17 พ.ค. เวลา 15:22 • ธุรกิจ

Transformation โรงงานผลิตพืชผลการเกษตรจากเคมีฟาร์ม สู่ข้าวโพดหวานออร์แกนิก ส่งเสริมเกษตรกรไทย

อาชีพเกษตรกรยุคดิจิทัล เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการเป็นเพียงผู้ผลิต มีการพัฒนาความรู้ ทักษะ ผสมผสานความรู้ดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต Transformation สู่วิถีการเกษตรยั่งยืนเต็มรูปแบบ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับผู้บริหารธุรกิจการเกษตร ผู้ปลูกและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรทั้งในรูปแบบของการส่งออกและการจำหน่ายในประเทศ กับคุณวรวัธน์ อัสดรนิธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค การเกษตร จำกัด ในเครือบริษัท ลำปางฟู้ดโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าแปรรูป ถึงแนวคิด วิสัยทัศน์ และมุมมองของการทำงานร่วมกับเกษตรกรในชุมชนภายใต้เป้าหมาย ‘เติบโตไปด้วยกัน’
เราเริ่มจากธุรกิจลำปางฟู้ดโปรดักส์ ผลิตผัก ผลไม้แปรรูป ตั้งแต่ปี 2533 ส่วนธุรกิจการเกษตร เริ่มต้นในปี 2537 หลังจากที่เรามีโรงงานของตัวเองแล้ว จึงคิดว่าน่าจะขยายธุรกิจเชิงลึกมากขึ้น เริ่มปลูกเองบางส่วน ทำสวนลำไย ปลูกผักกุยช่ายและผักทั่วไปที่ส่งขายตามตลาด อีกส่วนหนึ่งส่งเข้าไปในโรงงานเราเอง
อ่านบทความเพิ่มเติม คลิก :
‘ลำปางฟู้ดโปรดักส์’ แชร์แนวคิดธุรกิจเกษตรลดเสี่ยง รับมือทุกความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ
เรียนรู้ตลาด สู่การเปลี่ยนผ่าน (Transition) เพื่อตอบให้ตรงโจทย์
คุณวรวัธน์ กล่าวว่า 20 ปีที่แล้ว ธุรกิจหลักคือสวนลำไย จนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีเทรนด์พืชผัก Organic ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของผู้บริโภคต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เราเริ่มมองเห็นโอกาสในตลาดนี้ จึงศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังจนถึงขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Certification Scheme for Organic Agriculture) ในพื้นที่
สินค้าหลัก คือข้าวโพดหวานและผักชี ลด Scale การทำสวนลำไยลง เนื่องจากราคาลำไยเริ่มตก ประกอบกับพื้นที่ในจังหวัดลำปาง จะมีอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
คุณวรวัธน์ สะท้อนมุมมองว่า พืชผัก Organic ส่วนใหญ่ คนมักเข้าใจว่ามีราคาสูง เพราะเห็นราคาที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ในความเป็นจริง กว่าผลผลิตจะออกจากสวนไปจนถึงขั้นตอนวางขาย ต้องผ่านกระบวนการหลายชั้น เกษตรกรไม่ได้มีส่วนแบ่งรายได้มากอย่างที่เห็นราคา หลักการในแง่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน เป็นสินค้าที่มีขายโดยทั่วไป ราคาที่เป็นวัตถุดิบ Organic ที่ส่งเข้าโรงงาน จะบวกขึ้นมาเพียง 10-20% เท่านั้น
ฉะนั้นการจูงใจให้เกษตรกรหันมาขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวาน Organic มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ลำบาก นอกจากนี้เมื่อ หมดฤดูกาลปลูกข้าวโพดหวาน Organic ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรก็จะปลูกข้าวต่อ ซึ่งเป็นพืชหลัก และการปลูกข้าวนี้ ก็ไม่ได้เป็นการปลูกแบบ Organic ดังนั้นเราจึงไม่สามารถปลูกพืช Organic ในพื้นที่เดียวกันได้ตลอดทั้งปี ด้วยวิถีการปลูกแบบนี้ ก็จะไม่สามารถขอใบรับรองพืช Organic ได้
เราจึงส่งเสริมปลูกพืชแบบเกษตรปลอดภัย (GAP) กับเกษตรทั่วไป ซึ่งทำมาเกิน 10 ปีแล้วในนามของลำปางฟู้ดโปรดักส์ เป้าหมายคือ Supply ให้กับโรงงานเราเองเป็นหลัก ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกให้กับบริษัท จะต้องปรับตัวเรียนรู้ในการทำระบบ Traceability system ที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปที่ต้นทางได้ เช็คข้อมูลย้อนหลังได้ เช่น คุณปลูกอะไร เมล็ดมาจากไหน ใช้ปุ๋ยอะไร เป็นต้น
และในช่วง 4 ปีหลังนี้ เราเริ่มขายพืชตัวอื่น คือ พริก เพื่อขายให้กับโรงงานอื่นด้วย เลยมองว่าน่าจะย้ายการทำ Contact Farming มาอยู่ในส่วนหนึ่งของ บริษัทเค การเกษตร จำกัด ดังนั้นเราจึงเป็นทั้งผู้ปลูกพืช Organic ในฟาร์มตัวเอง และส่งเสริมการปลูกพืชแบบ Contact Farming ในระบบเกษตรปลอดภัยที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) นอกจากนั้นยังมีบริการเกี่ยวกับการเกษตรที่ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดีขึ้นด้วย
เคมีฟาร์ม สู่ Organic ฟาร์ม
การเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตจากฟาร์มที่ใช้สารเคมี สู่ Organic ฟาร์ม ต้องวางแผนงาน และอาศัยความมุ่งมั่น อดทน เพื่อให้ผลลัพธ์ คือ การทำธุรกิจเกษตรที่ยั่งยืน ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคุณวรวัธน์ เผยว่า โดยกติกา ไม่ว่าจะเป็นระบบใดในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) จะใช้เวลา 2-3 ปี คือคุณไปสมัครทำฟาร์มผัก Organic แล้ว
แต่ยังไม่ได้ใบอนุญาตทันที ข้อกำหนดคือ ในช่วง 3 ปีคุณต้องปลูกพืชที่เป็น Organic ทุกกระบวนการ แต่จะใช้สิทธิ์ หรือการรับรองว่าเป็นพืช Organic เลยไม่ได้ ต้องเริ่มจากปลูกและนำไปขายในตลาดทั่วไปก่อน ตรงนี้ฟังดูเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่เหตุผลคือ เพื่อจะเป็นการยืนยันว่าพื้นที่นั้นๆ จะปราศจากสารเคมีตกค้างเมื่อครบ 3 ปีแล้ว
ความยากคือ ฟาร์มเคมี ถ้าจะกำจัดวัชพืช อาจจะใช้สารเคมีพ่น ฉีด ก็คุมได้เป็นเดือน แต่ถ้าเป็นพืช Organic เราต้องหมั่นถอนหญ้า ตัดหญ้า ต้องทำงานมากขึ้น ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน ค่าใช้จ่ายของการใช้ปุ๋ยหรือยาก็จะน้อยลง โดยเน้นการทำปุ๋ย , ฮอร์โมนพืช , สารชีวภัณฑ์กำจัด รา หนอน ด้วยตัวเอง มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และชีวภัณฑ์แบบ Organic หลักการคืออยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งการปรับปรุงดิน และขั้นตอนสำคัญอย่างการทำปุ๋ยอินทรีย์ ต้องเป็นปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อาจจะมีการเติมจุลินทรีย์ หรือ ธาตุอาหาร จากธรรมชาติเข้าไปเพื่อเสริมความแข็งแรงให้พืช ที่เพิ่มขึ้นแน่ ๆ คือด้านแรงงาน
ต้องกำจัดวัชพืชบ่อยขึ้น และเพิ่มธาตุอาหารโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์บ่อยขึ้น เพราะปุ๋ยอินทรีย์จะปล่อยธาตุอาหารออกมาช้ากว่าสารเคมี ปุ๋ยเคมีอาจจะปล่อยธาตุอาหารออกมาในเวลา 3-5 วัน แต่ถ้าเป็น Organic กว่าจะผ่านการย่อยให้เป็นหน่วยที่เล็กลง เหมาะที่พืชจะนำไปใช้ได้ ใช้เวลาต่างกันมาก
ดังนั้น กุญแจสำคัญของการปลูกพืช Organic คือนอกจากจะมั่นใจว่าพื้นที่นั้นๆ ไม่มีสารเคมีตกค้างเจือปนอยู่ในดินแล้ว การทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยสารอินทรีย์ มีธาตุอาหารที่เหมาะสม และที่สำคัญคือ มีปริมาณจุลินทรีย์ในดินมากพอ เพื่อทำหน้าที่ย่อยสารอาหารในดิน และส่งต่อให้พืชนำไปใช้ต่อไป ถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลูกพืช Organic ให้ประสบความสำเร็จ
ผมมองว่ามันเหมือนกับโพรไบโอติกส์ (Probiotic) ในลำไส้ของเรา ถ้ามีเพียงพอ จะแข็งแรง ถ้า Balance ธรรมชาติให้เข้ากับธรรมชาติได้ จะทำให้เกิดความสมดุลในเวลาที่เหมาะสม การทำฟาร์ม Organic ไม่มีทางลัด ต้องรอให้ได้
เปลี่ยนพฤติกรรม - การจัดการ เปลี่ยนผ่านสู่ความรู้ใหม่
การทำฟาร์ม Organic โครงสร้างดินสำคัญที่สุด ถ้าโชคดีอยู่ในแหล่งที่ดินอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วก็ง่ายหน่อยแต่ถ้าเป็นดินเสื่อมโทรม อาจจะใช้เวลามาก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แรก ๆ อาจจะลำบากต้องปรับและสร้างระบบนิเวศให้มีแมลง ให้ธรรมชาติดูแลกัน เกิดความสมดุลในตัวเอง
สำหรับทิศทางของการจำหน่ายผลผลิตผัก Organic ในอุตสาหกรรม ถ้ามองในมุมของตลาดยุโรปอย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จะมีกฎเลยว่า สำหรับเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลประถมต่ำกว่า ป. 6 ลงมา ถ้าโรงเรียนเหล่านั้นจะหาวัตถุดิบทำอาหารกลางวัน ถ้าหาผัก Organic ได้ ต้องเลือกเป็นอันดับแรก ในแง่อุตสาหกรรม ส่วนตัวเชื่อว่าแนวโน้มจะเติบโตขึ้น เพราะทุกคนอยากมีสุขภาพที่ดี แม้ว่าเรากินแค่ข้าวโพด Organic ไม่ใช่ทุกเมนู แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เพื่อไปสู่ความเป็น Organic อย่างแท้จริงในอนาคต
มาตรฐานโรงงาน คือการบริหารจัดการทั้งระบบขั้นสุด
คุณภาพและความสะอาด สำคัญมาก ต้องสอดคล้องกับกติกาของระบบ Organic ข้อแรกคือ ต้องมีการบริหารจัดการแปลงปลูกที่ดีตามข้อกำหนดของระบบ Organic ข้อ 2 ในการวางแผนการผลิต กล่าวคือ เราจะต้องผลิตสินค้า Organic ก่อนสินค้าปกติเสมอ ถ้าอยู่ในโรงผลิตเดียวกันกับสินค้าปกติ และระบบการทำความสะอาด ภายในโรงงานผลิต ก็ต้องยึดมาตรฐานการทำความสะอาดของระบบ Organic เท่านั้น นี่คือกติกา
ในส่วน Contact Farming ด้วยมาตรฐาน GAP ของไทย ต้องเป็นระบบ GAP แบบ 100% เรามองว่า ไม่ใช่เพราะลูกค้าบังคับให้ทำ แต่การจัดการที่ดี และส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามาสู่ระบบการจัดการที่มีคุณภาพ เป็นเรื่องที่ดี เราอยากให้เกษตรกรได้ประโยชน์ทั้ง Supply Chain ของโรงงาน และลูกค้าก็ได้ประโยชน์ไปพร้อมกัน เกษตรกรยุคใหม่ เป็นรุ่นที่มีลูกหลานมาช่วย เขาจะใช้ระบบใหม่ในการทำงานมากขึ้น
ระบบการจัดการ Supply Chain จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
การส่งเสริมเกษตรกร เราต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่เป้าหมาย เริ่มจากบริเวณโรงงานก่อน หรือพื้นที่เป้าหมาย โดยจะต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่ ดูพฤติกรรมของเกษตรกรที่เราคิดว่าจะเข้าไปคุยกับเขา บางครั้งต้องอาศัยผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนแนะนำให้ สำรวจ สอบถาม ว่ามีใครสนใจจะปลูกพืชแบบ GAP ไหม พอมีคนตอบรับ เราก็จะเข้าไปอบรม ให้ความรู้ อธิบายกระบวนการผลิตว่าเป็นยังไง ใช้ปุ๋ยหรือใช้ยามากแค่ไหน สเปคที่เรารับซื้อเป็นอย่างไร โรงงานต้องการแบบไหน และเราจะซื้อในราคาเท่าไหร่ เป็นต้น
สิ่งที่เราแตกต่างจากโรงงานทั่วไป คือ เราจะมีการพิจารณาช่วยเหลือหากเกิดปัญหา เป็น กรณีๆไป เช่น ถ้าปลูกไปแล้ว เกิดมีพื้นที่เสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ ถือว่าเป็นความเสี่ยงร่วมกัน ไม่ใช่เราให้ปุ๋ยให้ยาเขา แล้วเขาต้องบริหารความเสี่ยงเอง เราจะดูเป็นกรณี จะมีรายละเอียดชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรเขาด้วย ว่าเราพร้อมจะรับความเสี่ยงร่วมกับเขา ลงเรือลำเดียวกัน
ส่วนราคาขั้นต่ำที่รับประกันไว้ เราจะไม่ซื้อต่ำกว่านั้นหรือ อาจจะซื้อตามราคาตลาดในกรณีที่มีการแข่งขันสูง ส่วนในด้านคุณภาพ เราจะพยายามรับซื้อทั้งหมด แต่จะมีโครงสร้างราคาที่กำหนดไว้เป็นเกรด ถ้าเราเลือกแต่ของดี แล้วปล่อยของไม่ดีให้กับเกษตรกรไปจัดการเองก็คงไม่ได้ ของที่มีคุณภาพผิดเพี้ยนนิดหน่อยแต่ยังใช้ได้ เราก็จะตีเป็นอีกราคาหนึ่ง เกษตรกรก็จะมั่นใจได้ว่าเขาสามารถนำมาขายเราได้ ตามมาตรฐานที่กำหนด
ตั้งแต่เริ่มปลูก เกษตรกรจะมีการติดตามผลผลิตในแปลงปลูกให้เรา ขณะเดียวกันบริษัทก็มีเจ้าหน้าที่ ไปทำงานร่วมกับหัวจุดและเกษตรกร คอยตรวจงานในไร่อย่างละเอียดทุกพื้นที่ ด้วยความที่บริษัทมีพื้นที่เพาะปลูกหลายพื้นที่ หัวหน้ากลุ่มเกษตรกร หรือ ที่เรียกว่า หัวจุด จะเป็นตัวแทนของบริษัทในพื้นที่คอยดูแลและควบคุม สื่อสารโดยตรงไปที่เกษตรกร รวบรวม แผนปลูก วันปลูก ตรวจติดตาม ประเมินวันจัดเก็บ ร่วมกับบริษัทและส่งของขึ้นรถ จนถึงขั้นตอนที่ส่งเข้าโรงงาน
ปัญหาที่เกษตรกรมักเจอ คือปลูกไปแล้ว พ่อค้าที่รับซื้อไม่มีความชัดเจน หรือไม่เคยเข้ามาดูแล แต่โรงงานเราเข้าถึงคนในชุมชน ถ้ามีปัญหาอะไรเกษตรกร สามารถมาหาเราได้เพราะโรงงานเราอยู่ตรงนี้ ทำงานอย่างตรงไปตรงมา มีความจริงใจ ชาวบ้านจะเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้มาหลอก โลก Social media ยุคนี้ ส่งต่อข้อมูลกันเร็วมาก หากใครทำการค้าไม่ซื่อสัตย์สุจริต ข่าวไปไว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มักจะมีพ่อค้าไปส่งเสริมปลูกแต่อาจจะไม่รับซื้อ และเกษตรกรก็ทำอะไรไม่ได้
สร้างการมีส่วนร่วม ความภูมิใจในผลผลิตให้เกษตรกร
สมัยก่อน เราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ พอมาถึงยุคนี้ ผมมองว่าการสร้าง Awareness ให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมและรับรู้ว่าผลผลิตของเขาได้รับการตอบรับอย่างไรในตลาด เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าผลผลิตที่คุณปลูก ไปถึงผู้บริโภคตลาดยุโรปเลยนะ ผมว่าเป็นทิศทางที่ดีหากชาวบ้าน มีส่วนร่วม รับรู้ไปกับเรา
ผลตอบรับที่เราเห็นได้ชัด คือปัจจุบันเรามีพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวาน และ พริก ที่เติบโต ขยายพื้นที่มากขึ้น เราเป็นโรงงานที่ซื้อขายอย่างตรงไปตรงมา ไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลง ทำให้เกษตรกรเห็นว่าเราจริงใจในการทำธุรกิจกับเขา ที่ต้องชัดเจนอีกเรื่อง คือการจ่ายเงินอย่างตรงเวลา ให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่าเขาจะได้รับเงินในช่วงเวลาตามตกลง นี่คือสิ่งที่เราชัดเจน เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ จำนวนเกษตรกรที่มากขึ้น คือตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำธุรกิจของโรงงานเรา
10 ปีก่อน ผมเอาเจ้าหน้าที่บัญชีเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร เช่น การทำบัญชีครัวเรือน สอนคิดต้นทุน สิ่งสุดท้ายที่เราจะบอกเกษตรกร คือ การประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่เรารับซื้อเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ว่า คุณเหลือเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ เชื่อไหม? เกษตรกรกว่า 80% เขายังสนใจว่า ตอนนี้ราคาผลผลิตเท่าไหร่? มากกว่าการที่จะโฟกัสว่าเงินในกระเป๋าเหลือเท่าไหร่? ถ้าเราปรับเปลี่ยนความคิดนี้ได้
เชื่อว่าเกษตรกรจะหันมาทำ ทำการเกษตรที่มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการ จะสร้างความมั่นคงให้อาชีพเขา เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนและสร้างทัศนคติเรื่องการออม การทำการเกษตรแบบมีองค์ความรู้ มีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ใช่แค่มีผลผลิตดี แต่ต้องมีตลาดด้วย ถึงจะสร้างความยั่งยืน มีความมั่นคงในอนาคต
โรงงานข้าวโพดหวาน กับภารกิจความยั่งยืน (Sustainability)
เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัยในการบริหารจัดการมาโดยตลอด จริง ๆ แล้วการเผามาจากหลายสาเหตุ บางคนเผาเพื่อเอาของป่าไปขาย หรือเผาเพราะการปลูกพืชหมุนเวียน พืชบางชนิด เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วชาวบ้านจะปล่อยให้ต้นแห้งตายโดยไม่ได้ตัดทิ้ง ทำให้ ทำลายยาก แต่สำหรับข้าวโพดหวาน จะไม่ใช้วิธีเผา เพราะการเก็บผลผลิต
เราเก็บในอายุที่สุกพอดี ดังนั้นต้นข้าวโพดหวานจะยังเป็นสีเขียวสด และ นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย ประกอบกับปัจจุบันอุตสาหกรรมปศุสัตว์เติบโตขึ้น ต้นข้าวโพดหวานสามารถนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ให้กับวัว หรือ หากเกษตรกรไม่มีวัวเป็นของตัวเอง ก็จะมีพ่อค้ารับซื้อที่ราคาไร่ละ 500 ถึง 800 บาท แล้วแต่ Demand Supply ในแต่ละช่วงเพื่อนำไปขายเป็นอาหารวัวต่อไป
ในมุมของข้าวโพดหวาน ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเกษตรกรส่วนใหญ่แทบจะไม่มีการเผา เพราะว่าหลังเก็บเกี่ยว ต้นยังใช้ประโยชน์ต่อได้ ทั้งยังตัดง่ายเพราะเป็นต้นสด ไม่เหมือนพืชชนิดอื่นที่เขาอาจจะเผาเพราะจัดการยากกว่า แต่ข้าวโพดหวานทุกต้นสามารถทำเงินได้ บางพื้นที่ไม่พอขาย เกษตรกรจึงไม่มีความจำเป็นต้องเผา ในกรณีที่ข้าวโพดหวานไม่ได้นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรก็จะทำการตัดต้นฝังกลบ ทำเป็นปุ๋ยพืชสดต่อไป
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกข้าวโพดหวานบนพื้นนาที่ราบ การจัดการจึงไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกส่วนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสร้างการรับรู้ ให้เกิดความเข้าใจว่า เราไม่ได้มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการเผาพืชไร่ให้เกิดเป็นมลพิษ การทำให้เห็น และทำความเข้าใจในสังคม ผมมองว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ นอกจากจุดประสงค์เพื่อความยั่งยืน ยังเป็นส่วนที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ก้าวสู่เกษตรก้าวหน้า ไปพร้อมกัน
รู้จัก บริษัท เค การเกษตร จำกัด ในเครือบริษัท ลำปางฟู้ดโปรดักส์ จำกัด
เพิ่มเติมได้ที่ :
โฆษณา