1 พ.ค. เวลา 12:00 • การ์ตูน

อนิเมะประจำฤดูใบไม้ผลิ 2024

หลังจากอนิเมะประจำฤดูหนาว 2024 จบไปพร้อมกับอนิเมะชั้นยอดมากมาย ผมไม่คิดว่าฤดูใบไม้ผลิจะมีอนิเมะเรื่องอะไรน่าดูอีกนอกจากเรื่องที่ฉายต่อมาจากฤดูกาลที่แล้วอย่าง Delicious in Dungeon หลังจากชั่งใจอยู่นานว่าจะดูเรื่องอะไรบ้าง สุดท้ายกลายเป็นว่ารายชื่ออนิเมะที่จะเริ่มดูในฤดูกาลนี้มีมากกว่าที่คิด และก็น่าสนใจไม่น้อย ดังนั้น ผมอยากจะมาแบ่งปันรายชื่ออนิเมะที่ผมดุในฤดูใบไม้ผลิ ประจำปี 2024 นี้เช่นเคยครับ
เนื่องจากว่ารายชื่อมันเยอะกว่าที่ผมคิดเอาไว้ และไม่ค่อยมีเวลาว่างเขียนอะไรแบบนี้มากเท่าที่ผ่านมา ผมจะไม่พูดพร่ำทำเพลง แล้วเริ่มที่เรื่องแรกกันเลยนะครับ
Bartender: Glass of God
Bartender: Glass of God
ผมไม่สามารถดื่มค็อกเทลได้ เพราะว่าไม่ชอบ ผมเคยลองแล้ว แต่ผมสนใจไปทางเบียร์และวิสกี้โดยตัวของมันเองมากกว่า ค็อกเทลที่พอจะสามารถดื่มได้มีแค่ ไฮบอล กับ จินแอนด์ทอนิคเท่านั้น แต่มันก็ไม่ใช่เครื่องดื่มที่ผมจะเลือกโดยทั่วไป ถึงกระนั้น ผมก็ไม่ได้เหินห่างจากวัฒนธรรมบาร์เท่าไหร่ เพราะเพื่อนที่ไทยมักจะชวนไปบาร์แปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ผมก็ติดไปด้วย แต่ก็มักจะไม่ได้สั่งค็อกเทล
อนิเมะเรื่อง Bartender: Glass of God เป็น remake ของ Bartender ที่เริ่มฉายเมื่อปี 2006 เป็นอนิเมะที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน และแน่นอนว่า หากมันเป็น remake ผมก็เกิดความสนใจขึ้นมาว่ามันเป็นอนิเมะแบบไหนถึงขั้นมี remake หลังจากฉบับดั้งเดิมฉายไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
Bartender ฉบับ 2006
อีกเหตุผลที่ผมตัดสินใจเริ่มดูเรื่องนี้ เพราะว่าคุณภาพของภาพวาดฉายขวดเหล้าในเรื่องนี้ครับ ผมชอบวิสกี้แทบจะเป็นงานอดิเรก (ซึ่งเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่ผมมีร่วมกับคุณพ่อของผม) อาจจะเริ่มจากความเหงาของผมที่ลอนดอนเมื่อสองสามปีที่แล้วที่ผมเริ่มเข้าวงการนี้ ทำให้ผมรู้จักวิสกี้เยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ (แต่ก็ไม่ได้มีนิสัยติดเหล้าแต่อย่างใดนะครับ) ประเด็นคือ เรื่องนี้วาดขวดเหล้าสวยเหมือนของจริงครับ และผมตื่นเต้นที่เห็นวิสกี้ที่ผมชอบอยู่ในอนิเมะ
อนิเมะ Bartender เป็นอนิเมะแบบ Episodic เล่าเรื่องของบาร์เท็นเดอร์ชื่อ ซาซาคุระ ริว ผู้มีฉายาแก้วแห่งพระเจ้า เขาไม่เพียงแต่ทำค็อกเทลเก่งระดับโลกแล้ว แต่ยังมีฝีมือในการอ่านคนในแง่อารมณ์และความรู้สึก ทำให้เขาเกิดความเข้าใจในตัวลูกค้าได้อย่างดี และสามารถทำค็อกเทลที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคนได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเยียวยาจิตใจลูกค้ามากปัญหาชีวิตที่แวะเวียนเข้ามาในบาร์ที่เขาทำงานอยู่
โดยทั่วไปแล้วผมมีความชื่นชอบเรื่องราวของคน โดยเฉพาะเรื่องราวแปลก ๆ เรื่องราวเหล่านั้นเป็นจุดที่ทำให้ผมสนใจอนิเมะที่มีเนื้อหาที่มีความเป็นมนุษย์อย่างมาก อาจจะเพราะในชีวิตของผมไม่ได้น่าสนใจอะไรมากมาย แต่สิ่งที่ขัดแย้งกันคือความไม่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่นหากเขาไม่ได้ขอร้องให้ช่วยเหลือ การได้ดูอนิเมะหรืออ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับคนอื่นแบบนี้เป็นทางออกที่ดีสำหรับผมมาก
ผมมาอยู่ที่ต่างประเทศ และได้เจอกับเพื่อนดื่มคนหนึ่ง อายุใกล้ ๆ กันที่อีเวนต์ชิมวิสกี้ (แน่นอนว่าผมพลาดไม่ได้ มากไปกว่านั้น โดยเฉพาะในแลนด์มาร์กที่ผมอยู่) เพื่อนคนนี้เป็นชาวเยอรมัน บอกว่าเขาไม่ค่อยรู้จักวิสกี้เท่าไหร่ ผมเลยแนะนำให้เขารู้จักวิสกี้ หลังจากนั้นเราเจอกันบ่อยมากในผับ (แบบอังกฤษ) เพื่อชิมวิสกี้ใหม่ ๆ กัน เขาเป็นแฟนอนิเมะเหมือนกัน ผมเลยแนะนำเรื่องนี้ให้เขาดู เขากลับมาบอกผมว่าเขาชอบมาก ทั้งในมุมมองที่แปลกใหม่ เรื่องราวของคนธรรมดา และประสบการณ์การดื่ม
ข้อดีของเรื่องนี้มีมากมาย แต่ผมติดใจที่คุณภาพอนิเมชั่นมากพอสมควร ผมว่ามันแข็ง ๆ ทื่อ ๆ ไปหน่อย แบบไม่น่าเชื่อว่านี่เป็น remake ผมที่คิดว่าจะเลิกดู กลับกลายเป็นว่าเลิกดูไม่ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ มันเป็นอนิเมะเรื่องที่ดีเรื่องหนึ่งครับ สำหรับผม ผมใช้เรื่องนี้เพื่อวอร์มจิตวิญญาณดูอนิเมะรายสัปดาห์ในวันอาทิตย์ระหว่างกินข้าวเย็น
Spice and Wolf: Merchant meets the Wise Wolf
Spice and Wolf: Merchant meets the Wise Wolf
Bartender: Glass of God ไม่ใช่อนิเมะ remake เรื่องเดียวที่ผมดูในฤดูกาลนี้ Spice and Wolf: Merchant meets the Wise Wolf เป็น remake อีกเรื่องหนึ่งที่พลาดไม่ได้ เจ้าโฮโลเป็นตัวละครที่โด่งดัง แม้ว่าผมไม่เคยดูเรื่องนี้เมื่อเริ่มฉายในปี 2006 แต่ผมก็ยังรู้จักเลย ผมสนใจว่าทำไมเรื่องนี้กลายเป็นอนิเมะเรื่องโปรดของใครหลาย ๆ คนที่อายุใกล้ ๆ ผม
ผมต้องยอมรับตรง ๆ ว่าผมไม่มีหัวการค้าเลยแม้แต่น้อย ตั้งแต่ตอนเด็กที่โรงเรียนมีวิชาค้าขาย ให้นักเรียนทำหรือนำของมาขายหลังเลิกเรียน ผมมีปัญหามากกว่าคนอื่น ๆ ตรงที่ผมมักจะเป็นคนที่กลับบ้านช้าที่สุด เพราะว่าผมขายของไม่ได้ ผมเลยรู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าผมไม่เข้าใจวิชาค้าขายเลย นอกจากนี้ ผมไม่มีหัวในเรื่องเศษฐกิจเลยด้วย สิ่งที่เข้าใจมากที่สุดคือเรื่องอุปสงค์ อุปทาน และเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องอื่นที่อาจารย์ตอนมัธยมหนึ่งสอนไว้เมื่อนานมาแล้ว
ผมดูเรื่องนี้เพียงหวังว่าอนิเมะเรื่องนี้จะสอนผมในเรื่องที่ผมไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะ Spice and Wolf โดยแก่นแล้วเป็นเรื่องของเศษฐกิจและการค้าขาย เรื่องราวดำเนินโดยคู่หูในตำนานอย่างพ่อค้า Kaft Lawrence และหมาป่าเจ้าปัญญาอย่าง Holo ทั้งสองมาพบกันและร่วมเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วยกัน และระหว่างทางก็เจอเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมือง การค้า และเศษฐกิจ
เรื่องราวดำเนินไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่หูคู่นี้พร้อมทั้งอธิบายหลักการต่าง ๆ ที่ผมยังมองว่าเข้าใจยาก เป็นอนิเมะอีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะต้องย้อนกลับไปอ่านซับบ่อยมากเพราะอ่านรอบแรกไม่เข้าใจ ผมไม่เคยดูฉบับดั้งเดิมมาก่อน แต่พอจะสัมผัสได้ว่ามันมีอะไรมากกว่าแค่การเดินทาง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมืองระหว่างแดนและอิทธิพลของความเชื่อและศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเข้าใจดีกว่าเรื่องอื่น ๆ
Spice and Wolf ฉบับ 2006
ผมไม่สามารถกล่าวได้ในตอนนี้ว่าฉบับนี้หรือฉบับเก่าดีกว่ากัน แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือการนำเอานักพากษ์ฉบับดั้งเดิมกลับมาพากษ์ในฉบับใหม่ แม้ว่าผมจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการค้าและเศษฐกิจมากเท่าที่ควร แต่เพียงได้เห็นเจ้าโฮโล ผมก็อิ่มเอมใจแล้ว มันทำให้ผมเข้าใจระดับหนึ่งว่าทำไมตัวละครอย่างนางจึงเป็นที่รักยิ่งของแฟน ๆ อนิเมะมากมายทั่วโลก
Grandpa and Grandama Turn Young Again
Grandpa and Grandma Turn Young Again
แม้ว่าเรื่องที่ผมกล่าวมาข้างต้นจะไม่ได้มีเนื้อหาที่หนักหนาเท่าไหร่ (ผมไม่แน่ใจว่าฤดูกาลนี้จะมีเรื่องอะไรที่มีเนื้อหาหนัก ๆ ด้วยซ้ำ) แต่ผมก็จะต้องหาอนิเมะที่ดูแล้วหัวใจนุ่มฟูเหมือนกัน และเรื่องที่ผมเลือกหลังจากฤดูกาลนี้ผ่านมาแล้วสามสัปดาห์คือ Grandpa and Grandma Turn Young Again เป็นอนิเมะที่เหมาะสมกับความนุ่มฟูจริง ๆ
เรื่องนี้ไม่มีอะไรเลยครับ เรื่องราวเล่าเรื่องของปู่ย่าที่ทำไร่สวนแอปเปิลที่จังหวัดอาโอโมริ (ที่ขึ้นชื่อเรื่องแอปเปิล) วันหนึ่ง ปู่ย่าเจอผลแอปเปิลทองบนต้นไม้แก่ในไร่ของแก เมื่อทั้งสองกินเข้าไป ตื่นมาอีกวันหนึ่ง ทั้งสองกลับมาเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง
อนิเมะที่เรื่องนี้เป็นแนวคอมมีดี้ที่ผมคิดว่ามีจังหวะกำลังพอดี มันไม่ได้ฮาท้องแข็ง แต่ก็ทำให้ยิ่มกรุ้มกริ่มได้ เพราะปู่ย่าน่ารักต่อกันมาก ๆ ช่างเป็นความสันพันธ์ในอุดมคติจริง ๆ เลยนะครับ และนอกจากนี้ เมื่อทั้งสองกลับมาหนุ่มสาว แต่หัวใจยังเป็นคนแก่ การใช้ชีวิตก็แปลกไปอีกด้วย ได้ทำอะไรที่สมัยหนุ่มสาวไม่ได้ทำและแก่เกินไปที่จะทำ เหมือนว่าทั้งสองได้รับโอกาสใหม่มา นอกจากนี้ ตัวละครอื่น ๆ อย่างเช่นลูก ๆ หลาน ๆ ของปู่ย่าก็สมทบเรื่องราวได้อย่างดีด้วย
Hinamatsuri (เป็นอนิเมะที่พิเศษมาก ๆ เรื่องหนึ่งครับ แนะนำครับ)
หากต้องการอนิเมะที่ดูแล้วสบายใจ ไม่ต้องคิดมาก ดูไว้เพื่อพักผ่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมแนะนำอีกเรื่องเลยครับ อีกอย่าง สไตล์ภาพวาดมีความสดใหม่อีกด้วย ผมชอบแบบนี้ มันก็สดใสขี้เล่นดีครับ เป็นแนวภาพที่ทำให้ผมคิดถึงเรื่อง Hinamatsuri สุดท้ายนี้ผมต้องย้ำว่า ปู่ย่าน่ารักมากครับ ทำให้ผมคิดว่า เมื่อผมแก่ตัวไป ก็อยากจะเท่และน่ารักให้ได้ครั้งของคุณปู่เลยครับ
Kaiju No. 8
Kaiju No. 8
เอาละ อนิเมะสามเรื่องก่อนหน้าที่ที่ผมกล่าวไป ผมเอาไว้วอร์มร่างกายสำหรับการนั่งดูอนิเมะรวดเดียว แต่รายชื่อหลังจากนี้จะเป็นรายชื่อที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษครับ เริ่มที่ Kaiju No. 8 ซึ่งเป็นชื่อที่ผมได้ยินมานานมากแล้ว ผมไม่ได้สนใจไปอ่านมังงะ ทั้งที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง เพราะว่าแนวไคจูไม่ใช่แนวที่ผมชื่นชอบเท่าไหร่ ดังนั้น ผมเริ่มดูอนิเมะเรื่องนี้แบบไม่มีความรู้อะไรมาก่อนแล้ว
