23 เม.ย. เวลา 10:18 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ผลิตอาหารแนวตั้ง

ปัจุบันมีประชากรโลกกว่า 7.8 พันล้านคน แต่ถัดจากนี้อีก 30 ปี จะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านคน ตามรายงานของสหประชาชาติ ภายในปี 2050 สองในสามของประชากรโลกจะหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในตัวเมือง ละทิ้งชนบทไว้เบื้องหลัง
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา ?
ที่เยอรมนีเกษตรกรคนหนึ่งบอกว่า สภาวะที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้ ผมอยากจะแนะนำให้ลูก ๆ มองหาอาชีพอื่นทำ สำหรับที่นี่ตอนนี้เราต้องรับมือกับภัยแล้ง เบื้องหลังเขาเป็นฝุ่นหนากระจายคลุ้งเต็มไปหมดแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาค่อนข้างแล้ง ถ้าหากไม่มีการลงทุนนำระบบชลประทานเข้ามาในพื้นที่ก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวอะไรได้แน่นอน แต่ภัยแล้งนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น !!
ในขณะที่ส่วนอื่นของโลกกำลังเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน !! การผลิตอาหารกำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและอาจก่อให้เกิดหายนะความอดอยากตามมาลุกลามไปทั่วโลก
……….
ที่มหาวิทยาลัยชิบะในญี่ปุ่น ในโรงเรือนเพาะปลูกที่ดูล้ำยุค ด้านในทำการทดลองปลูกผักในแนวตั้ง โดยศาสตราจารย์ โทโยกิ โคไซ ได้คิดค้นพัฒนาวิธีการนี้ในช่วงทศวรรษที่ 70 เมื่อทำการทดลองมาได้สักระยะก็พบปัญหาหาช่วงแสงที่เหมาะสมกับพืชแล้วยังมีปัญหาเรื่องค่าไฟที่แพงอีกด้วย ต่อมาจึงได้ทำการเปลี่ยนมาใช้หลอด LED แทน
ศาสตราจารย์โทโยกิ บอกว่า “ความตั้งใจในตอนแรกนั้น ผมต้องการช่วยเกษตรกรรายย่อยที่พวกเขามีที่ดินผืนเล็ก การปลูกพืชแนวตั้งนั้นช่วยให้เกษตรกรหนึ่งคนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อปีได้มากกว่าเดิมถึง 100 เท่า เมื่อเทียบกับการปลูกพืชแบบเดิม
ดังนั้นแล้วมันจึงคุ้มค่าในการลงทุนทำโรงงานปลูกผัก ซึ่งโรงงานเหล่านี้สามารถทำขึ้นที่ไหนก็ได้ มันเป็นก้าวสำคัญในการทำเกษตรแบบยั่งยืน ไม่มีการสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวรวมถึงใช้พลังงานในการขนส่งน้อย ช่วยให้ผลผลิตและผลกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้คนหันมาสนใจการปลูกพืชแบบนี้กันมากเพราะว่ามันสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องกังวลกับปัจจัยภายนอก
ในทางกลับกัน การทำเกษตรกรรมในทุ่งกว้าง เกษตรกรต้องเจอกับปัญหาน้ำแล้งหรือไม่ก็น้ำท่วม หรือสภาพอากาศร้อนจัดเกินไป การที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นไปถึง 40 องศาเซลเซียส สามารถทำให้ดินแตกตัวเป็นผุยผงกลายเป็นฝุ่นหนาได้ถึงสองเมตร ผลกระทบจากภัยแล้งในฤดูร้อน ทำให้เก็บเกี่ยวพืชผลได้น้อยลงซึ่งก็หมายถึงเงินที่จะได้ก็หายไปด้วยเช่นกัน
บริษัทชื่อ Spread ในเมืองเกียวโต สำนักงานใหญ่สำหรับโลกใบใหม่ของการเกษตร
ปัจจุบัน Spread เป็นฟาร์มแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชุดของพนักงานที่นี่ดูราวกับพนักงานที่ทำงานในบริษัทผลิตชิปมากกว่าจะออกไปทางเกษตรกร ที่นี่มีระเบียบการรักษาสุขอนามัยที่เข้มงวดมาก มีคำเตือนมากมายให้ปฏิบัติตามเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคภายนอกเข้าสู่พื้นที่การผลิต การทำอะไรเกี่ยวกับอาหารต้องสะอาด
ในห้องปลอดเชื้อ เต็มไปด้วยต้นพืชที่กำลังโตโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ทุกวันจะมีหัวผักกาดขาวจำนวน 50,000 หัว ออกจากโรงงาน นอกจากพื้นที่ที่แยกเป็นส่วนบรรจุหีบห่อแล้ว พื้นที่ที่เหลือของโรงงานก็เป็นห้องปลูกพืชผักนานาชนิดรวมถึงเห็ดและสมุนไพรแปลก ๆ อีกมากมาย ที่นี่ไม่มีการล้างผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ เพราะว่ามันก็มีเชื้อโรคในน้ำที่อาจทำให้ผักเน่าเสียได้
ประโยชน์อีกอย่างของการปลูกพืชในร่มแบบนี้ก็คือ พืชจะเจริญเติบโตอยู่ตามชั้นต่าง ๆ และต้องการพื้นที่น้อยมาก ๆ ในบางโถงปลูกพืชผักเหล่านี้จะใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบและในห้องนี้อุณหภูมิจะคงที่เสมอ คนงานบอกว่า “ผมพบว่ามันค่อนข้างดีทีเดียวที่ผมสามารถทำงานในร่มได้ทั้งวันโดยไม่ต้องคอยพะวงว่าวันนี้อากาศจะเป็นอย่างไร มันดีกว่าอยู่ในนาข้าว”
ชินจิ อินาดา ได้ก่อตั้งโรงงานแห่งนี้มา 15 ปีแล้ว “ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรโลกนั้นยังไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ หรือแม้แต่การไม่มีตลาดสำหรับพืชผักที่ปลูกในโรงงานแบบนี้ แต่ว่าตอนนี้เรามีผลกำไรดีทีเดียว
ผมไม่คิดว่าโรงงานต่าง ๆ จะเข้ามาแทนที่การทำเกษตรแบบเดิมโดยสิ้นเชิง แต่ผมคิดว่าวิธีการทำเกษตรของเราจะมีบทบาทสำคัญขึ้นในอีก 20 หรือ 30 ปี ข้างหน้า เราต้องการแบ่งปันเทคโนโลยีกับประเทศยากจน เพื่อที่พวกเขาจะสามารถผลิตอาหารด้วยตัวเองได้”
นอกจากนั้นแล้วข้อดีอีกอย่างก็คือระยะทางสั้น ๆ ระหว่างโรงงานไปยังซูเปอร์มาเก็ตแล้วก็ร้านอาหาร ทำให้ไม่มีพืชผักเสียหายระหว่างการขนส่ง ต่างจากการขนส่งจากแปลงผักแบบเดิม
การทำเกษตรแบบเดิมในญี่ปุ่นก็กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงและปัจจัยที่จำเป็นในการปลูกข้าว ข้าวซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนญี่ปุ่น เกษตรกรได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาล ตลาดข้าวได้รับการปกป้องจากกำแพงภาษีนำเข้าข้าวที่สูง ดังนั้นข้าวที่มีการนำเข้าจะถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อมรดกทางวัฒนธรรม แต่ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกข้าวกลับลดน้อยลงทุกที
โดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรญี่ปุ่นจะอยู่ที่ราว ๆ 12 ไร่ต่อคน ซึ่งมันค่อนข้างยากสำหรับเกษตรกรที่จะทำนาให้คุ้มค่า ได้ผลตอบแทนที่ทำให้พวกเขาอยู่ได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไม่สนใจทำนา ค่าเฉลี่ยอายุของชาวนาญี่ปุ่นอยู่ที่ 66 ปี แม้จะมีการร่วมมือกันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิควิธีการเพื่อให้การทำนามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ความปรวนแปรของธรรมชาติก็ก่อปัญหาให้กับพวกเขาด้วยเช่นกัน
Photo by Emile-Victor Portenart on Unsplash
เพื่อให้มีทางเลือกใหม่ ๆ ในการทำเกษตร ชาวนาหัวก้าวหน้าอย่างคุณ อคิระ อิอิจิมะ ได้คิดค้นระบบที่เรียกว่า aquaponic system ในโรงเรือนเล็ก ๆ ของเขา เขากำลังพยายามทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า aquaponic เขาเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน 250 ตัวในอ่างขนาดใหญ่ น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาสักระยะก็จะมีของเสียที่ขับถ่ายจากปลาเพิ่มมากขึ้นจะถูกถ่ายออกไปรดผักเพื่อทำเป็นปุ๋ยให้กับผักหลากหลายชนิด น้ำก็จะถูกกรองให้สะอาดด้วยพืชผักเหล่านั้น จากนั้นก็จะวนน้ำดังกล่าวกลับเข้ามาใช้เลี้ยงปลาในอ่างต่อไป
….. …………… ……………….
สตาร์ทอัพบางรายได้นำเอาตู้กระจกปลูกผักเหล่านี้ ที่ดูเผิน ๆ หน้าตาเหมือนตู้แช่ไวน์ ไปฝากวางไว้ตามร้านอาหารต่าง ๆ รวมทั้งซูเปอร์มาเก็ตสาขาต่าง ๆ ซึ่งมันก็คือตู้ปลูกผักแบบไฮโดรโพรนิกส์ ด้วยพื้นที่รวมขนาด 2 ตารางเมตรต่อตู้ สามารถทำผลผลิตได้เท่ากับพื้นที่ขนาด 250 ตารางเมตรของการปลูกในที่ดิน และทำให้ไม่มีของเหลือทิ้งในห้องครัวเพราะว่าคุณเพียงแต่เก็บผักไปเฉพาะเท่าที่ต้องทำอาหารที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น ซึ่งจากตู้ไปห้องครัวก็ระยะทางเพียงไม่กี่ก้าว
นั่นหมายความว่า จะมีฟาร์มแบบโรงเรือนปิดแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย หัวเมืองขนาดใหญ่ตามที่ต่าง ๆ ขยายตัวเมืองออกไปกว้างกว่าเดิมโดยไม่มีพื้นที่การเกษตร ยิ่งปลูกพืชมากเท่าไหร่ มีพื้นทีสีเขียวเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีกับเมือง มีความมั่นคงทางด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น
โฆษณา