23 เม.ย. เวลา 14:00 • ครอบครัว & เด็ก

ลูกจะไม่ลำบาก ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่รู้จักวางแผนการเงิน?

รวม 5 เรื่องที่พ่อและแม่ควรมีก่อนมี “ลูก” สักหนึ่งคน
“ลูกจะไม่ลำบาก ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่รู้จักวางแผนการเงิน” เห็นด้วยหรือไม่กับคำพูดนี้?
แน่นอนว่าเราเลือกเกิดไม่ได้ และเลือกที่จะไม่เกิดก็ไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องใช้ชีวิตกันต่อไปให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญนอกจากความรักและการให้สิ่งแวดล้อมที่ดีในครอบครัวแล้ว “เงิน” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกด้วยเช่นกัน
เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธได้ว่าสถานะทางการเงินของพ่อแม่ ไม่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของลูก เพราะในช่วงที่ “ลูก” ยังอยู่ในวัยพึ่งพิง หรือยังไม่สามารถทำงานหาเงินได้ เรียกได้ว่า เงินในกระเป๋าของลูก ขึ้นอยู่กับ เงินในกระเป๋าของพ่อแม่หรือผู้ปกครองแบบแทบจะ 100%
และถึงแม้ว่าโตแล้ว การพึ่งพิงทางการเงินจากพ่อแม่จะลดลง แต่การอยู่ในครอบครัวที่มีการบริหารจัดการเงินที่ดีก็ยังทำให้ลูกๆ รู้สึกอุ่นใจได้มากกว่า ดังนั้น หากต้องการสร้างครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ต้องเตรียมความพร้อมหรือมีการวางแผนทางการเงินอย่างไรบ้าง เพื่อให้การเงินของครอบครัวมีความมั่นคงมากขึ้น
✅1. เมื่อสมาชิกในครอบครัวเพิ่ม = ต้องมีการวางแผนทางการเงินใหม่
เพราะการมีลูกไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายสำหรับการคลอดอย่างเดียว ทุกช่วงเวลาที่ลูกเติบโตขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ต้องรับผิดชอบก็สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งค่าเรียน ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล หรืออื่นๆ อีกมากมาย ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องแบกรับ ดังนั้น หากอยากมีลูกก็อย่าลืมวางแผนทางการเงิน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับลูกด้วย
✅2. เมื่อค่าใช้จ่ายสูงขึ้น = ต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น
เงินสำรองฉุกเฉิน คือ สิ่งสำคัญที่ทุกๆ ครอบครัวควรมี จากข้อที่แล้วเรารู้แล้วว่า หากมีลูกค่าใช้จ่ายของครอบครัวกำลังจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ควรทำ คือ การประเมินรายจ่ายต่อเดือนที่คิดว่าจะต้องใช้สำหรับการเลี้ยงลูก 1 คนต่อ 1 เดือน จากนั้นนำไปคูณด้วย 6 หรืออย่างมากให้คูณด้วย 12 จะทำให้เราได้ตัวเลขเงินสำรองฉุกเฉินที่ต้องมีในวันที่จะต้องมีลูกแล้ว เพื่อให้ครอบครัวสามารถผ่านเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยการดึงเงินส่วนนี้ออกมาสำรองใช้ก่อนได้
✅3. ความเสี่ยงสูงขึ้น = ต้องมีประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง
เชื่อว่ามีหลายครอบครัวที่คิดว่า “ประกัน” คือสิ่งที่ “เดี๋ยวค่อยทำก็ได้” เพราะมองว่ายังไม่จำเป็น หากใครที่กำลังคิดแบบนี้อยู่ให้ลองคิดตามและตอบคำถาม 2 กรณีนี้ คือ
1. ถ้าวันหนึ่งเราในฐานะพ่อแม่เกิดเหตุที่ไม่สามารถอยู่เลี้ยงดูลูกได้แล้ว ลูกจะอยู่ได้หรือไม่ ถ้าไม่ จงทำ “ประกันชีวิตพ่อแม่”
2. ถ้าวันหนึ่งลูกเจ็บป่วยรุนแรงแล้วมีค่าใช้จ่ายเยอะ อยากให้ลูกได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพหรือไม่ ถ้าใช่ จงทำ “ประกันสุขภาพลูก” แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนเมื่อทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ ณ “วันที่ทำ” อาจรู้สึกเสียดายเงิน แต่เชื่อเถอะว่าถ้าถึง “วันที่ต้องใช้” อาจมีความรู้สึกที่เปลี่ยนไป
✅4. อยากให้ลูกใช้เงินเป็น = ต้องปลูกฝังความรู้ทางการเงินให้ลูก
สิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรทำ นอกเหนือจากกาารปลูกฝังเรื่องคุณงามความดีแล้ว คือ การปลูกฝังความรู้ทางการเงินให้กับลูก หลายครอบครัวรู้ดีว่าสิ่งนี้สำคัญ แต่ติดตรงที่ว่าตัวพ่อแม่เองก็ไม่มีความรู้ทางการเงินเลย หรือตัวเองยังมีปัญหาทางการเงินอยู่เลย จะไปสอนลูกได้ยังไง
หากใครที่คิดแบบนี้อยู่อยากให้เปลี่ยนใหม่ คือ
1. ไม่มีความรู้มาก ก็สอนได้ เพราะการสอนเรื่องเงินให้กับเด็กนั้น ใช้แค่เรื่องพื้นฐานก็เพียงพอแล้ว หลักๆ คือสอนให้รู้จักคุณค่าของเงิน และการรู้จักอดออมเพื่อวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทุกคนน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าควรทำอย่างไร
และ 2. ตัวเรายังมีปัญหาทางการเงินอยู่เลย จะสอนลูกได้ยังไง คำตอบคือ สอนได้ เช่น จัดการเงินพลาดจนเป็นหนี้มาก ก็สอนโดยการเล่าเรื่องนี้กับลูกในเชิงเป็นบทเรียนว่าอย่าทำแบบนี้ ซึ่งหากเป็นเรื่องที่หนักๆ อาจรอให้ลูกเข้าสู่ช่วงวัยที่เหมาะสมถึงเริ่มพูดคุยหรือให้บทเรียน ก่อนจะดีกว่า
✅5. ไม่อยากให้ลูกต้องเลี้ยงดู = ต้องมีการวางแผนเกษียณตัวเอง
หลายคนชอบคิดว่าอีกนานกว่าจะเกษียณ และมีเวลามากมายในการเก็บเงิน แต่จริงๆ แล้วระยะเวลาไม่ได้นานขนาดนั้น เพราะเดี๋ยวนี้เหมือนว่าเวลาในแต่ละวันจะผ่านไปค่อนข้างไว การเตรียมพร้อมตั้งแต่อายุน้อยๆ จะยิ่งได้เปรียบ เพราะจะทำให้เรามีระยะเวลา ในการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณได้อย่างเต็มที่หรือเตรียมความพร้อมในส่วนของการเก็บเงินเอาไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิต ข้อดีของการวางแผนเกษียณของพ่อแม่ไว้เอง คือ นอกจากจะทำให้มีรายได้ที่แน่นอนในช่วงวัยเกษียณแล้ว ยังลดการพึ่งพิงทางการเงินของลูกได้อีกด้วย
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าการวางแผนการเงินของพ่อแม่ไว้ก่อนที่จะมีลูกนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากครอบครัวไหนที่ยังไม่ได้วางแผนเลย แนะนำว่าควรหาเวลามาพูดคุยเรื่องทิศทางการเงินในครอบครัวกันหน่อย เพราะยังไงแล้วการเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็ยังดีกว่าการไม่เริ่มเลย
อีกทั้ง หากผู้อ่านอยู่ในฐานะลูกและอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีการวางแผนการเงินไว้ก่อน ผู้เขียนไม่อยากให้เกิดการกล่าวโทษไปที่พ่อและแม่ เพราะทุกครอบครัวล้วนมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน ทางที่ดี คือ ทุกคนในครอบครัวควรหันหน้ามาคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ถึงแม้วันนี้หรือปีนี้อาจจะยังบริหารจัดการเงินหรือมีความมั่นคงไม่มากพอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นแบบนี้ตลอดไป ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้
เขียนโดย: วัฒนา มะสันเทียะ
ภาพ: ภควดี เหมพาณิช
#aomMONEY #วางแผนการเงิน #พ่อแม่ #วางแผนเกษียณ #ประกัน #ปลูกฝังการเงิน #เลี้ยงลูก
โฆษณา