25 เม.ย. เวลา 15:00 • ไลฟ์สไตล์

ออมเงินให้ตัวเราในอนาคตอยากกลับมาขอบคุณเราในวันนี้ หยุดความคิด 'อนาคตยังไกล เดี๋ยวเก็บใหม่ก็ได้'

[บทบรรณาธิการ] ตัวเลขเป้าหมายการเงินของคุณในชีวิตคือเท่าไหร่?
หลายคนอาจจะตอบว่า 10 ล้าน 20 ล้าน 100 ล้าน ว่ากันไป
แต่ถ้าถามต่อว่า “ทำไมถึงต้องมีเท่านี้?”
หลายคนอาจจะไม่เคยคิดถึงคำถามนี้ เพราะรู้สึกว่า มีเยอะก็ดีมากกว่ามีน้อย ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายตัวเลขทางการเงินที่ตั้งเอาไว้
ผิดไหม? ไม่ผิดหรอกครับ
แต่มันอาจจะมีทางที่ดีกว่านี้
[[ #เป้าหมายการเงินที่มีความหมาย ]]
ครั้งหนึ่งก่อนที่ “พี่หนุ่ม-Money Coach” จะกลายเป็นมันนี่โค้ชเหมือนอย่างที่เรารู้จักกันในตอนนี้ เขาก็เคยสับสนเรื่องเป้าหมายการเงินของตัวเองมาก่อน
พี่หนุ่มเล่าในหนังสือ “Money 101” ว่าในงานสัมนาเรื่องการเงินครั้งหนึ่งเคยถูกไมค์จ่อปากถามว่า “เป้าหมายการเงินของคุณคืออะไร?”
ตอนนั้นพี่หนุ่มตอบไปว่า “100 ล้านภายใน 5 ปี”
ประเด็นคือเขาไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าทำไมถึงอยากมีเงิน 100 ล้าน
หลังจากวันนั้นเขาก็มานั่งถามตัวเองว่าที่จริงแล้วอยากได้ 100 ล้านจริงๆ เหรอ?
ทั้งๆ ที่จริงแล้ว วิถีชีวิตหรือความต้องการของตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินขนาดนั้นก็ได้
หลังจากนั่งเขียนสิ่งที่จะเอาเงิน 100 ล้านไปซื้อบนกระดาษ A4 พี่หนุ่มก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น ขีดฆ่าออกไปก็หลายอัน เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่มีก็ไม่ตาย หรือมีก็ไม่ได้มีความสุขอะไรขนาดนั้น
รายการบนกระดาษ A4 แผ่นนั้น เหลือแค่ไม่กี่อย่าง
สุดท้ายก็เริ่มตกผลึกว่า
“คนเราต้องตั้งเป้าหมายชีวิตเสียก่อน แล้วจึงตั้งเป้าหมายการเงิน ไม่ใช่เอาเป้าหมายการเงินเป็นตัวตั้ง
เริ่มต้นจากกำหนดรูปแบบชีวิตที่ต้องการให้ชัดเจนเสียก่อน ตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ต้องการใช้ชีวิตแบบไหนอย่างไร" แล้วจึงค่อยมาดูว่า "รูปแบบชีวิตที่อยากได้นั้น จำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน””
เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วถ้าเป็นเรื่องเป้าหมายการเงิน ขั้นตอนแรกที่เราต้องทำคือมีเป้าหมายก่อนว่าชีวิตที่อยากได้นั้น หน้าตามันเป็นยังไง แล้วค่อยดูว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่
อาจจะเป็นการซื้อบ้านให้แม่อยู่สักหลัง อาจจะเป็นที่ดินสักผืนเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่บ้านต่างจังหวัด อาจจะเป็นเงินก้อนสำหรับการไปเรียนต่อต่างประเทศ ฯลฯ
เมื่อมีตัวเลข xx บาทในหัว และ เหตุผลว่าทำไมต้องมีตัวเลข xx บาท ตอนนี้เป้าหมายการเงินนั้นก็มี ‘ความหมาย’ เข้ามาผูกด้วย
หากเป้าหมายเป็นเพียงแค่ตัวเลข ไม่ได้มีความหมายอะไร เราอาจจะคิดว่า ‘อนาคตยังอีกไกล เดี๋ยวค่อยเก็บใหม่ก็ได้’ แล้วก็ใช้เงินไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่ชัดเจน
แต่เมื่อนั้นเป้าหมายชัด มันจะส่งผลไปถึงพฤติกรรมและการตัดสินใจของเราเรื่องเงินทันที
เราจะแยกออกระหว่าง “สิ่งที่จำเป็น” กับ “สิ่งที่อยากได้”
เริ่ม ‘วางแผนการเงิน’ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ การใช้จ่ายแต่ละครั้งก็จะเริ่มมีเหตุผลมารองรับ
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราอยู่ในโลกที่ความสุขแบบเฉียบพลันสามารถซื้อหาได้ด้วยการแตะหน้าจอเพียงไม่กี่ครั้ง ไม่นานของพวกนี้จะมาถึงหน้าบ้าน
แม้การจ่ายเงินเล็กๆ น้อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองจะช่วยให้เรารู้สึกดี แต่การบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ยิ่งใหญ่นั้นจะทำให้เราฟินกว่าหลายเท่าเลย เพราะมันมีความหมายต่อเรามากกว่า
มีคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า ‘ทำวันนี้ให้ตัวเราในอนาคตจะต้องกลับมาขอบคุณ’
ประโยคนี้ใช้ได้กับทุกเรื่อง ความสัมพันธ์ สุขภาพ การงาน และโดยเฉพาะการเงิน
เชื่อสิว่าหากเราสามารถเก็บออมเงินหรือลงทุนจนไปถึงเป้าหมายได้ ตัวเราในอนาคตต้องอยากกลับมาขอบคุณเราในวันนี้อย่างแน่นอน
[[ #ทำยังไงไม่ให้ตบะแตก ]]
ยิ่งเป้าหมายใหญ่ ยิ่งต้องใช้เวลานานขึ้น และการใช้ชีวิตโดยใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นอย่างเดียว โดยไม่มีความสุขกับเงินที่หามาเลยก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
อดกลั้นนานๆ จนทนไม่ไหว เราอาจจะตัดสินใจพลาดแล้วใช้เงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังอีกเลยก็ได้ (ลองคิดถึงคนที่อดอาหารนานๆ แล้วโยโย่กินแหลกก็ได้ครับ)
แล้วระหว่างทางที่ไปถึงเป้าหมายการออมเงินนี้จะทำยังไงไม่ให้ตบะแตกไปเสียก่อน?
มีเทคนิคหนึ่งจากหนังสือการเงินชื่อ “How to Money” ที่บอกว่าระหว่างทางให้เรา ‘ฉลองกับความสำเร็จเล็กๆ’ ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะช่วยทำให้เรายึดมั่นในเส้นทางสู่เป้าหมายใหญ่และเพิ่มโอกาสในการไปถึงเป้าหมายนั้นได้
ทำยังไง? ยกตัวอย่างเช่นคุณมีเป้าหมายเก็บเงิน 100,000 บาท เพื่อจะดาวน์รถยนต์มือสองสักคันหนึ่ง
สมมุติคุณเก็บเงินได้เดือนละ 5,000 บาท นั่นก็หมายความว่าจะต้องใช้เวลา 20 เดือน
ทีนี้ระหว่างทางเราอาจจะตั้งเป้าเพื่อฉลองเล็กๆ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเก็บเงินได้ 30,000 บาท จะขอกินอาหารญี่ปุ่นสักมื้อ หรือ เมื่อเก็บได้ครบ 50,000 บาท จะซื้อกางเกงยีนส์ตัวใหญ่ที่เล็งไว้สักตัวหนึ่ง อะไรประมาณนี้
คือรางวัลก็อย่าไปเว่อร์จนเงินหายไปทั้งก้อน เอาที่มันพอดี นิดๆ หน่อยๆ ถือเป็นกำลังใจให้ตัวเอง
[[ #บันไดสามขั้นของการออมเงินเพื่อไปถึงเป้าหมาย ]]
บันไดสามขั้นสู่การตั้งเป้าหมายการเงินให้สำเร็จ
1. ระบุเป้าหมายให้ชัดเจน เอาไปทำอะไร พร้อมเขียนกำกับว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่
2. กำหนดกรอบเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย
3. ลองคำนวณ: หารจำนวนเงินด้วยระยะเวลา ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่เป็นเป้าหมาย เพื่อให้ได้เงินก้อนเล็ก ๆ ซึ่งเราเรียกเงินจำนวนนี้ว่า ค่ามาตรฐาน (benchmarks)
ตัวอย่างเช่น
ต้องการเก็บเงินไปเที่ยวกับเพื่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ทริปนี้ต้องใช้เงิน 10,000 บาท ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
เราสามารถคำนวณได้ว่า 10000 บาท ต่อ 3 เดือน = 3,333 ต่อเดือน หรือ 833 บาทต่อสัปดาห์
เราอาจออมเงินจำนวนนี้ทุกสัปดาห์ (หากทำได้ ตั้งโอนเงินก้อนนี้เก็บในแอปฯธนาคารเป็นอัตโนมัติเลย) หรือถ้าไม่ได้เปิดบัญชีเอาไว้ก็แบ่งเงินส่วนนี้ไปเก็บไว้ในลิ้นชักหรือที่ซ่อนอื่น ๆ เพื่อช่วยหักห้ามใจไม่หยิบเงินไปใช้ได้ง่าย ๆ
ถ้าเป็นเป้าหมายการเงินระยะยาวก็สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ หาช่องทางการนำเงินนั้นไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยด้วย
ส่ิงที่ต้องคำนึงคือต้องดูเป้าหมายและระยะเวลา เช่นหากเป็นเงินค่าเทอมลูกที่ต้องใช้ในอีก 5-10 ปี ก็ต้องเก็บไว้ในที่ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่นธนาคารหรือพันธบัตรรัฐบาล
