1 พ.ค. เวลา 09:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ถึงจุดจบ

วันหนึ่งข้างหน้า ดวงอาทิตย์ของเราก็จะตายลง ดาวฤกษ์แสนดีของเราไม่อาจดำรงอยู่ได้สืบไป สุดท้าย ธาตุทีเป็นเชื้อเพลิงให้กับการหลอมนิวเคลียสภายในดวงอาทิตย์ก็จะหมดลง และด้วยเหตุนี้ ก็จะมีการแปรสภาพแบบป่าเถื่อนเพื่อกลายเป็นดาวแคระขาว(white dwarf)
โดยมันจะพองบวมออกกลายเป็นดาวยักษ์แดง(red giant) โดยมีรัศมีแผ่ออกไปได้ไกลถึงดาวอังคาร ก่อนที่จะผลักเปลือกวัสดุสารส่วนนอกออกมา เมื่อแกนกลางยุบตัวกลายเป็นซากดาวที่สว่างเพียงเพราะด้วยความร้อนที่เหลืออยู่หลังจากที่มันตายลง
เรามีความเข้าใจที่ค่อนข้างดีถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์เอง ในอีกราว 5 พันล้านปีข้างหน้า แต่ดาวเคราะห์ล่ะ จะเกิดอะไรกับพวกมันบ้าง แล้วโลกล่ะ เราจะเป็นอย่างไร ทีมที่นำโดย อมรรัตน์ อังเวโรจน์วิทย์ นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประเทศไทย และทีมนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงความสว่างในระยะยาวจากดาวแคระขาว 3 ดวง และแปลผลว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อระบบดาวเคราะห์รอบๆ พวกมันอย่างไร
แน่ใจได้ว่า มนุษยชาติ(และสิ่งที่เราอาจวิวัฒนาการไปเป็น) จะไม่อยู่แล้ว ทั้งอาจสูญพันธุ์หรือย้ายไปอาศัยในแห่งหนอื่นในอวกาศ แต่ลูกบอลสีฟ้าจางๆ ที่เราเรียกว่าบ้าน และดาวเคราะห์อื่นๆ คงหนีไม่พ้นชะตากรรมวิบัติ จากการวิเคราะห์ดาวแคระขาวเหล่านี้ ชะตากรรมสุดท้ายของดวงอาทิตย์ของเราจะทำให้ระบบสุริยะพบกับการสังหารหมู่
1
ขนาดของดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ตั้งแต่กำเนิดจากเมฆโมเลกุล ใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดหลอมไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม(main sequence) จนพองบวมเป็นดาวยักษ์แดง ภาพปก ภาพจากศิลปินแสดงกลุ่มเมฆเศษซากรอบดาวแคระขาว
กล่าวโดยสั้นๆ คือ ดาวพุธและดาวศุกร์จะต้องไป เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ที่อยู่วงในสุดของระบบสุริยะ พวกมันจะถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ และกลืนโดยดวงอาทิตย์ สูดเหมือนเป็นสปาเกตตี้ดาวเคราะห์ โลกเองก็อาจจะรอด ขึ้นอยู่กับว่าวงโคจรของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเทียบกับมวลที่กำลังหดตัวของดวงอาทิตย์ และปฏิสัมพันธ์ที่ขยับขยายในหมู่ดาวเคราะห์ ถ้าโลกหนีออกมาได้อย่างหวุดหวิด ก็จะดูแตกต่างจากพิภพเอื้ออาศัยได้ที่อุดมสมบูรณ์อย่างในทุกวันนี้ อย่างมาก
ไม่ว่าโลกจะขยับออกมาได้ไกลพอก่อนที่ดวงอาทิตย์จะวิ่งตามมาทัน และเผามันได้หรือไม่ ก็ยังไม่แน่ชัด Boris Gansicke นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยวอร์วิค ในสหราชอาณาจักร กล่าว แต่โลก(ถ้ารอดได้) ก็น่าจะยังสูญเสียชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรของมัน และไม่ได้ที่ที่ดีที่จะใช้ชีวิตอยู่ แล้วเราบอกสิ่งเหล่านี้โดยดูจากดาวแคระขาว ได้อย่างไร ก็ด้วยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความสว่างของพวกมัน
การแปรผันความสว่างของดาว อาจหมายความได้หลายอย่าง แต่ถ้ามันเกิดสม่ำเสมอ, สว่างขึ้นและลดลงก็สามารถบอกได้ถึงสิ่งที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ กันแสงของดาวฤกษ์บางส่วนไว้อย่างเป็นคาบเวลา แต่ดาวแคระขาวที่วิเคราะห์นี้มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างซึ่งทีมวิจัยก่อนหน้านี้บอกว่า เกิดขึ้นจากกลุ่มเมฆเศษซากดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบๆ งานวิจัยก่อนหน้านี้ได้แสดงว่าเมื่อดาวเคราะห์น้อย, ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ เข้าใกล้ดาวแคระขาว แรงโน้มถ่วงของดาวจะฉีกวัตถุขนาดเล็กเหล่านี้ให้เป็นชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ ดร อมรรัตน์ กล่าว
1
แถบเอื้ออาศัยได้(habitable zone) รอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ในช่วงวิถีหลัก เทียบกับช่วงเป็นยักษ์แดง
ด้วยการศึกษาข้อมูลที่รวบรวม 17 ปีจากดาวแคระขาวที่แตกต่างกันมาก 3 ดวง นักวิจัยก็สามารถปะติดปะต่อว่ากระบวนการนี้จะพัฒนาไปอย่างไร ดาวทั้งสามดวงแสดงสัญญาณการผ่านหน้า(transit) เมื่อความสว่างของดาวหรี่แสงลง สอดคล้องกับที่คิดว่าเมฆวัสดุสารขนาดยักษ์รูปร่างไม่ปกติ ถูกบดให้เป็นฝุ่นที่เล็กลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะหายไป บางทีก้อนฝุ่นและหินอาจจะถูกดาวแคระขาวกลืนลงไป
ดาวแคระขาวดวงหนึ่งได้แสดงสัญญาณแปลกในปี 2010 อีกดวงในปี 2015 ส่วนดวงที่สามมีการหรี่แสงที่ไม่ปกติเกิดขึ้นทุกๆ สองสามเดือน และความปั่นป่วนแสงที่เกิดในระดับนาที ขณะนี้ทั้งสามดวงมีพฤติกรรมที่เกือบเป็นปกติแล้ว โดยไม่เกิดการผ่านหน้าอีกต่อไป
สิ่งเหล่านี้บอกว่า การลดจำนวนดาวเคราะห์โดยกลืนไป เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่ถ้าโลกมีชะตากรรมที่จะถูกทำลาย ก็ไม่น่าจะถูกทำลายอย่างรุนแรงนัก ข่าวเศร้าก็คือ โลกอาจจะแค่ถูกกลืนโดยดวงอาทิตย์ที่พองตัวเรื่อยๆ ก่อนที่มันจะกลายเป็นดาวแคระขาว Gansicke กล่าว
การแปรสภาพของดวงอาทิตย์ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมระบบสุริยะของเรา มีการขยับตำแหน่งวงโคจรดาวเคราะห์วงนอก และกลืนกินทำลายดาวเคราะห์วงในบางส่วนไป
สำหรับระบบสุริยะส่วนที่เหลือ ดาวเคราะห์น้อยในแถบหลัก(asteroid belt; ซึ่งอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสฯ) บางส่วน และอาจจะรวมถึงดวงจันทร์ดาวพฤหัสฯ บางส่วนอาจจะหลุดวงโคจร และเดินทางเข้าไปใกล้สิ่งที่จะกลายเป็นดาวแคระขาว มากพอที่จะเกิดกระบวนการการฉีกทึ้งที่เรากำลังสำรวจอยู่นี้
แต่ไม่ต้องเป็นกังวลแต่อย่างใด มหาสมุทรกำลังเดือดระเหยหายไปในอีกราว 1 พันล้านปีนี้ ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะไปถึงจุดที่แปรสภาพ งานวิจัยนี้เผยแพร่ใน Monthly Notices of the Royal Astronomical Society
แหล่งข่าว sciencealert.com : we just got a glimpse of what will happen when the Sun finally dies
โฆษณา