28 เม.ย. เวลา 05:29 • กีฬา

อีกก้าวเดียว อินโดนีเซีย หนึ่งเดียวจากอาเซียนกำลังจะได้ไปโอลิมปิก

ทีมชาติอินโดนีเซียกำลังจะได้ไปโอลิมปิก บอกตามตรงว่าผมรู้สึกดีครับ
จริงอยู่ ก็เบื่อพวกชาวเน็ตอินโดนีเซียที่อวดโอ่อยู่บ้าง แต่ในภาพรวม มันเป็นเรื่องดีของวงการฟุตบอลอาเซียน ที่หนึ่งในสมาชิกกำลังจะได้ไปอีเวนต์ที่ใหญ่ขนาดนั้น
อิจฉาไหม? ใช่ ก็อิจฉาครับ เพราะอยากเห็นไทยไปโอลิมปิกเหมือนกัน แต่ผมคิดว่า เราควรยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นมากกว่า และถ้าวงการฟุตบอลอาเซียนประสบความสำเร็จ มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้ชาติอื่นๆ ในภูมิภาคของเรา มุ่งมั่นยิ่งกว่าเดิมด้วย
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่บ้าฟุตบอล แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติเลย
ตั้งแต่ฟุตบอลโลกก่อตั้งในปี 1930 มีตัวแทนอาเซียนเคยไปรอบสุดท้ายแค่ครั้งเดียว คือ อินโดนีเซีย (ในชื่อ ดัตช์ อีสต์ อินดีส์ ปี 1938)
1
ส่วนในโอลิมปิกเกมส์ เคยมีชาติอาเซียนเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 6 ครั้ง ได้แก่
1956 - อินโดนีเซีย, ไทย
1968 - ไทย
1972 - เมียนมาร์, มาเลเซีย
1980 - มาเลเซีย
จะเห็นได้ว่า ชาติในอาเซียนได้ไปบอลโลก และ โอลิมปิก น้อยมากๆ โดยในโอลิมปิกนั้น นับจากวันนี้ก็ 44 ปีเต็มแล้ว ที่ไม่มีชาติจากอาเซียนหลุดเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายได้เลย
ดังนั้นผมจึงเชียร์อินโดนีเซีย ตัวแทนที่เหลืออยู่ ให้เข้ารอบลึกที่สุด ไปเล่นโอลิมปิกให้ได้ คือเวลาเจอกันเองใน AFF ก็อยากให้ไทยกดอินโดฯให้ยับ แต่พอเป็นระดับเอเชีย ผมเลือกที่จะให้กำลังใจพวกเขาแทนครับ อยากให้สายตาของภูมิภาคอื่น ให้การยอมรับอาเซียนมากขึ้นกว่านี้
สำหรับทีมชาติอินโดนีเซีย ก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่ม สหพันธ์ฟุตบอลอินโดนีเซีย ตั้งเป้าว่า "ขอผ่านรอบแบ่งกลุ่มให้ได้" แค่นั้นเอง แต่ตัวเฮดโค้ช ชิน แต-ยัง บอกว่าเขามีเป้าหมายส่วนตัว นั่นคือ "ไปถึงรอบรองชนะเลิศ" ซึ่งตอนชิน แต-ยัง ประกาศออกมา ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำได้จริง
การจับสลากมาอยู่สายเดียวกับ กาตาร์ เจ้าภาพ, ออสเตรเลีย และ จอร์แดน หลายคนคิดว่าอินโดนีเซียเสร็จแน่ เป็นบ๊วยแน่ เพราะพวกเขาไม่เคยมาเล่นรายการชิงแชมป์อาเซียนชุด u-23 มาก่อนเลย
แต่พอลงแข่งเข้าจริงๆ อินโดนีเซียลบคำสบประมาทได้หมด เมื่อชนะทั้งออสเตรเลีย และ จอร์แดนในรอบแบ่งกลุ่ม
ตามด้วยการโค่นเกาหลีใต้ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้จากจุดโทษ คือเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีแพสชั่นสุดๆ ในโอลิมปิก เพราะถ้าได้เหรียญในโอลิมปิก นักบอลทั้งทีมจะถูกยกเว้นการเกณฑ์ทหาร (เคยทำได้มาแล้วในปี 2012) คิดดูว่าเกาหลีใต้จริงจังขนาดนั้น ยังเอาชนะอินโดนีเซียทีมนี้ไม่ได้
จุดแข็งที่ทำให้อินโดนีเซีย ทั้งชุดนี้รวมถึงชุดใหญ่ เก่งขึ้นผิดหู ผิดตา คือการนำนักเตะโอนสัญชาติจากเนเธอร์แลนด์มาเล่นให้กับทีม
ในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย พวกเขาเคยเป็นเมืองขึ้นของพวกดัตช์มาสามร้อยกว่าปี นั่นทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน และมีผู้อพยพจากอินโดนีเซียไปตั้งรกรากที่เนเธอร์แลนด์มาอย่างต่อเนื่อง
หลายคนเมื่ออพยพไปแล้ว ก็กลายเป็นคนเนเธอร์แลนด์ไปเลย ถือพาสปอร์ตเนเธอร์แลนด์ แม้จะมีเชื้อสายอินโดก็ตาม โดยคนกลุ่มนี้ มีชื่อเรียกว่า อินโด-ดัตช์ มีการประเมินคร่าวๆ ว่ามีจำนวน 1.5 ล้านคน ณ ปัจจุบัน
กลยุทธ์ของสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย คือไปตามล่าหานักเตะ อินโด-ดัตช์ มาเล่นให้กับทีมชาติ
นักเตะอินโด-ดัตช์บางคน ถ้าเก่งพอจะติดทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ก็จะเลือกเนเธอร์แลนด์อยู่แล้ว เช่น จอห์น ไฮติงก้า, โจวานนี่ ฟาน บรองฮอร์ส, ไนเจล เดอ ยอง หรือ รอย มาคาย เป็นต้น
1
แต่สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียจะพยายาม "ช้อน" กลุ่มที่เก่งรองๆ ลงไป บอกว่าถ้าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ไม่สนใจ แต่อินโดนีเซียพร้อมเสมอ ถ้าคุณอยากสัมผัสประสบการณ์ฟุตบอลในระดับนานาชาติ นี่คือโอกาสทองแล้ว
จะสังเกตได้ว่า สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ไม่ใช่ว่าโอนสัญชาติใครก็ได้ ไม่เหมือนสิงคโปร์ ที่โอนอเล็กซานเดอร์ ดูริช (บอสเนีย) หรือจีน ที่โอนเอลเคสัน (บราซิล) มาติดทีมชาติตัวเองดื้อๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีเชื้อสายอะไรกันเลย
คือถ้าโอนตัวบราซิลมาแบบนั้น แฟนบอลอินโดนีเซียเองก็รับไม่ได้ แต่กับกรณีของอินโด-ดัตช์ มันอยู่ในวิสัยที่รับได้ เพราะอย่างน้อยนักเตะคนนั้นก็มีเลือดเนื้อของชาวอินโดนีเซียในตัว
การเจรจาของสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ต้องใช้ฝีมือเช่นกัน อินโดนีเซียยึดหลักการ Singular Citizenship ประชาชนอายุ 21 ปีขึ้นไป จะเลือกสัญชาติได้แค่หนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถถือสัญชาติอื่นได้ด้วย
แปลง่ายๆ คือ ถ้าคุณอยากเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซีย คุณต้องเข้าพิธีสาบานตนเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย แล้วสละสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนี่แหละ คือเรื่องที่สมาคมฯ ต้องทำ คือเกลี้ยกล่อมให้นักเตะอินโด-ดัตช์คนนั้น ยอมที่จะทิ้งสัญชาติเนเธอร์แลนด์ แล้วเลือกเป็นคนอินโดนีเซียแทน
นั่นคือเหตุผลที่เวลาเราพูดถึงนักเตะกลุ่มนี้ ในภาษาอินโดนีเซียคือ naturalisasi หรือ "โอนสัญชาติ" ไม่ใช่ "ลูกครึ่งหรือลูกเสี้ยว" เพราะรัฐบาลจะยอมให้นักเตะอินโด-ดัตช์ เล่นให้ทีมชาติได้ ก็ต้องโอนมาเลย เปลี่ยนจากดัตช์ เป็นอินโดโดยสมบูรณ์เท่านั้น
การตามล่านักเตะอินโด-ดัตช์ อย่างหนักหน่วง และมีข้อเสนอสุดพิเศษให้มากมาย ทำให้สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ได้นักเตะอินโด-ดัตช์ มาเสริมทัพเรื่อยๆ และส่งลงเล่นทั้งทีมชาติชุดใหญ่และชุด u-23
นักเตะอินโด-ดัตช์ 4 คน ที่อยู่กับทีม u-23 ประกอบไปด้วย
- ราฟาเอล สไตรค์ (เดน ฮาก)
- นาธาน โจ-เอ-ออน (เฮเรนวีน)
- จัสติน ฮุบเนอร์ (เซเรโซ่ โอซาก้า)
- อิวาร์ เจนเนอร์ (อูเทรกต์)
ถ้าคุณมีผู้เล่นดีกรีลีกดัตช์ และเจลีก ลงสนามแบบนี้ ก็ย่อมสร้างความแตกต่างได้แน่นอน ไม่แปลกเลยที่อินโดนีเซียจะแข็งแกร่งอย่างก้าวกระโดด
เรื่องการเฟ้นหานักเตะโอนสัญชาติแบบนี้ ต้องบอกว่าเป็นเงื่อนไขที่ทีมชาติไทยไม่สามารถทำขนาดนั้นได้ กล่าวคือ เราอาจมีกลุ่มลูกครึ่ง ที่พ่อหรือแม่ ไปแต่งงานกับคนยุโรปแล้วใช้ชีวิตที่นั่น แต่ไม่ได้มีปริมาณรวมแล้วเป็นล้านๆ คนแบบเชื้อสายอินโด-ดัตช์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ไปแล้ว
ส่วนตัวผมคิดว่า สิ่งที่อินโดนีเซียทำก็ไม่ผิด ถ้าสมาคมอยากได้จริงๆ ขณะที่นักเตะยอมรับได้ที่จะทิ้งสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เมื่อทุกอย่างมันถูกต้องตามกฎฟีฟ่า ใครๆ ก็ไม่มีสิทธิ์อะไรจะไปต่อว่าอินโดนีเซีย
นอกจากความสำเร็จเรื่องการโอนสัญชาติแล้ว สิ่งที่ส่งเสริมอินโดนีเซียอย่างมากในเอเชียนคัพ u-23 ครั้งนี้ คือสโมสรยอมปล่อยนักเตะเยาวชนมาช่วยทีมชาติ ทั้งๆ ที่ ไม่ใช่ช่วงฟีฟ่าเดย์
