19 เม.ย. เวลา 06:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ลงทุนหุ้นมองที่ผลตอบแทนรวมดีกว่าเงินปันผล!!?

ช่วงนี้เรื่องของเงินปันผล / Passive Income เป็นสิ่งที่มือใหม่หลาย ๆ คนสนใจมาก
โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนต่างประเทศ
หุ้นต่างประเทศหลายตัวที่ปันผลสูงนั้น มีลักษณะเป็นบริษัทเก่าแก่ ดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานและปันผลเพิ่มต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ
 
จุดเด่นคือมีปันผลออกมาค่อนข้างดูดี แถมราคาหุ้นก็ยังเติบโต ทำให้ปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีก
หลายคนจึงมักสนใจ "หุ้นปันผลสูง" เพราะหวังได้เงินสดสม่ำเสมอ เอาเงิน DCA ทิ้งไว้ ปิดจอรอรับปันผล
แต่เราอยากให้มองไปไกลกว่านั้นครับ คือมองไปถึง "ผลตอบแทนรวม" (Total Return)
คือ คิดรวมกันหมดแล้ว ทั้งกำไรจากทั้งเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น มันชนะตลาดหรือไม่ ?
เน้นแค่ปันผล อาจทำให้พลาดโอกาสหลาย ๆ อย่าง
หุ้นปันผลสูงอาจได้เงินปันผลดี แต่ผลตอบแทนรวม (รวมทั้งราคาหุ้น) อาจสู้ดัชนีตลาดไม่ได้
ตัวอย่างเช่น ดัชนี S&P 500 ที่มีผลตอบแทนรวมเฉลี่ย 13% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มักเอาชนะหุ้นปันผลสูง ได้และน่าสนใจกว่าในหลายมิติ
เช่น
ปันผล 5% ราคาหุ้นลดลง 3% แบบนี้คิดรวม ๆ เราเหมือนได้ผลตอบแทนจริง ๆ แค่ +8% และแพ้ตลาด
 
หรือในกรณีทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ใกล้เคียงตลาด เช่น ปันผล +5% ผลตอบแทน +8% รวมออกมาเป็น +13%
ซึ่งไม่ต่างจากซื้อดัชนี อย่าง S&P 500
แต่หากมองในแง่ของความเสี่ยงที่เกิดจากรายบริษัทที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นสุดท้ายลงทุนในดัชนีก็อาจจะคุ้มกว่า
แถมต้องระวัง กับดักหุ้นปันผลสูง คือ ให้ปันผลสูง ๆ แต่มีปัญหาอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น กำไรลด ภาระหนี้สินเพิ่ม
หากอัตราปันผลสูงผิดปกติ อาจไม่ใช่จุดแข็งของหุ้น แต่เป็น "สัญญาณเตือนภัย" มากกว่า
เพราะเงินปันผลจริง ๆ ก็คือเงินสดที่บริษัทแบ่งออกมาจากการนำไปขยายและพัฒนาบริษัทนั้นแหละ ลองคิดตามจริงเลยว่าถ้าเขาปันผลออกมามาก ๆ แล้วจะมีเงินไปพัฒนากิจการให้มีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร ?
นอกจากนี้หากเรามองเป็นผลตอบแทนรวมแล้ว
ยังมีอีกหลายเรื่องที่กลุ่มหุ้นปันผลต้องระวัง
เช่น การเปรียบเทียบกับทรัพย์สินอื่น ๆ อย่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือผลตอบแทนพันธบัตร / ตราสารหนี้
ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ถ้าสมมุตินาย A ต้องการผลตอบแทนรวมแค่ 5%
ทำไมนาย A ถึงต้องมาซื้อหุ้นปันผล เพราะนาย A เอาเงินไปฝากธนาคารแล้วได้เงิน 5 % ในขณะที่ไม่ต้องเอาเงินต้นไปเสี่ยง นักลงทุนจำนวนมากเลยเทขายหุ้นปันผลออกมา เราจึงเห็นว่าในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่ผ่านมาหุ้นปันผลหลายตัวทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก ในขณะที่ดัชนีพุ่งเป็นจรวดด้วยซ้ำ
หลายคนมีได้อิทธิพลความคิดจากไอดอลที่เป็น VI ถือหุ้นมาอย่างยาวนาน และได้ปันผลมหาศาลในระยะยาว แต่เราต้องอย่าลืมตรวจสอบบริบทที่ต่างกันของเวลาด้วยทั้งกฏระเบียบ เทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนไป
เช่นในยุคก่อน ๆ หุ้นเน้นปันผลออกมาเยอะ ๆ ได้ แต่พอมีกฏของภาษีปันผลที่ขึ้นมาทำให้เสียภาษีสูงสูดประมาณ 20% ทำให้ตอนหลังนักลงทุนเปลี่ยนไปเน้นหุ้นที่ทำการซื้อหุ้นคืนมากกว่า เพราะไม่โดนภาษี และได้กำไรจากในส่วน Capital Gain หรือราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นแทน เป็นต้น
นอกจากนี้ หากจะลอกวิธีคิดของนักลงทุนชื่อดัง ต้องอย่าลืมคิดถึงเหตุผลของเขาในวันนั้น ว่าเขาซื้อในสถานการณ์แบบใด ต่างจากเราอย่างไรบ้าง เขาซื้อเพื่อเอาปันผลหรือไม่? หรือเขาเห็นโอกาสอย่างอื่นในบริษัทนั้น ๆ แล้วปันผลเป็นของแถม
เขาซื้อในยามวิกฤติไหม? หรือซื้อตอนตลาดขาขึ้นแบบตอนนี้? ต้องเทียบในหลาย ๆ มิติครับ อย่าไปลอกเพราะผลลัพธ์ของเขามันดี
มีหลายคนซื้อหุ้นปันผลสูงหลายตัว และคิดว่ากระจายความเสี่ยงซื้อหลายตัวจะปลอดภัย หลายครั้งพวกนี้มันมีปัจจัยความเสี่ยงร่วมกันครับ อย่างเช่นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เล่าไปก่อนหน้านี้ เวลาลงกลายเป็นลงพร้อมกันหมด ดังนั้นกระจายความเสี่ยงก็ควรดูเรื่อง Correlation และ ความเสี่ยงร่วมในหุ้นแต่ละตัวด้วยครับ
สรุปเลยคือ
หุ้นปันผล เหมาะกับบางแผนการลงทุน เช่น สร้างรายได้ยามเกษียณ หรือเหมาะกับคนที่ต้องการ Cashflow แต่ต้องเลือกดี ๆ โดยดูอัตราการจ่ายปันผลที่ยั่งยืน (sustainable payout ratio) และพื้นฐานบริษัทฯ ที่แข็งแกร่ง
ใครต้องการเงินปันผลก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด พิจารณาการลงทุนรอบด้านอาจได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ช่วยเลี่ยงกับดักหุ้นปันผลสูงได้ หรือบางครั้งพิจารณาถือหุ้นเติบโตและแบ่ง Take Profit ออกมาก็เป็นทางเลือกที่ทำได้ไม่ต่างจากการปันผล เน้นพิจารณาผลตอบแทนรวมเป็นหลักดีกว่าครับ
BottomLiner
โฆษณา