9 มิ.ย. 2024 เวลา 17:30 • ปรัชญา

ความหมายของ "ความรัก" ในความรู้

ในหลายครั้งคนไทยมักเข้าใจว่าการเรียนปรัชญาเหมือนได้เรียนว่าความรู้คืออะไร และทึกทักเอาเองว่า เมื่อได้เรียนปรัชญาแล้วก็เท่ากับได้ครอบครองความรู้ อาจเป็นเพราะคำว่า Philosophy เมื่อแปลมาเป็นภาษาไทยจะได้คำว่า "ปรัชญา" แล้วอาจทำให้ผู้ใช่คำๆนี้เกิดความเข้าใจผิดของเนื้อความได้
อย่างที่เรารู้ๆกันว่าคำว่า Philosophy แปลว่า ผู้รักในความรู้ จึงทำให้การเรียนปรัชญาคือการที่เรามีความรักให้กับความรู้และการที่เราจะเข้าใจความหมายของคำว่าปรัชญาอย่างแท้จริงได้นั้นโดยอันที่จริงมีสองคำที่เราต้องตีความคือคำว่า "ความรักและความรู้" แต่ในกาลนี้เราจะเจาะจงไปที่ตัวความรักกันเสียก่อน
คำว่า Philosophy หรือความรักในความรู้นั้นเป็นคำที่ถูกหยิบยกหรือถูกตระหนักในงานของเพลโตที่ชื่อว่า Symposium โดยเนื้อหาข้างในเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการที่โสเครตีสเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงกับมิตรสหาย แล้วในงานได้เกิดวิวาทะเกี่ยวกับความรักขึ้น
ภายใน Symposium มีผู้เริ่มกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความรักมากมายแต่ทุกคนจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเทพเจ้าแห่งความรักนั้นเป็นเทพเจ้าที่งดงาม ทว่าโซเครตีส(เพลโต)กลับบอกว่าเทพเจ้าแห่งความรักนั้นมิได้งดงาม แต่ก็ไม่ได้อัปลักษณ์เช่นกัน
ผู้ที่ได้ครอบครองสิ่งๆหนึ่งไว้กับตัวเองโดยสมบูรณ์แล้ว พวกเขาไม่มีเหตุจำเป็นอันใดที่จำเป็นต้องมีความปรารถนาในสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเทพเจ้าแห่งความรักนั้นเป็นเทพเจ้าที่งดงามอย่างแท้จริง ท่านคงไม่มีความรักให้แก่ความงามใดอีกต่อไป และเมื่อไม่มีความรักท่านจะเป็นเทพเจ้าแห่งความรักได้เช่นไร
นั้นจึงทำให้ความหมายของคำว่า"ผู้มีความรัก"คือความปรารถนาในสิ่งที่ตนเองไม่มี ยกตัวอย่างเช่น เรามีความรักให้ใครสักคน ในแง่หนึ่งมันแปลว่า เรามีความปรารถนาให้เขา/เธออยู่หรือใกล้ชิดเราตลอดไป แต่ในเมื่อสิ่งนั้นยังไม่ปรากฎแก่เรา เราจึงมีความรักต่อผู้นั้น ผู้ที่แข็งแรงเป็นอาจิณอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีความปรารถนาในความแข็งแรงอีกต่อไป (หรือจะพูดให้เห็นภาพก็พวกที่พวกคนรวยหรือคนหน้าตาดีออกมาบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ)
ความรักในความรู้จึงอาจไม่ใช่การที่ได้ครอบครองความรู้เพราะถ้าเราได้ครอบครองความรู้ เราคงเรียนตัวเองว่าผู้รักในความรู้ไม่ได้ และเราคงไม่จำเป็นที่จะมีความรู้เพิ่มอีกต่อไป เพราะมีอยู่สองสิ่งที่ไม่ต้องการความรู้คือ ผู้รู้ เพราะ เขารู้อยู่แล้ว และคนเขลา เพราะ เขาไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้
ไม่ว่าในโลกของปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ เมื่อเรารู้อะไรซะอย่างแล้ว เราก็จะค้นพบว่าเรายังมีความไม่รู้อยู่อีกมากมาย และสามารถรู้เพิ่มได้อีก เพราะ ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อยู่อีกมากมาย
เรารู้ว่าเรานั้น ไม่รู้อะไรเลย
โสกราตีส
โฆษณา