14 พ.ค. 2024 เวลา 09:00 • ข่าวรอบโลก

เปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำ 10 ชาติอาเซียน และ 4 ประเทศยอดนิยมของแรงงานไทย

ระหว่างที่ไทยกำลังพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทในเดือนตุลาคมนี้ เราไปดูความเคลื่อนไหวกันว่า ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันมีการปรับขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ เรายังนำอัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 4 ประเทศยอดนิยมของแรงงานไทยมาฝากกันด้วย
จากกรณีรัฐบาลเตรียมปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 400 บาทต่อวัน โดยเป็นการทยอยปรับทั่วประเทศ เริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ โดยประเด็นดังกล่าวจะถูกนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อพิจารณาในรายละเอียด ระหว่างนี้ เราไปดูความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ (minimum wages) ใน ประเทศสมาชิกอาเซียน ด้วยกัน และในประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของแรงงานไทย ซึ่งได้แก่ อิสราเอล ไต้หวัน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยต่อวันใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน
(มีการแปลงเงินท้องถิ่นหรือแปลงค่าดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท อาจมีความคลาดเคลื่อนได้)
อินโดนีเซีย: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณ 398 บาทต่อวัน
ในเขตเมืองหลวงจาการ์ตา ค่าจ้างขั้นต่ำตกเดือนละ 325 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,960 บาท ทั้งนี้ แต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค จะมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกันไป เขตที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดคือเมืองหลวงจาการ์ตาดังกล่าวมาแล้ว ส่วนเขตที่ได้อัตราต่ำสุด ได้แก่ เขตชวากลาง ค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 130 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 4,784 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 159 บาท
รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่งประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นมา กรุงจาการ์ตา เมืองหลวง ได้รับการปรับขึ้นค่าแรง 3.38% จากเดิมเดือนละ 4,901,798 รูเปียห์ เป็น 5,067,381 รูเปียห์ (325 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11,960 บาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ = 36.8 บาท)
มาเลเซีย: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 393 บาทต่อวัน
ค่าจ้างขั้นต่ำในมาเลเซียตกเดือนละ 1,500 ริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทยราว 11,790 บาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิต = 7.86 บาท) เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ค่าจ้างรายชั่วโมงอยู่ที่ 7.21 ริงกิต หรือราว 56 บาท
มาเลเซียปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 25% จากเดิมเดือนละ 1,200 ริงกิตในปี 2565 เป็นเดือนละ 1,500 ริงกิตในปีที่ผ่านมา
มาเลเซียยังมีความต้องการแรงงานต่างชาติในหลายภาคส่วนอุตสาหกรรม
ไทย: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 330-370 บาทต่อวัน
รัฐบาลเตรียมทยอยปรับเป็น 400 บาทต่อวัน เริ่ม 1 ต.ค.2567
ฟิลิปปินส์: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 229.34 บาทต่อวัน
ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 186.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินไทย 6,880 บาท เฉลี่ยวันละ 229.34 บาท ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค และประเภทของการจ้างงาน
1
กัมพูชา: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 250.24 บาทต่อวัน
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกัมพูชาซึ่งปรับปรุงใหม่และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 (ข้อมูลอ้างอิง wageindicator.org) ได้มีการปรับขึ้น ดังนี้
  • ค่าจ้างคนงานทดลองงาน (probationary worker) เพิ่มจากเดือนละ 198 ดอลลาร์เป็น 202 ดอลลาร์ หรือประมาณ 7,433.6 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36.8 บาท) เฉลี่ยวันละ 247.78 บาท
  • ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำคนงานทั่วไป (regular employee) เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 200 ดอลลาร์ เป็น 204 ดอลลาร์ หรือประมาณ 7,507 บาท เฉลี่ยวันละ 250.24 บาท
เวียดนาม: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 250 บาทต่อวัน (ตั้งแต่ ก.ค.2567 เป็นต้นไป)
ปัจจุบัน เวียดนามมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 4.68 ล้านด่องต่อเดือน หรือราว 235.92 บาท ในเขตเมืองหลวงกรุงฮานอย แต่ในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ เวียดนามจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายเดือน 6% จากฐานปี 2565 ตามข้อเสนอของสภาค่าจ้างแรงงานแห่งชาติ หรือ National Wage Council โดยแบ่งเป็น 4 เขตภูมิภาค ดังนี้ (ข้อมูลอ้างอิง https://www.vietnam-briefing.com/)
  • เขต 1 เพิ่มจาก เดือนละ 4.68 ล้านด่อง หรือ 192.33 ดอลลาร์ เป็น 203.87 ดอลลาร์ หรือราว 7,502.4 บาท เฉลี่ยวันละ 250 บาท
  • เขต 2 เพิ่มจาก เดือนละ 4.16 ล้านด่อง หรือ 170.96 ดอลลาร์ เป็น 181.22 ดอลลาร์ หรือราว 6,668.8 บาท เฉลี่ยวันละ 222.29 บาท
  • เขต 3 เพิ่มจาก เดือนละ 3.64 ล้านด่อง หรือ 149.59 ดอลลาร์ เป็น 158.57 ดอลลาร์ หรือราว 5,835.37 บาท เฉลี่ยวันละ 194.51 บาท
  • และเขต 4 เพิ่มจาก เดือนละ 3.25 ล้านด่อง หรือ 133.56 ดอลลาร์ เป็น 141.28 ดอลลาร์ หรือราว 5,199.10 บาท เฉลี่ยวันละ 173.30 บาท
ในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ เวียดนามจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายเดือน 6% จากฐานปี 2565
สปป.ลาว: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 100.58 บาทต่อวัน
ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 สำนักนายกรัฐมนตรีสปป.ลาวมีคำสั่งอนุมัติการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับผู้ใช้แรงงานทุกคน จากเดิม 1.3 ล้านกีบ เป็น 1.6 ล้านกีบต่อเดือน หรือราว 82 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 3,017 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 ดอลลาร์ = 36.8 บาท) เฉลี่ยวันละ 100.58 บาท
นับเป็นการปรับขึ้นค่าแรงครั้งที่ 3 หลังปรับขึ้นค่าแรงล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสู้ปัญหาเงินเฟ้อและเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายนี้ครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท ทั้งพนักงานเก่าและพนักงานใหม่
เมียนมา: ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 101.56 บาทต่อวัน
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศครั้งแรกในรอบ 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักหลังการรัฐประหาร โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 จ๊าดต่อวัน หรือราว 2.76 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 101.56 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 ดอลลาร์ = 36.8 บาท)
นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 20% จากอัตราเดิม 4,800 จ๊าด ในปี 2561 สำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน
สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
สิงคโปร์: เป็นประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
แต่ทั้งนี้ ข้อมูลรวบรวมโดย https://www.expatica.com/พบว่ารายได้ขั้นต่ำของคนในสาขาอาชีพต่างๆแตกต่างกันไป โดยในปีนี้ (2567) จะมีการทยอยปรับขึ้นค่าจ้างตั้งแต่มิถุนายน ยกตัวอย่างบางอาชีพ ดังนี้
  • พนักงานภาครัฐ จะมีเงินเดือนขึ้นต่ำเริ่มที่ 1,500-2,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 41,130 – 103,040 บาท (เริ่ม ก.ค.2567)
  • พนักงานทำความสะอาด จะมีเงินเดือนขึ้นต่ำเริ่มที่ 1,570-2,410 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 43,049- 66,082 บาท (เริ่ม มิ.ย.2567)
  • พนักงานขับรถ จะมีเงินเดือนขึ้นต่ำเริ่มที่ 1,750-1,850 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 47,985-50,727บาท (เริ่ม ก.ค.2567)
  • พนักงานรักษาความปลอดภัย จะมีเงินเดือนขึ้นต่ำเริ่มที่ 2,175-3,350 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 59,638-91,857 บาท (เริ่ม ม.ค.2568)
บรูไน: เช่นเดียวกับสิงคโปร์ คือไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
อย่างไรก็ตาม เดือนกรกฎาคม 2566 กรมแรงงานบรูไนได้มีคําสั่งการจ้างงานใหม่ว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำปี 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 กำหนดให้ปรับขึ้นค่าแรงเป็นระยะๆ โดยระยะแรกจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาคการธนาคารและการเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ข้อมูลจาก https://www.linkedin.com/)
พนักงานเต็มเวลา มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 500 ดอลลาร์บรูไนต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินไทย 13,760 บาท(อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 ดอลลาร์บรูไน = 27.52 บาท) ส่วนพนักงาน part time จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่ 2.62 ดอลลาร์บรูไนต่อชั่วโมง
เปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำใน 10 ประเทศอาเซียน และ 4 ประเทศยอดนิยมของแรงงานไทย ปี 2567
ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใน 4 ประเทศยอดนิยมของแรงงานไทย
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเมื่อเดือนกันยายน 2566 ชี้ว่า 4 ประเทศจุดหมายปลายทางที่มีจำนวนแรงงานไทยเข้าไปทำงานมากที่สุดนั้น ได้แก่ ไต้หวัน (49,820 คน) อิสราเอล (25,887 คน) เกาหลีใต้ (18,962 คน) และญี่ปุ่น(8,570 คน) ฃ
เรามาดูกันว่า ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใน 4 ประเทศดังกล่าว ถูกหรือแพง แตกต่างจากค่าจ้างแรงงานในโซนอาเซียนอย่างไร
ไต้หวัน: ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 1,043.38 บาท
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กระทรวงแรงงานไต้หวันได้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจากเดือนละ 26,400 ดอลลาร์ไต้หวัน เป็น 27,470 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือคิดเป็นเงินไทย 31,315 บาท เฉลี่ยวันละ 1,043.38 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง ปรับเพิ่มจากชั่วโมงละ 176 ดอลลาร์ไต้หวัน เป็น 183 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือเพิ่มจาก 200.64 บาท เป็น 208.62 บาท/ชั่วโมง
อิสราเอล: ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 1,938.16 บาท
  • สกุลเงินของอิสราเอล คือ นิวเชเกลอิสราเอล (New Israel Shekel) และนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมา อิสราเอลได้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำรายเดือนจาก 5,571 เชเกล เป็น 5,880.02 เชเกล (ข้อมูลอ้างอิง https://wageindicator.org/) หรือคิดเป็นเงินไทย 58,145 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 เชเกล = 9.88 บาท) เฉลี่ยวันละ 1,938.16 บาท
เกาหลีใต้: ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยชั่วโมงละ 265.12 บาท
  • เกาหลีใต้ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 จากชั่วโมงละ 9,620 วอน เป็น 9,860 วอน หรือคิดเป็นเงินไทย 265.12 บาท/ชั่วโมง
ญี่ปุ่น: ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยชั่วโมงละ 238.83 บาท
  • ญี่ปุ่นปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำแตกต่างกันไปตามแต่ภูมิภาคและประเภทอุตสาหกรรม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 โดยค่าถัวเฉลี่ยค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 961 เยน หรือราว 6.49 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 238.83 บาท/ชั่วโมง โตเกียวเป็นเขตที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด คือ 1,113 เยน หรือราว 262.91 บาท/ชั่วโมง
โฆษณา