9 พ.ค. เวลา 10:22 • การเกษตร

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังทำให้ 'รังผึ้งร้อนถึงตาย' และ 'อบตัวอ่อนให้สุก'

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้รังผึ้งร้อนเกินกว่าที่ผึ้งจะอาศัยอยู่ได้
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 นักวิทยาศาสตร์พบว่าจำนวนประชากรผึ้งบัมเบิลบีหรือผึ้งดูดน้ำหวานนั้นมีจำนวนลดลงทั่วโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบปัจจัยทุกอย่างตั้งแต่ยาฆ่าแมลงไปจนถึงการสูญเสียที่อยู่อาศัยและปริมาณดอกไม้ที่ลดลง แต่ในตอนนี้พวกเขากลับพบอีกตัวแปรหนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นคือ "การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ"
งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัย Guelph ในแคนาดากล่าวกว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอาจทำให้รังผึ้งมีความร้อนสูงเกินไป อบผึ้งงานจนสุก ฆ่าตัวอ่อน และทำให้ผึ้งประเภทดูดน้ำหวานเกือบทุกสายพันธุ์ทั่วโลกมีจำนวนลดลง
ทีมวิจัยได้ตรวจสอบการศึกษาย้อนหลังตั้งแต่ปัจจุบันไปถึงช่วงปี 1800 ซึ่งพบว่า โดยทั่วไปแล้วผึ้งดูดน้ำหวานไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลกหรือเป็นสายพันธุ์ใด ก็จะอาศัยอยู่ได้ดีในรังที่มีอุณหภูมิระหว่าง 28 °C ถึง 32 °C แต่เมื่ออุณหภูมิรังสูงเกิน 36 °C จะทำให้ผึ้งไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีกต่อไป
ดังนั้นจึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ภาวะโลกร้อนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งหรืออาจถึงขั้นเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ตัวอ่อนของผึ้งตายมหาศาล เนื่องจากพวกมันมีความอ่อนไหวต่อความร้อนมากกว่าตัวเต็มวัย คลื่นความร้อนที่รุนแรงเพียงครั้งเดียวของปี ก็สามารถฆ่าล้างผึ้งรุ่นต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็น
แม้ผึ้งตัวเต็มวัยจะสามารถช่วยกันกระพือปีกเพื่อพัดให้รังเย็นลงอยู่ในระดับที่อาศัยได้ แต่ความร้อนที่มากเกินไป ก็ทำให้พวกมันต้องทุกข์ทรมาน แม้แต่ผึ้งที่อาศัยอยู่ในแถบพื้นที่เย็นอย่างแทบเทือกเขาแอลป์หรือแถบอาร์กติกเองก็เจอปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าผึ้งดูดน้ำหวานนั้นเป็นแมลงผสมเกสรที่มีความสำคัญมากเพียงใดสำหรับ ดอกไม้, ป่าและพืชผลอย่าง แอปเปิ้ล, มะเขือเทศ, บูลเบอร์รี่และอื่นๆ อีกจำนวนมาก ดังนั้นการที่ผึ้งลดลงจะกระทบกับพืชพรรณเหล่านี้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน และอาจถึงขั้นสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ
แม้การปกป้องผึ้งด้วยวิธีการอย่าง ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ป้องกันถิ่นที่อยู่ของผึ้งรวมถึงอาหารของพวกมัน เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำต่อไป แต่หากเรายังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้โลกไม่ร้อนเกิน 2 °C เราอาจต้องสูญเสียผึ้งไปตลอดกาล
โฆษณา