16 พ.ค. เวลา 07:09 • ธุรกิจ

'GBY Digital Tech’ สานฝันเด็กไทย ปูทางสู่โอกาสการศึกษาดนตรี และศิลปะผ่าน แพลตฟอร์ม e-Learning Online

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในทุกการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมถึงยังแทรกซึมเข้ามาในระบบการศึกษาไทย ทำให้ปัจจุบัน การเรียนการสอนมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก รวดเร็ว ค้นคว้าหาความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ โดยไม่ต้องพึ่งพาหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ภาครัฐ มีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียนที่มีทักษะด้านดนตรีและศิลปะได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น จัดประกวดแข่งขันดนตรี มอบทุนการศึกษา และสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงผลงาน ขณะที่ โรงเรียนดนตรีและศิลปะ มีการพัฒนาและเปิดสอนหลักสูตรทางด้านดนตรี เพื่อ ตอบสนองความต้องการของนักเรียน รวมถึงรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ที่ชื่อว่า ระบบ Symphony Learning โดย โรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ (Symphony Music And Art School)
ธุรกิจบริการด้านการเรียนการสอนดนตรีแบบครบวงจร ก่อตั้งโดย คุณสายฟ้า​ พลจันทร์​ และ คุณศรีจันทร์ จริงจิตร เครือธุรกิจมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ที่ช่วยให้นักเรียน เรียนรู้ดนตรีและศิลปะได้สะดวก เข้าถึงสื่อการสอนได้ง่าย และฝึกฝนทักษะได้ทุกที่ ทุกเวลา
บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปศึกษาแนวคิด และโมเดลธุรกิจของผู้บริหาร ที่มุ่งสร้างธุรกิจเพื่อทำกำไร ไปพร้อมการรังสรรค์และช่วยเหลือสังคมให้เข้าถึงการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล กับ คุณรณกร พรพชรวรรณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท GBY Digital Tech จำกัด โดยมี คุณศรีจันทร์ จริงจิตร ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ร่วมด้วยเภสัชกรหญิงเสาวภา ก้าวสมบูรณ์ และ คุณโกสินทร์ จริงจิตร ดำเนินการในฐานะบอร์ดบริหาร
คุณรณกร กล่าวว่า โลกเทคโนโลยี ปัจจุบัน ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดีย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนมากขึ้น ได้พัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา รวมทั้งทักษะการสื่อสาร ที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพต่าง ๆ ในอนาคต การเรียนดนตรีและศิลปะช่วยพัฒนาทักษะเหล่านี้
ซึ่งกลุ่มพวกเราเป็นนักธุรกิจคริสเตียน จึงมองว่า ดนตรี มีประโยชน์อย่างมากกับเด็ก ผมจบด้านดนตรี ส่วนคุณโกสินทร์ (น้องชายของ คุณศรีจันทร์ ประธานบริษัท) จบเอกด้านดนตรีจากมิวสิคเชิร์ช (Music Chruch) ที่อเมริกา เราจึงตั้ง บริษัทดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ ขึ้นมา และนำระบบการเรียนการสอนเข้าไป เพื่อให้เด็กได้เรียนดนตรีในราคาที่ถูกที่สุด
คุณรณกร พรพชรวรรณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท GBY Digital Tech จำกัด
ปัจจุบัน มีเด็กเรียนกับเราประมาณ 20,000 คน ซึ่งรูปแบบ ‘ซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง’ คือ ระบบที่เข้าไปสอนดนตรีในโรงเรียน โดยเราลงเครื่องดนตรีให้ฟรี พร้อมทั้งจัดคุณครูเข้าไปสอน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสใช้เครื่องดนตรีคุณภาพสูง สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อดำเนินกิจกรรมมาถึงจุดหนึ่ง เริ่มคิดว่าน่าจะมีห้องอัดไว้สำหรับทำคอนเทนต์ และทำเพลงประกอบ เช่น เพลงมาร์ช ให้กับโรงเรียน เราทำมา 5-6 ปี จนได้รับการรับรองว่าเป็น 1 ใน 5 ห้องอัดที่ดีที่สุดของโรงเรียนสอนดนตรีในประเทศไทย
‘GBY Digital Tech’ ผลิตสื่อดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน
จากนั้น เราตั้งบริษัทขึ้นมาชื่อว่า บริษัท จีบีวาย ดิจิตอล เทค จำกัด (GBY Digital Tech Co., Ltd.) ย่อมาจาก God Bless You ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตสื่อดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน และสร้างสรรค์สื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ เนื่องจากหลังโควิด เราเริ่มมองว่าจริง ๆ แล้ว เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ต้องมีแพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น
สิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างหนึ่งจากธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรี คือเรามีค่าใช้จ่ายในส่วนเงินเดือนพนักงานประมาณ 1 ล้านกว่าบาทต่อเดือน หมายความว่า 10 ปี เราเสียเงินไป 100 ล้านบาท แต่ทุกอย่างมันสูญหายไปกับลม เพราะเราไม่สามารถเก็บดาต้าไว้ได้ เป็นการทำงานแบบวันต่อวัน
จึงกลับมาคิดกันว่า สิ่งที่เราทำทุกวัน คือสินทรัพย์ (Asset) ควรจะหันกลับมาดูว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง แต่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ในฐานะผู้บริหารจึงต้องศึกษาเยอะมาก และมาประชุมร่วมกับบอร์ดบริหารว่า ถ้าเราทำข้อมูลให้เป็นสินทรัพย์ จะมีมูลค่ามากขึ้น เมื่อเราสะสมได้เพียงพอ จะช่วยสังคมให้เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้นด้วย ท่านประธานจึงตัดสินใจจะลงทุนก่อตั้งบริษัท จีบีวาย ดิจิตอล เทค จำกัด ขึ้นมา
เรียนรู้จากความล้มเหลว - ปัจจัยความสำเร็จ คือ ทีมงานคุณภาพ
เราสื่อสารผ่าน Facebook เพื่อหาทีมงานคุณภาพ ช่วง 2 ปีแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทาง Developer ที่ทำแอปพลิเคชันเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถพัฒนาได้มาก ภายในเฟรมเวิร์กเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ของเรา 100% ครั้งนั้นต้องยกเลิกสัญญาไป ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องนำมาพัฒนาและปรับปรุง
เรามองหาบริษัทที่เป็นตัวจริงในวงการพัฒนาแอปพลิเคชัน จนได้เจอบริษัทมืออาชีพ เข้ามาร่วมงานอีกครั้งแต่ท้ายที่สุด ได้เรียนรู้ว่า ถ้าไม่มีทีม Developer ของตัวเอง คุณจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนเพราะเขามีทีมงาน แต่อาจจะไม่ได้ Concentrate กับเราโดยตรง หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา เช่น เรามีโจทย์ว่า ทำอย่างไร? ให้ร้องเพลงแล้ว วัดผลได้ มีคะแนนขึ้นมาให้เห็น
เราค่อย ๆ ศึกษา ดูการทำงานเคยมีแอปพลิเคชันที่มีการทำงานในลักษณะแบบนี้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง คุณศรีจันทร์ เลยมองว่า ถึงเวลาที่ควรสร้างทีม Developer ของตัวเองขึ้นมาอย่างจริงจัง พัฒนาไปพร้อมกับเรา
หลังจากเริ่มรับสมัครทีมงาน เราหาทีมที่ทำด้าน UX UI ทำคอนเทนต์ เราซื้อคลาวด์ไว้ที่อเมริกา ซึ่งมีข้อกำหนดว่า เพลงที่นำมาใส่ ต้องเป็นเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์ เราจึงเซ็นต์สัญญา กับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขาเห็นว่า สิ่งที่เราทำมีเป้าหมายในการสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษา เขาจึงเก็บค่าลิขสิทธิ์เราในราคาถูกลง ที่ผ่านมา มองว่านอกจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชัน น่าจะเปิดช่อง YouTube ขึ้นมาเพิ่ม
เป็นที่มาของการเปิดแชนแนลชื่อ Hips Book แพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงออนไลน์ ที่มุ่งเน้นการสอนดนตรีและศิลปะผ่านวิดีโอคุณภาพสูงโดยผู้เชี่ยวชาญและศิลปินที่มีชื่อเสียง
คอนเทนต์ในแอปพลิเคชัน จะไม่ใช่แค่เรื่องดนตรีอย่างเดียว ฟีดแบคที่เราได้จากคนภายนอก เขาสนใจและสอบถามกันเยอะว่า ถ้าเขามีหลักสูตรภาษาอังกฤษ มีวิชาคณิตศาสตร์ ขอนำมาใส่ด้วยได้ไหม เรามองว่า ถ้าคนสนใจขนาดนี้ ควรจะพัฒนาแพลตฟอร์มให้ใหญ่ขึ้น หน้าแรกในแพลตฟอร์ม จะเป็นโซเชียลมีเดีย โดยจำกัดอายุผู้ใช้ เช่น เด็ก ป.3 ถึง ป.6 เขาจะดูได้เฉพาะคอนเทนต์ในกลุ่มของเขา แต่เด็กโตอย่าง ม.1 ถึง ม.6 จะเห็นคอนเทนต์ของเขาและของผู้ใหญ่ได้ด้วย
โมเดลธุรกิจ แบ่งปันกำไร สร้างโอกาสให้สังคม
คุณรณกร เผยว่า เราเอากำไร 10% มาแบ่งปันคืนให้กับสังคม เป้าหมายของเรา คือต้องการทำราคาให้ถูกเพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น วันนี้ถ้าผมเดินเข้าไปซื้อกีตาร์จากร้านทั่วไป ราคา 3,000 บาท แต่ในระบบ ผมซื้อกีตาร์หนึ่งตัว จะมีการให้สะสมเหรียญไว้ คุณนำมาใช้เป็นส่วนลดได้ อาจจะใช้เงินเพียงแค่ 2,500 บาทเท่านั้น เหรียญของบริษัท เราสร้างระบบขึ้นมาเอง แทนที่จะทำให้เป็นคอยน์อย่างเดียว ลูกค้าสามารถนำเหรียญที่ได้ กลับมาซื้อสินค้าได้ในราคาพิเศษ
“ในอนาคต เมื่อมีผู้มาเปิดบัญชี เขาได้รับทันที 100 เหรียญ เพื่อเอามาใช้เป็นส่วนลด โดยเรานำกำไรที่ได้มาเป็นส่วนลด เป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน และช่วยกันผลักดันให้เกิดการเติบโต”
ส่วนคนที่เอาคอนเทนต์เข้ามาวางกับเรา ขอแค่กำหนดราคาที่เป็นธรรม สมมุติว่า เป็นคอนเทนต์การศึกษา คุณตั้งราคาเท่าไหร่? คุณจะได้เงินเท่านั้น แต่เราจะบวกจากราคานั้นขึ้นไป 10 - 20% ทั้งนี้ ต้องมีใบอนุญาตที่เราตรวจสอบได้ว่าเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย และถูกลิขสิทธิ์
เปลี่ยน Pain Point เป็น Gain Point ด้านการศึกษา
จากเดิมในช่องทาง Facebook จะเจอปัญหาคือ เข้ามาแล้วหาฟังก์ชันไม่เจอ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ต้องอัปเดตตลอดเวลา เราจึงเลือกเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในแพลตฟอร์ม YouTube ที่จัดการง่ายกว่า เช่น เมื่อเรียนจบ ทำข้อสอบเสร็จและได้คะแนนเกิน 60% ขึ้นไป ผู้เรียนจะได้รับเกียรติบัตรออนไลน์ทันที
โมเดลนี้ เราทำมาได้ระดับหนึ่ง ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาสนใจ จึงนำเแพลตฟอร์ม Hips Book ที่เป็นแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงออนไลน์ มาพัฒนาร่วมกัน มีเด็กเข้ามาเรียนแล้วประมาณ 50,000 คน
ก่อนหน้านี้ ช่วงโควิด เวลาเรียนกับครู ผู้ปกครองจะต้องเข้าแอปพลิเคชันซูม (Zoom) หรือเวลาจะโหลดเอกสารก็ต้องมีเครื่องปริ้นต์เตอร์ หรือไปจ้างปริ้นต์ ส่งคุณครูก็ต้องถ่ายด้วยมือถือ บางครั้งรูปไม่คมชัด เราเปลี่ยน Pain Point เหล่านี้ ทำให้ Hips Book ไลฟ์สดได้ ดูย้อนหลังได้
สำหรับมุมของนักดนตรี เราพัฒนาฟังก์ชันให้เขาซ้อมเพลงกับ Backing track มีเครื่องดนตรี 60 ชิ้น ของทั้งวงออร์เคสตรา สามารถกดปิดได้เลยว่าคุณจะไม่เอาเครื่องดนตรีชิ้นไหน เพื่อจะได้ซ้อมเสียงจริง ๆ แบบไม่ต้องนั่งรอคนทั้งวงมาซ้อมพร้อมกัน
เส้นทางธุรกิจ กับจุดหมายพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทย
ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จไหม? คุณรณกร บอกว่า วันนี้เรายังเดินมาได้แค่ 20% เพราะยังมีภารกิจอีกมากมาย ประกอบกับแพลตฟอร์มการศึกษาของประเทศไทยยังไม่เพียงพอ สิ่งที่เราต้องทำ คือคอนเทนต์สำหรับการเรียนของนักเรียน ตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 และต้องให้เขาใช้ฟรีด้วย
สำหรับระบบ School Management นักเรียนต้องจ่ายเงิน 100 - 150 บาทต่อเดือน ซึ่งเรากำลังพัฒนาเพื่อให้นักเรียนเข้ามาใช้ได้ฟรี เพราะเรามองว่าสังคมเติบโตไม่ได้ ถ้าขาดการแบ่งปัน อีกมุมหนึ่งในฐานะของนักธุรกิจ การทำแอปพลิเคชันเหล่านี้ คือการลงทุน ด้วยการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา แต่นั่นไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริง ต้องมีผู้ใช้ที่มากพอต่างหาก เราจึงทำการตลาดเพื่อสร้างสังคมให้เกิดขึ้นก่อน แล้วมันจะดำเนินไปพร้อมทำกำไรได้ด้วยตัวเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราตั้งเป้าจะเดินต่อไปในโมเดลธุรกิจนี้
ตอนนี้เรามีผู้ใช้ทั้ง iOS และ Android ประมาณ 30,000 Account แต่มี Follower ในช่อง YouTube อีกประมาณ 100,000 Account ซึ่งอาจจะยังโหลดแอปพลิเคชันไม่ได้
คุณรณกร กล่าวว่า ในส่วนคลาสออนไลน์ เรามีทั้งศิลปินชื่อดัง และบางคนเป็นมือกีตาร์ระดับปรมาจารย์ของเมืองไทย รวมถึงอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำขนม มาอยู่ในแพลตฟอร์มเราด้วย แต่อาจจะยังไม่ได้นำไปลงในแอปพลิเคชันทั้งหมด เมื่อแอปพลิเคชันเสร็จเรียบร้อย เราจะบรรจุสิ่งเหล่านี้ลงไปเพื่อให้กลายเป็นทูเวย์คอมมูนิเคชั่น เป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ และครบวงจรมากที่สุด
AI การศึกษา พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน
สมมุติว่า เพลงที่เราเอามาทำ คือเพลงเดือนเพ็ญ เมโลดี้ขึ้นมา มี Backing track ให้ เราวางโน้ตต้นฉบับไว้พอมีเสียงดนตรีที่ผู้เล่นเริ่มส่งเข้ามา ระบบจะแปลงสัญญาณเสียงแบบอนาล็อกให้เป็นดิจิทัล แล้วเอามาแมตช์ชิ่งกัน ถ้าไม่ตรงกัน ก็จะมีค่าความเหลื่อมล้ำว่ายอมรับได้กี่เปอร์เซ็นต์ ตรงไหนบ้างที่จะถูกตัดคะแนน อันนี้คือรูปแบบและวิธีคิดที่เราวางไว้ ซึ่งพอเราทำฟังก์ชันนี้ขึ้นมา ในมุมมองของคนทั่วไป การเล่นดนตรี คือการทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย
แต่ถ้าเราไปวางระบบให้ตัดสินความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ มันจะเป็นซีเรียสมิวสิค ผู้เล่นกังวลว่าจะต้องเป่าให้เป๊ะ ถ้าไม่ได้แบบนี้จะไม่ผ่าน กลายเป็นว่า ผู้เรียนเครียดเกินไป เพราะบางคนยังไม่มีทักษะ พอยกนิ้วเร็วเกินไป ก็ถูกตัดคะแนน เหมือนการจับผิด และไม่ได้ส่งเสริมเราเลยต้องกลับมาเปลี่ยนรูปแบบใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้ AI เก่งมาก สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างแม่นยำ
แพลตฟอร์มเราไม่ใช่ AI แบบ 100% เพราะเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่อาจจะยังไม่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเวลาที่ลงเพลง แล้วเอามา Mapping กับทุกเพลงที่ลงในระบบจากหลังบ้าน มันจะแมปปิ้ง (การจัดระเบียบของเสียง) อัตโนมัติ ปัจจุบัน ถ้าเป็นดนตรีแบบ Pop Song เรามีประมาณ 500 - 600 เพลง ถ้าคิดเป็นเครื่องดนตรี หนึ่งเพลงจะมีกีตาร์ เบส คีย์บอร์ด ฯลฯ รวมทั้งหมดประมาณ 2,000 - 3,000 วิดีโอ
ในส่วนการเรียนเปียโน ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 ตอนนี้เราขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการแล้ว เป็นหลักสูตรออนไลน์เพียงหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาต ในนั้นมีคอนเทนต์วิดีโออยู่ประมาณ 400 คลิป เด็กนักเรียนทุกคนจะสามารถมีพื้นฐานในการเล่นเพลงป๊อบหรือเพลงเบสิคโดยศึกษาจากหลักสูตรของเราได้ โดยสามารถเรียนได้ตลอดชีวิต ดูซ้ำได้ ไม่มีวันหมดอายุ
ก้าวต่อไปของ ‘GBY Digital Tech’
คุณรณกร เผยถึงแผนงานในอนาคตของ ‘GBY Digital Tech’ ว่า ล่าสุด เรากำลังจะเปิดอีกหนึ่งบริษัท โดยจะนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากจีน เป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มระบบการเรียนการสอนระดับไฮเอนด์สำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมเราถึงต้องทำเรื่องพวกนี้ เพราะถ้าเราลงทุนทำแอปพลิเคชันมาหนึ่งแอป เราต้องหาผู้ร่วมลงทุน แต่เราอยากจะเป็นเจ้าของเอง ที่เป็นแอปพลิเคชันฝีมือคนไทย ในจุดเริ่มต้นวันนี้ เมื่อธุรกิจ Project A ไม่ทำเงิน
เราต้องไปทำ Project B และ C เพื่อหล่อเลี้ยงระบบของเรา ท้ายที่สุดแล้ว ทีมงานของเราในบริษัทที่มีอยู่ สัดส่วน 20 / 80 หมายถึง เราจะสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการใช้เงินเพียง 20% จากธุรกิจเดิม แล้วใช้คน 80% จากธุรกิจเดิมนั้นมารันธุรกิจใหม่ เมื่อเราทำได้แบบนี้ เชื่อว่าภายในไม่เกิน 3 เดือน น่าจะเปิดตัวได้
ธุรกิจเดิมที่เราทำคือเอาคอนเทนต์ลงไปขายใน Facebook ก่อน เพื่อสร้างรายได้เข้ามา เราจะเอาเงินก้อนนี้เป็นค่าใช้จ่ายให้กับพนักงานโดยที่ไม่ต้องควักทุน แต่ถ้าจะไปให้ไกลกว่านี้ ต้องสร้างแต่ละโมเดลธุรกิจให้ Scale up เพื่อรองรับการเติบโต ซึ่งต้องลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน ไม่อย่างนั้นคงโตไม่ได้
“ผมเชื่อว่าไม่ใช่แค่มีผู้ใช้จำนวนมากแล้วจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องอยู่กับเรานาน ๆ ฉะนั้น ฟังก์ชันดี คอนเทนต์ต้องดีด้วย ซึ่งทุกอย่างจึงต้องหมุนด้วยเงิน”
ถ้าคุณใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียเป็น จะเข้าใจว่าวันนี้เราต้องเปลี่ยนมุมมอง ช่องทางอย่าง Facebook ทำให้คนตัวเล็กสามารถทำมาหากินได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยทำธุรกิจอื่น กว่าจะเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าได้หมดเงินไปเยอะ แต่วันนี้คุณสามารถเป็นเจ้าของช่องได้ เหมือนเป็นเจ้าของห้าง ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าของคุณดีแค่ไหน มีคุณภาพแค่ไหน ถ้าดีจริงก็สามารถเป็นช่องทางทำเงินได้ไม่แพ้ธุรกิจอื่น
ผมมองว่าระบบการเรียนการสอน ไม่มีวันตาย แต่กลับเป็นโมเดลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าการตลาดมหาศาล เพราะเราไม่ได้พูดถึงแค่มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างเช่น คอร์สขายขนมปัง มีคนมาเรียนตั้งแต่อายุน้อยจนถึง 60 กว่า คนสูงวัย เขาทำเพราะเขามีความสุข อีก 50% คือมาเรียนรู้เพราะอยากมีอาชีพ ต้องหารายได้ เราผลิตสิ่งที่ดีที่สุดออกไปในราคาที่ต่ำ เพื่อแบ่งปันให้กับสังคม เราได้ทั้งเงิน และความสุข จากการทำเพื่อสังคมอีกด้วย
ธุรกิจดนตรี ที่ลดความเหลื่อมล้ำให้การศึกษาไทย
คุณรณกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมอยู่ในแวดวงดนตรี สิ่งที่เราเจอคือ ตอนเด็ก ๆ การจะเรียนดนตรีต้องจ่ายแพงมาก เครื่องดนตรีก็แพงหลักพันถึงหลักหมื่นบาท อาจารย์ผู้สอนก็หายาก ต้องเข้ามาที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แม้แต่ตอนนี้ ปัญหาเหล่านี้ก็ยังมีอยู่
เชื่อไหมว่า? โรงเรียนหลายแห่ง ยังคงมีปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น คุณครูคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมี 20 กว่าท่าน ครูภาษาอังกฤษมี 4-5 ท่าน แต่ครูดนตรีมีเพียงท่านเดียว และต้องเล่นให้ได้ทุกเครื่องดนตรีเพื่อสอนให้ทุกระดับชั้นเรียน ในความเป็นจริง ครูเล่นได้ แต่อาจจะไม่ได้ถนัดทั้งหมด เราจึงแก้ไขด้วยการเชิญนักดนตรีมา ให้ค่าตอบแทนเขา เขาจะสอนตั้งแต่การจัดการ หันหน้า หันซ้าย-ขวา การยืนที่ถูกต้อง แล้วอาจารย์ที่มาสอน ใช้เครื่องดนตรีคุณภาพดี
เพราะเรารู้ว่าการเล่นดนตรี สิ่งสำคัญคือการฟัง นักเรียนเปิดมาดู เขาจะได้ยินเสียงที่ถูกต้อง แล้วค่อยมาศึกษา มาแกะเป็นท่อน ๆ ครูที่ประจำที่โรงเรียนจะเป็นเพียงโค้ชที่คอยแนะนำให้ นักเรียนกลับไปฝึกซ้อมเพิ่มเติม การจัดการก็จะง่ายขึ้น
คอร์สของอาจารย์ที่มีชื่อเสียง อย่างอาจารย์ป๊อบ วรวิทย์ ปกตินักเรียนต้องไปเรียนแบบส่วนตัว ถ้าไปเรียนกับอาจารย์ อย่างน้อยคุณต้องไปเรียน 300 ครั้ง คิดเป็นเงินชั่วโมงละ 2,000 บาท แต่ของเรามีคลิปวิดีโอสอนทั้งหมดประมาณ 300 คลิป แต่คุณซื้อเรา 900 บาท สามารถเรียนได้ตลอดชีวิต ไม่มีวันหมดอายุ ดูซ้ำได้
อีกหนึ่งจุดเด่นในแพลตฟอร์มของเรา คือมีทีมงานคอยตอบคำถามเบื้องต้นให้ แต่สำหรับข้อสงสัยที่นักเรียนพิมพ์มาถามเชิงลึก เช่น เทคนิคการปรับเสียง หรือ effect เฉพาะทาง เราจะส่งไปให้อาจารย์ท่านนั้นตอบให้ เราจะเป็นตัวกลางระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้มากที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาอีกทางหนึ่ง
รู้จัก บริษัท จีบีวาย ดิจิตอล เทค จำกัด เพิ่มเติมได้ที่ :
โฆษณา