17 มิ.ย. 2024 เวลา 10:56 • ธุรกิจ

ท๊อป จิรายุส มองธุรกิจที่ยั่งยืนต้องโฟกัสการมีส่วนร่วม และความหลากหลายในองค์กร

ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งบิทคับ แชร์มุมมองความยั่งยืน ไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม นักธุรกิจสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้มากที่สุด ต้องสวมหมวกสองใบแยก ‘อาชีพ’ กับ ‘หน้าที่’ ออกจากกัน โฟกัสกลยุทธ์การมีส่วนร่วม และสร้างความหลากหลายภายในองค์กร สร้างสมดุลรับ AI
ความยั่งยืน หรือ Sustainability ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องโลกร้อน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในหลาย ๆ ครั้งนักธุรกิจมักให้ความสนใจแค่ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยอาจหลงลืมเรื่องสังคมและการกำกับดูแลไป
ภายในงานงานสัมมนา 'The Story Thailand Forum 2024' ในหัวข้อ "Tech Vanguard - ClOs Leading the Charge in Al and Sustainability" นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท บิทคับ แคปปิตอล ได้บอกเล่าถึงวิธีการทำธุรกิจในหัวข้อ “AI and Sustainability Solution” ด้วยวิสัยทัศน์ที่คำนึงถึงทั้ง 3 เสาหลักของ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล)
ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี เช่น AI ทำให้หลาย ๆ บริษัทต้องปรับตัว สร้างความยั่งยืน สร้างสมดุล ด้วยการสวมหมวกสองใบ ทั้งในด้านอาชีพและด้านหน้าที่ พัฒนาธุรกิจ เพื่อให้มนุษย์มีความยั่งยืนมากกว่า AI
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท บิทคับ แคปปิตอล บอกเล่าว่า ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ความยั่งยืนในด้านธรรมชาติ แต่ต้องยั่งยืนในหลายมิติ ไม่ได้มีแค่เพียงแค่ตัว E ที่หมายถึง Environmental หรือ สิ่งแวดล้อม เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึง Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ด้วย
การสร้างความยั่งยืนไม่ใช่การทำตามอาชีพ
แต่ต้องมีหมวกอีกใบคือ ‘หน้าที่’
ต้องทำการแยก ‘อาชีพ’ ออกจากคำว่า ‘หน้าที่’ ซึ่งทุกคนต้องสวมหมวกในตำแหน่งอาชีพ เช่น การมีครอบครัว มีงาน มีค่าใช้จ่าย ต้องทำเงิน ฯลฯ แต่ทุกอาชีพที่ต้องการความยั่งยืนก็ควรจะต้องมีหมวกอีกใบ คือ ‘หน้าที่’ ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนต้องมีความโปร่งใส ความดี ความซื่อสัตย์ ฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรสวมหมวก สองใบ
แต่นักธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมีแค่หมวกใบเดียวคือ หมวกด้านอาชีพ จากการคิดที่จะทำเงินทำกำไรเพียงอย่างเดียว มองแต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Output GDP) หรือ ผลงานปฏิบัติงาน (Performance) ทั้ง ๆ ที่นักธุรกิจเป็นอาชีพที่เปลี่ยนโลกได้มากที่สุด
ธุรกิจที่ดีต้องโฟกัสกลยุทธ์การมีส่วนร่วม
และสร้างความหลากหลายภายในองค์กร
นายจิรายุส กล่าวต่อว่า ณ วันนี้ ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจกับการโฟกัสกลยุทธ์การมีส่วนร่วม (Contributive Strategy) มากกว่าการทำธุรกิจ โดยมุ่งเป้าการเป็นที่หนึ่งในการครองส่วนแบ่งตลาด (Competitive Strategy) เพื่อทำให้ชีวิตมีระบบค่านิยมที่ดี ดังนั้นหากธุรกิจอยากสร้างโซลูชั่นที่ยั่งยืน นักธุรกิจจึงต้องหัดสวมหมวกสองใบมากขึ้น
“นักธุรกิจยุคใหม่จึงต้องตื่นขึ้นมาแล้วคิดว่า ทุกวันนี้เราทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน หรือเพื่อตัวเงินอย่างเดียว เพราะอาชีพอื่นกำลังช่วยทำให้โลกก้าวไปข้างหน้าด้วยการมีหน้าที่ที่ชัดเจน”
ธุรกิจควรที่จะสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะเสาหลักอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อมใน ESG ยังมีเรื่องของ สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) และประเด็นสำคัญคือ การมีความหลากหลายภายในองค์กร จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในองค์กรด้วยเช่นเดียวกัน เพราะช่วยทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มีความแม่นยำมากขึ้น
เพราะฉะนั้นหากต้องการความยั่งยืนต้องไม่ใช่การดูแต่เพียงผลประกอบการ แต่ควรมองเรื่องความยั่งยืนให้มากขึ้น ในอนาคตการทำธุรกิจจะมีมิติที่มากกว่าดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI
เอกลักษ์ชัดเจน จะช่วยให้องค์กรโดดเด่น
เพราะบริษัทที่คนจดจำคือบริษัทที่มีหน้าที่ และคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน เนื่องจากทุกคนทำอาชีพที่เหมือนกันหมด แต่การมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนหรือหน้าที่ที่ชัดเจนจะช่วยให้องค์กรมีความโดดเด่น และการสื่อสารทางการตลาดก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ ทุกการตัดสินใจจะสร้างทางเลือกที่หลากหลายมากกว่าการตัดสินใจ
ตั้งนั้น ในการทำธุรกิจจึงควรบริหารหมวกทั้งทั้งสองฝั่ง โดยเริ่มจากการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนธุรกิจที่มีหมวกในฝั่งหน้าที่มากขึ้น อย่างน้อยสัก 10% เพื่อให้องค์กรมีความยั่งยืนมากขึ้น และช่วยให้โลกอยู่รอดมากขึ้น ซึ่งด้วยการลงทุนนี้ไม่ได้ช่วยแต่เพียงเรื่องโลกร้อน แต่ยังครอบคลุมไปอีกหลายมิติที่อยู่ใน ESG อีกด้วย
สร้างสมดุลในนิเวศน์ธุรกิจรับ AI
หนึ่งคนมีหน้าที่ในการทำงานในจำนวนที่มาก และการเข้ามาของ AI ที่สามารถทำงานหลายงานแทนคนได้ ทำให้หลายตำแหน่งถูกควบรวม องค์กรจึงควรที่จะวางแผนเรื่องนี้ให้เกิดตรงกลางด้วยการเพิ่มระบบคุณค่ากับการทำงาน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการต่อต้านตามมา และด้วยการวางแผนอย่างสมดุลนี้จะช่วยให้คนหนึ่งคนสามารถภาคภูมิใจในตำแหน่งที่ตัวเองทำได้อย่างแท้จริง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความยั่งยืนกว่า AI
โฆษณา