หากเป็นเงินก้อนเป้าหมายเพื่อการลงทุนการเกษียณ 20-30 ปี ก็อาจจะเสี่ยงสูงขึ้นมาหน่อยเช่นกองทุน หรือ หุ้น (ตามความรู้และความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราด้วย)
[[ #สร้างนิสัยการออมเงิน ]]
การออมเงินเริ่มได้เท่าที่มี ไม่จำเป็นต้องเริ่มเยอะ มีเท่าไหร่ก็เริ่มเก็บออม
สิ่งสำคัญคือการฝึกวินัยการออม หัวใจของมันคือทำจนติดเป็นนิสัย
หากทำเองไม่ได้ ก็ลองตั้งแอปธนาคารให้โอนเงินเก็บเอาไว้ในบัญชีเป็นรายสัปดาห์แบบอัตโนมัติก็ได้
เหมือนเด็กที่ค่อยๆ เรียนรู้และฝึกนิสัยการเงินของตัวเองให้ดีขึ้น
ในหนังสือ “How to Money” บอกว่า เคล็ดลับในการสร้างนิสัยการเงินที่ดี 3 ข้อคือ
1. ทำให้เป็นกิจวัตร : อย่างเช่นเราอยากจะสร้างนิสัยการออกกำลังกาย เราไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองให้วิ่งมาราธอนได้ในเช้าวันพรุ่งนี้ แต่ลองตั้งเป้าง่ายๆ ดู เช่นออกไปเดินในหมู่บ้านวันละ 5 นาที 3 วันต่อสัปดาห์
ทำให้มันง่าย จนชนิดที่ว่าไม่มีทางเลยที่จะทำไม่ได้
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Micro Habits’
หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ทำให้ยาวขึ้นทีละนิด บ่อยขึ้น จนติดเป็นนิสัย
การเงินก็เช่นกัน ออมทีละนิดวันละ 10 บาท 20 บาท แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
เจมส์ เคลียร์ (James Clear) นักเขียนหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง ‘Atomic Habits’ บอกว่า
"นี่คือความจริงที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับนิสัยซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม นั่นคือนิสัยจำเป็นต้องถูกสร้างขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับปรุงให้ดีขึ้น มันจะต้องมีมาตรฐานในชีวิตของคุณก่อน จากนั้นคุณจึงจะสามารถขยายและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้กลายเป็นสิ่งที่ดียิ่งขึ้นไปได้"
"เรามักจะมุ่งเน้นไปที่การหาโปรแกรมออกกำลังกายที่ดีที่สุด กลยุทธ์การขายที่สมบูรณ์แบบ แผนการควบคุมอาหารที่ดีที่สุด - เรามุ่งเน้นไปที่การทำให้ดีที่สุดมากเกินไป จนลืมอนุญาตให้ตัวเองเริ่มต้นแม้เพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว”
2. จับคู่กับสิ่งที่เราชอบ : เช่นเราอยากเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาท แต่รู้สึกว่ามันยากจัง ก็ลองย่อยเงินก้อนนั้นให้เล็กลง เป็นสัปดาห์ละ 1,250 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ดูเป็นไปได้
ทีนี้ทุกครั้งที่เราโอนเงินก้อนนี้ไปเก็บ เราก็อาจจะอนุญาตให้ตัวเองทำสิ่งที่ชอบอย่างหนึ่งเล็กๆ เช่นดื่มกาแฟจากร้านโปรด หรือ กินไอศกรีมที่ชอบสักก้อนหนึ่ง
มันเป็นการปรับทัศนคติให้มองว่ากิจกรรมที่เราทำนั้นไม่ได้เลวร้ายนัก และมันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ
3. ยอมรับความผิดพลาดและก้าวต่อไป : เราทุกคนล้วนเคยผิดพลาด เผลอออกนอกลู่นอกทางบ้างเป็นธรรมดา อย่าโบยตีตัวเองเกินไป อย่าดูถูกตัวเอง อย่าไปคิดว่าตัวเองล้มเหลวและจะไม่มีทางทำได้
เมื่อผิดพลาดให้ยอมรับ อย่าปล่อยปละละเลย มองมันเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าจะดีกว่า
ตอนนี้ไม่ว่าเป้าหมายการเงินของคุณจะเป็นเท่าไหร่ ขอให้มันเป็นเป้าหมายที่มีความหมาย และเริ่มออมเงินให้ตัวเราในอนาคตอยากกลับมาขอบคุณเราในวันนี้กันเถอะครับ
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#การเงินส่วนบุคคล #เป้าหมายการเงิน #การเงินต้องเริ่มที่ทำไม #MoneyStorytelling #ออมเงิน #personalfinance
โฆษณา