15 พ.ค. เวลา 11:00 • ธุรกิจ

บทเรียนธุรกิจจาก Nvidia บริษัท 2.22 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เริ่มต้นจากมื้อฟาสต์ฟูด

ในยุคของ Generative AI ที่กำลังเฟื่องฟูนี้ หลายคนอาจจะกำลังมุ่งความสนใจไปที่ความสามารถของ AI ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนอาจจะลืมบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเติบโต จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Generative AI อย่าง Nvidia
2
Nvidia เป็นชื่อของอาณาจักรชิปประมวลผลอันเลื่องชื่อ ที่มีผลประกอบการพุ่งสูงจนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 2.22 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก จากความต้องการชิป AI และเป็นบริษัทที่ถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก แต่ใครจะรู้ว่าต้นกำเนิดของอาณาจักร Nvidia แห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากมื้อฟาสต์ฟูดเล็กๆ บนโต๊ะที่ร้าน Denny’s เท่านั้น
“โต๊ะอาหารเช้า” จุดเริ่มต้นของอาณาจักรชิปประมวลผล
หากพูดถึงบริษัทใหญ่ระดับโลก เราจะพบว่าแต่ละบริษัทมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน อย่างเช่น Microsoft และ Amazon ที่เริ่มต้นจากในโรงจอดรถ, Facebook ที่เริ่มต้นมาจากหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือ Under Armour ที่เริ่มต้นจากชั้นใต้ดินของบ้าน
เช่นเดียวกันกับ Nvidia ที่เริ่มต้นมาจากมื้อเช้าบนโต๊ะในร้านฟาสต์ฟูดอย่าง Denny’s โดย Jensen Huang ซีอีโอชาวไต้หวัน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ในรายการ 60 Minutes ของช่อง CBS ว่าแม้ว่าในปี 2024 นี้ Nvidia จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก
แต่ในปี 1993 เขาเริ่มต้นแนวคิดทางธุรกิจนี้กับเพื่อนวิศวกรอีก 2 คนอย่าง Chris Malachowsky และ Curtis Priem โดยพวกเขามาพบกันที่ร้าน Denny’s ซึ่งเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่เจนเซ่น หวงเคยทำงานเมื่ออายุ 15 ปี และทั้งสามคนตัดสินใจที่จะก่อตั้งบริษัทร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่หนักแน่นตั้งแต่วันแรกว่า “พวกเราจะต้องปฏิวัติวงการเกมและสื่อด้วยกราฟิก 3 มิติให้ได้”
เส้นทางการต่อสู้ของ Nvidia สู่บริษัทที่มีมูลค่ามหาศาล
1
หากมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นนั้น เราอาจจะมองว่าการที่กลุ่มเพื่อนผู้ชาย 3 คนรวมตัวกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่จากจุดเล็กๆ ดูเป็นเรื่องที่เท่ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายแบบนั้น เพราะในวันที่ Nvidia ก่อตั้งขึ้น ทั้ง 3 ผู้ก่อตั้งกลับไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี
ทั้ง 3 ก็พยายามพัฒนาและคิดค้นเรื่อยๆ จนถึงปี 1995 Nvidia ก็ได้พัฒนาชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดที่มีชื่อว่า NV1 ได้สำเร็จ แต่ชิป NV1 นั้นเป็นความผิดพลาดที่ทำให้พวกเขาสร้างความล้มเหลวให้กับตัวบริษัทเอง ในการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุควิดีโอเกมอย่าง Sega เพราะชิปนั้นถูกร้องเรียนด้วยปัญหาทางเทคนิคมากมาย ที่แย่เกินกว่าที่จะสามารถเรนเดอร์กราฟิกของเกมได้
1
ความผิดพลาดนี้ทำให้ Nvidia เกือบที่จะล้มละลาย แต่เจนเซ่น หวงก็ทำการเจรจาขอซื้อขายสัญญากับ Sega เพื่อให้ Nvidia สามารถมีสภาพคล่องและเงินทุนในการพัฒนาชิปต่อยอดจาก NV1 ได้
1
ทำให้ในปี 1997 ก็มีชิปที่เรียกว่า RIVA 128 ออกสู่ตลาดและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มรู้จัก Nvidia ในฐานะของผู้ผลิตชิป และในช่วงปี 2010 Nvidia ได้สร้างความหลากหลายของอุตสาหกรรมชิป ที่นอกจากจะสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมวิดีโอเกมแล้ว ยังสามารถเพิ่มความสามารถของคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่ใช้ในการทำงานจริง รถยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือแม้แต่การประมวลผลบนคลาวด์ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19
4
นั่นจึงทำให้หุ้นของ Nvidia กลับขึ้นมามากกว่า 500% นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ตามการรายงานของ Goldman Sashs ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นความสำเร็จหลังจากที่ฝ่าฟันมานานของผู้ก่อตั้งและทีมงานของบริษัท
บทเรียนธุรกิจจากเจนเซ่น หวงและ Nvidia
ซีอีโอมหาเศรษฐี Nvidia อย่างเจนเซ่น หวงไม่เคยคาดคิดเลยว่า Nvidia ที่ขับเคลื่อนจากความต้องการในการพัฒนาภาพกราฟิก 3 มิติ สู่การพัฒนาชิปประมวลผลกราฟิกที่ทรงพลังเป็นพิเศษ จะทำให้พวกเขาเตรียมความพร้อมเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ต่อบริษัทของเขาอย่างยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ต้องการชิปที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว
แน่นอนว่าหลายคนอาจจะมองว่านี่คือความโชคดี แต่อย่างน้อยสำหรับเจนเซ่น หวงแล้ว “มันเป็นโชคที่เกิดจากวิสัยทัศน์ในอดีตของพวกเขา” ต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ก่อตั้งของ Nvidia มีวิสัยทัศน์ที่รู้ว่าภาพกราฟิก 3 มิติเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษยชาติในอนาคต และมองเห็นประโยชน์อันมหาศาลของชิปที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แล้ววันหนึ่ง เมื่ออุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์มาถึง ชิปของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบสำหรับ AI
และที่สำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จก็คือ “การมองโลกในแง่ดี” ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตและประสบความสำเร็จในอาชีพ เช่นเดียวกับที่ Tali Sharot นักประสาทวิทยาด้านความรู้ความเข้าใจ เจ้าของหนังสือ The Optimism Bias เคยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“การมองโลกในแง่ดี สามารถเปลี่ยนแปลงจินตภาพให้เป็นความจริงได้” เพราะการมองโลกในแง่ดี เป็นวิธีการที่เรากำลังคาดหวังให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในแบบที่เราคิดและเห็น ซึ่งเมื่อเรามองทุกเรื่อง ทุกปัญหาในแง่ดีมากขึ้น ทำให้เราสามารถคิดค้นทางออกที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างสามารถจับต้องได้ ดังนั้น การมองโลกในแง่ดีจึงนำไปสู่ความสำเร็จได้อีกทางหนึ่ง
1
ทั้งหมดนี้จึงเป็นบทเรียนทางธุรกิจจากเจนเซ่น หวง นักธุรกิจวัย 61 ปีและ Nvidia บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากร้านฟาสต์ฟูด ซึ่งทั้งหมดนี้เขายังตบท้ายอีกด้วยว่า “การอุทิศตนจะพาเราไปได้ไกลมากที่สุดเท่าที่เราอยากจะไปถึง”
เพราะการทุ่มเทกับสิ่งที่หลงใหล เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เด็กล้างจานธรรมดาๆ สามารถเติบโตขึ้นมาเป็น CEO ของหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในปี 2024 ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีเวทมนตร์ แต่มันมาจากการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล บวกกับทำงานหนักอย่างมีความสุขมาตลอด 61 ปีนั่นเอง
2
ที่มา
- Nvidia Leaps Aramco to Be World’s Third Most-Valuable Company​ : Subrat Patnaik, Bloomberg - https://bloom.bg/3ymPTis 
- Nvidia’s CEO co-founded his $2 trillion company at a Denny’s breakfast booth : Ashton Jackson, CNBC Make It - https://cnb.cx/4b6BaXN 
#Nvidia
#Business
#Inspiration
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา