25 เม.ย. เวลา 12:41 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ควันหลง "#หลานม่า"

ในหนัง “หลานม่า” มีตัวละครหนึ่งที่น่าพูดถึงในหลายมิตินั่นคือ “ซิว-ลูกสาวคนกลาง”
หนังเปิดฉากมาด้วยพิธีไหว้เชงเม้งของครอบครัว และสิ่งที่สามพี่น้องปฏิบัติบ่งบอกถึงสถานะในบ้านที่ต่างกันอย่างชัดเจน
ลูกชายคนโต วิดีโอคอลคุยเล่นกับครอบครัว
ลูกชายคนเล็ก นั่งจิบเครื่องดื่มในมือ
มีแค่ลูกสาวกับแม่สูงวัยที่จัดเครื่องเซ่นไหว้ จนเหมือนเป็นหน้าที่ปกติ
เมื่อแม่ลื่นล้มเข้าโรงพยาบาล เธอก็อาสาเฝ้าอย่างไม่มีทางเลือก เพราะพี่ชายและน้องชายหาข้ออ้างบ่ายเบี่ยง
#ลูกสาวผู้ดูแลหลักของครอบครัว
ในชีวิตจริงจะพบว่าสังคมชาวเอเชียมอบบทบาทการจัดการธุระในบ้านและดูแลคนในครอบครัวให้กับลูกสาวเป็นหลัก ทั้งที่ดูเหมือนจะไม่เป็นธรรม แต่ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา
 
ลูกสาวจึงเปรียบเหมือนหน่วยกู้ภัยที่จะต้องวิ่งเข้าใส่เมื่อมีภาระ มีเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดวิกฤต
แต่ในยามปกติกลับไม่อยู่ในสายตาของพ่อแม่ และเป็นม้านอกสายตาเมื่อถึงเวลาที่ถ่ายโอนมรดก เพราะสมบัติทั้งหมดจะตกไปอยู่กับลูกชายที่เป็นผู้สืบสกุล ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น
#เดอะแบกของบ้าน
บทบาทของซิวในวัยกลางคนที่ต้องดูแลแม่สูงวัยที่เจ็บป่วย รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของเอ็ม-ลูกชายที่ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ คือสถานะของแซนด์วิช เจเนอเรชั่น ที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนสอง Gen.
สิ่งที่ซิวแสดงให้เราดู ตรงกับชีวิตจริงของผู้ดูแลมากๆ นั่นคือ เธอแทบไม่เคยใช้เวลากับตัวเองเลย และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหล่าแซนด์วิชเจเนอเรชั่นทั้งหลายสะสมความเครียด จนกลายเป็นวิกฤตวัยกลางคนในที่สุด
#ผู้สูงวัยที่ดูแลผู้สูงวัยกว่า
ปัจจุบันผู้ที่อยู่ในฐานะผู้ดูแลอย่างซิว มีจำนวนไม่น้อยที่ก้าวจากวัยกลางคนไปสู่ผู้สูงวัย ต้องเผชิญกับความเสื่อมถอยของร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บตามวัย แต่ยังคงต้องแบกรับบทบาทการเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ที่สูงวัยยิ่งกว่า ซึ่งเป็นภาพที่มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย
1
#อารมณ์สีเทาของผู้ดูแล
แม้สมบัติชิ้นสุดท้ายของอาม่าจะไม่ได้มาถึงมือซิว-ลูกสาวที่คอยปรนนิบัติดูแล แต่ใช่ว่าเธอจะไม่ได้ทรัพย์สมบัติใดๆ มันมีสิ่งที่เธอได้รับแม้มองไม่เห็นนั่นคือ “ความยอมรับและพอใจ” เป็นอริยทรัพย์ที่มีความหมายต่อการใช้ชีวิต
ฉากที่เธอส่งใบโฉนดที่ดินให้น้องชายด้วยมือเธอเองตามคำสั่งเสียของอาม่า และบอกกับเอ็ม-ลูกชายว่า “ใจที่คิดจะให้สบายกว่าใจที่คิดจะได้” มันสะท้อนว่าเธอมูฟออนแล้วจากความแก่งแย่ง และรับมือกับความผิดหวังได้ดีกว่าคนอื่นๆ
ว่าไม่ได้นะ เรื่องทรัพย์สินครอบครัว ถ้าตัดใจไม่ได้ถอยไม่เป็น สุดท้ายความสัมพันธ์ในบ้านก็ย่อมพังไม่เป็นท่า
แน่นอนว่าเธอเองก็มีอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจ ถึงกับพูดประชดอาม่าไปว่า “ทีสมบัติไปให้ลูกชาย แต่โรคภัยเอามาให้ลูกสาว” เพราะอารมณ์ความรู้สึกของผู้ดูแลก็ไม่ได้เป็นสีขาวตลอดเวลา บางครั้งก็เป็นสีเทาๆ ตุ่นๆ หวานอมขมกลืน แต่มันสำคัญที่สุดท้ายเธอก็ได้ทำหน้าที่ประคับประคองชีวิตระยะท้ายของอาม่าไปได้จนสุดทาง อย่างไม่ต้องรู้สึกติดค้างอะไร
โฆษณา