9 มิ.ย. 2024 เวลา 11:13 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] The Tortured Poets Department + The Anthology - Taylor Swift >>> ยังคงทรมาน

-ไม่มีใครปฏิเสธว่า Taylor Swift คือศิลปินป็อปเบอร์หนึ่งที่มีคาแรคเตอร์เป็นคนที่คลั่งรักหนักมาก เวลาเธอรักใครมาก เราก็จะได้ฟังเพลงรักเป็นอัลบั้ม เวลาที่เธอเลิกกับใคร เราก็จะได้ฟังเพลงอกหักเป็นอัลบั้มเช่นกัน เวลาแห่งความโชคดี(หรือโชคร้าย?) สำหรับแฟนเพลงก็บังเกิดขึ้นจนเป็น break up album จากแฟนเก่าแค่ไม่กี่คนอย่างที่เราได้ฟังในปีนี้
-นี่คืออัลบั้มที่ผมเกิดความรู้สึก mix feeling มากที่สุด ใจนึงผมยอมรับในความปกติของเทย์เลอร์ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น คอนเทนท์ตัดพ้อแฟนเก่าเป็นอะไรที่ปกติต่อให้ไม่ใช่เทย์เลอร์ก็ตาม ผมไม่ถือสา นี่ไม่ใช่อัลบั้มที่แย่ในแง่ความมักง่ายทางภาษา ยอมรับว่าเธอแต่งเพลงเก่ง สัมผัสป็อปชัดเจนจนมีฐานแฟนเพลงที่กว้างขวางมากๆ TTPD มันยังมีเซนส์ป็อปที่พอจับต้องได้บ้างแหละ
-แต่อีกใจนึงก็คิดว่า เซนส์ป็อปและความบันเทิงมันถูกกลบโดยภาษาบทกวีอย่างจัดเต็ม ซึ่งนั่นทำให้ฟังยากกว่างานที่แล้วมา เพราะศัพท์และวลีที่เธอใช้ในอัลบั้มนี้แทบจะเค้นสกิลทั้งหมดที่เธอมี ประหนึ่งแฟนเก่าของคุณดันเป็นถึงขั้นศิลปินอย่าง Matty Healy แห่ง The 1975 และอีกคนก็เคยร่วมเป็นพาร์ทเนอร์แต่งเพลงอย่าง Joe Alwyn ด้วย
-คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่า นี่ไม่ใช่ชุดเพลงตัดพ้อด้วยภาษาเพลงธรรมดา แต่ยังใส่อีโก้ทางภาษาสู้กลับแฟนเก่าศิลปินในแบบที่เบ่งความเป็นนักกวีไปเลย ซึ่งก็สุมด้วยศัพท์เฉพาะทางหยุมหยิมในเรื่องส่วนตัวเต็มไปหมด
-หากใครที่ติดตามข่าวกอสซิปเรื่องใต้เตียง รับรู้ความเคลื่อนไหวของเธอและแฟนเก่า 2 ท่านแบบตาไม่กระพริบคงจะอินกับการโยงเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ ซึ่งไอ้ผมก็ไม่ถนัดงานเผือกซะด้วย แล้วอะไรล่ะที่ทำให้ผมรู้สึก mix feeling กับอัลบั้ม “สำนักกวีผู้ชีช้ำทรมาน“ มากเป็นพิเศษ ?
-อย่างแรกคือ เธอเล่าดราม่าความสัมพันธ์อันล้มเหลวด้วยปริมาณภาษาและจำนวนแทร็คที่เยอะเกินพอดี นั่นก็ทำให้ผมเรียนรู้ได้อย่างนึงคือ คอนเทนท์ personal issues ทั้งหลายแหล่ ควรมาในปริมาณที่จำกัด กะทัดรัดไม่ควรเหยียบเกินสิบ น่าจะเป็นอะไรที่พอดีในการเติมเต็มอารมณ์ไม่ให้รู้สึกเลี่ยนหรือเอ่อล้นเกินไป
-อย่างที่สองที่ทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันคือ โปรดักชั่นที่ไม่มีอะไรใหม่ เมื่อผมฟังตั้งแต่แทร็คแรกไปจนถึงแทร็คสุดท้ายในพาร์ท The Anthology ผมรู้สึกว่า นี่คือภาพ reverse ในลูปราง Midnights >>> evermore >>> folklore ชัดเจนมากๆ อย่าลืมว่าในพาร์ท Standard TTPD 16 แทร็คแรก Jack Antonoff ทำหน้าที่โปรดิวซ์ส่วนใหญ่ คุณก็จะได้สัมผัสผงชู ambient synthpop อย่างที่เราคุ้นเคย เพียงแต่เป็นการคุมโทนให้มันเทาหน่อย
-ในขณะที่พาร์ท 15 แทร็คหลัง Aaron Dessner เป็นคนอำนวยการรังสรรค์เป็นส่วนใหญ่ คุณก็จะได้อคลูสติคที่วนอยู่กับเปียโนและเครื่องสายบางๆ เหมือนๆกับที่ได้ยินใน evermore และ folklore ปะปนกัน แต่แอบหนักข้อไปทาง folklore เสียมากกว่าด้วยโทนที่ค่อนข้างอึมครึมอ่ะนะ
-ถ้าถามว่าผมชอบพาร์ทไหนมากกว่ากัน ? ผมขอสวนทางทุกคนด้วยการชี้ไปที่ TTPD 16 แทร็คแรก ด้วยความที่ลูกเล่นของ Jack ยังพอเล่าเรื่องที่โคตรจะ dramatic ให้มีรสความบันเทิงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่วายที่จะบอกว่า ควรเปลี่ยนโปรดิวซ์เซอร์เสียทีเถอะ ปัญหาของโปรดิวซ์เซอร์หน้าเดิมอย่างต่อเนื่องผมได้บอกไว้แล้วตั้งแต่รีวิว Midnights ส่วนพาร์ท The Anthology เดี๋ยวไว้ขยายอีกทีในตอนท้าย
-เอาเป็นว่าด้วยปัจจัยทางภาษาและโปรดักชั่นที่เราพอเดาทางได้ทั้งฝั่งของ Jack และ Aaron ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า การตะลุยฟังดับเบิ้ลอัลบั้ม 31 แทร็คเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ช่างเป็นอะไรที่โคตรเหนื่อย และไม่ง่ายเลยที่จะจบอัลบั้มได้รวดเดียวภายในวันเดียว ผมได้คุยกับลูกเพจท่านนึงที่เขาก็ชื่นชอบอัลบั้มนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า “TTPD ก็เหมือนกับไดอารี่ประจำวันที่ไม่ได้เน้นการจัดเรียงมากนัก” ซึ่งใช่เลยครับ มันเป็นเช่นนั้น แต่บางทีผมก็ไม่สามารถย่อยคอนเทนท์ไดอารี่ประจำวันของเธอได้หมดในทุกๆวันแน่
-ไดอารี่ประจำวันที่ผมพอซื้อได้บ้างก็มักจะอยู่ในช่วงครึ่งแรกเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ The Tortured Poets Department จั่วไตเติ้ลรู้เป้าชัดไปเลยว่า ตัวละครหลักแฟนเก่าเธอคือใคร ไล่ตั้งแต่ชื่ออัลบั้มที่ล้อมาจากชื่อกรุ๊ปใน WhatsApp ของ Joe Alwyn กับเพื่อนของเขา ที่ใช้ชื่อว่า The Tortured Men Club แต่พอมาเป็นสาสน์ในไตเติ้ลแทร็คก็พุ่งเป้าไปที่ Matty Healy แห่ง The 1975 อย่างเฉพาะเจาะจง
-มีการสาธยายความแปลกของไอ้หนุ่มแมนเชสเตอร์ตั้งแต่ บ้าเครื่องพิมพ์ดีดถึงขั้นพกติดตัวไปถึงอพาร์ทเมนต์ของเธอ สูบบุหรี่จัด แดกช็อกโกแลตถึง 7 แท่ง แลกเปลี่ยนบทสนทนาวงการเพลงว่า Charlie Puth ควรไปได้ไกลกว่านี้ ซึ่ง Matty ก็เชียร์ชาร์ลีอย่างออกนอกหน้าถึงขึ้นโพสต์ชื่นชมลงใน X ด้วย และนั่นคือความแปลกที่เธอมองว่า ไม่มีใครเข้าใจเขาได้เหมือนเธอแล้ว และไอ้หนุ่ม Matty ก็เป็นแฟนเก่าที่เธอให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษใน TTPD ต่อจากนี้
-My Boy Only Breaks His Favorite Toys ก็เป็น anthem ที่เล่นพ้อยท์ได้ดีและตรงยุคในการเปรียบเปรยความรักความสัมพันธ์ในแง่วัตถุนิยมที่ไม่ได้เห็นค่าทางจิตใจอะไรมากมายนัก แค่ของสะสมที่เห่อมอยตอนแรกๆก็เท่านั้น Down Bad เหมือนแทร็คทดลองใส่อาร์แอนด์บี down tempo ที่ง่ายต่อการย่อยหน่อย พร้อมตกคนฟังสาย commercial pop ได้ทุกเมื่อ
-ยิ่งเป็นเพลง But Daddy I Love Him สวิฟตี้มีกรี๊ด เพราะนี่คือการกลับไปสู่คันทรี่ป็อปดั้งเดิมที่สุดแล้ว มีความสาวช่างฝัน จินตนาการคลั่งรักเกินเบอร์ แถมชื่อเพลงก็มาจากประโยคภาพจำจากการ์ตูน Little Mermaid ซึ่งเพลงนี้เองก็เปรียบเหมือน อีลูกช่างรั้นที่ยังจะดึงดันรักผู้ชายคนๆนี้ให้ได้ ซึ่งนั่นก็ตรงกับข่าวที่พ่อของเทย์เลอร์คัดค้านการคบกับ Matty Healy อีกด้วย
-So Long, London จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Joe Alwyn นี่เป็นภาคต่อ London Boy ที่มีจุดจบแบบใจสลายมากๆ จากความฟรุ้งฟริ้งสีชมพูเรนโบว์ กลายเป็นอารมณ์สีเทาแห่งความเหงาหงอยตรอมตรมใจ ภาคดนตรีมีเลเยอร์ซินธ์ป็อปบางๆที่ช่วยให้อารมณ์แห่งความ down มีมิติที่ไม่แบนราบจนจืดชืดเกินไป
-Guilty As Sin? มีกลิ่นความ soft rock นิดๆ แต่กลมกล่อมด้วยจังหวะจะโคนและ lyrics ที่ลงล็อค โดยเฉพาะท่อนฮุกช่วงท้ายที่ฮาร์โมนี่เสนาะหูยิ่งนัก มีการ reference ความเทสต์ดีของ Matty ที่ชอบวง The Blue Nile มากๆถึงขั้นส่งเพลงป้ายยาเธอเป็นตุเป็นตะ ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ Matty ก็เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วหลังจากที่เพิ่งเลิกรากับ Joe Alwyn ได้ไม่นาน จึงเป็นที่มาแห่งความรู้สึกผิดบาปเช่นนี้
-ไม่ย้อนที่จะพูดถึงเพลงเปิดอัลบั้มอย่าง Fortnight ก็กะไรอยู่ เพราะนี่คือ the most anticipating track ที่ได้ร่วมงานกับ Post Malone เป็นครั้งแรกด้วย โดยก่อนหน้านั้นเทย์เลอร์ก็เรียกใช้บริการจาก Louis Bell โปรดิวซ์เซอร์คู่ใจของ Posty ในอัลบั้ม Lovers มาแล้ว ด้วยความที่ใช้โปรดิวซ์เซอร์เจ้าเดียวกัน บางเพลงใน Lovers ติดกลิ่นเพลงของ Post Malone ไม่มากก็น้อย แล้วในที่สุดพวกเขาก็วนเวียนมาเจอกัน ก็ต้องบอกว่า แอบผิดหวังนิดหน่อยครับ
-เมื่อเห็นเพลงที่มีฟีทเจอร์ในจักรวาลของเทย์เลอร์ อาจต้องเผื่อใจไว้หน่อยนะครับ ต้องสุ่มกาชาเอาว่า แขกรับเชิญคนไหนจะได้มี verse เต็มๆ ยังดีที่ Fortnight ไม่ทำให้ Posty อยู่ในสถานะพรายกระซิบแบบเดียวกับ Lana Del Rey ในเพลง Snow on The Beach แต่มาในรูปแบบ backup vocal แทน ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมคิดเหมือนกันว่า การแปะชื่อ Post Malone เป็นฟีทเจอร์เป็นสิ่งที่ไม่สลักสำคัญมากนัก แน่นอนว่า Taylor เป็นเซนเตอร์ของท้องเรื่องอยู่แล้ว เพราะนี่คือเพลงที่เป็นเรื่องราวความรักส่วนตัวของเธอที่สามารถโซโล่เดี่ยวได้
-ผมเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า ถ้ามีท่อนของ Post Malone แหลมขึ้นมา เพลงจะเป็นเช่นไร? ซึ่งการที่เธอและพี่ Jack Antonoff ตัดสินใจให้ Posty ไปทำหน้าที่คล้ายๆ backup ก็เป็นทางเลือกที่ถูกเช่นกัน แต่การให้ Posty อยู่ในฐานะเครดิตเบื้องหลังคงจะเป็นอะไรที่น่าค้นหากว่า และไม่ชวนให้เราคาดหวังการดูเอ็ทไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี Fortnight คือเพลงที่เผยภาพรวมอัลบั้มได้มากพอสมควร vibe synth pop เนิบนาบที่จะเพิ่มความหม่นหมองต่อจากนี้
-Florida!!! นี่ซิคือการแปะฟีทเจอร์ที่ไม่ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง สามารถเติมเต็มความคาดหวังได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การได้ Florence + The Machine กลับเป็นแรงเสริมให้เพลงแข็งแรงจนน่าขนลุก เป็นเพลงที่มีรสแปลกตั้งแต่แรกฟัง ท่อนฮุกที่อยู่ดีๆก็เร่งเครื่องกระโชกโฮกฮาก ประหนึ่งหายใจเข้าแบบซู้ดแล้วหายใจออกอย่าง cool down เป็นการเล่นฮุกที่ไม่ค่อยคุ้นชินเท่าไหร่นัก ซึ่งท่อนฮุกก็มีแค่กระจึ๋งนึงเท่านั้น
-ด้วยความที่เพลงนี้เล่นกับความสนธยาพอๆกับคอนเทนท์เปรียบเปรยเมืองฟลอริด้านั้นคือเมืองแห่งการชุบตัวเป็นคนใหม่ ซึ่งเธอต้องการจะหนีไปอยู่ในเมืองนี้เพื่อเป็นที่พักใจนั่นเอง เมื่อได้ฟังหลายรอบ นี่คือเพลงที่ผมกลับชอบในความแปลกของมัน และการไต่ high note ที่โคตรจะโกธีคบวกกับการเร่งเร้า Pre-Hook ในช่วงท้ายก็นับว่าเป็นไคลแม็กซ์ที่น่าจดจำไม่น้อย
-ช่วงครึ่งแรกของ TTPD Standard ที่กล่าวไว้ข้างต้น ผมรู้สึกโอเคที่ยังพอจับต้อง vibe แห่งความบันเทิงได้อยู่ แต่ก็มีเพลงจำนวนเกือบครึ่งที่อื้อหือความยัดภาษากวีมาแบบล้นเอ่อมากๆ จะดีกว่านี้มั้ยถ้ามันต้องมีการ filter กันบ้าง ? กลับกลายเป็นว่า เรายังคงรับฟังเพื่อนตัวดีคนนี้พร่ำพรรณนาถึงแฟนเก่าเป็นวรรคเป็นเวร
-นั่นทำให้เกิดเพลงที่เปรียบเปรยหรือบ่นไปเรื่อยเกินความจำเป็นพอสมควร เฉกเช่น Flesh Out The Slammer ให้ตายเหอะ ป็อปสตาร์ที่ทำตัวเป็นสาวคุณหนูช่างฝันดันฝืนเปรียบเปรยอะไรที่โคตร street และค่อนข้าง cliché เอามากๆ ประมาณว่า “ชั้นติดคุก ชั้นโคตรคิดถึงเธอ พ้นโทษเมื่อไหร่ ชั้นจะโทรหาและวิ่งเข้าไปหาเธอทันที” ไม่ค่อยถูกโฉลกเท่าไหร่ I Can Fix Him (No Really I Can) นี่ก็เป็นแทร็คสั้นที่ไม่จำเป็นต้องพร่ำพรรณนาเช่นกัน เป็นอคลูสติคที่ผ่านแล้วผ่านเลยจริงๆ
-Who’s Afraid of Little Old Me? นี่คือตัวอย่างเพลงที่ไม่น่าซอยย่อยท่อน bridge ท่อน pre-hook ที่ดันย้วยเสียจนไอ้การตะเบ็งเสียงในท่อนฮุกนั้นแทบจะไร้ความหมาย ไม่ทรงพลัง ทั้งๆที่คอนเทนท์เกี่ยวกับการไม่ยอมอ่อนข้อต่อสื่อที่พยายามจะแขวน และเฝ้ามองความเจ็บปวดของเธอเพื่อเป็นคอนเทนท์ในการด้อยค่า
มันควรเป็นคอนเทนท์ที่แหลมคม ผลแห่งการยัด lyrics หลายชั้นจนทำให้คอนเทนท์ที่ควรแหลมคมกลับกลายเป็นความทื่อเสียเอง เมื่อเทียบกับเพลง mad woman นับว่ายังห่างไกลในเรื่องความถมึงทึง ต่อให้ไม่ตะเบ็งเสียงแบบ Who’s Afraid ก็ตาม
-loml (Love/Loss of My Life) มีความจงใจที่จะเชื่อมไปสู่ The Anthology อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็เป็นเพลงพักเบรคสไตล์อคลูสติคเปียโนที่เราต่างคุ้นเคยจากเธอคนนี้มานัดต่อนัด เหมือนเป็นสูตรไฟต์บังคับที่ต้องมีเพลงช้า loml ท่วงทำนองมาทรงเดียวกับ New Year’s Day, Sweet Nothing เพียงแต่รอบนี้มาในเวย์เศร้า อาลัยอาวรณ์ตามธีมอัลบั้มแห่งความใจสลาย
-I Can Do It With A Broken Heart เหมือนจะเปิดโหมด upbeat edm แต่ก็หลอกดาวในท่อนฮุกด้วย synth pop สุดประชดประชันเพื่อหยอกเย้ากับความเสแสร้งทำเป็นมีความสุข จัดปาร์ตี้สไตล์คนรวย และการออกทัวร์ที่แบกความใจสลายที่หนักอึ้ง แน่นอนว่าการทำเป็นมูฟออนได้แล้ว โคตรจะ miserable เลยฮะ The Smallest Man Who Ever Lived นี่คือเพลงที่ช่วยกอบกู้ครึ่งหลังในพาร์ท standard ได้อย่างเข้มข้นดิบดี นี่คือโมเมนต์แห่งความพิโรธที่ค่อยๆไต่ระดับความ dramatic เชือดเฉือนได้อย่างกัดไม่ปล่อยง่ายๆ
-ส่วนเพลงที่พูดถึงความรักครั้งใหม่กับ Travis Kelce ก็มีแทรกมาให้เห็น พร้อมทั้งการใส่ศัพท์อเมริกันฟุตบอลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในเพลง The Alchemy ก็มาในรูปแบบคลั่งรักสไตล์ผู้ใหญ่ขึ้น กลายเป็นจุดเซฟโซนสำหรับอัลบั้มนี้ ซึ่งก็ดีที่ผมไม่รู้สึกเลี่ยนกับเพลงนี้มากนัก อย่างน้อยก็ไม่มาเวย์ฉีกไปทางสดใส มองอะไรก็เป็นสีชมพู
-ส่วนเพลง Clara Bow ที่ยกนักแสดงหญิงในภาพยนตร์เงียบคนแรกของโลกที่ต้องรับมือกับชีวิตชื่อเสียง และชีวิตรักที่ไม่ราบรื่นของเธอมักจะเป็นที่พูดถึงในสาธารณะเสมอ พอๆกับตัวเธอเองในยุคปัจจุบันที่คอนเทนท์เพลงเลิกกับแฟนเก่าดันเป็นที่รู้จักมากกว่าด้านสกิลการแต่งเพลงเสียอีก
และความ insecure ที่ศิลปินอย่างเธอต้องเจอกับการเปรียบเทียบคนนั้นคนนี้อยู่เป็นประจำ สุดท้ายเธอก็จะถูกสังคมเอาคนมาแทนที่เธอแล้วทิ้งท้ายด้วยคำพูดเชิงเขี่ยทิ้งอยู่ดี คอนเทนท์นี้ถือว่าดีเลยฮะ แต่ดนตรีค่อนข้างเบาเสียจนเป็นทางผ่านไปสู่ The Anthology ไม่ได้น่าจดจำมากอยู่ดี
-มาถึงพาร์ท The Anthology กันบ้าง นี่คือพาร์ทที่ยากมากสำหรับผม ด้วยความที่ผมได้ฟังผลงานการโปรดิวซ์ให้ศิลปินท่านอื่นของ Aaron หลังจากยุค folklore และ evermore เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็น Ed Sheeran และ Gracie Abrams มันเป็นความอคลูสติคที่เริ่มจะจำเจแล้วฮะ
-ตอนที่ Ed Sheeran ปล่อยอัลบั้ม Subtract ก็มีแฟนเพลงบางกลุ่มบอกว่า นี่คือ วอนนาบี folklore ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ใช่และไม่มีทางก็อปแน่นอน พอผมได้ฟัง The Anthology ปุ๊บ สัมผัสถึงความเชื้อไม่ทิ้งแถวจาก Subtract ของ Ed Sheeran เสียอีก ซึ่ง Aaron เหมือนหมดมุกแล้วจริงๆ
-อย่างที่บอกไปว่า เมื่อเข้าสู่ 15 แทร็คสุดท้าย มันคือการ reverse ไปสู่ evermore และ folklore อีกครั้ง มันคือความใหม่ที่อัพเดทความแหลกสลายกลับกลายเป็นความเก่าด้วยบรรยากาศเดิมๆ ซึ่งก็เป็นความละเมียดที่แอบเลี่ยนอยู่ดี ต่อให้ผมจะแยกฟังจาก TTPD คนละวันแล้วก็ตาม และนี่เป็นสาเหตุที่รีวิวมาล่าช้าด้วยฮะ ผมเองก็จำเป็นต้องแซงคิวบางอัลบั้มที่รู้สึกเอ็นจอยกว่า ไอเดียแล่นกว่า
-พาร์ท The Anthology น่าจะเหมาะสำหรับสวิฟตี้ที่ชอบบรรยากาศแบบ 2 อัลบั้มนั้น ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันเป็นอัลบั้มพี่สาวน้องสาวที่มาแค่โมเมนต์เดียวก็เกินพอ เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่หนำใจกับการพรรณนาถึงแฟนเก่าของนางที่มาตั้งแต่แทร็คแรกอย่าง The Black Dog ซึ่งตอนแรกผมนึกว่าต้องมาเวย์ซึมเศร้าแน่ๆ เพราะหมาดำคือสัญลักษณ์ของซึมเศร้าใช่มั้ยล่ะ? ที่ไหนได้ยังนึกถึง Matty Healy กับผับในอังกฤษที่ชื่อเดียวกันกับเพลง นี่ยังไม่มูฟออนจากพาร์ท TTPD อีกรึเนี่ย? ซึ่งไม่ใช่แค่เพลงนี้เพลงเดียวด้วย ผมขอไม่สาธยายล่ะ
-เหมาะสำหรับคนที่คลั่งไคล้ในอัจฉริยภาพทางการเปรียบเปรยที่ยกบทกวีและวรรณกรรมอย่างฉ่ำๆไม่ว่าจะเป็น The Albatross ที่เธอเปรียบเปรยว่าตัวเองคือนกอัลบาทรอสที่เป็นลางร้ายให้กับผู้ชายทั้งหลายที่ดันได้ยินเรื่องราวของเธอมาเยอะแยะมากมาย
-The Bolter ที่หยิบเรื่องราวตัวละครในหนังสือของ Nancy Mitford ที่แต่งงานกับผู้ชายถึง 5 ครั้ง ล้มเหลวในความสัมพันธ์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนถูกตีตราว่าสำส่อน แล้วก็ได้ฉายา “ยัยนักวิ่ง” เปรียบเหมือนคนที่วิ่งหนีความสัมพันธ์มาโดยตลอด แต่สุดท้ายเธอก็ตายยากจริงๆ นี่ถือเป็นเพลงที่แลดูน่าเอ็นดูและน่าสงสารในเวลาเดียวกัน
-เหมาะสำหรับคนที่เคลิบเคลิ้มเลิฟไลน์กับ Travis Kelce แฟนคนปัจจุบันที่ชวนระลึกประหนึ่งเพลงพี่เสก “14 อีกครั้ง” ก็มีให้ในเพลง So High School
-เหมาะสำหรับคนที่ชอบการจิกกัดศัตรูเก่าไม่ปล่อย การกลับไปด่า Kim Kardashian ด้วยคันทรี่สไตล์ในเพลง thanK you aIMee อีกทั้ง Cassandra ที่เปรียบเปรยว่าเธอเหมือนแคสแซนดร้าแห่งเมืองทรอยที่สามารถทำนายอนาคตได้ แต่ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครใส่ใจที่จะฟังเธอเลย เมื่อความจริงปรากฏตามที่เธอบอก ทุกคนกลับเงียบกริบ
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เธอเคยเจอตอนที่มีเรื่องกับ Kanye West และ Kim.K ที่กล่าวหาว่า เธอเป็นคนอนุมัติให้มีท่อนสุดอื้อฉาวในเพลง Famous ซึ่งเทย์เลอร์ก็ “อ้าวเห้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า” จนสุดท้ายเมื่อคลิปเสียงจริงหลุด เทย์เลอร์ก็พ้นมลทิน
-พาร์ท 15 แทร็คหลังจึงไม่ต่างอะไรกับแฟนเซอร์วิสของศิลปินที่พาตัวเองไปอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพแล้วคิดอยากจะแชร์บทเพลงที่เก็บไว้ในกรุ แต่ดูทรงแล้วไม่น่าจะรวมกับพาร์ท TTPD ได้ เพราะนี่แทบจะไม่ใช่พี่สาวหรือน้องสาวเลยครับ ผมมองว่า The Anthology คือ ส่วนแยกที่ไม่ได้เติมเต็ม TTPD ให้เป็นภาพที่ใหญ่ขึ้นมากนัก เพราะเธอเลือกที่จะปิดฉากการด่าแฟนเก่าใน The Smallest Man… การพบพานรักใหม่ใน The Alchemy และการทำใจที่จะโดนคนอื่นแทนที่ใน Clara Bow เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
-มีแค่ไม่กี่เพลงเท่านั้นที่จึ้งใจผมจริงๆ ซึ่งก็อยู่ปลายม้วนเลยครับ อาทิเช่น Peter หากใครยังจำกันได้ เทย์เลอร์เคยหยอดถึงเทพนิยาย Peter Pan มาแล้วในเพลง cardigan ที่บอกว่า Peter losing Wendy ประโยคนี้แหละคือเศษขนมปังที่เทย์เลอร์เลือกหยิบมาขยายความต่อ ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีเลยครับกับการเล่าเรื่องราวความรักที่เป็น coming of age ที่ทัศนคติและการเติบโตไม่เหมือนกัน
ปีเตอร์ยังคงทำตัวเป็นเด็ก ส่วน Wendy ก็คาดหวังว่าปีเตอร์จะต้องโตกว่านี้ เพลงนี้ไม่ได้มีดีแค่ไอเดียการต่อยอด แต่การถ่ายทอด และ lyrics ลงล็อคอย่างแข็งแรง ทั้งๆที่ภาคดนตรีก็เป็นบัลลาดเปียโนเหมือนเพลงที่ผ่านมาเลยด้วยซ้ำ
-เพลง Robin ถ่ายทอดออกมาด้วยความทะนุถนอมประหนึ่งนางงามรักเด็กท่านนึง ซึ่งกล่าวถึงความพยายามของผู้ใหญ่ที่ต้องการปกป้องเหล่าเด็กๆเพื่อไม่อยากให้ต้องเผชิญกับความยากลำบากของการเป็นผู้ใหญ่ที่เร็วเกินไป ซึ่งในมุมมองของเทย์เลอร์เองไม่ได้ตั้งใจจะเป็นผู้ใหญ่ที่โอ๋เด็กเสมอไป เธอคอยให้กำลังใจและเฝ้ามองการเติบโตภายใต้คลื่นชีวิตเสียมากกว่า ซึ่ง Robin ก็เป็นชื่อลูกชายของ Aaron Dessner นั่นก็หมายความว่า เธอแต่งเพื่ออุทิศให้ลูกชายของโปรดิวซ์เซอร์คู่บุญเช่นกัน
-การปิดท้ายด้วย The Manuscript เป็นการ warp-up บทเรียนความรักที่ผ่านมาว่า เธอได้อะไรจากความสัมพันธ์ขึ้นๆลงๆที่แล้วมาบ้าง การที่เธอเขียนเพลงความรักครั้งเก่าที่ผ่านมาเปรียบเหมือนการระลึกถึงก็จริง แต่สุดท้ายแล้วเธอควรเลือกที่จะปล่อยวางเพื่อการมูฟออนต่อไป
พอจบเพลงนี้ปุ๊บ ผมก็อดคิดสิ่งที่ผมได้เปรียบเปรยไว้ว่า การได้ฟัง TTPD ไล่มาถึง The Anthology เหมือนการ reverse ลูปราง 3 ผลงานก่อนหน้านั้น Midnights >>> evermore >>> folklore มู้ดเพลงนิ่งๆเงียบๆของ The Manuscript แทบจะลงล็อคกับ the 1 เพลงเปิดอัลบั้ม folklore ชนิดที่ว่า หากใครอยากฟังให้ครบ cycle เทย์เลอร์ยุค 2020 ไปเนี่ย คุณสามารถฟัง folklore ต่อได้เลยฮะ
-ผมแอบเห็นคอมเมนท์ในชุมชน Swifties ซักแห่งหนเนี่ยแหละที่บอกว่า “นี่คืออัลบั้มที่คัดกรอง Swifities ระดับนึง ถ้าคุณไม่ชอบ TTPD แต่ชอบ Midnights หรือ reputation มากกว่า คุณก็ไม่ใช่สวิฟตี้ตัวจริง บลาๆๆ” ตรรกะการแบ่งแยก phase เนี่ย ดูจะเป็นแนวคิดที่ใจแคบและกีดกันคนที่ตั้งใจจะมาเขียนใบสมัครแฟนเพลงเกินไปหน่อย
-ผมคิดว่าเทย์เลอร์ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจนเลยจุดคัดกรองไปไกลแล้วจริงๆ ไม่งั้นผมจะหลงพรีออเดอร์อัลบั้มนี้ได้เยี่ยงไร ทั้งๆที่ผมแทบไม่ได้ฟังเพลงชิมลางใดๆเลยด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกันก็แอบหัวเราะเยาะคอมเมนท์นั้นด้วยท่าทีที่ว่า TTPD เนี่ยกลับทำให้ความ good enough ของ Midnights ดูดีขึ้นมาทันที
-ปัญหาของ TTPD ไม่ได้อยู่ที่สกิลการแต่งเพลงที่สุกเอาเผากิน แต่อยู่ที่การไม่รู้จักคัดกรองในเรื่องปริมาณทางภาษาและจำนวนแทร็คเนี่ยแหละครับ มันเลยเป็นปัญหาที่อาจทำให้คนฟังรู้สึกท้อเสียเอง ไม่ต่างจากการที่คุณดูหนังแล้วมีบทพูดอันแสนยืดยาดที่ไม่จำเป็นต่อเส้นเรื่องนั่นแหละครับ
-ไม่แปลกใจที่นักวิจารณ์เมืองนอกถึงขั้นบอกว่า “ยูต้องให้ editor ช่วยหน่อยนะ” การที่จะมาตัดสินว่า คุณแม่งไม่ใช่ Swifities ใครๆก็อยากเป็น Swifties ที่มีความสุขในการเสพผลงานล่าสุดกันทั้งนั้น แต่ถ้ามันทำให้เสียเวลาจนเกินไป มันก็ไม่ใช่ความบันเทิง แต่มันเป็นความทรมานต่างหาก
-นี่คือข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำให้ Swifities ทุกคนสามารถเป็นเพื่อนที่แสนดีคอยรับฟังความชีช้ำของเธอได้ทุกคน TTPD จึงเปรียบเหมือนเพื่อนตัวดีคนนึงที่เพิ่งเลิกกับผัวมาหมาดๆ แล้วเค้าก็อยากให้คุณตกอยู่ในสภาวะยังไม่มูฟออนวกวนตามไปด้วย และนั่นเป็นสิ่งที่ผมแอบรำคาญในจุดที่ทำไมการเลิกรากับแฟนเก่าในรอบนี้ ต้องซอยย่อยเป็นมหากาพย์ขนาดนั้นหว่า?
-เดี๋ยวจะหาว่า folklore ก็จัดเต็มเรื่อง lyrics ก็ต้องยอมรับครับว่าสองอัลบั้มนี้คือการฉีกแนวทางป็อปที่แล้วมาได้อย่างกล้าหาญ ซึ่งมันก็ใหม่มากๆสำหรับเหล่าสวิฟตี้ทั้งหลาย และสองอัลบั้มนี้พูดประเด็นที่ใหญ่กว่า กว้างกว่า ไม่ได้วนแค่ประเด็นเดียว มันไม่ใช่แค่การจอมจ่ออยู่กับความรักความสัมพันธ์อันล้มเหลวอยู่อย่างนั้น
-เพลงอกหักใน TTPD ก็ไม่ได้ออกแบบภาษามาเพื่อคนทั่วไปเสียด้วย มันจึงยากมากๆที่ชุดเพลงทั้งหลายใน TTPD จะสามารถไปอยู่ในซาวนด์แทร็คประกอบสตอรี่ของคนฟังได้ทั่วถึง แค่ชื่อเพลงก็จำยากตั้งแต่แรกแล้ว นี่จึงทำให้ TTPD + The Anthology ยังห่างไกลในเรื่องชั้นเชิงและอุดมการณ์ที่ folklore เคยมี ด้วยการซ้ำรอยความตราตรึงที่ควรปล่อยให้มันเกิดแค่ครั้งเดียวก็เกินพอ
เสร็จสิ้นการรีวิวเสียที
Top Tracks of TTPD : The Tortured Poets Department, My Boy Only Breaks His Favorite Toys, So Long, London, But Daddy I Love Him, Florida!!!, Guilty as Sin?, The Smallest Man Who Ever Lived, The Alchemy
Give 6.5/10
Top Tracks of The Anthology : Peter, The Bolter, Robin
Give Boring/10
2
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา