20 เม.ย. เวลา 05:19

หนึ่งในปัญหาการเรียนการทำงานที่พบได้บ่อยที่สุด

คือปัญหาของการผัดวันประกันพรุ่ง
หลายคนที่มีปัญหาการผัดวันประกันพรุ่ง…รู้ว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง
แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ดี
ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?
ผมมองว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งของตัวเองได้ เป็นเพราะพวกเขามักจะโฟกัสที่ “ปลายเหตุ” (พฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่ง) มากกว่า “ต้นเหตุ” (ทำไมพวกเขาจึงมีพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งตั้งแต่แรก)
หากพวกเขาโฟกัสที่ “ต้นเหตุ” มากขึ้น (สำรวจดูว่าอะไรที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งตั้งแต่แรก) มันอาจจะช่วยให้พวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้คนๆหนึ่งมีพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง จะมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน
.
.
.
.
.
.
ประการแรก
คนๆนั้นมีความเป็น perfectionist สูง (“ถ้าฉันยังทำสิ่งๆนี้ได้ไม่ดี ฉันจะยังไม่ทำมัน”)
สำหรับกรณีนี้ หนทางการแก้ไขพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง
คือการเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นกับความเป็น perfectionist
คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับคำว่า “ดีพอ” มากขึ้น (แทนที่จะเป็นคำว่า “ดี” หรือ “ดีเยี่ยม” ตลอดเวลา)
หากทำเช่นนั้นได้ พฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ครับ
ประการที่สอง
คนๆนั้นไม่ชอบเผชิญหน้ากับสิ่งที่ดูยาก ดูเยอะ ดูหนัก ดูไม่ไหว ดู “เกินเอื้อม”
สำหรับกรณีนี้ หนทางการแก้ไขพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง
คือการเอางานที่เรากำลังผัดวันประกันพรุ่งนี้อยู่นั้น (เช่น เขียนรายงาน 1 หน้ากระดาษ)
มาซอยย่อยให้เล็กลง (เช่น เขียนรายงาน 1 ย่อหน้า)
จากนั้น เราจึงค่อยเริ่มต้นลงมือทำงาน โดยโฟกัสที่การทำงานชิ้นเล็กจิ๋วนั้น (เช่น เขียนรายงาน 1 ย่อหน้า) ให้เสร็จก่อน
ถ้างานชิ้นเล็กจิ๋วนั้นยังไม่เสร็จ อย่าเพิ่มคิดถึงอย่างอื่นเพิ่มเติม (เช่น อย่าเพิ่งคิดว่า “ถ้าฉันเขียนย่อหน้าที่ 1 เสร็จแล้ว ฉันจะเขียนย่อหน้าต่อไปยังไงดี?”)
ถ้างานชิ้นเล็กจิ๋วนั้นเสร็จเมื่อไหร่ ค่อยคิดถึง “ขั้นตอนต่อไป” (เช่น การคิดว่า “ตอนนี้ ฉันเขียนเสร็จไป 1 ย่อหน้าแล้ว ย่อหน้าต่อไปฉันจะเขียนยังไงดี?”)
หากทำอย่างนี้ได้ พฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ครับ
ประการที่สาม
คนๆนั้นทำงานที่ใจอยากทำมากกว่าทำงานตามลำดับความสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างการเขียนรายงานกับการจัดเอกสารใส่แฟ้มให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เราอาจจะเลือกใช้เวลาจัดเอกสารใส่แฟ้มก่อน และค่อยเอาเวลาที่เหลือมาเขียนรายงาน เป็นต้น
สำหรับกรณีนี้ หนทางการแก้ไขพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง
คือการเปลี่ยนมาทำงานตามลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของงาน (งานที่สำคัญและเร่งด่วนคืองานที่หยิบมาทำก่อนเสมอ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตาม)
ซึ่งเทคนิคหนึ่งที่อาจจะช่วยให้ทำงานตามลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของงานได้ง่ายขึ้นก็คือ
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำงานๆหนึ่งเสร็จ เราอาจจะ “ให้รางวัล” กับตัวเองสักหน่อย (เช่น ชงกาแฟดื่ม เล่นเกม ดูคลิปโซเชียล)
หากเราทำแบบนี้ พฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ครับ
.
.
.
.
.
.
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้รับมือกับปัญหาพฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่งได้ดีขึ้นนะครับ
โฆษณา