Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Eat . Pray . Live
•
ติดตาม
23 มิ.ย. 2024 เวลา 12:58 • หนังสือ
นักประพันธ์…วันวาน
กัณหา เคียงศิริ เจ้าของนามปากกา ‘ก.สุรางคนางค์’ หนึ่งในนักประพันธ์ไทยในบรรณพิภพที่เราทุกคนต่างรู้จักนามปากกานี้กันเป็นอย่างดี ด้วยผลงานทางด้านการประพันธ์มากกว่า 200 เรื่อง ทั้งนวนิยายเรื่องยาว เรื่องสั้น และสารคดีต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478
คุณกัณหา เคียงศิริ (นามสกุลเดิม วรรธนะภัฎ) เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ และสำเร็จระดับมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนราชินีบน สำเร็จแล้วเป็นครูสอนภาษาไทยประจำชั้นม.6 ที่โรงเรียนราชินีอยู่นาน 3 ปี และเคยถวายพระอักษรสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
‘ก.สุรางคนางค์’ เริ่มมีผลงานนวนิยายเรื่องยาวเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 ด้วยผลงานชื่อ ’กรองกาญจน์’ แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ‘ก.สุรางคนางค์’ อย่างท่วมท้น คือนวนิยายเรื่อง ’บ้านทรายทอง’ ในปีพ.ศ.2493
เรื่องราวของพจมาน พินิจนันต์ เด็กสาวผู้มีความทะนงในศักดิ์ศรี กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว ด้วยความจำเป็นต้องจากบ้านสวน เดินทางมาอาศัยอยู่กับญาติตามคำสั่งของบิดาที่เสียชีวิต เพื่อจะได้เรียนต่อจนสำเร็จการศึกษา แต่ได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาจากสมาชิกของบ้านทรายทอง
นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกลงในนิตยสารปิยมิตร ได้รับความนิยมจากนักอ่านอย่างท้วมท้น ถึงขนาดมีแฟนๆ ไปดักรออยู่หน้าโรงพิมพ์ เพื่อที่จะได้ซื้อปิยมิตรเล่มใหม่มาอ่าน ’บ้านทรายทอง’ ที่กำลังติดอย่างงอมแงม
หลังจากนั้น…ชื่อเสียงของ ‘ก.สุรางคนางค์’ ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในฐานะนักประพันธ์สตรีแถวแนวหน้าของเมืองไทย มีผลงานชิ้นอื่นๆ ตามมาอย่าง โดมผู้จองหอง เขมรินทร์-อินทิรา หรือพจมาน สว่างวงศ์ ภาคต่อของบ้านทรายทอง ต่างได้รับการต้อนรับจากคนอ่านเป็นอย่างดี
ที่เห็นในภาพ คือ ‘เขมรินทร์-อินทิรา’ เรื่องราวของอินทิรา ครูสาวที่ตกหลุมรักชายหนุ่มแปลกหน้า เมื่อครั้งเธอได้ไปเที่ยวเขาพระวิหาร ถึงกับหนีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับคนที่เธอไม่ได้รัก มาเป็นครูหรือพระอาจารย์สอนภาษาไทยให้กับพระองค์เจ้าหญิงขาว หรือ เนี๊ยกเนียงซรฺอ เจ้านายองค์น้อยของกัมพูชา
และปริศนารักของเธอก็ได้รับคำเฉลยว่าชายหนุ่มนิรนามที่เธอตกหลุมรักนั้น แท้จริงแล้ว คือเจ้าชายเขมรินทร์ หรือ เนี๊ยกอองค์เขมรินทร์ พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงกัมพูชานั่นเอง
และถึงแม้ทั้งสองจะมีใจตรงกันเพียงใด แต่ก็หาทำให้ความรักของคนทั้งสองสมหวัง ไร้ซึ่งอุปสรรคไม่ เพราะในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ไทยและกัมพูชากำลังมีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องของสิทธิครอบครองปราสาทเขาพระวิหารอยู่ และเจ้าชายเขมรินทร์ หรือองค์ธมได้รับการไหว้วานจากสมเด็จพระยุพราช ให้เป็นผู้ประสานงานและดำเนินการทวงคืนเขาพระวิหารจากไทย และข้อพิพาทระหว่างประเทศนี้เอง ที่ทำให้ความรักของเขมรินทร์-อินทิรา ไปไม่ถึงฝั่งฝันอยากที่ทั้งสองปรารถนา
ผลงานชิ้นนี้ เริ่มต้นขึ้นจากการที่คุณกัณหา เคียงสิริ หรือ ‘ก.สุรางคนางค์’ ได้มีโอกาสไปเที่ยวกัมพูชา และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าเจ้านายเขมรองค์หนึ่ง จนเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้ขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อนวนิยายเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ได้เพียงสองสามบท ก็ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาขึ้น และก่อรอยร้าวจนรัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในปี พ.ศ. 2501 และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก และจบลงเมื่อศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ถือเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของประวัติศาสตร์ชาติไทย
‘เขมรินทร์-อินทิริา’ ประสบความสำเร็จ เป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักอ่านไม่แพ้ผลงานอื่นๆ ของ ‘ก.สุรางคนางค์’ ที่เป็นที่นิยมก่อนหน้านี้ จนถึงกับมีภาคต่อของนวนิยายเรื่องนี้ในชื่อ ‘คุณครูอินทิรา’
และด้วยผลงานทางด้านวรรณกรรมที่ดีเด่นอย่างเช่น ‘เขมรินทร์-อินทริา’ นี้เอง ที่ทำให้ ‘ก.สุรางคนางค์’ หรือคุณกัณหา เคียงศิริ ได้รับเกียรติคุณประกาศยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ทางด้านวรรณศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2529
นานหลายสิบปีก่อนที่จะถึงวันนี้…23 มิถุนายน ในปี พ.ศ. 2542 ที่ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา จึงขอนำเรื่องราวและผลงานของท่านมาเสนอกันอีกครั้งในวันนี้
ด้วยความเคารพรักและศรัทธา
………………………
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย