25 เม.ย. เวลา 13:57 • ไลฟ์สไตล์

“ด้วยดอกเบี้ยที่สูงขนาดนั้น คุณจะรู้สึกเหมือนติดหนี้นอกระบบเลยล่ะ”

เจาะเหตุผล ‘ทำไมเราไม่ควรจ่ายขั้นต่ำ?’ และวิธีใช้บัตรเครดิตให้ ‘ปลอดหนี้ สบายใจ’
แม้ว่าบัตรเครดิตจะเป็นวิธีที่สะดวกในการใช้จ่ายเงิน แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่สูง หรือประมาณ 25% ตามข้อมูลล่าสุดของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่สินเชื่อประเภทอื่นๆ จะอยู่ที่หลักเดียว การมีหนี้บัตรเครดิตค้างชำระจึงเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในการใช้บัตรเครดิต
โนอาห์ แดมสกี้ นักวิเคราะห์ทางการเงิน จาก Marina Wealth Advisors บริษัทให้คำปรึกษาทางการเงิน มองว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตนั้นสูงเกินไปที่จะไปข้องเกี่ยวกับมัน และยังให้ความรู้สึกเหมือน ‘ติดหนี้นอกระบบ’ เลยทีเดียว และเธอยังมี 2 เรื่องที่คนใช้บัตรเครดิตต้องรู้มาฝากด้วย โดย aomMONEY สรุปมาให้เรียบร้อยแล้ว มาดูกันได้เลย
💳 การจ่ายขั้นต่ำ จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย
ในบางเดือนที่เผลอรูดบัตรเพลินจนเกินงบ การจ่ายขั้นต่ำเป็นสิ่งที่หลายคนจะนึกถึง แต่ขอแนะนำว่าอย่าทำแบบนั้นจะดีที่สุด เพราะการจ่ายขั้นต่ำจะทำให้เกิดการ ‘สิ้นสุดระยะปลอดดอกเบี้ย’ ลงทันที จากในตอนแรกที่เราจะมี ‘ระยะเวลาปลอดหนี้’ ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะอยู่ที่ 1 เดือน หากยังไม่พ้นระยะเวลาตรงนี้ไป ก็จะยังไม่ถูกนับว่าเราเป็นหนี้บัตรเครดิต และไม่มีการคำนวณดอกเบี้ยอะไรทั้งสิ้น
แต่หลังจากที่จ่ายขั้นต่ำ จะทำให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา 2 ก้อนพร้อมกันในทันที สมมติเราใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าไป ราคา 10,000 บาท เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ เราเลือกจ่ายแค่ขั้นต่ำ 8% คือ 800 บาท
ดอกเบี้ยก้อนแรก คำนวณจากเงินราคาสินค้า 10,000 บาททั้งจำนวน เมื่อไม่จ่ายคืนให้ครบจำนวนในวันนี้ ธนาคารก็ขอคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันย้อนหลังไปถึงวันที่ได้ใช้บัตรแบบเต็มจำนวน
ก้อนที่สอง คำนวณจากเงินต้นคงเหลือหลังจ่ายขั้นต่ำ เช่น ตามตัวอย่างเมื่อได้จ่ายขั้นต่ำไป 800 บาทจากราคาสินค้า 10,000 เหลือเงินต้นคงเหลือ 9,200 บาท ธนาคารก็จะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นก้อนนี้เป็นรายวันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดจ่ายบัตรเครดิตรอบถัดไป และยิ่งถ้าเราจ่ายขั้นต่ำในทุกๆ เดือน ดอกเบี้ยก็จะยิ่งทับถมกันไปเรื่อยๆ เงินที่จ่ายไปก็เป็นเงินต้นเพียงน้อยนิด เพราะเป็นค่าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยไปส่วนใหญ่จนยากที่ปลดหนี้ได้
💳 ‘การจ่ายยอดค้างชำระบัตรเครดิต’ ควรหยิบมาเป็นรายจ่ายต้นๆ ของแต่ละเดือน
นั่นเพื่อไม่ให้มียอดค้างชำระในบัตรนั่นเอง และแน่นอนว่าเราจะได้สามารถคำนวณบริหารเงินที่เหลือไปยังสัดส่วนต่างๆ ได้สบายใจมากขึ้น
โนอาห์ มองว่าบัตรเครดิตควรใช้ไปกับรายจ่ายที่เราจ่ายได้เลยทันทีเท่านั้น เช่น ค่าอาหาร อาจจ่ายด้วยบัตรเพื่อสะสมแต้ม และโอนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตทันทีเพื่อรอจ่าย โดยไม่ต้องรบกวนรายได้ของเดือนถัดไป การทำแบบนี้จะทำให้เราไม่มียอดค้างชำระแน่นอน และสามารถหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นได้แบบ 100%
สิ่งที่อยากฝากทุกคนไว้คือ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย การบริหารหนี้บัตรเครดิตไม่ดีนั้นน่ากลัวกว่าที่คิด โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้เราเห็นว่า ณ ไตรมาสที่ 3/2566 คนไทยเป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ทั้งยังขยายตัวสูงถึง 10-15% ติดต่อกันกว่า 6 ไตรมาสแล้ว
เพื่อหนีให้พ้นจากคำว่าหนี้บัตรเครดิต เราจึงต้องเริ่มต้นจากจุดที่เล็กที่สุด นั่นคือการไม่เหลือยอดค้างชำระไว้เลยแม้แต่บาทเดียว หรือหากคิดว่าไม่สามารถบริหารการใช้บัตรเครดิตได้ดีนัก อาจพิจารณาการใช้เงินสดในการใช้จ่ายทั้งหมด เพราะยังดีกว่าเราต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่ยากจะแก้ไขได้
เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช
#aomMONEY #บัตรเครดิต #หนี้บัตรเครดิต #บริหารหนี้ #เงิน #หนี้
โฆษณา