15 พ.ค. เวลา 08:20 • หนังสือ

ผมต้องการให้ลูกหลานของผมมากพอแค่พวกเขารู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้

แต่ไม่มากพอที่ทำให้พวกเขาไม่ทำอะไรเลย
ต้นเดือนนี้ มีงานใหญ่ด้านการเงินของโลกงานหนึ่ง มีผู้ให้ความสนใจมาก คืองานประชุมประจำปีของกองทุน Berkshire Hathaway โดย วอร์เรน บัฟเฟตต์
ปีนี้เขามาเดี่ยว ไม่มีเงาของเพื่อนคู่หู ชาร์ลี มังเกอร์ ที่ตายไปเมื่อปีก่อน (คนที่ยกย่องว่าลีกวนยูเป็นสุดยอดผู้นำ)
บัฟเฟตต์หาเงินเก่ง แต่ก็ใช้เงินเก่ง ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อเพื่อนมนุษย์
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นเด็กฉลาดตั้งแต่เล็ก เก่งคณิตศาสตร์อย่างมาก คิดเลขในใจเร็ว เป็นนักอ่านตัวยง สนใจความรู้เรื่องธุรกิจ การตลาด
เขาเริ่มทำงานครั้งแรกกับพ่อตอนอายุสิบเอ็ดขวบ เป็นงานนายหน้าค้าหุ้น ปีนั้นเขาซื้อหุ้นตัวแรก คือหุ้น ซิตีส์ เซอร์วิสเซส หุ้นละ 38.25 เหรียญ เขาขายเมื่อหุ้นขึ้นถึง 40 เหรียญ และไม่กี่ปีต่อมา มันขึ้นถึง 200 เหรียญ สิ่งนี้สอนให้เขาเห็นค่าของการลงทุนกับหุ้นที่ดีในระยะยาว
อายุสิบสี่ เขาซื้อที่ดิน 40 เอเคอร์ ราคา 1,200 เหรียญ แล้วให้ชาวนาเช่า ตอนเป็นนักเรียนมัธยมปลาย เขากับเพื่อนซื้อเครื่องเล่นพินบอลราคา 25 เหรียญ ตั้งในร้านตัดผม ภายในสามเดือนพวกเขามีสามเครื่องในร้าน เมื่ออายุสิบหก เขามีเงินเก็บถึงห้าพันเหรียญ
เขารู้สึกว่าการเรียนในวิทยาลัยเป็นความสูญเปล่า แต่ก็ยอมเรียนต่อเพราะพ่อขอไว้ และเป็นนักศึกษาที่ได้คะแนนสูงลิ่วระดับต้น ๆ
เมื่อเรียนจบ เขาก็ไปทำงาน ไม่กี่ปีก็ก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ ในวัยยี่สิบหก เขาเรียนรู้ว่าจะซื้ออะไร ซื้อเมื่อใด เขาเรียนรู้ที่จะรอ รู้ว่าเมื่อใดสมควรจะปล่อย สร้างตัวด้วยสองมือจากความไม่มี จนกลายเป็นซีอีโอของบริษัทขนาดยักษ์
เงินเดือนทั้งปีของเขาในปี พ.ศ. 2549 คือหนึ่งแสนเหรียญ จัดว่าน้อยมากสำหรับหมายเลขหนึ่งของบริษัท ซีอีโอทั่วไปมีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเก้าล้านดอลลาร์
เขาบอกว่า สหรัฐอเมริกาจ่ายเงินให้นักมวยสิบล้านเพื่อที่จะน็อกคู่ต่อสู้ให้ล้มในเวลาสิบวินาที แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสูงแก่ครูที่เก่งที่สุด พยาบาลที่ดีที่สุด เป็นการจ่ายที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
เขาเห็นคุณค่าของการทำงานที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่คิดจะย้ายบ้านที่อยู่มาตั้งแต่หนุ่มไปอยู่ในคฤหาสน์ที่ไหนสักแห่ง เขาบอกว่า ซื้อบ้านใหม่ทำไม ในเมื่อเขามีทุกอย่างที่ต้องการในบ้านหลังนี้แล้ว การย้ายบ้านเพียงเพื่อให้ 'สมฐานะ' ของตัวเองเป็นเรื่องเหลวไหล
หลายปีก่อนเคยมีการสัมภาษณ์มหาเศรษฐีชั้นนำของโลกจำนวนหนึ่ง และพบว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจริง ๆ ล้วนเป็นคนมัธยัสถ์อย่างยิ่ง ใช้เงินเท่าที่จำเป็น เพราะพวกเขาเห็นว่าเงินทองไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิต
โลกเราเต็มไปด้วยคนรวยกลวง ๆ คนที่พยายามทำตัวให้ดูรวย เมื่อไม่มีเงินก็พยายามกู้เงินมา ด้วยค่านิยมที่ว่า "คนที่กู้เงินได้คือคนที่มีเครดิต"
คนรวยเช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ กลับบอกว่า จงหลีกห่างจากบัตรเครดิตไปไกล ๆ
ที่แตกต่างจากคนอื่นก็คือ ลูกหลานของเขาไม่ได้รับมรดกมากเท่าส่วนที่บริจาค เขาบอกว่า "ผมต้องการให้ลูกหลานของผมมากพอแค่พวกเขารู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้ แต่ไม่มากพอที่ทำให้พวกเขาไม่ทำอะไรเลย"
ปราชญ์ชาวอินเดีย กฤษณมูรติ เคยกล่าวว่า "ทางตะวันออกเคยมีธรรมเนียมปฏิบัติที่คนมั่งมีจะสละทุกสิ่งทุกอย่างในทุกห้าปีหรือกว่านี้ รวมทั้งในเรื่องเงินทองด้วย แล้วเริ่มต้นใหม่ ทุกวันนี้คุณทำเช่นนั้นไม่ได้แล้ว มีคนมากเกินไป ทุกคนต้องการงานของคุณ ประชากรล้นหลาม...
"แต่การทำเช่นนี้ในทางจิตใจ มิใช่การสละภรรยาคุณ เสื้อผ้าของคุณ สามีของคุณ หรือบ้านเรือนของคุณ แต่เป็นการสละด้านใน ได้แก่การไม่ยึดติดกับสิ่งใดเลย การทำเช่นนั้นเป็นความงามยิ่งแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดนี่เป็นความรักด้วย หรือมิใช่?"
เมื่อมองทะลุวัตถุนิยม ก็เริ่มแลเห็นความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต
โฆษณา