Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
20 พ.ค. 2024 เวลา 20:53 • ท่องเที่ยว
วังสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี
วังสวนบ้านแก้ว เป็นพระราชฐานของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรีจังหวัดจันทบุรี
วังบ้านสวนแก้ว .. เป็นสถานที่ซึ่งคนจันทบุรี รำลึกนึกถึงด้วยความรู้สึกอบอุ่นผูกพันลึกซึ้ง ด้วยครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เป็นเวลาอันยาวนานถึง 18 ปี
.. โดยเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2492 ทรงได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากประเทศอังกฤษกลับสู่ประเทศไทย
ในขณะนั้น รัฐบาลได้ใช้พระตำหนักวังศุโขทัยเป็นสถานที่ทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และยังไม่ได้ ยังมิได้ถวายวังศุโขทัยคืน ..
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวังสระปทุม
ต่อมาทรงมีพระราชดำริที่จะประทับในท้องถิ่นที่เงียบสงบ อากาศดี และสามารถปลูกต้นไม้ได้ พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ ราชเลขาธิการสำนักพระราชวังในสมัยนั้น ได้ถวายคำแนะนำให้ทรงเลือกเชียงใหม่ หรือจันทบุรี
พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจันทบุรี ทรงเห็นว่าเชียงใหม่ไกลกรุงเทพฯมาก หากมีพระราชภารกิจที่กรุงเทพฯ จะเสด็จพระราชดำเนินไม่สะดวก
.. พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยจังหวัดจันทบุรี เพราะทรงพบที่ดินบริเวณสวนบ้านแก้ว ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่มีธรรมชาติงดงามและมีความเงียบสงบ เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยของพระองค์ อีกทั้งไม่ห่างไกลจากตัวเมืองมากนัก
.. จึงถวายบังคมทูลลาออกจากวังสระปทุม เพื่อมาสร้างวังบ้านสวนแก้ว ขึ้นในจังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2493
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงกู้เงินจากธนาคารไปจัดซื้อที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองบ้านแก้วจากเจ้าของที่ดินเดิมหลายรายรวมพื้นที่ 687 ไร่ และพระราชทานชื่อว่า "สวนบ้านแก้ว"
.. โดยมีพระราชประสงค์ให้สวนบ้านแก้ว เป็นสถานที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พสกนิกร นอกจากนี้ยังได้ทรงพัฒนาการทอเสื่อจันทบูร อันเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวจันทบุรีให้เจริญก้าวหน้ากว่าเดิม
พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยข้าราชบริพารมาประทับครั้งแรก โดยสร้างอาคารชั่วคราวเป็นเรือนไม้ไผ่หลังคามุงจาก เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2493 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา
พระองค์ประทับเรือนไม้ไผ่ประมาณ 3 ปี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนไม้หลังเล็กๆ 2 หลัง เรียกว่า เรือนเทา เรือนแดง และสร้างเรือนแบบบังกะโล 1 หลัง พระองค์ประทับเรือนเทา ส่วนเรือนแดงสำหรับข้าราชบริพาร เรือนเขียวสำหรับราชเลขานุการในพระองค์และพระราชอาคันตุกะ
ต่อมาอีก 2 ปี พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักใหญ่(ตำหนักเทา)
.. การก่อสร้างพระตำหนักใหญ่ต้องใช้อิฐเป็นจำนวนมาก การขนส่งมาจากกรุงเทพฯ เป็นเรื่องยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง .. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงโปรดให้จ้างชาวจีนมาสอนข้าราชบริพาร สร้างโรงทำอิฐเผาอิฐ เผากระเบื้องมุงหลังคา เพื่อให้การก่อสร้างพระตำหนักและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในสวนบ้านแก้ว เป็นไปด้วยความประหยัดมากที่สุด .. ด้วยเหตุที่ อิฐของสวนบ้านแก้วจึงเป็นอิฐคุณภาพดี ขนาดใหญ่ มีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรว่า ส.บ.ก. ใช้ก่อสร้างเฉพาะในสวนบ้านแก้วเท่านั้น
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรจังหวัดจันทบุรีรวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ประการสำคัญ คือ พระราชทานวังสวนบ้านแก้ว แก่รัฐบาลเพื่อจัดตั้งเป็นสถานศึกษา(วิทยาลัยครูจันทบุรี) โดยเริ่มทำการสอนเมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ.2515
.. โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานที่ดินสวนบ้านแก้ว เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยครูจันทบุรี โดยทูลถวายเงินเพียง ๑๘ ล้านบาท
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามให้กับวิทยาลัยครูทั่วประเทศ คือ "สถาบันราชภัฏ" วิทยาลัยรำไพพรรณีจึงได้เปลี่ยนใช้นามใหม่ว่า "สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี" ปัจจุบัน คือ "มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี"
.. ด้วยพระราชปณิธานและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในการพระราชทานโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในจังหวัดจันทบุรี จึงทรงเสียสละพระราชทานสวนบ้านแก้วแก่กระทรวงศึกษาธิการ และได้ย้ายไปประทับ ณ วังศุโขทัย จวบจนวาระสุดท้ายของพระองค์
หมู่พระตำหนักและอาคารประกอบ
วังสวนบ้านแก้วมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีลำคลองบ้านแก้วไหลพาดผ่าน มีทิวทัศน์ พรรณไม้ สนามกอล์ฟที่สวยงาม .. มีอาคารหมู่พระตำหนักและอาคารประกอบหลายหลัง ดังนี้
พระตำหนักใหญ่ (ตำหนักเทา) .. เป็นพระตำหนักครึ่งตึกครึ่งไม้ชั้นครึ่งสถาปัตยกรรมแบบยุโรปทาสีเทา
ชั้นบนเป็นห้องพระบรรทมของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและมีเฉลียงสำหรับพระองค์ทรงทอดพระเนตรทัศนียภาพรอบ ๆ วัง
ด้านหน้าของพระตำหนักแห่งนี้ มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ตั้งเด่นอยู่กลางเนิน
.. เห็นรูปที่แสดงในวีดีทัศน์ มีนักศึกษาที่จบการศึกษามากราบถายบังคม ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณ ก่อนที่จะมีพิธีวิ่งจบการศึกษา .. น่าประทับใจมีเดียว
เรามีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโดยละเอียดเฉพาะพระตำหนักเทาแห่งนี้ จึงขอนำภาพมาแชร์ให้ชมกันค่ะ
ด้านหน้าตรงกับทางเข้า .. มีรูปปั้น พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
ห้องโถงใหญ่ .. ตรงกลางมีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง
ด้านข้างของห้องโถง .. มีตู้จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
ห้องพระบรรทมของสมเด็จพระนางเจ้านำๆพพรรณีฯ .. บันไดไม่กี่ขั้นจากห้องโถงใหญ่นำเราเข้ามาสู่ห้องพระบรรทมขนาดไม่ใหญ่ ซึ่งมีเฟอร์นิเจอร์เพียงไม่กี่ชิ้นที่จำเป็นเป็นเครื่องประดับห้องนี้ เช่น เตียงนอนขนาดกลางที่เรียบง่าย
.. แต่ที่สะดุดตาให้เรายืนมองอยู่เนิ่นนานคือ รูปภาพของ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ที่ดูอ่อนโยน ภาพโดยรวมมีประกายของบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความสุขที่ฉายแสงเผื่อแผ่ออกมาสู่ผู้ที่ยืนมองได้อย่างงดงาม จนยากที่จะละสายตาและเดินจากไป
.. พร้อมๆกับบรรยากาศที่นำความทรงจำที่เคยได้รับรู้ผ่านการอ่าน ภาพเก่าๆที่เคยเห็น ให้กลับมาสู่ห้วงคำนึงเป็นฉากๆ เหมือนชมภาพยนตร์ .. แม้จะเป็นความจริงที่ว่า เราผู้มาเยี่ยมขมชมในวันนี้ไม่มีใครเกิดทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นก็ตาม
.. ชั้นวางพระบรมฉายาลักษณ์พนะเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่เรียบง่าย
ชั้นวางหนังสือ และพื้นที่ขนาดเล็กถัดไป เป็นตู้จัดแสดงชุดเครื่องแต่งกายที่มีการเชิญมาจากวังศุโขทับ
ห้องน้ำ และห้องสระผม .. อันเป็นส่วนที่ติดกับห้องพระบรรทม
ห้องครัว .. อยู่ด้านหลังของห้องโถงใหญ่
ห้องเสวย .. ตั้งอยู่ที่ปีกหนึ่งติดกับห้องโถงใหญ่ จัดแสดงกระยาหาร และเมนู่ที่ทรงโปรด
พระตำหนักและอาคารอื่นๆที่เราเห็น มีดังนี้
พระตำหนักแดง .. เป็นพระตำหนัก 2 ชั้นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปสร้างด้วยไม้สักทาสีแดงจัดเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และราชเลขานุการ
เรือนเทา .. เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวทาสีเทายกใต้ถุนสูงจัดเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในระหว่างการก่อสร้างพระตำหนักใหญ่
เรือนแดง .. เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวทาสีแดงทั้งหลังยกใต้ถุนสูงจัดเป็นบ้านพักของข้าหลวงที่ตามเสด็จมาจากกรุงเทพ
เรือนเขียว .. เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวทาสีเขียวทั้งหลังยกใต้ถุนสูงจัดเป็นบ้านพักของราชเลขานุการปัจจุบันเป็นที่ทำการของผู้ที่มาติดต่อขอเข้าชมวังสวนบ้านแก้ว
พระตำหนักและอาคารอื่นๆที่เราไม่ได้ไปเยี่ยมชม มีดังนี้
พระตำหนักดอนแค (ตำหนักแดง) .. เป็นพระตำหนัก 2 ชั้นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปสร้างด้วยไม้สักทาสีแดง มีสระน้ำใหญ่อยู่ด้านหลังพระตำหนัก จัดเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีกับหม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จักรพันธุ์ ราชเลขานุการในพระองค์จนกระทั่งเสด็จกลับวังศุโขทัย
พระตำหนักเทา .. เป็นพระตำหนักครึ่งตึกครึ่งไม้ทาสีเทาสถาปัตยกรรมแบบยุโรปออกแบบโดย หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร
ศาลากลมหรือซุ้มดอกเห็ด .. เป็นศาลาทรงกลมรูปดอกเห็ดมีทางเข้า 2 ทางในอดีตเคยเป็นที่เสวยพระสุธารสชา
สวนส่วนพระองค์ (สวนผลไม้) .. เป็นสวนก่ออิฐถือปูนเพื่อกั้นรอบ ๆ บริเวณโดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีใช้เป็นสถานที่เลี้ยงเป็ด ห่าน ไก่ และนกหงส์หยก
สวนส่วนพระองค์ (สวนดอกไม้) .. เป็นสวนดอกไม้ส่วนพระองค์ มีสระสำหรับเลี้ยงเต่าและเลี้ยงปลาจัดเป็นสถานที่พักผ่อนพระราชหฤทัยส่วนพระองค์
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี เลขที่ 41 หมู่ 5 ถนนรักศักดิ์ชมูล ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 22000
โทรศัพท์ : 039-471 072
โทรสาร : 039-471 064
Ref :
https://www.museumthailand.com/th/museum/wangsuanbankaew
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A7
บันทึก
3
1
3
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย