Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
khanaphot khemthongwong
•
ติดตาม
2 มิ.ย. 2024 เวลา 05:27 • ประวัติศาสตร์
วังตรอกสเก
วังตรอกสาเก กับสภาพภายในที่ไม่เคยเห็น
วังตรอกสาเก หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ หากเป็นผู้มีความหลงใหลในวังเก่าบ้านแก่ ย่อมเป็นที่รู้จักกันอย่างดี เพราะเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่มีคุณค่า เพียงแต่เสียดายที่ไม่ได้รับการดูแลในดีเท่าที่ควร ย้อนไป 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ตัวผมได้เคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวังแห่งนี้ผ่านเว็บไซต์ของสำนักข่าวที่ทำงานเก่า
และมีข้อมูลบางประการผิดพลาด จนเป็นเหตุให้ได้รู้จักกันในโลกออนไลน์กับคุณศรสุวรรณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ทายาทในราชสกุล ได้อธิบายความ จากซึ่งที่ผมเคยเขียนว่า มีผู้เช่าพื้นที่พักอาศัยในตัวพระตำหนัก แต่ความเป็นจริง คือลูกหลานข้าราชบริพารเดิมตั้งแต่อดีต ที่พักอาศัยต่อกันมา ปัจจุบันก็มีการขยับขยายย้ายออกกันแล้ว
สำหรับวังตรอกสาเก เป็นวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่บริเวณตรอกสาเกหรือหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
เมื่อเสด็จกลับจากมณฑลอุดรธานี โดยภายในวังสร้างจากไม้ทั้งหมด หลังจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมสิ้นพระชนม์ วังนี้ก็ชำรุดทรุดโทรมลงไป แต่เริ่มเดิมที่ วังนี้ เดิมเป็นบ้านพระยาพิชัยบุรินทรา เสนาบดีกรมเมืองวังหน้า เมื่อพระยาพิชัยบุรินทราถึงอนิจกรรมและบ้านตกมาเป็นของหลวง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3
ประทานให้เป็นวังพระองค์เจ้าอินทวงศ์ พระราชโอรส เมื่อพระองค์เจ้าอินทวงศ์ สิ้นพระชนม์ ร ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้เป็นวังที่ประทับแก่ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระราชทานให้เป็นวังที่ประทับของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
สำหรับพระประวัติของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 25 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 วันประสูติมีผู้นำทองคำก้อนใหญ่ ขุดได้ที่ ต.บางสะพาน ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือว่า เป็นศุภนิมิตมงคล จึงพระราชทานพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ เมื่อพระราชทานพระนามได้ทรงพระราชนิพนธ์คาถาพระราชทานพระพร ซึ่งมีคำเเปลดังนี้
"กุมารดีนี้ จงมีชื่อว่า ทองกองก้อนใหญ่ อย่างนี้เทียว โดยเนื้อความเพราะได้ทองแท่งใหญ่ จงไม่มีโรค เป็นสุข มีอายุยืน อันใครๆ ให้กำเริบไม่ได้ จงมีลาภมียศ รักษาเกียรติยศของบิดาไว้ในกาลทุกเมื่อ จงอาจเพื่ออภิบาลกิจของบิดาด้วยความสามารถทั้งปวง จนตลอดชีพ จงได้ทรัพย์สมบัติ สำหรับตระกูล"
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศกับ แหม่มแอนนา เลียวโนเว็น จนเชี่ยวชาญเขียน และตรัสภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม ทรงศึกษาวิชาการด้านกฎหมาย จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นแม่ทัพใหญ่ด้านมณฑลลาวพวน แถบเมืองหนองคาย ยกทัพขึ้นไปปราบพวกจีนฮ่อ ที่ยกกำลังเข้าปล้นสะดมราษฎรไทยตามแนวชายแดนไทย-ลาว จนประสบความสำเร็จ และสร้าง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ณ เมืองหนองคาย เมื่อปี พ.ศ.2429 เพื่อบรรจุอัฐิทหารไทยที่เสียชีวิตเพื่อชาติในครั้งนั้น
ช่วงนั้นเอง ฝรั่งเศสฉวยโอกาสเข้ายึดแคว้นสิบสองจุไทย โดยอ้างว่าจะนำกำลังเข้าปราบจีนฮ่อ ทำให้เกิดกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสใช้กำลังที่เหนือกว่าบังคับให้ไทยต้องลงนามสนธิสัญญายอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
และให้ไทยถอยกองกำลังทหารให้ห่างชายแดนแม่น้ำโขง 25 กิโลเมตร กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงย้ายกองบัญชาการไปตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง และสถาปนา เมืองอุดรธานี เป็นที่ตั้งทัพ ต่อมาเป็น จ.อุดรธานี วางระเบียบแบบแผนการปกครองหัวเมืองชายแดนอีสานอยู่ 7 ปี จึงเสด็จกลับกรุงเทพ
นอกจากนี้ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ยังทรงเคยเป็นผู้บัญชาการทหารเรืออีกด้วย
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มีพระอนุชา พระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 3 พระองค์คือ
พระองค์เจ้าชายทองแถมถวัลยวงศ์ (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นราชสกุลทองแถม)
พระองค์เจ้าชายเจริญรุ่งราษี พระองค์เจ้าหญิงกาญจนากร
ภายหลังเกิดคดีพญาระกาขึ้นในปี พ.ศ. 2452 - พ.ศ. 2453 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงกระทำปัพพานิยกรรม ขับกรมหลวงประจักษ์ฯและพระโอรส-ธิดาออกจากพระราชสำนัก พระองค์เองทรงถูกห้ามมิให้เข้าเฝ้าในที่รโหฐาน ให้เฝ้าได้แต่ในท้องพระโรงหรือในที่มีผู้เฝ้าอยู่มากเท่านั้น ห้ามหม่อมเจ้าไศลทองโดยเฉพาะมิให้เข้าในเขตพระราชฐาน และห้ามหม่อมเจ้าหญิงชายอื่นๆในกรมหลวงประจักษ์ฯมิให้ขึ้นสู่พระราชมณเฑียร ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2453 เป็นต้นมาจนตลอดรัชกาลก็มิได้พ้นพระราชอาญาจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สิ้นพระชนม์ ณ วังตรอกสาเก เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2467 จากโรคอันตะ (ไส้ใหญ่ ) พิการ สิริพระชันษาได้ 67 ปี
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย