28 มิ.ย. เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

T-pop Come back ปลุกกระแสให้คนกลับมาฟังเพลงไทยกันอีกครั้ง

🎶 “ติดฝน - จำนน - ซ่อน (ไม่) หา -” นอกจาก 3 เพลงที่ยกตัวอย่างขึ้นมา ยังมีเพลงไทยอีกหลายเพลง ที่ฮิตติดอันดับท่ามกลางกระแสความนิยมของศิลปินต่างชาติ ผลตอบรับนี้คือหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า กระแสของเพลงไทยเริ่มกลับมาคึกคัก และได้รับความนิยมอีกครั้ง
📊 แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพลงไทย หรือแนวเพลงสไตล์ T-Pop ติดตลาด หากย้อนกลับไปช่วงประมาณ 20 ปีก่อน ผลงานความนิยมของเพลงไทยเคยสร้างสถิติมาตั้งแต่ยุคพี่เบิร์ด ผู้สร้างตำนานยอดขายเทปสูงถึง 5 ล้านตลับ หรือในยุคถัดมา ก็มีการแจ้งเกิดของเกิร์ลกรุปและบอยแบนด์มากหน้าหลายวงจากค่าย Kamikaze จนทุกวันนี้กระแสของเพลง T-Pop ก็กำลังกลับมามีสีสันอีกครั้ง โดยปัจจัยที่ทำให้ T-Pop สามารถสร้างอิทธิพลในสังคมมีอะไรบ้าง มาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน !
🎤 ปัจจัยแรก คือ “การเกิดขึ้นของพื้นที่แสดงศักยภาพ” ประเทศไทยมีทั้งเวทีประกวด และเวทีโชว์ฝีมือผุดขึ้นมาหลากหลายรายการ ตัวอย่างเช่น T-Pop Stage Show ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินมีพื้นที่ถ่ายทอดเสน่ห์ ผ่านรูปแบบรายการที่เข้าถึงคนทั่วไป จึงช่วยผลักดันให้ศิลปินไทยเป็นที่รู้จัก แถมยังมีการมอบรางวัลทุกสัปดาห์ จึงทำให้แฟนๆ ได้มีส่วนในการสนับสนุนผ่านการโหวตต่างๆ
และอีกเวทีที่เป็นกระแสสนั่นโลกออนไลน์ ก็คือที่ Siam Square Walking Street ซึ่งเปิดให้วงดนตรีมือสมัครเล่นได้แสดงศักยภาพ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความมั่นใจ พร้อมกับสร้างฐานแฟนคลับในการเริ่มต้นความฝันของการเป็นศิลปิน
💃🕺 นอกจากนั้น หากพูดถึงเวทีแสดงศักยภาพ ก็ต้องมีรูปแบบของรายการ Survival ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการเฟ้นหาดาวรุ่ง เพื่อเข้ามาพัฒนาทักษะท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด เข้มข้น และยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความผูกพันระหว่างแฟนคลับกับศิลปินเพื่อเป็นการสนับสนุนผลงานตั้งแต่เริ่มต้นเส้นทางสู่การเป็นศิลปินเต็มตัวอีกด้วย
🎧 ปัจจัยต่อมา คือ “การเติบโตของ Music Streaming” โลกของการฟังเพลงไม่ได้มีแค่ซีดีหรือเครื่องเล่นอีกต่อไป แต่ถูกแทนที่ด้วยแพลตฟอร์มที่สะดวก รวดเร็ว และราคาจับต้องได้ ในมุมของศิลปิน แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังเป็นเหมือนประตูที่ช่วยเปิดทางให้คนตัวเล็กสามารถสร้างรายได้แม้ไม่มีค่ายเพลงอยู่เบื้องหลัง
จากข้อมูลของ Spotify พบว่าตั้งแต่เปิดตัวในปี 2017 มาจนถึงปัจจุบัน ศิลปินไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าด้วยกัน และการเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าว ยังทำให้ศิลปินไทยก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในตลาดสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
📱 นอกจาก Music Streaming ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับ Social Media ที่จุดกระแสของ T-Pop ได้ จุดที่ทำให้เพลงติดตลาดก็คือ การปรากฏขึ้นของคอนเทนต์วิดีโอสั้นบน TikTok และ Reels ที่สามารถนำเพลงฮิตมาประกอบ จนเกิดเป็น User Generated Content ที่แฟนคลับสามารถช่วยโปรโมตเพลงได้แบบแนบเนียนไปในตัวเช่นกัน
✅ ปัจจัยสุดท้าย คือ “สไตล์เพลงที่ตอบโจทย์ทุกเทสผู้ฟัง” ท่ามกลางการเกิดขึ้นของศิลปินและค่ายเพลงใหม่ๆ โดยแต่ละผลงานสามารถนำเสนอจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครออกมา จึงเป็นทางเลือกให้ผู้ฟังได้เลือกเสพตามความต้องการ นอกจากนั้นจะเห็นว่า มีศิลปินมากมายเริ่มหันมาทำงานเบื้องหลัง จึงทำให้เกิดการนำประสบการณ์ในวงการมาต่อยอด ช่วยส่งเสริมให้ผลงานที่ผลิตออกมามีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น
💬 เมื่อกระแสเริ่มติดตลาด ก็ต้องมีการต่อยอด T-Pop ให้เติบโตไปให้ไกลขึ้น ในมุมมองของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้ มองอนาคตการส่งเสริมวงการ T-Pop อย่างไรบ้าง !?
📑 ในมุมมองของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี บอกไว้ว่าการผลักดันวงการเพลงไทยให้ไปไกลกว่านี้ ต้องมีการสร้างสวัสดิการที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์ ที่สมควรได้รับสิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงขั้นต่ำหรือประกันสังคม และที่สำคัญจะต้องมีการส่งเสริมโอกาสในการประชาสัมพันธ์ออกสู่ตลาดสากล ด้วยการดึงดูดผู้ซื้อจากต่างชาติเข้ามาดูศักยภาพของศิลปินไทยให้มากยิ่งขึ้น
👤 ในมุมของศิลปินและผู้บริหารค่ายเพลง มองว่าในการส่งเสริม T-Pop จะต้องมีการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการผลิตผลงาน โดยเฉพาะในการสนับสนุนศิลปินตัวเล็กที่ขาดโอกาส ค่ายเพลงจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริม วางแผนกลยุทธ์ในการผลิตผลงานให้ต่อเนื่อง เพื่อยืนระยะในวงการ พร้อมกับมีค่าตอบแทนที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างสมดุลจากการประกอบอาชีพศิลปิน
🎓 มุมมองสุดท้ายคือภาคการศึกษา ประเทศไทยจะต้องมีการเชื่อมโยง โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นเหมือนตัวกลางในการฝึกฝนศิลปินให้มีทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาด จึงควรมีการเรียนที่เตรียมพร้อมด้านองค์ความรู้และทักษะของคนทำงานตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วการศึกษา ให้สามารถเรียนจบออกมาแล้วมีประสบการณ์พร้อมเริ่มงานได้เลยทันที โดยไม่ต้องลองผิดลองถูกกันนาน
🤝 ในการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ NIA ก็ได้มีแผนการดำเนินงานส่งเสริมสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมด้าน Creative Tech เช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้มีการศึกษาดูงานและเยี่ยมชมพื้นที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศเกาหลีใต้อย่าง Arts Korea Lab ซึ่งทำให้เห็นถึงโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ การลงทุน และการเปิดตลาดระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่ง NIA จะนำมาผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่อไป
โฆษณา