22 เม.ย. เวลา 09:04 • การศึกษา

ทำไมถึงย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ตอนที่ 2 จบ

จากที่ได้ปูพื้นมาในตอนแรก เราจะเห็นได้ว่าจากที่จีนเคยมีปัจจัยต่าง ๆ หนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเติบโตมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องนั้น ตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะเริ่มตรงกันข้าม โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ดูเหมือนจะไม่จบลงง่าย ๆ ในเร็ววัน
สาเหตุหลักอีกประการที่ทำให้โลกตระหนักได้ว่าพึ่งพาการผลิตจากจีนมากจนเกินไปนั้นก็คือการระบาดของโควิด 19
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด19 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีทำธุรกิจกันทั่วโลก ในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงนั้น ส่งผลให้ระบบห่วงโซ่อุปทานต้องหยุดชะงักโดยเฉพาะธุรกิจของคนจีน แต่อย่างที่ทราบดีว่าจีนนั้นเป็นเหมือนโรงงานของโลก ต้องผลิตสินค้าป้อนให้กับทั่วโลก เมื่อจีนมีปัญหาก็คือต้องรับมือกับการระบาดของโควิดในประเทศ ในขณะเดียวกันการที่ทั่วโลกก็เจอปัญหาการระบาดของโควิดเช่นเดียวกัน ทำให้ต้องปิดร้าน กักตัว ลดการพบปะสังสรรค์ ทำให้การค้าเกิดการชะงักงัน
นัยหนึ่งคือสินค้าบางอย่างเหลือค้างสต็อกมากมาย อีกนัยหนึ่งก็คือสินค้าบางอย่างผลิตไม่ทันเกิดการขาดแคลน จีนเองได้รับผลกระทบทั้งสองด้าน โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีคนทำงาน ไม่มียาเพียงพอ รวมทั้งมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนที่ดูเหมือนเป็นการซ้ำเติมการใช้ชีวิตของชาวจีนยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อสถานการณ์การโควิดดีขึ้น ทั่วโลกเองก็ได้ตระหนักแล้วว่าพวกเขาต้องพึ่งพาการผลิตจากจีนมากแค่ไหน ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนเป็นหลัก ไล่ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงสินค้าที่ผลิตเสร็จพร้อมขาย หากพวกเขายังไม่กระจายความเสี่ยงยังคงพึ่งพาจีนเหมือนแต่ก่อน จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการระบาดของโควิดรอบใหม่อีกครั้ง ? หรืออาจจะด้วยเหตุผลความไม่สงบภายในประเทศ ภายนอกประเทศ สงครามการค้า ปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้การผลิตในจีนของพวกเขามีปัญหา
ความจริงแล้วการส่งออกของจีนได้หดตัวนับตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ผลกระทบที่ตามมาก็คือ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของจีนเกิดการหดตัวตามกัน นอกจากนั้นแล้วยังมีการประเมินว่ามีบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตหรือกำลังมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนราว 40%
Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในไต้หวันแต่มีโรงงานผลิตสินค้าให้กับ Apple ตั้งอยู่ในจีนและสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุด นอกจากนั้นแล้ว Foxconn ยังถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีพนักงานมากที่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งก็กำลังพิจารณาจะไปตั้งโรงงานใหม่ที่อินเดีย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลของค่าแรงในจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ดูจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่
……..
ค่าแรงของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยต่าง ๆ ที่ผลักดันให้จีนก้าวสู่การเป็นโรงงานของโลก หนึ่งในนั้นก็คือการมีค่าแรงต่ำ จีนมีแรงงานจำนวนมากที่สุดในเวลานั้นและมีค่าแรงต่ำมาก ๆ ที่ไม่อาจมีใครแข่งขันได้
ทว่าในตอนนี้จะเห็นได้ว่าความได้เปรียบจากการที่จีนเคยมีค่าแรงถูกนั้น เป็นจุดแข็งที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้คงความได้เปรียบอีกต่อไป การผลิตในเมืองใหญ่ ๆ ของจีนโดยเฉพาะเมืองท่านั้นมีค่าแรงสูงขึ้นบวกกับปัจจัยเสริมจากค่าจ้างและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งมีค่าเช่าที่แพงขึ้น
จากการประเมินพบว่า เฉพาะค่าแรงเพียงอย่างเดียวนั้นเพิ่มขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบกันปีต่อปี ในช่วง 5 ปีให้หลังมานี้และแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจีนเริ่มมีการพัฒนาโดยขยับจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้นทุนของทุกอย่างนั้นจึงเพิ่มสูงขึ้น เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรง ค่าจ้างก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
( บทความแนะนำ ทุนนิยมสอดแนม )
แต่บริษัทข้ามชาติไม่ได้ต้องการอย่างนั้น พวกเขาจึงต้องมองหาฐานการผลิตอื่นที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าจีน ซึ่งประเทศที่น่าสนใจก็ได้แก่เวียดนามและอินโดนีเซียที่ยังคงมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าจีน
จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้สัดส่วนการส่งออกที่จีนเสียไปจากตลาดสหรัฐฯ นั้นถูกแทนที่ด้วยสินค้าจากเวียดนาม อินเดียและไทย
……………..
แต่ไม่ใช่ว่าจีนไม่พัฒนา จีนเองก็กำลังขยับไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นที่ได้รับส่วนแบ่งการตลาดเหล่านั้นแทนจีนยังคงมีการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีราคาถูก ซึ่งบริษัทข้ามชาติส่วนมากยังคงให้ความสำคัญในแง่ที่มีต้นทุนถูกกว่าทั้งในแง่ของทรัพยากรและแรงงาน จึงย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจ ที่ล้วนต้องการรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
Photo by Yu Kato on Unsplash
จีนตัดสินใจผลักดันการผลิตของตนให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ราคาแพง ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จีนได้หว่านเม็ดเงินมากกว่า 1,500 ล้านเหรียญฯ ไปกับยุทธศาสตร์ Made in CHINA 2025 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของจีนให้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นไฮเทค ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการสร้างงานในระดับที่สูงขึ้นพร้อมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการผลิต รัฐบาลจีนได้ส่งเสริมพร้อมทั้งให้การช่วยเหลือ อุดหนุนการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีกำไรน้อยด้วยการนำเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเสริม
อนาคตอุตสาหกรรมการผลิตของจีนจะมุ่งไปในแนวทางที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ส่วนในทางกลับกันการผลิตแบบเก่าที่เน้นการใช้แรงงานจำนวนมากเป็นหลักและต้องอาศัยองค์ประกอบทางธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำเพื่อให้สามารถเติบโตได้นั้นจะค่อย ๆ ลดลงหรือไม่อย่างนั้นแล้วก็ต้องย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นแทน
ในระยะยาวแล้วแนวทางดังกล่าวจะทำให้จีนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ในระยะสั้นมันเป็นการผลักให้บริษัทต่าง ๆ พากันย้ายฐานออกจากจีน เพราะพวกเขามาที่จีนในตอนแรกก็เพราะว่ามีต้นทุนการผลิตต่ำนั่นเอง แต่เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็ต้องมองหาที่อื่น หมายความว่า การลงทุนต่างๆ ที่ควรจะดึงดูดเม็ดเงินหมุนเวียนให้อยู่ในจีนกลายเป็นว่าตอนนี้ถูกกระจายออกไปในหลายภูมิภาคซึ่งเท่ากับเป็นการลดบทบาทของจีนในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวนี้ด้วย
……………………
จีนมีประชากรราว 1,400 ล้านคน แต่กำลังขาดแคลนแรงงาน
คนรุ่นใหม่ของจีนนั้นไม่ชอบงานในโรงงานแบบเดิม
ที่ผ่านมามีเพียงคลื่นแรงงานราคาถูกที่ไม่มีข้อจำกัดเท่านั้นที่คอยช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่ตอนนี้มันกำลังจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
เศรษฐกิจของจีนกำลังสะดุดจากความไม่สมดุลกันของตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับกับทักษะของผู้หางาน มีผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำนวนมหาศาลที่แย่งกันสมัครงานที่เปิดรับเพียงน้อยนิด ในขณะที่งานโรงงานกลับขาดแคลนแรงงาน ชี้ให้เห็นถึงความไม่เข้ากันระหว่างซัพพลายกับดีมานด์สำหรับแรงงานไม่มีทักษะหรือมีทักษะน้อย
( บทความแนะนำ คนจีนแข่งขันสูงจนล้าเพราะ ? )
ประเทศที่มีค่าแรงถูกอย่างเวียดนามหรือว่าอินเดียรวมถึงประเทศอื่น ๆ นั้น ได้เริ่มพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นคำตอบของปัญหานี้
ญี่ปุ่นมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 2,200 ล้านเหรียญฯ เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตกลับมายังญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ เอง หลังจากเกิดการระบาดของโควิดที่ดิสรัปห่วงโซ่อุปทานรวมถึงการที่ค่อนโลกต่างพึ่งพาการผลิตจากจีนมากเกินไป
จากผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันกว่า 70% พึงพอใจในสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ถึงตอนนี้ความท้าทายก็คือ การผลิตสินค้าในสหรัฐฯ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นยังคงมีต้นทุนสูงกว่าการส่งออกไปผลิตยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอยู่มาก แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตกลับมาที่สหรัฐฯ หรือย้ายไปเวียดนามก็ตาม จีนก็เสียผลประโยชน์อยู่ดี
……….
1
คราวนี้ลองหันมาดูว่าใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเสียประโยชน์ของจีน
จะเห็นได้ว่าอินเดียกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเป็นศูนย์กลางการผลิต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่ Foxconn ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตของตนโดยการย้ายฐานการผลิตมาที่อินเดีย ซัมซุงก็เช่นเดียวกันที่ย้ายฐานการผลิตไปที่เมืองบั๊กนิญในเวียดนาม ส่วน Apple เอง อินเดียนั้นก็ถือว่ามีความสำคัญกับการเป็นฐานการผลิต ทางด้าน Tesla ก็มีโครงการจะตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในอินเดียเพื่อขายในอินเดียและส่งออกด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าประเทศไทย เวียดนามและอินเดีย ต่างได้รับประโยชน์จากการที่จีนมีปัญหาในภาคอุตสาหกรรมการผลิต
เวียดนามเพียงประเทศเดียวก็เข้ามาแทนที่สินค้าที่เคยนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯไปกว่าครึ่ง ซึ่งตลาดสหรัฐฯ ถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่มาก เต็มไปด้วยโอกาสและมูลค่ามหาศาลสำหรับเวียดนาม กระตุ้นเศรษฐกิจเวียดนามให้ GDP เติบโตกว่า 7.9% ซึ่งจะเห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออกอย่างเช่นเฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร
ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนราว 29.4% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ในปี 2022 การส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ นั้นเพิ่มขึ้นราว 13.6% ในขณะที่การค้าระหว่างสองประเทศนี้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าถึง 95,000 ล้านเหรียญฯ
เวียดนามกำลังจะมีทุกอย่างเหมือนที่จีนมี โดยมีจุดเด่นก็คือมีค่าแรงที่ถูกซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตก่อนหน้านี้ บริษัทใหญ่หลายแห่งมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนามหรือไม่ก็ตั้งโรงงานแห่งใหม่ในเวียดนามเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
อย่างเช่น Foxconn ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตรายใหญ่ที่สุดของ Apple โดยทำสัญญาสร้างโรงงานแห่งใหม่ทางตอนเหนือของเวียดนามมูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจะสร้างงานเพิ่มขึ้นถึง 30,000 ตำแหน่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางโรงงานได้เปิดรับสมัครงานด่วนจำนวน 5,000 ตำแหน่ง โดยมีค่าจ้างเริ่มต้นราว 300 เหรียญฯ ต่อเดือน ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวถูกกว่าค่าจ้างเริ่มต้นในจีนที่อยู่ราว ๆ 4,500 หยวนหรือราว 650 เหรียญฯ คือถูกกว่าจีนเกือบครึ่ง !!
นอกจากอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพาแรงงานอย่างมากแล้ว ภาคอุตสาหกรรมอื่นที่เติบโตขึ้นมาของเวียดนามอย่างภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของเวียดนามให้เติบโตยิ่งขึ้นไป แม้แต่ซัมซุงเองก็มีแผนจะย้ายฐานการผลิตจอภาพจากจีนซึ่งจะทำให้เวียดนามกลายมาเป็นผู้นำการผลิตจอภาพ
ถึงแม้เวียดนามจะได้รับอาณิสงส์จากเรื่องนี้ไปเต็ม ๆ แต่ก็ไม่ได้มีเพียงเวียดนามเพียงประเทศเดียวที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด
อินเดียเป็นอีกประเทศที่พยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจากการที่จีนกำลังถดถอยด้วยเช่นกัน อินเดียอาจจะมีอะไรหลายอย่างมากกว่าเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นที่ดินผืนใหญ่รวมถึงแรงงานจำนวนมากที่ยังอยู่ในวัยทำงาน และในปีนี้เองอินเดียได้แซงหน้าจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและแน่นอนว่านั่นเป็นการยืนยันถึงความมั่นคงด้านแรงงานได้เป็นอย่างดี ต่างจากจีนตรงที่แรงงานในอินเดียนั้นมีราคาถูกทำให้อินเดียจะได้ประโยชน์จากจุดแข็งตรงนี้
โฆษณา