26 เม.ย. เวลา 09:16 • ประวัติศาสตร์
พระราชวังสราญรมย์

“ย้อนวันวาน ณ วังสราญรมย์ ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศในอดีต”

หลายท่านที่เคยเดินทางผ่านบริเวณด้านข้างของพระบรมมหาราชวัง ใกล้ๆ กับอาคารที่ทำการกระทรวงกลาโหม อาจจะเคยเห็นอาคารเก่าสีส้มสองชั้นสไตล์ยุโรป ที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ประดิษฐานอยู่บนพระแท่นอย่างสง่างามด้านหน้าอาคาร
รู้หรือไม่คะว่า สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “พระราชวังสราญรมย์” เป็นสถานที่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเคยเป็นอดีตที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง พ.ศ. 2469 – 2540 ก่อนที่กระทรวงฯ จะย้ายไปยังที่ทำการถนนศรีอยุธยาและถนนแจ้งวัฒนะจนถึงปัจจุบันค่ะ
เนื่องด้วยกระทรวงการต่างประเทศมีการจัดงานสราญรมย์ เพื่อระลึกถึงการสถาปนากระทรวงฯ วันที่ 14 เมษายนของทุกปี ในโอกาสนี้ ทีมงานจึงอยากพาทุกท่านย้อนวันวาน ณ วังสราญรมย์ ผ่านการสัมภาษณ์บุคคล 4 คน ได้แก่ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ (รองเอิน) นายปาณิดล ปัจฉิมสวัสดิ์ (รองเนน) รองอธิบดีกรมสารนิเทศ นางสาวศศรักษ์ ศะศิวณิช ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์การทูตสาธารณะ (ผอ.ขวัญ) และนางมาลี รัตนจันทร์ พนักงานรับรอง (ป้ามาลี) ผู้มีโอกาสได้ทำงานเมื่อครั้งกระทรวงการต่างประเทศยังตั้งอยู่ที่วังสราญรมย์ค่ะ
ภาพที่ 1 นายธนวัต ศิริกุล, ภาพที่ 2 นายปาณิดล ปัจฉิมสวัสดิ์, ภาพที่ 3 นางสาวศศรักษ์ ศะศิวณิช และภาพที่ 4 นางมาลี รัตนจันทร์
พระราชวังสราญรมย์ ออกแบบโดย นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (Henry Alabaster) รองกงสุลอังกฤษประจำกรุงสยาม โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2409 หรือสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และได้รับพระราชทานนามว่า “สราญรมย์” แต่เสด็จสวรรคตก่อนที่จะสร้างเสร็จ
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) ณ บริเวณด้านหน้าพระราชวังสราญรมย์
โดยวังตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 พระราชวังสราญรมย์ยังเคยเป็นที่พำนักของพระราชอาคันตุกะที่สำคัญ เช่น เจ้าชายออสการ์แห่งสวีเดน เจ้าชายแห่งญี่ปุ่น และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียอีกด้วย
เนื่องจากปัจจุบันวังสราญรมย์ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชม เราจึงต้องอาศัยการบอกเล่าจากผู้ที่เคยทำงานในนั้นว่า ภายในวังมีความงดงามอย่างไร โดยจากคำบอกเล่าของรองเอิน ทำให้รู้ว่าเมื่อก่อนตัวตึกเป็นสีขาวอ่อน ไม่ได้เป็นสีส้มอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
ส่วน ผอ.ขวัญ ได้บรรยายถึงพื้นที่ภายในวังว่า ตรงกลางเป็นสวนมีตัวตึกล้อมรอบ และมีนํ้าพุพร้อมกับบ่อปลาคาร์พ ทำให้มีบรรยากาศที่ร่มรื่นมากๆ ห้องรับรองที่มีชื่อไพเราะ เช่น ห้องบัวแก้ว ห้องนราธิป ห้องเทววงศ์ และห้องไตรทศ ยังสะท้อนคุณค่าความงดงามทางสถาปัตยกรรมและสิ่งของลํ้าค่าทางประวัติศาสตร์ภายในวังด้วย เรียกได้ว่าไม่สามารถประเมินค่าได้เลยทีเดียว
พระราชวังสราญรมย์ในอดีต (ภาพจากเว็บไซต์ Bangkok’s Palaces)
แม้ปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้ย้ายที่ทำการหลักมายังถนนศรีอยุธยาแล้ว แต่เรายังสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นกระทรวงฯ แบบดั้งเดิมในสิ่งต่างๆ ได้ เช่น การตั้งชื่อห้องตามชื่อของห้องในวังเดิม หรือแม้กระทั่งการขนย้าย “ประตูบัวแก้ว” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกระทรวงฯ มาตั้งไว้ ณ ที่ทำการใหม่ด้วย
ภาพ “ประตูบัวแก้ว” ที่ประกอบด้วยบานประตูไม้สัก 4 ชิ้น ส่วนบนเป็นรูปโค้ง มีลายแกะสลักฉลุสีทองเป็นตราบัวแก้วใหญ่ ตราบัวแก้วน้อยและดอกบัวหลวง (ภาพจากเว็บไซต์ Bangkok’s Palaces)
เมื่อให้เล่าย้อนถึงชีวิตการทำงานในวังสราญรมย์นั้น ทุกคนพูดตรงกันว่า เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความทรงจำที่ดี รวมถึงความรู้สึกตื่นเต้น ความภูมิใจ ความอบอุ่น และความเป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกันของคนในกระทรวงฯ ดังที่รองเนนบอกกับเราว่านับเป็น “Good old days” แม้ว่าพื้นที่จะคับแคบอยู่บ้าง ทุกคนต้องทำงานบนโต๊ะขนาดเล็ก ที่จอดรถก็มีไม่เพียงพอ แต่นั่นทำให้ทุกคนได้เจอหน้าและพูดคุยทักทายกันอย่างใกล้ชิดทุกวัน
ชีวิตการทำงานในวังสราญรมย์นั้นนับได้ว่าเป็น Good old days
รูปถ่ายที่ระลึกข้าราชการเข้าใหม่ รุ่นปี 2536 หน้าห้องประตูบัวแก้ว ณ วังสราญรมย์
นอกจากความสวยงามของสถานที่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์แล้ว ทั้งสี่คนยังพูดเป็นเสียงเดียวกันด้วยว่า “อาหารย่านนี้อร่อยมาก” ยกตัวอย่างเช่น ร้านเกาเหลาสมองหมูไทยทำ ร้านไอศกรีมกระทิสด/รวมมิตร และร้านบะหมี่สด ถ.แพร่งภูธร ที่เป็นร้านประจำของนักการทูตในสมัยนั้นและยังดำเนินกิจการอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากท่านผู้อ่านอยากรู้ว่าอร่อยจริงไหม คงต้องไปลองด้วยแล้วละค่ะ
นอกจากนี้ ป้ามาลียังเล่าถึงบรรยากาศโดยรอบของวังสราญรมย์ที่ล้อมรอบไปด้วยสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ทำให้รู้สึกภูมิใจและอยากไปทำงานทุกวัน เพราะฝั่งตรงข้ามคือพระบรมมหาราชวัง ฝั่งขวาจะเป็นกระทรวงกลาโหม ฝั่งซ้ายคือสวนสราญรมย์และวัดราชประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นสถานที่คลายเครียดของเจ้าหน้าที่กระทรวงในสมัยนั้น และถ้าเดินไปข้างหลังของวังจะเป็นคลองหลอดและกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่า “กระทรวงการต่างประเทศไทยสมัยก่อนตั้งอยู่ใจกลางพระนคร” ก็คงจะไม่เกินจริงค่ะ
ภาพคุณป้ามาลี สมัยทำงาน ณ วังสราญรมย์ (ภาพโดย นางมาลี รัตนจันทร์)
นอกจากเรื่องประทับใจแล้ว การได้ทำงานอยู่ในอาคารประวัติศาสตร์เช่นนี้ย่อมมีเรื่อง “ระทึกขวัญ” ที่เล่าขานสืบกันมา โดยรองเอินได้เล่าถึงประสบการณ์ตอนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรตอนกลางคืน ซึ่งต้องเดินสำรวจบริเวณชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นที่ทำงานเพื่อตรวจดูความเรียบร้อย ไม่ให้มีใครเข้ามา จากนั้นปิดประตูลงกลอน ผูกเชือก และประทับดินน้ำมันเพื่อความเรียบร้อย แต่ระหว่างที่กำลังประทับดินน้ำมันอยู่นั้น รองเอินได้ยินเสียงปิดประตูจากสุดโถงทางเดินไล่เข้ามาเรื่อยๆ ทั้งที่ได้เข้าไปตรวจดูดีแล้วว่าข้างในไม่มีผู้ใดหลงเหลืออยู่
ผอ.ขวัญ ยังเล่าถึงเรื่องที่มีการเล่าขานกันสืบมาว่ามักมีเสียงมโหรีดนตรีไทยดังขึ้นตอนกลางคืนเสมอๆ นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ให้ความประทับใจแล้ว วังสราญรมย์ยังเป็นสถานที่ที่ให้บรรยากาศเย็นยะเยือกชวนพิศวงเหมือนกัน
บรรยากาศภายในพระราชวังสราญรมย์ปัจจุบัน (ภาพจากเว็บไซต์วิทยุสราญรมย์)
บรรยากาศภายในพระราชวังสราญรมย์ปัจจุบัน (ภาพจากเว็บไซต์วิทยุสราญรมย์)
เมื่อถามทุกท่านว่ากระทรวงการต่างประเทศสมัยก่อนกับปัจจุบันต่างจากเดิมเยอะหรือไม่ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “แตกต่างเป็นอย่างมาก” ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น ด้านการต่างประเทศทั้งในความร่วมมือระดับทวิภาคีและในกรอบพหุภาคี ดังเช่น อาเซียน เอเปค หรือ UN และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานเอกสาร ซึ่งสมัยก่อนต้องอาศัยการยกร่างหนังสือด้วยมือหรือการใช้เครื่องพิมพ์ดีด เนื่องจากมีคอมพิวเตอร์จำกัด ทำให้ทุกคนต้องแบ่งกันใช้ ขณะที่ปัจจุบันทุกคนมีคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะ
ส่วนอาคารที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศแห่งใหม่ก็มีพื้นที่กว้างขวางกว่าที่เก่าเป็นอย่างมาก ทำให้ความใกล้ชิดเช่นในอดีตหายไป แลกมาด้วยการมีพื้นที่ทำงานที่กว้างขวางและทันสมัยขึ้น ดังที่รองเอินได้เสริมว่าที่ทำการใหม่ของกระทรวงฯ ตอนเปิดใหม่ๆ นั่นเรียกได้ว่าเป็น “Talk of the town” เลยทีเดียว เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการแรกๆ ที่มีตึกทรงโมเดิร์นสูง 5 ชั้น ที่ผสมผสานความเป็นไทยได้อย่างงดงาม รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยเฉพาะที่จอดรถชั้นใต้ดิน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทันสมัยมากในขณะนั้นค่ะ
แม้วังสราญรมย์จะไม่ได้เป็นที่ทำงานของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่ภาพวันวานยังคงสลักไว้ในหัวใจของข้าราชการผู้เคยทำงานที่นั่น ระหว่างสัมภาษณ์ทุกท่านล้วนกล่าวระลึกถึงวังสราญรมย์ด้วยรอยยิ้มและน้ำเสียงสดใสราวกับภาพในวันวานยังคงชัดเจน ท้ายที่สุดนี้ แม้กระทรวงฯ จะเปลี่ยนแปลงไปคามกาลเวลามากเพียงใด แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือ “ภาพลักษณ์ที่ดีและแก่นแท้ความสำคัญของความเป็นกระทรวงการต่างประเทศ” ดั่งที่ทุกท่านเห็นสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
วังสราญรมย์ในอดีต (ภาพโดย นางมาลี รัตนจันทร์)
นางสาวสุชัญญา สีหวัฒนะ (ซ้าย) และนางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์ (ขวา) หน้าพระราชวังสราญรมย์ในปัจจุบัน
สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือ ภาพลักษณ์ที่ดีและแก่นแท้ความสำคัญของความเป็นกระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา