20 เม.ย. เวลา 05:17 • การศึกษา

จำนวน ตอนที่ 2

_เกริ่น
หลังจากเรียนเรื่องจำนวนในเบื้องต้นไปแล้วในครั้งก่อน แม่จึงวางแผนว่า จะสอนเรื่องการประมาณค่าต่อ ระหว่างนั่งรถไปเที่ยว แม่ก็ทวนถามอยู่เรื่อย ๆ เพื่อทดสอบว่า ลูกยังจำได้ไหม เข้าใจจริงหรือเปล่า ซึ่งลูกก็ยังตอบได้อยู่ แต่ประเด็นคือ พ่อบรัพแม่ว่า “จริง ๆ ตอนพ่อเรียนประถมเนี่ยนะ พ่อเรียนตั้งแต่ระบบเลขฐานด้วยซ้ำ”
เอาล่ะ เด็กโรงเรียนวัดอย่างแม่หรือจะสู้เด็กเมืองอย่างพ่อ แต่เรามันเด็กโรงเรียนวัด สู้ฟัดอยู่แล้ววววว
งั้นวันนี้วางยาระบบเลขฐานไว้ก่อนละกัน ไว้คราวหน้านะ ระบบเลขฐาน
_เริ่มต้น
สไตล์แม่ขี้เกียจอย่างเรา เหมือนเดิมไปโหลดแบบฝึกการประมาณค่ามาใช้ได้เลยจาก k5learning.com นะคะ เค้าทำไว้ให้แล้วเสร็จ แม่สอนแค่ความคิดรวบยอดให้ลูก
จากนั้นถามลูกว่า จะทำแบบฝึกก่อนหรือจะเรียนก่อนทำแบบฝึก ลูกเลือกจะทำก่อนด้วยท่าทีตื่นเต้น พออ่านโจทย์และแปลโจทย์จนเข้าใจ เริ่มลงมือทำ แป่ววววววว ลูกทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้ลูกเสียกำลังใจแม่รีบสำทับว่า ก็ลูกยังไม่ได้เรียนเลยลูกก็ทำไม่ได้เป็นธรรมดาค่ะ แม่จึงได้ทีสร้างแรงจูงใจให้ลูกอยากเรียนรู้และดูท่าทางลูกก็อยากที่จะเรียน แต่ก่อนอื่นมาทบทวนของเก่ากันก่อนค่ะ
_ทบทวน เรื่อง จำนวน
แม่: ลูกจำได้มั้ยคะว่า จำนวนที่เราเรียนไปครั้งก่อนประกอบด้วยอะไรบ้าง
ลูกตอบอย่างมั่นใจว่า…..
ลูก: จำนวนเต็มและจำนวนจริงค่ะ! 😊
พร้อมทำตาแป๋วววววว (⊙_⊙)
แม่: อืมก็ใช่ ถามใหม่ละกัน แล้วจำนวนในแต่ละหลักประกอบด้วยอะไรบ้างคะ
ลูก: เลขโดดและค่าประจำหลักค่ะ
แม่: โอเคเยี่ยมมากค่ะ คราวนี้เรามาดูค่าประจำหลักกันนะคะ ลูกดูนะคะ ค่าประจำหลักหน่วยคือ 1 หลักสิบคือ 10 หลักร้อยคือ 100 ลูกดูนะ 100 มาจากอะไรคูณกันคะ
ลูกทำหน้างง อ้อแม่คงถามไม่เคลียร์เพราะแม่มีปัญหาภาษาไทย 5555 เอาใหม่
แม่: 100 แปลงเป็นการคูณของสิบได้เท่าไหร่คะ
ลูก: อ๋ออออออ 10 x 10 ค่ะ
แม่: นั่นคือ 10 ยกกำลังเท่าไหร่ค่ะ (ตรงนี้คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่ายากสำหรับเด็กจะขึ้น ป.4 แต่จริง ๆ แม่เคยสอนเลขยกกำลังลูกไปเมื่อกาลครั้งหนึ่ง เมื่อนานมาหลายปีแล้ว เด็กเข้าใจได้ค่ะ ลองดูนะคะ)
แม่ถามต่อว่า ลูกยังจำเลขยกกำลังได้มั้ยคะ
ลูก: จำได้ค่ะ
แม่เขียน สามเหลี่ยมคูณกันสามรูปบนกระดานและถามลูกว่า ได้เท่ากับเท่าไหร่ ซึ่งลูกก็ตอบได้ว่า สามเหลี่ยมกำลังสาม แสดงว่า เลขยกกำลังซึมลึกมาก ยังจำได้ 55555
แม่ทบทวนว่า สามเหลี่ยมเราเรียกว่า ฐาน ส่วนสามเราเรียกว่า กำลัง
แม่ถามต่อที่จำนวน 764
แม่: แล้วลูกคิดว่า ค่าประจำหลักหน่วยที่เป็นหนึ่งนี้ เขียนอยู่ในรูปฐานสิบยกกำลังอะไรคะ ลองเดาสิ
ลูก: 0 ค่ะ
แม่มีอึ้งเล็กน้อยว่าลูกเดาถูกด้วย พอถามไปมาพบว่า ลูกใช้การอนุมานเพราะกำลังของหลักร้อยคือสอง ของหลักสิบคือหนึ่ง เพราะฉนั้นของหลักหน่วยจึงน่าจะเป็นศูนย์ นั่นคือ ลูกมีตรรกะและการอนุมานใช้ได้ อวยลูกไปอีก ไม่ช่ายยยย เป็นการประเมินลูกต่างหาก แน่ะ มีแก้ตัว 5555 ถามเองตอบเองบ้าบอเนอะ…เอาเถอะทนแม่หน่อย เพราะตรรกะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตเรานะคะใช้ได้กับหลายเรื่องมากค่ะ
เมื่อจึงเสริมไปว่า ลูกจำไว้เลยนะคะว่า อะไรก็ตามที่ยกกำลังศูนย์จะเท่ากับหนึ่งเสมอ ๆๆๆๆๆๆๆๆ ยกเว้นศูนย์นะคะ
ลูก: อ๋อออออออออ เข้าใจและ
แม่: คราวนี้ลูกสังเกตที่ค่าประจำหลักนะคะว่าเป็นยังไง หลักสิบคือสิบยกกำลังอะไรคะ
ลูก: ศูนย์ค่ะ
คราวนี้แม่พูดต่อและลูกก็พูดไปพร้อมกับแม่ว่า “ค่าประจำหลักสิบคือสิบยกกำลังหนึ่งเท่ากับสิบ ค่าประจำหลักร้อยคือสิบยกกำลังสองเท่ากับหนึ่งร้อย ค่าประจำหลักพันหรือสิบยกกำลังสามเท่ากับหนึ่งพัน ค่าประจำหลักหมื่นคือสิบยกกำลังสี่เท่ากับหนึ่งหมื่น ค่าประจำหลักแสนคือสิบยกกำลังห้าเท่ากับหนึ่งแสน ค่าประจำหลักล้านคือสิบยกกำลังหกเท่ากับหนึ่งล้าน ค่าประจำหลักสิบล้านคือสิบยกกำลังเจ็ดเท่ากับสิบล้าน ไปเรื่อย ๆๆๆๆๆ
ลูก: อ๋ออออออออ ลูกเข้าใจแล้ว ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ลูกทำท่าดีใจพร้อมพูดซ้ำ ๆ ว่าเข้าใจแล้ว
แม่งี้เป็นปลื้มมมมมม
ได้เวลาวางยา
แม่: ลูกดูนะ นั่นคือ ค่าประจำหลักคือ มีเลขฐานอะไรคะลูก
ลูก: สิบค่ะ
แม่: นั่นคือ จำนวนที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันในการวัดความยาว ระยะทาง เงินต่าง ๆ (ลูกช่วยเสริม น้ำหนัก เวลา) เหล่านี้คือเลขฐานสิบนั่นเองค่ะ ไว้คราวหน้าเรามาเรียนระบบเลขฐานกันดีมั้ยคะ
ลูกทำท่าดีใจพร้อมพูดว่า “เอา! อยากเรียน ๆๆๆๆๆๆๆๆ”
แม่: (◕‿◕✿) วางยาสำเร็จ คริ ๆ
_สอนลูกอย่างไร
กลับมาแบบฝึกที่งงอยู่ตอนต้น แม่ใช้การสอนแบบความคิดรวบยอด รึปล่าวไม่รู้ 555 แต่เพื่อให้ลูกเข้าใจในหลักการแล้วนำไปใช้ได้กับทุกโจทย์
แม่วาดเส้นจำนวนที่เริ่มต้นด้วยเลขศูนย์ถึงเก้า และให้ลูกแบ่งกลุ่มเป็นสองกลุ่ม ลูกบอกว่าแบ่ง 0 ถึง 4 เป็นกลุ่มที่ 1 และ 5 ถึง 9 เป็นกลุ่มที่ 2
แม่ถามต่อว่า กลุ่ม 1 และ 2 กลุ่มไหนมีค่ามากกว่ากัน ลูกตอบ 2 มากกว่า 1 โอเคเรียงมากน้อยถูก
ถามทำไมก่อน 55555
แม่บอกหลักการเป็นขั้น ๆ ดังนี้
(1) ตั้งหลักที่จำนวน หลักที่ต้องการประมาณ เช่น หลักสิบ (ให้นับหลักจากขวาไปซ้าย ←: เริ่มจากหลักหน่วย สิบ ร้อย พัน…)
(2) พิจารณาเลขโดดในหลักก่อนหน้าของข้อ (1) เช่น จะได้ หลักหน่วย และ
(3) พิจารณาว่า เลขในข้อ (2) นั้นเป็นเลขในกลุ่มที่ 1 หรือ 2 ก่อนหน้านี้ที่แบ่งกลุ่มไว้ โดยที่ กลุ่มที่ 1 คือ เลข 0 ถึง 4 และกลุ่มที่ 2 คือ เลข 5 ถึง 9 แล้วดำเนินการ ดังนี้
__ถ้าเลขในข้อ (2) นั้นอยู่กลุ่มที่ 1 แล้ว จะได้ หลักในข้อ (1) ที่ต้องการประมาณนั้น คือ เลขนั้นคงเดิม และหลักอื่น ๆ ที่เหลือก่อนหน้านั้น(ทางขวา)เป็น 0
.หรือ.
__ถ้าเลขในข้อ (2) นั้นอยู่กลุ่มที่ 2 แล้ว จะได้ หลักในข้อ (1) ที่ต้องการประมาณนั้น คือ เลขนั้น + 1 และหลักอื่น ๆ ที่เหลือก่อนหน้านั้น(ทางขวา)เป็น 0
พอแม่อธิบายจบตรงนี้ แม่สังเกตลูกคิดแว้บนึง ประมาณ 1 วิ (~ ¯▽¯) 555+
แล้วก็พูดขึ้นมาทันควันว่า “อ้อออออ เข้าใจแล้ว ๆๆๆๆๆๆ”
แต่แม่ก็มิวายยกตัวอย่างประกอบเพื่อยืนยันว่าลูกเข้าใจจริงป่าววว เช่น 763 ถ้าต้องการประมาณหลักสิบ ลูกตอบอย่างมั่นใจเสียงดังฟังชัด ๆ ทันทีว่า “760 ค่ะ!” แม่ถามต่อว่า แล้วถ้าต้องการประมาณหลักร้อยล่ะคะ ลูกตอบทันทีอีกว่า “800 ค่ะ!”
แม่: โอเคเยี่ยม! มีคำถามมั้ยคะลูก
ลูก: ไม่มีค่ะ
แม่: งั้นทำแบบฝึกดูนะคะว่าเป็นยังไงบ้าง ใช้กี่นาทีดีคะ
ลูก: 5 นาทีค่ะ
โอเค จับเวลา
Zzzzzz
ลูก: แม่ ลูกงงก็นี้อ่ะ
เมื่อลูกถามแม่ก็ทวนหลักทั้งสามขั้นให้ลูกคิดตาม แล้วลูกก็ไปต่อได้
แอดดดดดดดดด นาฬิกาสั่นบอกหมดเวลา ลูกทำต่ออีกหน่อยประมาณอีกสิบวินาที
เมื่อตรวจดูพบว่า ลูกผิด 1 ข้อ แม่ชมว่า เก่งมากค่ะ และถามว่า ข้อที่ผิดลูกรู้มั้ยคะว่าผิดเพราะอะไร ลูกตอบว่า สติหลุดค่ะ 555 แม่บอกว่า โอเคไม่เป็นไร นี่ก็เก่งมากแล้วค่ะ แล้วก็จบบทเรียนด้วยประการฉะนี้
_สรุป
การสอนสไตล์แม่ขี้เกียจ คือ สอนหลักการเพียงครั้งเดียว ให้ลูกนำไปใช้ เหมือนการให้เครื่องมือและบอกขั้นตอนวิธีการจับปลาและให้ลูกไปจับปลาเอง เมื่อลูกจับปลาไม่ได้แม่ก็สอนย้ำวิธีการเดิมและให้ลองไปจับใหม่ ผลก็จะทำให้ลูกจับปลาเองได้ และเมื่อฝึกจับปลามากขึ้น ๆ ในอนาคตแม่เชื่อว่า ลูกจะจับปลาได้เองอย่างคล่องแคล่วมากขึ้นเช่นกันค่ะ
ป.ล. ใครอยากติวลูกเองเอาไปใช้ได้นะคะ เรื่องอื่น ๆ กำลังจะตามมา ไปเตรียมเนื้อหาติวลูกก่อนนะคะ
\_\ /_/ \_\
โฆษณา