ตัวอย่างเช่น จ่าฝูงบอร์เนียว ส่งนักเตะ u-23 ถึง 4 คนให้กับทีมชาติ ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของซีซั่น รวมถึงนักเตะที่เล่นลีกต่างแดน สมาคมก็ไปล็อบบี้สโมสรให้ยอมปล่อยตัวมาช่วยทีมชาติได้สำเร็จ
มูฮัมหมัด เอเลียส สภากรรมการของสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย อธิบายว่า "เราไม่ต้องการแค่ไปเข้าร่วมในทัวร์นาเมนต์ ดังนั้นเราต้องเพิ่มความเป็นไปได้สูงสุดที่จะเข้ารอบลึกๆ เราจึงขอความช่วยเหลือจากสโมสรให้ปล่อยตัวผู้เล่น u-23 ให้ทีมชาติใช้งาน"
อินโดนีเซียทำได้อย่างไร? ตอนแรกสุด เอริค ธอเฮียร์ นายกสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย สั่ง "ปิดลีก" ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนกว่าทีมชาติ u-23 ตกรอบ แต่สุดท้ายพอคุยกับสโมสรต่างๆ จึงเปลี่ยนไอเดีย ให้บอลลีกเริ่มแข่งขันได้ตั้งแต่ 15 เมษายนเป็นต้นไป เพราะถ้าหยุดยาวเกินไป โปรแกรมต่างๆ ในบอลสโมสรก็จะวุ่นวายมาก อย่างไรก็ตาม ทุกทีมต้องส่งผู้เล่นมาให้ตามที่ชิน แต-ยัง เฮดโค้ชทีมชาติร้องขอ
สุดท้ายทุกๆ ทีมก็ยอม เพราะสมาคมชัดเจนว่าทีมชาติต้องสำคัญที่สุด
เฟอร์รี่ เปาลัส ผู้อำนวยการอินโดนีเซียลีก อธิบายว่า "การตัดสินใจทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับประโยชน์ของทีมชาติเป็นอันดับหนึ่ง การมีอยู่ของฟุตบอลลีกของเรา ก็เพื่อยกระดับทีมชาติให้แข็งแกร่งขึ้น"
เมื่อชิน แต-ยัง ได้ผู้เล่นที่ตัวเองต้องการครบ คนเป็นโค้ชก็ทำงานง่าย พอเห็นลิสต์รายชื่อผู้เล่น เขากล่าวขอบคุณนายกสมาคมที่ช่วยจัดการทุกอย่างให้ จนมีนักเตะพร้อมใช้งานครบมือแบบนี้
---------------------------
บทสรุปในความสำเร็จของอินโดนีเซีย คือการทำงานอย่างหนักของทีมงานหลังบ้าน
การติดต่อเจรจา ดึงผู้เล่นอินโด-ดัตช์ เกลี้ยกล่อมให้พวกเขาเหล่านั้น เห็นข้อดีถึงการเล่นให้อินโดนีเซีย และยอมโอนสัญชาติในที่สุด
ใช่ วิธีการนี้มันดูเป็นทางลัดก็จริง แต่ในเมื่อมีหนทาง ที่จะสร้างให้ทีมประสบความสำเร็จได้ทันที แถมทำถูกกติกาฟีฟ่า ทำไมพวกเขาจะไม่ทำล่ะ
อีกอย่าง นักเตะก็มีเชื้อสายอินโดนีเซียทุกคนนะ ไม่ใช่ไปเอาใครก็ไม่รู้เสียหน่อย
นอกจากนั้น การหาจุดลงตัวให้สโมสรยอมปล่อยผู้เล่นออกมาให้ทีมชาติใช้งาน นี่คือฝีมือของทีมงานสมาคมล้วนๆ
คุณสามารถวางแผนล่วงหน้าเป็นปีๆ เพื่อให้ปิดลีกช่วงนี้ได้ แต่ถ้าไม่ทำแบบนั้น ก็ต้องรู้วิธีเจรจา ว่าทำอย่างไร เจ้าของสโมสรเขาถึงต้องยอมปล่อยนักเตะตัวเองนอกฟีฟ่าเดย์
สุดท้ายอินโดนีเซียทำได้ สมาคมช่วยให้โค้ชชิน แต-ยัง มีอาวุธครบมือ เมื่อไปรบกับใครก็มีลุ้นชนะง่ายกว่า
ถ้าเราโยงกับทีมชาติไทยนั้น ประเด็นเรื่องการ Recruit นักเตะจากยุโรป เราก็กำลังทำกันอยู่ นั่นคือเหตุผลที่เราได้ตัวเอราวัณ กานิเยร์มาครอง ในทัวร์นาเมนต์ที่ผ่านมา
แน่นอนเราคงมี Pool จำนวนนักเตะลูกครึ่ง ไม่เท่า อินโด-ดัตช์ แต่ถ้าเราได้ตัวคุณภาพแบบเอราวัณ หรือ นิโคลัส มิคเคลสัน มาบ้างล่ะก็ ทีมชาติไทยก็จะแกร่งขึ้นแน่นอน
เราก็ควานหานักเตะกลุ่มนี้ไป พร้อมๆ กับ พัฒนาระบบเยาวชนของไทยลีกไปด้วย หาผู้เล่นจาก 2 ด้านขนานกันไปเลย
ขณะที่เรื่องการร่วมมือของสโมสรนั้น ยังไงก็เป็นส่วนสำคัญกับทัวร์นาเมนต์ทีมชาติที่ไม่ใช่ฟีฟ่าเดย์
ฝีมือของอิสสระ ศรีทะโร เราก็ดีเบทกันได้ว่าเก่งหรือไม่เก่ง แต่สิ่งที่เราต้องเห็นใจเขา คือทัวร์นาเมนต์ใหญ่ขนาดนี้ แต่ไม่มีตัวผู้เล่นระดับท็อปไว้ใช้งานเลย คือสู้ได้ เท่าที่พอกำลังจะมี
หากเขามีศุภณัฏฐ์ เหมือนตา, ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว, อนันต์ ยอดสังวาลย์, โจนาธาร เข็มดี, ยศกร บูรพา, ธนกฤต โชติเมืองปัก ฯลฯ เอาไว้ใช้งานครบครันล่ะก็ อย่างน้อยก็น่าจะสู้ได้ดีกว่านี้ เราคงไม่โดนซาอุฯ ยำ และไม่แพ้ทาจิกิสถานด้วยทรงนั้น
ไปรบ แต่ไม่มีกระสุนปืนเพียงพอ มีแต่ใจสู้ ก็มีแต่จะตายในสนามรบเท่านั้นเองครับ
บทเรียนของเราในเอเชียนคัพ u-23 ครั้งนี้ คืออนาคตต่อไป ในอีเวนต์สำคัญนอกฟีฟ่าเดย์ แบบคัดโอลิมปิกขนาดนี้ เราก็น่าจะวางแผนล่วงหน้ากันหน่อย และจัดลำดับความสำคัญให้ดี
ฟุตบอลนอกฟีฟ่าเดย์พวกซีเกมส์เนี่ยะ ไม่ต้องไปสนมากก็ได้ แต่คัดโอลิมปิกมันก็อีกเรื่องหนึ่ง
ยุคของพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ทำให้เห็นแล้วว่า การไม่จัดความสำคัญอะไรเลย ไม่วางแผนล่วงหน้า มันทำให้ทัวร์นาเมนต์ของเราพังพินาศได้อย่างไร ซึ่งบทเรียนครั้งนี้ มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ก็คงไม่ทำซ้ำอีก
สุดท้ายนี้ ขอดีใจกับอินโดนีเซียอย่างแท้จริง ที่เข้ารอบรองชนะเลิศ เอเชียนคัพ u-23 ได้ อวยพรให้ไปโอลิมปิกให้ได้ อีกก้าวเดียวเอง อยากให้ทีมอาเซียนไปเปล่งประกายในอีเวนต์ใหญ่แบบนั้นสักที
2
ส่วนทีมชาติไทย ก็จะเรียนรู้กันต่อไป และสักวันหนึ่ง ถ้าหากทุกอย่างที่เราทำ มันลงล็อกล่ะก็ โอลิมปิกที่รอคอยมาแสนนาน คงจะไม่ใช่แค่ความฝันเท่านั้น
โฆษณา