหตุผลด้านความมั่นคงทางพลังงาน
นินา ดอริง จาก Institute for Advanced Sustainability Studies (IASS) กล่าวว่า “มันสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจว่า เปอร์เซ็นต์และการประเมินที่งานวิจัยระบุไว้นั้นมีความคลาดเคลื่อนสูงมาก เธอและทีมได้ทำการศึกษาวิจัยถึงการประเมินทางวิทยาศาสตร์นั้นได้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจได้อย่างไร จำนวนและเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวเริ่มปรากฏในเอกสารทางนโยบาย-อย่างกว้างขวาง แม้แต่ในยุทธศาสตร์ในอาร์กติกของประเทศต่างๆ รวมถึงบทความในหนังสือพิมพ์และผ่านกระบวนการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ
ดังนั้นมันจึงเริ่มดูเหมือนมันมีอยู่จริง ข้อเท็จจริงที่ว่าอาร์กติกมีปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมากนั้นเป็นเพียงสิ่งที่กำลังรอการค้นพบต่างหาก“
…………..
แล้วผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบอาร์กติกล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง ?
แน่นอนว่าที่อยู่อาศัยรวมถึงทำมาหากินของพวกเขานั้นไม่เพียงอยู่ใจกลางของความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนั้นแล้วผืนน้ำแข็งก็ยังละลายเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน
ที่อาร์กติกมีประชากรท้องถิ่นอาศัยอยู่ราวห้าแสนคน พวกเขากำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างแท้จริง รายได้ วัฒนธรรม วิถีปฏิบัติต่าง ๆ ล้วนขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศของอาร์กติก สารพิษที่เกิดจากการขุดเจาะสำรวจหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสามารถทำให้ระบบนิเวศที่เปราะบางอยู่แล้วนี้ล่มสลายได้
อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ https://herothailand.com/54ed
โฆษณา