สิ่งที่ผมประทับใจอย่างแรกเลย คือพระเอกครับ เริ่มอย่างแรกเลย เขาชื่อว่า Kafka! แต่ก็ไม่ใช่ตัวละครญี่ปุ่นตัวแรกที่มีชื่อนี้นะครับ ตัวละครญี่ปุ่นตัวแรกที่ผมรู้คือ Kafka จากวรรณกรรมของมุราคามิ ฮารุกิชื่อ Kafka on the Shore (หนังสือเรื่องที่ผมชอบมากเรื่องหนึ่ง จากนักเขียนในดวงใจของผม) ผมคิดว่าชื่อนี้เหมาะสมมากเลยครับ
คาฟก้าเป็นชายที่ไม่หนุ่มแล้ว อายุปาเข้าไปสามสิบสองแล้ว ซึ่งนั่นเป็นอีกประเด็นที่ผมชอบครับ ตัวละครเอกในโชเน็นที่ไม่โชเน็นเหมือนชื่อ แทนที่จะเป็นตัวละครหนุ่มไฟแรง แต่กลับเป็นชายวัยกลางคนที่ผมแอบเข้าใจความรู้สึก เพราะผมเองก็ไม่ได้หนุ่มแล้วเหมือนกัน คาฟก้าทำงานอยู่ที่หน่วยกวาดล้าง ผมหมายถึง หนวยเก็บกวาดซากไคจู ช่างเป็นแนวทางชีวิตที่เหมาะสมกับชื่อคาฟก้ามากครับ
Franz Kafka
ชื่อนี้มาจากนักเขียนจากเมืองปราก ซึ่งผมมีโอกาสโชคดีได้เข้าไปเยี่ยมเยียนบ้านที่เขาเคยอาศัยอยู่ ชายนักเขียนชื่อว่า Franz Kafka เจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง Metamorphosis ที่เล่าเรื่องของชายวัยทำงานที่ทำงานไปวัน ๆ จนวันหนึ่งตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองกลายเป็นแมลงอะไรสักอย่าง เป็นผลงานที่จับจิตคนวัยทำงานที่มีชีวิตจำเจได้อย่างเหลือเชื่อครับ จนมีคำศัพท์ให้เป็นเกียรติว่า Kafkaesque เพื่อบรรยายแนวชีวิตจำเจแบบนี้
คาฟก้า พระเอกของเรื่อง Kaiju No. 8 ก็ไม่ต่างกันครับ เขามีความฝันอย่างเข้าหน่วยปราบไคจูและล้มเหลวมาทุกครั้ง เขาเพียงตั้งการที่จะเข้าไปอยู่เคียงข้างเพื่อนวัยเด็กของเขาที่เขาสัญญาไว้ว่าจะช่วยกันปราบไคจูไปด้วยกัน แต่โชคชะตาเล่นตลก นอกจากเขาจะยังไม่ได้เข้าไปในหน่วยพิทักษ์ เขายังกลายเป็นไคจูด้วย! และเรื่องราวก็เริ่มจากจุดนั้นครับ
ผมเคยคิดว่าเรื่องนี้เป็นโชเน็นแบบซีเรียส (ซึ่งผมก็ยังเชื่อว่าเดี๋ยวก็น่าจะเริ่มซีเรียสขึ้นเรื่อย ๆ) แต่โทนอนิเมชั่น และความฮาทำให้มันเบาใจไปเหมือนกันครับ เพราะคาฟก้าเป็นคนที่ตลกสมจริงเหมือนกัน แม้ว่าภายในใจจะมีความผิดหวังอยู่มาก แต่อาจจะเพราะอายุที่มากขึ้น ความหวังก็เริ่มน้อยลงไปตามสัดส่วน นอกจากนี้ ผมคิดว่าเคมีตัวละครมีความเข้ากันได้มาก อย่างคาฟก้าและรุ่นน้องของเขาอย่างอิชิคาวะ เรโนะ ซึ่งตอนแรกผมคิดว่าจะจริงจัง แต่ก็มีจิตใจดีไม่แพ้กันครับ
อนิเมชั่นทำออกมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อครับ แม้ว่าจะไม่ได้มีสีสันฉูดฉาดแบบแฟนตาซีเรื่องอื่น ๆ แต่ผมใช้คำว่ามัน Clean ครับ เรียบง่ายแต่ซับซ้อน และที่สำคัญที่สุด Production I.G. ทำฉากหลังออกมาได้สวยสุด ๆ ไปเลยครับ น่าประทับได้มาก นอกจากนี้ Sound Design ก็อย่างเจ๋ง ได้ One Republic มาทำเพลงปิดด้วย โดยสรุปแล้ว Kaiju No. 8 เป็นโชเน็นที่ผมเลือกดูในฤดูกาลนี้ครับ
Konosuba ss 3
Konosuba Season 3
ค้าบ! คาซุมะครับ!
ในปีแห่งเทพธิดาอควา 2024 เราได้พบกับการกลับมาของพระเอกยอดเยี่ยมครับทุกท่าน กับแก๊งค์ของเขาที่เอ๋อ ๆ เป๋อ ๆ ที่ประกอบด้วยอัศวินวิปลาส จอมเวทย์จอมเบียว และเทพธิดาไร้ค่า เป็นอนิเมะอีกเรื่องที่ผมตั้งหน้าตั้งตามากที่สุดในฤดูกาลนี้เลยครับ ผมที่ไม่ได้ดู Konosuba มานานมาแล้ว เลยต้องกลับไปไล่ดูเร็ว ๆ อีกรอบ เอาเนื้อเรื่องและตัวละคร อีกทั้งต้องไปดู The Movie ที่ผมยังไม่ได้ดู ความชื่นชอบความแปลกจัดของอนิเมะเรื่องนี้กลับมาสู่ผมครับ
ผมดู The Movie ก่อนที่ซีซั่นสามจะฉาย เพราะผมคิดว่ามันน่าจะมีส่วนสำคัญ ผมคิดว่านั่นเป็นความคิดที่ถูกครับ เพราะตอนแรกของซีซั่นสามอ้างสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเยอะมาก (ต้องกล่าวว่า หนังทำออกมาได้ดีมาก ๆ ครับ ผมขำจนกลัวข้างห้องเคาะประตูมาด่า) และผมก็อุทานออกมาคำเดิมว่า “อนิเมะเ~ยอะไรวะเนี่ย!” เหมือนเคยครับ
อนิเมะ Konosuba เป็นอนิเมะที่ไม่ต้องแนะนำอะไรมาก ใครที่รู้จักอยู่แล้วก็คงพลาดไม่ได้ ใครที่ยังไม่เคยดู ผมจะถามว่า รออะไรอยู่ ผมไม่ใช่แฟนอิเซไค แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษเพราะความฮาของมัน หากจะต้องบรรยายอนิเมะเรื่องนี้ด้วยคำเดียว ผมจะใช้คำว่า บ้าบอ ไร้สาระอย่างหาที่สุดไม่ได้เลยครับ แต่มันเป็นอนิเมะที่ดีและสนุก แม้ว่ามันจะบ้าบอไร้สาระ แต่กลับทำให้ผมอินไปกับตัวละครบ้า ๆ บอ ๆ เหล่านี้ได้แบบเพื่อนที่รู้จักกันมานาน
สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเรื่องนี้ไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เป็นตัวละคร เป็นอนิเมะที่ขับเคลื่อนด้วยเคมีตัวละครอย่างแท้จริงครับ เมื่อผมดู Spin-off ของเมกุมิน ผมคิดว่ามันมีอะไรขาดหายไป เพราะว่าเคมีของปาร์ตี้บ้า ๆ บอ ๆ แบบนี้แหละครับที่เป็นจุดเด่น เป็นองค์ประกอบที่แบกทั้งเรื่องไว้เลย
คุณภาพอนิเมชั่นทำออกมาได้อย่างขาดตกบกพร่องอะไร มันดึงความปัญหาอ่อนของคณะตัวละครออกมาได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และที่สำคัญที่สุด สิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างยิ่งเลย เลยนักพากษ์ที่ผมคิดว่าเป็น เดอะ แบก ของเรื่องนี้อย่างแท้จริง เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่านักพากษ์สนุกไปกับงานของเขา นักพากษ์ทั้งสี่พากษ์เหมือนเพื่อนที่สนิทกันมานาน ผมใช้คำว่า Unhinged บ้า ๆ บอ ๆ ตลกโปกฮาไปเรื่อย โดยเฉพาะคุณฟุคุชิม่า จุน ที่พากษ์คาซุมะแบบขั้นเทพ
ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ให้นึกถึงอควาไว้นะครับ ด้วยความหวังดี
แน่นอนว่าเราจะไม่กล่าวถึงซุเปอร์สตาร์วงการนักพากษ์อย่างคุณทาคาฮาชิ ริเอะไม่ได้ เธอคนนี้มากความสามารถเหลือเกิน และแน่นอนว่ามันทำให้ตัวละครอย่างจอมเวทย์ยอดนักเบียวเป็นที่รักยิ่งของแฟน ๆ อนิเมะ ผมมีบทสนทนากับเพื่อนคนไทยร่วมหออยู่ว่า ผมเป็นผู้ติดตามเทพธิดาอควา แต่เขาเป็นแฟนคลับเมกุมิน ข้อถกเถียงของเราไร้สาระพอ ๆ กับเรื่องราวใน Konosuba เลยครับ
ผมเคยแนะนำเรื่องนี้ไปมากแล้ว และผมก็คิดว่าใคร ๆ หลาย ๆ คนก็คงจะได้ดูเรื่องนี้กันอยู่แล้ว ใครที่ติดตามก็คงจะติดตามต่อไป คงไม่มีอะไรต้องพูดมากไปกว่านี้แล้วครับ
Delicious in Dungeon
Delicious in Dungeon (2nd Cour)
หลังจากเรื่องทั้งผม ผมก็มาตามดู Delicious in Dungeon ต่อ จริง ๆ ผมไม่คิดว่าจะต้องเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม เพราะก็เขียนไปพอสมควรแล้ว และก็คิดว่าจะมาเขียนเพียงบอกว่า ในลิสต์นี้มีเรื่องนี้ที่ผมดูต่อมาจากฤดูกาลที่แล้ว ก็เท่านั้น
แต่เท่านั้นมันไม่พอครับ เพราะอนิเมะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมตั้งตารอดูมากที่สุดทุก ๆ สัปดาห์ ความสนุกของมันไม่จางหายไปเลย ความฮาของมันยังคงอยู่ และคุณภาพอนิเมชั่นไม่ได้ด้อยลงไปแม้แต่น้อย แต่เรื่องราวและเนื้อหากลับเข้มข้นมากขึ้นอย่างน่าสนใจครับ
แม้ว่าความเข้มข้นจะทวีมากขึ้น แต่มันไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้มันกลายเป็นเรื่องใหม่ครับ แม้ว่าทิศทางจะเปลี่ยนไปจากการแค่ไปช่วยฟาลินจากท้องมังกรแดงและระหว่างทางก็ทำอาหารจากสัตว์ประหลาดไปด้วย กลายเป็นการต่อกรกับจอมเวทย์บ้าคลั่ง ผมไม่รู้สึกว่ามันผิดแปลกเลย อาจจะเพราะว่าการดำเนินเรื่องที่บอกใบ้เราระหว่างทางโดยตลอดว่ามันมีอะไรมากกว่าที่เราพบเห็น
นี่มันเกินการควบคุมแล้ว มันเหนือความคาดหมายมาก และคาดเดาได้ยากว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีอะไรเป็นไปตามแผนสักอย่าง แต่ก็ยังดำเนินเดินทางกันต่อ เมื่อเราคิดว่า พวกพระเอกจะทำอะไรสักอย่าง แต่พวกเขากลับทำอีกอย่าง เมื่อคิดว่าจะมีคนร่วมเดินทางไปด้วยเพิ่ม กลับกลายเป็นอีกอย่าง ตัวละครแต่ละตัวที่เราคิดว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ กลับกลายเป็นอีกอย่าง มันทำให้มีความสดใหม่อย่างมาก
น่ากลัว ตื่นเต้น ฮา และเท่ในเวลาเดียวกัน
และยิ่งเนื้อเรื่องที่โหดกว่าเดิม ความอันตรายมากกว่าเดิม และเดิมพันที่สูงขึ้น มันยิ่งทำให้น่าตื่นเต้นครับ แม้กระนั้น ปาร์ตี้ของไลออสก็ยังมีความฮาอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย แต่การตัดสินใจต่าง ๆ ที่ถูกต้องและผิดพลาดมีผลลัพธ์ที่ตามมาเสมอ รายละเอียดเน้นมาก ๆ ครับ ผมต้องพยายามห้ามตัวเองทุกครั้งไม่ให้ไปอ่านมังงะเพราะลุ้นว่าอะไรบ้า ๆ บอ ๆ จะเกิดขึ้นต่อไปในตอนหน้า
Delicious in Dungeon เป็นอนิเมะอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นอนิเมะของปีนี้ที่ห้ามพลาดโดยเด็ดขาดครับ ยอดเยี่ยมจนอยากจะกราบผู้สร้างและนักเขียนที่ใส่ใจในการทำอนิเมะและสร้างเรื่องราวเรื่องนี้ขึ้นมาครับ
(อีกอย่างหนึ่ง ผมเพิ่งเจอบทความหนึ่งอธิบายว่าไลออสมี Autistic Spectrum ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยครับ จริง ๆ มันก็ไม่น่าแปลกเพราะว่าตังละครอื่น ๆ ก็ดูปกติดี มีแต่ไลออสเท่านั้นที่แปลกกว่าชาวบ้าน ผมอาจจะไม่เห็นความแปลกของไลออสในตอนแรกเพราะว่าผมเองก็มีอาการแบบเดียวกันครับ ซึ่งผมเพิ่งทราบของแพทย์ไม่กี่ปีมานี้ แต่ก็มักจะลืมบ่อย ๆ)
Jellyfish can't swim in the night
Jellyfish can’t Swim in the Night
ผมมาดูเรื่องนี้ที่หลังจากที่ฤดูกาลนี้เริ่มไปสามอาทิตย์ จริง ๆ ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก ถูกทั้งที่ดู และถูกที่มาตามดูสี่ตอนรวดเดียว เป็นอนิเมะประจำฤดูใบไม้ผลิที่ผมอยากจะไฮไลท์มากที่สุดเลยครับ เพราะผมคิดว่าหลาย ๆ คนไม่ได้ดูเรื่องนี้กัน ย้ำชื่อกันอีกสักครั้ง Jellyfish can’t Swim in the Night ผมตัดสินใจจะเขียนอีกโพสไฮไลท์เรื่องนี้เป็นพิเศษแบบใช้โควต้าแนะนำอนิเมะประจำฤดูกาล แต่ผมอยากจะเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่นี้สักหน่อย
Jellyfish can’s Swim in the Night เล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็กสาวสี่คน ซึ่งจะค่อย ๆ แนะนำในแต่ละตอน กลุ่มเด็กสาวมารวมตัวกันเพื่อทำดนตรี คุ้น ๆ แบบ K-on! ใช่ไหมละครับ แน่นอนว่าเรื่องนี้จัดอยู่ในหมวด Cute-girls-doing-cute-things แต่เดี๋ยวนี้หมวดนี้ก้าวหน้ามาก ๆ แล้ว
แต่ละตัวละครมีความสามารถและปมด้อยในอดีตที่แตกต่างกันออกไป แต่มารวมตัวกันเพื่อที่จะเฉิดฉายร่วมกัน ดังชื่อเรื่องครับ แมงกะพรุนไม่สามารถว่ายน้ำตอนกลางคืนได้ ซึ่งในตอนแรกของเรื่องจะอธิบายความหมายของชื่ออนิเมะ เพราะแมงกะพรุนหลายตัวอยู่ด้วยกัน มันจึงช่วยกันส่องแสงให้กันและกันนั่นเอง แมงกะพรุนที่อยู่ด้วยกันจะช่วยให้ต่างฝ่ายเฉิดฉาย
อนิเมะเรื่องนี้เป็น Anime Original นั่นคือ ไม่ได้ดัดแปลงมาจากสื่ออื่นเช่นมังงะหรือนิยาย ทำให้ผู้สร้างมีอิสระในทิศทางของอนิเมะอย่างมาก ที่ผมประทับใจมาก ๆ เลยก็คือการกำกับภาพและเรื่อง อนิเมชั่นทำออกมาได้ดีมาก ๆ สวยงามและน่าตื่นตาตื่นใจแม้ว่าจะไม่ได้มีฉากต่อสู้เดือด ๆ โหด ๆ ในชิบุย่าเหมือนเรื่องอื่น ๆ (อนิเมะเรื่องนี้มีพื้นหลังเป็นชิบุย่าครับ)
บทพูดและการสื่อสารจากภาพทำออกมาได้อารมณ์ครับ ไม่มีบทพูดไหนที่สูญเปล่า มี Symbolism ในเกือบ ๆ ทุกฉากทุกตอน ตั้งแต่แมงกะพรุนที่เป็นชื่อเรื่อง หรือฉากรถไฟ หรือแม้แต่การเลือกชุดฮาโลวีนของตัวละคร แต่ที่สำคัญที่สุดคือตัวละคร ผมเข้ามาดูเรื่องนี้โดยที่ไม่รู้อะไรมาก่อน ดูเพราะคิดว่าภาพมันสวนดี อีกทั้งเป็นอนิเมะเกี่ยวกับดนตรี แต่ธีมหลักของเรื่องนี้ ผมว่ามันมีเยอะเหมือนกันนะครับ
ธีมของเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น เช่น การเติมโต ซึ่งเป็นธีมโดยทั่วไปของอนิเมะแนวนี้ หรือการปลดตัวเองจากความทุกข์ในอดีต การเป็นตัวของตัวเองโดยไม่สนหน้าไหน ซึ่งมันอาจจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ อย่างการยอนรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นหรือซื่อสัตย์ต่อตัวเองในสิ่งที่ตัวเองชอบ และไม่เพียงแต่การทำตามความฝันของตัวเอง แต่การยอนรับว่านั่นคือความฝันของเราก็สำคัญไม่แพ้กัน ธีมของเรื่องนี้มีหลากหลายครับ
แมงกะพรุน
ผมขอยกฉากหนึ่งในตอนแรกที่ผมชื่นชอบนะครับ นั่นคือฉากย้อนอดีต (ซึ่งในการทำฉากย้อนอดีตของเรื่องนี้ก็ทำออกมาได้อย่างดีจนน่าชื่นชมครับ) ตัวละครหลักของเรื่องในนามโยรุ ได้โอกาสวาดภาพแมงกะพรุนในที่สาธารณะ เธอภูมิใจในผลงานของตัวเองมาก แต่เมื่อเธอพาเพื่อน ๆ ของเธอมาดู ก่อนที่เธอจะได้บอกว่านั่นคือผลงานของเธอ เพื่อน ๆ ของเธอกลับพูดร้ายเกี่ยวกับงานของเธอ ทำให้เธอหมดกำลังใจ และเลิกวาดรูปซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรักไป
ผมคิดว่าเป็นฉากที่น่าเศร้านะครับ ผมมีความคิดหนึ่งที่ว่า เพื่อนที่ดีนั้น นอกจากว่าเขาจะอยู่และคอยสนับสนุนเราในวันที่เราทุกข์หรือตกต่ำ แต่เพื่อนที่ดีหมายรวมถึงคนที่ยินดีอย่างจริงใจกับเราในวันที่เราทำอะไรสักอย่างสำเร็จ ผมว่าทั้งสองอย่างเป็นคุณภาพของความเป็นเพื่อนที่หายากพอ ๆ กันเลยครับ แน่นอนว่าเพื่อน ๆ ของโยรุไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อเธอ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่านั่นคือผลงานของโยรุ แต่มันก็น่าเศร้านะครับ
ณ เวลาที่เขียนอยู่ตอนนี้ อนิเมะออกมาแล้ว 4 ตอน แต่ละตอนทำให้ผมอยากดูต่อเรื่อย ๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้ว่ามันจะไม่ได้มี Conflict เดิมพันสูง ๆ แบบเรื่องทั่ว ๆ ไปเพราะด้วยความเป็น Slice-of-life แต่ผมก็อยากจะเห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครครับ
ผมเชื่อว่าอนิเมะเรื่องนี้เป็น Hidden Gem ของฤดูกาลนี้เลยครับ และแนะนำอย่างมาก ผมควรจะบอกอีกว่า คุณนักพากษ์อย่างทาคาฮาชิ ริเอะก็พากษ์ให้เรื่องนี้เหมือนกัน ด้วยความเป็น Anime Original มันยิ่งน่าติดตามครับ เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงอนิเมะชั้นยอดเยี่ยมตลอดกาลในใจของผมเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า A Place Further than the Universe ซึ่งเป็นอนิเมะ Original เหมือนกัน
ผมคิดว่า Jellyfish can’t Swim in the Night จะเป็นอนิเมะที่พิเศษมาก ๆ เรื่องหนึ่งเลยครับ ผมมีอะไรอยากจะเขียนอยากจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายประเด็นมาก ๆ แต่ผมคิดว่าจะเก็บไว้เขียนทีเดียวเมื่อผมเขียนโพสแนะนำอนิเมะประจำฤดูกาลนี้ครับ
Sound! Euphonium ss 3
แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ผมคิดว่าอยากจะดู แต่เพราะรายการที่ผมจะต้องดูทุกวันอาทิตย์ก็เยอะอยู่แล้ว เลยจำกัดไว้ที่เท่านี้ก่อนครับ และแน่นอนว่า มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่ได้กล่าวถึง แต่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นคือ Hibike! Euphonium ซีซั่น 3 โดยค่าย Kyoto Animation เรื่องนี้เป็นหนึ่งในอนิเมะในดวงใจของผมตลอดกาล แต่ผมคิดว่าจะตามดูรวดเดียวดีกว่ารอรายสัปดาห์ครับ
และนี่คืออนิเมะ 7 เรื่องที่ผมตามดูรายสัปดาห์ประจำฤดูใบไม้ผลิ 2024 ครับ ผมไม่คิดว่าฤดูกาลนี้จะมีรายการอนิเมะที่ผมเลือกที่จะดูเยอะมากขนาดนี้ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในวงการอนิเมะนะครับ มันทำให้ผมตื่นเต้นทุก ๆ วันอาทิตย์ของผม ว่าแล้ว เมื่อไหร่จะวันอาทิตย์สักที!
โฆษณา